วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“หมอเหวง” พบ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ช่วยผลักดันให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเร่งรัดคดีความปี 53 คืนความยุติธรรมให้ปชช. และแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอาคนฆ่า/คนสั่งฆ่า มาลงโทษตามกฎหมาย

 


“หมอเหวง” พบ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ช่วยผลักดันให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเร่งรัดคดีความปี 53 คืนความยุติธรรมให้ปชช. และแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอาคนฆ่า/คนสั่งฆ่า มาลงโทษตามกฎหมาย


วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย คณะประชาชนทวงความยุติธรรม นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ, ญาติวีรชน เมษา-พฤษภา 53, ทนายโชคชัย อ่างแก้ว และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือทวงความยุติธรรมเพื่อให้มีปฏิบัติการที่เป็นจริง ในกรณีคดีความจากการปราบปรามประชาชนปี 2553 โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, อภิชาต ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล,  เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคก้าวไกล, ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. เขตพระโขนง-บางนา พรรคก้าวไกล ให้การต้อนรับ


นพ.เหวง ได้กล่าวก่อนเดินเข้าด้านในรัฐสภาว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา คปช.53 ได้ไปยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย และทวงคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในการทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา 53 โดย 3 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ได้แก่ 1) ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ตรวจสอบเร่งรัดคดีความปี 2553 ที่ถูกแช่แข็ง ไม่มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพซึ่งมีจำนวนมากถึง 62 ศพ ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย 2) แก้ไขกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหารและนักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง และ 3) ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับหนังสือและรับจะนำเสนอหัวหน้าพรรคต่อไป


นอกจากนี้ นพ.เหวง ยังกล่าวว่า “ประชาชนยังจับตาดูอยู่ว่าท่าทีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการทวงความยุติธรรมให้วีรชนประชาธิปไตยปี 53 หากรัฐบาลนิ่งเฉย ผมก็อยากจะรู้ว่าคนเสื้อแดงทั่วประเทศจะรู้สึกอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเพื่อไทย”  


นพ.เหวง กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาพบกับพรรคก้าวไกลในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยความหวังว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้มีการปฏิบัติจริงในการทวงความยุติธรรมตามข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบเร่งรัดคดีความปี 2553 ให้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน


ด้านทนายโชคชัย กล่าวว่า “ในส่วนของการติดตามทวงถามความเป็นธรรม เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ไปที่พรรคเพื่อไทย และวันนี้ก็มาพบพรรคก้าวไกล คุณหมอเหวงได้พูดไปค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์มันผ่านมานานแล้ว จะได้รับการชำระสะสาง ซึ่งเป็นความหวังของญาติ ของพวกเราที่ไม่เคยลืมเรื่องนี้”


จากนั้นคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 นำโดย นพ.เหวง ได้เดินเข้าไปยังจุดนัดหมายรับ-ยื่นหนังสือ ระหว่างนั้น “หมอเหวง” ได้กล่าวว่า ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยาวไกล คือหยุดการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนน และหยุดการยึดอำนาจรัฐประหารในประเทศไทย ผมไม่แน่ใจว่าในช่วงชีวิตผมนี้จะบรรลุภาระนี้ได้สำเร็จหรือเปล่า หากผมเสียชีวิตไปโดยยังมีการฆ่าประชาชนกลางถนนและยังมีการยึดอำนาจรัฐประหารอยู่อีก ผมก็อยากจะฝากให้พี่น้องประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาว กรุณาแบกรับภารกิจนี้ต่อไป คือการหยุดทหารขวาจัดฆ่าประชาชนกลางถนน และหยุดการยึดอำนาจรัฐประหาร และวิธีการ “หยุด” มีประการเดียวคือจับคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย


เมื่อถึงจุดยื่น-รับหนังสือของรัฐสภา นพ.เหวง ได้โชว์หนังสือ “การขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 – 2566 จาก นปช. ถึง คปช. 53” ซึ่งถือเป็นภารกิจต่อเนื่องจาก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ปัจจุบันไม่มีสภาพองค์กรนำแล้ว คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 หรือ คปช.53 จึงเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนทวงความยุติธรรมให้วีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา 53 ต่อไป ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญในการตรวจสอบและผลักดันคดีความที่ถูกแช่แข็งจนเหลืออีก 6 ปีจะหมดอายุความ ให้สามารถดำเนินการชันสูตรพลิกศพและให้ศาลได้มีคำสั่งการตาย และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ที่สำคัญคือคำโต้แย้งของอธิบดีศาลอาญา (นายธงชัย เสนามนตรี) ที่ไม่เห็นด้วยกับป.ป.ช. ที่ยกฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ


ในเวลาต่อมา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือ โดย นพ.เหวง ขอให้พรรคก้าวไกลผลักดันให้เกิดการตั้งคณะกรรมการเพื่อทวงความยุติธรรมฯ, แก้กฎหมายให้ทหารและนักการเมืองที่กระทำผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน และเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์เมษา-พฤษภา53


