โฆษกคณะ
กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รับยื่นหนังสือจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
ขอให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้มีการพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ที่มีหลักการเรื่องการนิรโทษกรรมทุกฉบับอย่างเร่งด่วน
เพื่อเดินหน้าประเทศไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันพฤหัสบดีที่
24 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา
ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รับยื่นหนังสือจาก น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ
ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
และตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีเพื่อขอสนับสนุนการนิรโทษกรรมประชาชนทุกคน
เนื่องด้วยสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตรา
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้น ซึ่งปัจจุบันคณะ กมธ.ได้จัดทำรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะมีมติต่อรายงานคณะ กมธ.
ในวันนี้ ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีร่าง
พ.ร.บ.ซึ่งมีหลักการเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 4 ฉบับ
รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ....
ซึ่งอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
ซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนกว่า 23 องค์กร
มีภารกิจในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชน
จึงยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดันการนิรโทษกรรมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม
โดยมีข้อชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ตั้งแต่ ก.ค. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย
1,960 ราย ใน 1,305 คดี
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อยถึง 37 ราย
เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 22 ราย
ซึ่งมีข้อสังเกตว่าแม้คดีมาตรา 112 จะมีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ
300 คน แต่ในจำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง 37 รายนี้เป็นคดีมาตรา 112 มากถึง 25 ราย ซึ่งนับว่าเป็นฐานความผิดที่มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองมากที่สุด
โดยยังไม่ได้นับรวมถึงผู้ลี้ภัย ทั้งนี้
คดีกว่าครึ่งหนึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
2.
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกฯ
ที่เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง และได้แต่งตั้งคณะ
กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางและนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎร
รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความเห็นของคณะ กมธ.
ที่ไม่ได้มีความผูกพันต่อรัฐบาลหรือมีสถานะในทางกฎหมาย
ซึ่งแตกต่างจากร่างกฎหมายที่เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาฯ
แล้วก็จะมีผลบังคับใช้ต่อบุคคลทั่วไป
3.
คดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา
เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงและเป็นคดีการเมือง ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112
มาแล้ว เช่นเดียวกับมาตรา 113 และมาตรา 116
ตามประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นกฎหมายอาญา เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคง
เป็นคดีการเมืองและได้รับนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน ทั้งที่มาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญานั้นมีโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิต ในขณะที่คดีมาตรา 112
มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี
ความอ่อนไหวของคดีมาตรา 112 จึงมิใช่ความอ่อนไหวเนื่องจากลักษณะการกระทำที่เป็นเหตุร้ายแรง
4. การนิรโทษกรรมเป็นเพียงการแก้ไขเหตุการณ์ ให้เสมือนว่าไม่มีเหตุการณ์ต่าง
ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าคลี่คลายความขัดแย้ง
โดยมิได้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายใด ๆ
การนิรโทษกรรมจึงมิได้กระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ ในทางตรงกันข้าม
การนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองนั้นเป็นไปในทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก
ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของประเทศไทยที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Human Rights Council) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลในระบบสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
5.
สภาผู้แทนราษฎร คือ ตัวแทนของประชาชน
เมื่อประชาชนมีปัญหาและเป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน
สภาผู้แทนราษฎรจึงควรใช้พื้นที่ดังกล่าวถกเถียง แก้ไขปัญหา
และหาทาทางออกร่วมกันอย่างสันติ การนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งที่คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในความขัดแย้งของสังคม
หากมีการนิรโทษกรรมอย่างเลือกปฏิบัติจะทำให้ปัญหาดังกล่าวพอกพูนและและแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้สมาชิกฯ
ทำหน้าที่ในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกประเภทคดี
เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง
และขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับรายงานแนวทางการการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ส่งต่อไปยังรัฐบาล รวมถึงผลักดันให้มีการพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ที่มีหลักการเรื่องการนิรโทษกรรมทุกฉบับอย่างเร่งด่วน เดินหน้าประเทศไทย
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า
ขอขอบคุณภาคประชาชนที่ได้มายื่นหนังสือในวันนี้
โดยวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ จะมีการพิจารณารายงานของคณะ กมธ.
และอาจมีการลงมติในเวลาประมาณ 13.30 น.
จึงขอให้ทุกท่านติดตามการลงมติรายงานฉบับนี้เพราะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอที่ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นมานี้ส่งมอบให้กับประธานคณะ กมธ. ต่อไป
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรบนิรโทษกรรม #นิรโทษกรรมประชาชน