ชัยธวัช กล่าวว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในวันนี้ หลายท่านก็ได้ทำงานร่วมกันมาสิบปี ในการพยายามค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต้องเรียกว่ากว่าทศวรรษแล้ว แม้ว่ายังเป็นฝ่ายค้านอยู่ เราก็คิดว่าเราจะพยายามทำอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่เป็นระยะ เพื่อขอติดตามความคืบหน้าของคดีความที่ค้างอยู่ในสารบบ ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่ศาล การไต่สวนการตายในชั้นสอบสวนไปแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล หรือคดีความที่ยื่นสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ก็ถูกตีตกด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่างในแง่เทคนิคทางกฎหมาย รวมถึงอีก 62 ศพ ที่ยังไม่มีการไต่สวนการตายจนถึงวันนี้ ก็ได้พยายามติดตามอยู่เป็นระยะเพื่อที่จะผลักดันให้คดีเหล่านี้มีความคืบหน้า


ชัยธวัช กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น คิดว่าจะรับข้อเสนอว่าเราจะผลักดันให้มีคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างไร ซึ่งน่าจะมีหลายช่องทาง  และถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีอำนาจทางกฎหมายพอสมควร ซึ่งผมอยู่ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมด้วย แต่ในการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมนี้ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมอย่างเดียว แต่มีการพูดคุยกันเรื่องการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่จะต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งจะใช้ช่องทางนี้ในการผลักดันด้วย


“ขณะเดียวกัน คณะกมธ.ของสภาก็น่าจะทำได้ แม้ว่าอาจจะมีข้อจำกัดในการเรียกหลักฐานและบุคคล นอกจากกมธ.ความมั่นคงแล้ว จะต้องหารือกับกมธ.กฎหมายการยุติธรรมสิทธิมนุษยชน แม้ทางรัฐบาลจะเป็นประธานกมธ. แต่คิดว่าน่าจะคุยกันได้” ชัยธวัชกล่าว


หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า  ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้พิจารณาการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนแก้ไขกฎหมายความมั่นคงที่ผ่านมา ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องรับผิด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอำนวยความยุติธรรมให้คดีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก ปรากฏว่าเรามีบทเรียนว่ามีการส่งฟ้องศาลแล้ว แต่ด้วยกฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารทำให้ศาลยุติธรรมโอนคดีไปยังศาลทหาร สุดท้ายศาลทหารก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมจนเสียชีวิต


โดยตอนนี้ใน กมธ.การทหาร ได้ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารอยู่ เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาลทหารร่วมแก้ไขสาระสำคัญ นอกจากเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารระดับล่างแล้ว ต้องทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในข้อหาทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดในยามสงคราม ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเหมือนประชาชนทั่วไป เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เป็นไปอย่างเท่าเทียมและได้มาตรฐานเดียวกัน


หลังจากที่ร่วมประชุมหารือร่วมกันแล้ว นพ.เหวง ได้กล่าวว่า ท่านผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทน รับปากจะเดินเรื่องไปยัง กมธ.กฎหมายยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้กมธ.ชุดนี้ยึดกุมเรื่องทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนประชาธิปไตย เมษา-พฤษภา53 ให้ถึงที่สุด


นอกจากนี้ ผู้นำฝ่ายค้านยังได้ตอบรับอย่างหนักแน่นในการเดินเรื่องการแก้กฎหมายให้ทหารและนักการเมืองที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือน ต้องขึ้นศาลพลเรือน โดยเรื่องนี้ต้องสามัคคีทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร โดยเดินเรื่องผ่านกมธ.ทหาร ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างไว้เรียบร้อยแล้ว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #ก้าวไกล #ทวงความยุติธรรม #เมษาพฤษภา53






#ยืนหยุดขัง หน้าศาลอาญารัชดา “ส่งใจให้เพื่อน” ที่ถูกคุมขังคดีทางการเมือง ด้านศูนย์ทนายฯอัพเดทการประท้วงอดอาหารและน้ำ เพื่อ 3 ข้อเรียกร้องของตะวัน - แฟรงค์ เข้าสู่วันที่ 15 ทั้งคู่อ่อนเพลียและซูบผอมมาก

 


#ยืนหยุดขัง หน้าศาลอาญารัชดา “ส่งใจให้เพื่อน” ที่ถูกคุมขังคดีทางการเมือง ด้านศูนย์ทนายฯอัพเดทการประท้วงอดอาหารและน้ำ เพื่อ 3 ข้อเรียกร้องของตะวัน - แฟรงค์ เข้าสู่วันที่ 15 ทั้งคู่อ่อนเพลียและซูบผอมมาก 


วันนี้ (28 ก.พ.67) เวลา 16.00น. มวลชนอิสระจัดกิจกรรม “ส่งใจให้เพื่อน ” บริเวณด้่นหน้าศาลอาญา รัชดา โดยจัดกิจกรรม"ยืน หยุด ขัง" เป็นเวลา 112 นาที เพื่อส่งกำลังใจให้เพื่อน ๆ ที่ยังถูกคุมขังในคดีทางการเมือง ก่อนจะยุติกิจกรรมเวลา 19.15 น.


ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมดังกล่าวได้จดแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก สน. พหลโยธิน แล้ว โดยกิจกรรมจะมีการจัดต่อเนื่องทุกวัน


ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน X ระบุว่า 


Update การประท้วงอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting) เพื่อ 3 ข้อเรียกร้องของตะวัน - แฟรงค์ เข้าสู่วันที่ 15 (28 ก.พ.)


แฟรงค์-ณัฐนนท์ ณ โรงพยาบาลราชทัณฑ์

- อ่อนเพลียมาก เวลาไปไหนจะต้องมีคนคอยหามตลอด

- นอนไม่ค่อยหลับ

- ยังคงไม่ยอมใส่สายออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ โดยบอกว่า “ถ้าจะหายใจไม่ออกก็ไม่เป็นไร”

- ปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อย

- แพทย์แจ้งว่าเกลือแร่ต่ำ

- หน้าตอบ ตาโหล เห็นโครงหน้าชัด


แฟรงค์ยืนยันอดน้ำและอาหารเหมือนเดิมเรียกร้องสามข้อเรียกร้อง และบอกว่าเป็นห่วงตะวันมาก ๆ ฝากบอกตะวันว่าคิดถึงมาก ๆ เป็นห่วงมาก ๆ


แฟรงค์ไม่มีแรงมากทนายความจึงได้เข้าเยี่ยมครู่เดียวและให้แฟรงค์ไปนอนพัก


ในส่วนของ "ตะวัน-ทานตะวัน" ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์


ศูนย์ทนายฯเผย สังเกตว่าตะวันปากแห้งแตก พูดช้า พูดไม่ชัด ยังคงมีประจำเดือนอยู่ นอนไม่หลับ

- หน้าตอบ ตัวเหลือง

- รู้สึกพะอืดพะอมตลอดเวลา


เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินมาให้ตะวันใช้ แต่เนื่องจากเดินไม่ได้จึงไม่ได้ใช้และได้เพียงอยู่เฉย ๆ เท่านั้น


วันนี้ตะวันแจ้งว่า #จะไม่รับน้ำหรือจิบน้ำอีกต่อไป และฝากบอกแฟรงค์สู้ไปด้วยกัน "สัญญาต้องเป็นสัญญา"


ทั้งนี้ การประท้วง  #อดอาหารน้ำ ของทั้งตะวัน-แฟรงค์ เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งได้แก่

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2. ต้องไม่มีคนติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก

3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

















วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ก้าวไกล” หนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ “พิธา” ชู 4 เสาที่รัฐควรพัฒนาให้พี่น้องชาติพันธุ์ ที่ดินทำกิน-วัฒนธรรม-การศึกษา-สัญชาติ

 


ก้าวไกล” หนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ “พิธา” ชู 4 เสาที่รัฐควรพัฒนาให้พี่น้องชาติพันธุ์ ที่ดินทำกิน-วัฒนธรรม-การศึกษา-สัญชาติ

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี รวม 5 ฉบับ โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นผู้อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างฯ

 

เลาฟั้งระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างครอบคลุม แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยก็ยังคงมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ อีกทั้งยังมีกฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และไม่มีโอกาสในการพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

 

มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดภาคเหนือกว่า 3,458 หมู่บ้าน ประชากร 1.12 ล้านคน กลุ่มชาวเล 46 ชุมชน 14,000 คน และกลุ่มมานิซึ่งแตกออกเป็น 15 กลุ่มครอบครัว นี่คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐโดยตรง รวมทั้งกลุ่มที่กลมกลืนกับสังคมไทยไปแล้วประมาณ 4-5 ล้านคน ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายโดยตรง แต่วิถีชีวิต วัฒนธรรม และคุณค่าบางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์เลือนหายไปแล้ว

 

เลาฟั้งกล่าวต่อไปว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำและด้อยพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม กดทับให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ อยู่ภายใต้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากอคติที่ประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และตอกย้ำอัตลักษณ์ที่เป็นลบของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ เป็นภัยต่อความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเป็นผู้ทำลายป่า สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำกระทั่งในแบบเรียนของนักเรียนนักศึกษา และในหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ ทำให้คนมีทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในทางลบ

 

สิ่งเหล่านี้อาจแก้ไขได้ยาก แต่ในทางหลักการก็มีแนวทางที่ต้องทำอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) การมีกฎหมายรองรับให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความชอบธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิโดยทันที แต่อย่างน้อยที่สุดก็รับรองความชอบธรรมและทำให้เกิดพื้นที่ในการเจรจาต่อรอง และ 2) การทำให้คนในสังคมไทยตระหนักว่า สิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านลบถูกประกอบสร้างขึ้นมา ไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้นเสียทั้งหมด

 

ทั้งนี้ เล่าฟั้งระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล มีสาระสำคัญในภาพกว้าง 3 ประการ ประกอบด้วย

 

1) การกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายแม่บทกำหนดรับรองและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่เสมอภาคเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่มเติมก็คือการห้ามเลือกปฏิบัติหรือการสร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะจากสื่อและปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ

 

การคุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วยสิทธิในทางวัฒนธรรม ที่มีมากกว่าเพียงแค่เสื้อผ้าหรือบทเพลง แต่ยังมีเรื่องของวิถีชีวิต อาชีพ และที่ดิน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินและทรัพยากรจากป่าที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากระบบที่กฎหมายปัจจุบันรับรอง รวมถึงสิทธิในการกำหนดตนเอง เพราะปัจจุบันในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากร มักจะมีโครงการของรัฐหรือการอนุญาตให้เอกชนเข้าไปดำเนินการบางอย่าง เช่น การทำเหมือง สร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้กระทบต่อการใช้ที่ดิน ทรัพยากร และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในชุมชนนั้น

 

2) การสร้างกลไกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทน เพราะถึงแม้กฎหมายจะรับรองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น การมีองค์กรตัวแทนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบและผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิได้จึงมีความจำเป็นทั้งต่อรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์ ในฐานะหน่วยงานกลางที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

 

3) การกำหนดให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่เป็นการประกาศเขตอภิสิทธิ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นเพียงระเบียบในการคุ้มครองวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับเขตป่า เป็นการพยายามสร้างเครื่องมือทางเลือกขึ้นมาในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ป่าไม้หรือที่อื่นของหน่วยงานรัฐกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์

 

การประกาศพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้หรือกฎหมายอื่น ๆ ของรัฐในบริเวณนั้น แต่เป็นการประกาศเขตคุ้มครองเฉพาะในการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาทรัพยากร โดยเป็นไปตามระเบียบที่รัฐและชุมชนกำหนดร่วมกันขึ้นมา หากผู้ใดหรือแม้กระทั่งสมาชิกของชุมชนทำผิดเงื่อนไข ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายปกติ

 

โดยวิธีการประกาศจะเริ่มต้นจากการที่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือหลายชุมชน ร่วมกันจัดทำแผนและระเบียบเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองขึ้นมา เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบแล้วก็ประกาศกำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อประกาศออกมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและสามารถถูกยกเลิกได้หากชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการได้ต่อไป

 

เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะให้สิทธิ 2 ประการ คือ 1) การอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามระเบียบที่กำหนดขึ้น แต่จะต้องไม่นำไปสู่การทำลายทรัพยากร 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยมีเงื่อนไขคือ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด ๆ เว้นแต่เป็นการสืบทอดทางมรดก หรือเป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติของชุมชน

 

เลาฟั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพูดถึงและผลักดันกันมาเป็นเวลานานแล้ว และคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เอง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างรุนแรงมีความต้องการเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองพวกเขา

 

ขณะที่ มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างฯ ทุกฉบับ โดยระบุว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการเสนอร่างกฎหมายจากทุกฝ่าย และเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เราคือเผ่าพันธุ์และผู้คนที่มาอยู่รวมกันเรียกว่าคนไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง โดยในทางวิชาการยืนยันแล้วว่าประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ คิดเป็นประมาณ 6 ล้านคนหรือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศ

 

แม้จะมี สส.หลายคนอภิปรายในวันนี้ว่าประเทศนี้ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง การมีชนเผ่าพื้นเมืองจะทำให้การปกครองเกิดความแตกแยก แต่ตนต้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ในประเทศไทยจริง ก่อนที่จะมีอาณาจักรต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยซ้ำ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้อายุกว่าหมื่นปี ในทางวิชาการก็ยอมรับว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองดำรงอยู่ที่นี่มานานแล้ว ถึงแม้ในทางปฏิบัติวันนี้ชนเผ่าพื้นเมืองอาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่วันนี้สภาฯ กำลังจะทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตนในทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งประเทศไทยลงนามไว้กับนานาอารยประเทศ

 

มานพกล่าวต่อไปว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมาเรียกร้องต่อสู้เรื่องนี้ เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชาติพันธุ์ต่าง ๆ อยู่จริง ทั้งการคุกคาม การละเมิดสิทธิในที่ดิน หลายหมู่บ้านอยู่มาก่อนจะมีประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่วันนี้เขากลายเป็นคนผิดกฎหมาย หลายหมู่บ้านอยู่อย่างชอบด้วยกฎหมาย มีผู้ใหญ่บ้าน มีโรงเรียน มีครู มีอนามัย มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องมาโดยตลอด คือการคืนสิทธิให้เหมือนกับคนทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรพิเศษ หลายคนบอกว่าถ้ามีชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นการแยกการปกครอง ตนถามว่าท่านเอาอะไรมาพูด เราต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง และยืนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

 

ขอให้เราอยู่สงบสุขเหมือนกับคนทั่วๆ ไป รับรองความเป็นตัวตนของเรา รับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของพวกเรา เขาจะทำไร่หมุนเวียน จะทำเกษตร จะเลี้ยววัวเลี้ยงควาย จะทำมาหากินอะไรก็รับรองในสิ่งที่เขามี ที่ไม่เป็นธรรมคืออำนาจของรัฐ และที่สำคัญคือมายาคติ ความรู้สึกของคนในสังคมที่ไม่ยอมรับว่าเราประกอบสร้างจากชนเผ่าต่าง ๆ ร่วมกันมากมาย ตั้งแต่อดีตประวัติศาสตร์ที่เราอยู่ร่วมกันมาตลอด” มานพกล่าว

 

มานพยังกล่าวต่อไปว่า นี่เป็นโอกาสที่จะทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่ยืนและมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน เราขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว วันนี้เป็นโอกาสของสภาฯ แห่งนี้ สิ่งที่ตนอยากจะเห็นจากเพื่อนสมาชิกในสภาฯ แห่งนี้คือการทำหน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์ให้พวกเราอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้ นั่นคือการช่วยกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่างฯ ของรัฐบาล พรรคการเมือง หรือภาคประชาชน มาดูรายละเอียดและถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ มาตราไหนที่เราเห็นต่างก็เอาเหตุผล ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และข้อมูลระดับสากลมาถกเถียงกัน

 

ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทยคือความจริงที่มีอยู่ หน้าที่ของเราก็คือการทำความจริงให้ปรากฏ รับรองความเป็นตัวตนและความเท่าเทียมกันของคนในสังคมผ่านกฎหมายฉบับนี้” มานพกล่าว

 

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้าย โดยระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีอยู่ 4 เสาเป้าหมาย คือ 1) การมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา และสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ 2) การรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและภาษาประจำเผ่า 3) การพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข และ 4) การพิสูจน์สัญชาติ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันถ้านำ 4 เสาเป้าหมายนี้มาตั้ง เราจะเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องของการเข้าถึงที่ดินทำกิน เรื่องภาษาของหลายชนเผ่าพื้นเมืองที่สูญหายไปแล้วอย่างถาวร และยังมีอีก 25 ภาษาที่เสี่ยงจะสูญหายในช่วงชีวิตของเรา เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เห็นได้ชัดว่าอัตราการสำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 ระหว่างคนที่ใช้ภาษาไทยกับคนที่ใช้ภาษามากกว่าภาษาไทยต่างกันถึง 2.5 เท่า รวมถึงเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่ยังล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

 

พิธากล่าวต่อไปว่า จากปัญหาข้างต้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ คือกฎหมาย งบประมาณ และการบริหารงาน โดยในด้านกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหากับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งทับซ้อนกันอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวน และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ รวมถึงยังมีมติ ครม.ปี 2553 ที่กำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง

 

ส่วนด้านงบประมาณ หากสำรวจในร่างงบประมาณปี 2567 จะพบว่ามีงบประมาณสำหรับการพิสูจน์สัญชาติ 35 ล้านบาท แต่คนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 5-8 แสนคน เมื่อปีที่แล้วรัฐไทยสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ 10,000 คน หากยังคงอัตราเท่านี้ เท่ากับว่าจะต้องใช้เวลาอีก 80 ปีกว่าเราจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ หากนำคำว่า “ชาติพันธุ์” ไปค้นหาในระบบงบประมาณ จะพบว่ามีอยู่ 3 โครงการ รวมกันแค่ 25 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ล้านคนทั่วประเทศไทยถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

 

พิธาย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ทั้งในเรื่องการปลดล็อกให้มีขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต การบัญญัติรับรองสิทธิ และการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ โดยสามารถกำหนดให้รัฐบาลออกกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ และสามารถสร้างเศรษฐกิจของชนเผ่าพื้นเมืองต่อไปในอนาคตได้ จึงขอวิงวอนให้เพื่อนสมาชิก สส.ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาวิธีการสำคัญในการยกระดับชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ตรงตามเป้าหมายทั้ง 4 เสา

 

พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มของโลกตอนนี้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนช่วยรักษาป่าเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ทั้งโบลิเวีย บราซิล หรือโคลอมเบีย มีการศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ป่าที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่กับพื้นที่ที่ไม่มี พบว่าพื้นที่ที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่พบการตัดไม้ทำลายป่าน้อยกว่าถึง 3 เท่า ตนจึงขอให้รัฐไทยเปลี่ยนวิธีคิดจากการมองว่าต้องแยกคนออกจากป่า เป็นการให้คนปลูกป่า และให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการศึกษา พัฒนา รักษา และลดการตัดไม้ทำลายป่า

 

ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจชาติพันธุ์” อาจจะยังไม่ถูกพูดถึงมากในประเทศไทย แต่วิสัยทัศน์ของตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง หากดูตัวอย่างในออสเตรเลียจะเห็นว่ามีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแคนาดาสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตนจึงอยากให้คณะกรรมาธิการที่กำลังจะตั้งขึ้นเริ่มคิดถึงการเปลี่ยนปัญหาสังคมให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างที่ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ได้เริ่มทำแล้ว

 

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 5 ฉบับ และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 42 คน โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมี 6 คน ได้แก่ 1) มานพ คีรีภูวดล 2) เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล 3) ณัฐวุฒิ บัวประทุม 4) ภัสริน รามวงศ์ 5) ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ และ 6) สุนี ไชยรส

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #กฎหมายชาติพันธุ์ #ชนเผ่าพื้นเมือง

กห.ชี้รอผลกู้เรือสุโขทัยของสหรัฐพร้อมนำรวมผลสอบของ ทร. ชี้ หากมนุษย์ผิดต้องลงโทษ หากเป็นเครื่องจักรต้องนำมาเป็นบทเรียนการใช้อาวุธ

 


“กลาโหม” ชี้ รอผลกู้เรือสุโขทัยของสหรัฐพร้อมนำรวมผลสอบของ ทร. ชี้ หากมนุษย์ผิดต้องลงโทษ หากเป็นเครื่องจักรต้องนำมาเป็นบทเรียนการใช้อาวุธ


วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมืองกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงผลการสอบสวนล่าช้า กรณีอุบัติเหตุเรือรบหลวงสุโขทัยล่มเมื่อปีที่ผ่านมานั้น  เรือจมอยู่ใต้ทะเล 1 ปี 2 เดือน กองทัพเรือมีการเฝ้าระวัง จุดดังกล่าวตลอดเวลาไม่ให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรือ เพื่อรักษาหลักฐานต่างๆ อีกทั้งยังต้องรอการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เมื่อกองทัพสหรัฐช่วยกู้ เรือขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยก็จะนำมารวบรวมเป็นข้อพิจารณาสรุปถึงอุบัติเหตุดังกล่าว และขณะนี้กองทัพเรือดำเนินการสอบสวน ในประเด็นอื่นๆ อยู่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าหากมีเจ้าหน้าที่ผิดก็ต้องมีการลงโทษ เป็นเรื่องระบบบังคับบัญชาและวินัยของทหาร เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ต้องมีการสืบสวนสอบสวนและเขียนรายงาน

   

ทั้งนี้เรื่องหลักฐานเป็นเรื่องที่กองทัพเรือ ได้กำชับไปทางสหรัฐฯ ว่าจะกู้วิธีไหนก็ตาม แต่เรื่องหลักฐานทางคดีต้องไม่ทำให้หลักฐานขาดไป  ส่วนการสอบสวนในประเด็น ในคำสั่งที่มีส่วนทำให้ผู้การเรือสละเรือช้า หรือไม่นั้น อยู่ระหว่างสอบสวนอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับซากเรือ สามารถสอบสวนโดยสถานการณ์และพยานแวดล้อมได้ ล่าสุด พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ระบุว่าเรื่องคดีไม่มีการยุติหรือปิดไปกับการกู้เรือ โดยเมื่อผลการสอบสวนเสร็จสิ้น หากเป็นเพราะ เครื่องจักร ก็ต้องสรุป เพื่อเป็นแนวทางป้องกัน หรือหากเป็นเพราะ มนุษย์ ก็ต้องมีคนรับผิด เพื่อเป็นบทเรียนในการควบคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกองทัพต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เรือหลวงสุโขทัย #กลาโหม

“เท่าพิภพ-สิทธิพล” รับหนังสือ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค้าน “ฉลากน่ากลัว” ฝากรัฐบาลคำนึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หาสมดุลเรื่องสุขภาพ - การพัฒนาเศรษฐกิจ


เท่าพิภพ-สิทธิพล” รับหนังสือ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค้าน “ฉลากน่ากลัว” ฝากรัฐบาลคำนึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หาสมดุลเรื่องสุขภาพ - การพัฒนาเศรษฐกิจ

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่รัฐสภา เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ เขต 24 พรรคก้าวไกล และ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานนคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสุรา นักวิชาการ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และผู้ผลิตไวน์ภายในประเทศ แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง “ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .....” ที่จะกำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น

 

เท่าพิภพกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากที่ตนโพสต์เฟซบุ๊ก จึงขอขอบคุณสื่อมวลชนที่นำไปขยายต่อ ทำให้ประชาชนได้ส่งเสียง ตนเห็นว่ากรณี ‘ฉลากน่ากลัว’ มีนัยความสำคัญหลายอย่าง ทั้งในแง่ผลกระทบต่อการทำธุรกิจ หรือในมุมการเมือง เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.สาธารณสุข ทั้งนี้ ล่าสุดทราบมาว่าสุดท้ายร่างประกาศนี้อาจไม่ผ่าน น่าจะเป็นข่าวดีของคนในวงการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

โดยประมาณต้นเดือนมีนาคม จะครบ 2 เดือนที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยเข้าสภาฯ และรัฐบาลขออุ้มไป 60 วัน จะกลับเข้าสภาฯ อีกครั้ง ร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับร่างประกาศฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการออกประกาศ ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคณะกรรมการนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามเรื่องนี้ต่อไป

 

ด้านสิทธิพลกล่าวว่า ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบติดตามผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยขอฝากไปยังรัฐบาลว่าอุตสาหกรรมเหล้า เบียร์ สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศอย่างน้อยใน 3 มิติ มิติที่หนึ่งคือช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ การออกนโยบายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

 

มิติที่สองคือผลิตภัณฑ์เหล้า เบียร์ สุรา จำนวนมากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การออกนโยบายลักษณะนี้ต้องดูว่ากระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน เป็นข้อกีดกันทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันยากขึ้น นำเสนอสินค้าได้ยากขึ้นหรือไม่ และมิติที่สาม รัฐบาลชุดนี้บอกว่าให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ การมีฉลากแบบนี้ จะเป็นการสื่อสารในลักษณะตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่

 

ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กมธ. เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ประกอบการ เชื่อว่าถ้าเรามีเหตุผลที่ดีพอ ทางรัฐบาลก็น่าจะพร้อมรับฟังและนำไปปรับปรุง เพื่อทำให้ข้อบังคับที่จะออกมาสามารถรักษาสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพประชาชน การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ

“โรม” จี้นายกฯ เร่งลงนามรับรองร่างฯ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ของก้าวไกล ไม่เข้าใจจะประวิงเวลาทำไมหลายเดือน


โรม” จี้นายกฯ เร่งลงนามรับรองร่างฯ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ของก้าวไกล ไม่เข้าใจจะประวิงเวลาทำไมหลายเดือน

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรีเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.กลางเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. โดยขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ

 

รังสิมันต์ระบุว่า ร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.ของพรรคก้าวไกลนั้นได้มีการยื่นไปนานแล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 แต่เนื่องจากสภาฯ วินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเสียก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ได้

 

ทว่าปัญหาคือช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกลับไม่ยอมลงนามรับรองเสียที ทั้งที่ในความเป็นจริงการรื้อคำสั่ง คสช.สามารถทำได้อย่างรวดเร็วกว่านี้มาก และตนก็ไม่เข้าใจว่าในเมื่อรัฐบาลเองเคยออกมาระบุว่าเห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้ แล้วมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องประวิงเวลา และรอให้มีร่างฯ ของคณะรัฐมนตรีส่งมาเท่านั้น

 

รังสิมันต์ระบุต่อไปว่า โดยปกติแล้วเมื่อสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายใดก็ตาม รัฐบาลสามารถมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษา และในกรณีผ่านวาระ 1 แล้วก็ยังสามารถใช้กลไกของคณะกรรมาธิการในการพิจารณาอย่างรอบด้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเช่นในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้กระบวนการรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่ากันมาก

 

การที่นายกรัฐมนตรียังประวิงเวลาต่อไปแล้วให้หน่วยงานทำความเห็นมา เป็นการเสียเวลาสำหรับการเดินหน้ายกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย และออกมาโดยไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้สมควรรื้อทิ้งได้แล้ว อยากให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามให้ความรับรอง ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยตรง จากนั้นสภาฯ ก็จะนำมาพิจารณาต่อได้” รังสิมันต์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล

ศูนย์ทนายฯ อัพเดท "ตะวัน" ประจำเดือนสีดำคล้ำ เลือดเป็นกรด "แฟรงค์" ชักเกร็งอีก เห็นสีเพี้ยน ร้อนในตัวเหมือนไฟไหม้ ขณะที่"บุ้ง" ถูกส่งกลับ รพ.ราชทัณฑ์ หลัง 'อ้วกปนเลือด' ติดกัน 3 วัน

 


ศูนย์ทนายฯ อัพเดท "ตะวัน" ประจำเดือนสีดำคล้ำ เลือดเป็นกรด "แฟรงค์" ชักเกร็งอีก เห็นสีเพี้ยน ร้อนในตัวเหมือนไฟไหม้ ขณะที่"บุ้ง" ถูกส่งกลับ รพ.ราชทัณฑ์ หลัง 'อ้วกปนเลือด' ติดกัน 3 วัน


วันนี้(27 ก.พ. 67) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน X ระบุว่า 


'แฟรงค์-ณัฐนนท์' ณ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ น้ำหนักแฟรงค์เหลือประมาณ 37 กก. ตอนนี้แฟรงค์ไม่ได่ใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว และบอกว่า “จะไม่เอาอะไรจากใครแล้ว จะไม่ร้องขออะไรอีก”


โดยเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) แฟรงค์มีอาการชักเกร็ง นิ้วจีบ อัตราการเต้นของหัวใจ 150 ครั้งต่อนาที และแฟรงค์บอกว่ารู้สึกทรมานมาก ระหว่างเยี่ยม แฟรงค์ดูเหนื่อยหอบ 

- รู้สึกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้

- มองเห็นเพดานเป็นสีแดง สีส้ม

- รอบดวงตาดูกลวงโบ๋จนเห็นเป็นโครงกะโหลก

- ปากแตกแห้งจนลอก ใต้ตาคล้ำ

- ปัสสาวะน้อยมาก และมีสีเข้ม ไม่ขับถ่ายแล้ว -ตอบสนองช้า เฉื่อย เบลอ และเหม่อลอย

- อ่อนแรงมาก ต้องมีคนช่วยเข็นวิลเเชร์ให้


แฟรงค์ทราบแล้วว่าตะวันตัดสินใจยอมจิบน้ำเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่แฟรงค์ยังยืนยันจะอดอาหารและน้ำต่อไป โดยบอกว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ผมขอเอาหัวยัน ตีนยัน ขอยืนยันคำเดิม “ผมจะทำต่อไป” 


ฝากบอกตะวันว่า "เป็นห่วงมาก ใจยังสู้ และจะสู้ต่อไป"


'ตะวัน-ทานตะวัน' ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ทนายสังเกตว่าตอนนี้ตะวันมีรูปร่างซูบผอมลงกว่าเดิมมาก ผอมจนเห็นกระดูกซี่โครง เห็นกระดูกไหปลาร้า และเห็นกระดูกสันหลังชัดเจน หน้าซูบตอบจนเห็นสันกราม สีผิวดูเหลืองและหมองคล้ำ 


วันนี้ตะวันไม่ได้ลุกขึ้นมาชั่งน้ำหนัก เพราะลุกขึ้นนั่งไม่ไหวแล้วเธอเล่าว่าพยายามนอนหลับเพื่อฆ่าเวลาให้ผ่านไปแต่ละวัน


เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา แพทย์เจาะเลือดตะวันไปตรวจ พบว่า ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด (BUN) สูงมาก อยู่ที่ 50 mg% และพบว่ามีภาวะขาดน้ำ รวมถึงมีภาวะเลือดเป็นกรดสูง 


- พะอืดพะอม

- ไม่มีแรง อิดโรย

- พูดช้ามาก ปากแห้งแตกจนลอกปัสสาวะออกน้อยมาก มีสีเข้ม ไม่ขับถ่ายแล้ว


โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ตะวันมีประจำเดือน แต่พบว่าเลือดประจำเดือนรอบนี้มี 'สีดำคล้ำ' แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะอ่อนเพลียมากจนไม่มีแรงไปห้องน้ำเพื่อไปเปลี่ยนผ้าอนามัย ระหว่างเยี่ยมวันนี้แม่ของตะวันจึงพยุงตะวันไปทำความสะอาดร่างกาย 


ตะวันเล่าว่าอีกว่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.) 'เริ่มจิบน้ำ' ตามคำร้องขอของพ่อและแม่เพื่อให้รักษาชีวิตไว้ 


ทนายเล่าให้ตะวันฟังว่า พ่อของตะวันเดินทางไปยื่นประกันตะวันต่อศาลอาญา แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่งว่า เมื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์แล้วก็ให้อยู่ต่อไป ตะวันฟังเสร็จแล้วก็ร้องไห้


ตะวันฝากบอกแฟรงค์ว่า เป็นห่วงแฟรงค์มาก ขอให้แฟรงค์อดทนและให้หายใจเข้าไว้ 


สุดท้ายตะวันแจ้งว่า วันนี้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เอาอะไรอีก ฝากขอบคุณทุกกำลังใจและให้แฟรงค์รู้ว่าตะวันอยู่กับแฟรงค์เสมอ ตลอดมาและตลอดไป “สัญญาต้องเป็นสัญญา”


“ตายก็ตาย สู้ต่อไป ยืนยันจะสู้จนกว่าจะตาย” ตะวันกล่าว


อย่างไรก็ตามการประท้วง #อดอาหารน้ำ ของทั้งตะวัน-แฟรงค์เข้าสู่วันที่ 10 แล้ว เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งได้แก่

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2. ต้องไม่มีคนติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก

3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN


ขณะที่ 'บุ้ง-เนติพร' ประท้วงวันที่ 32 (27 ก.พ.67) ถูกส่งกลับ รพ.ราชทัณฑ์ หลัง 'อ้วกปนเลือด' ติดกัน 3 วัน พร้อมแจ้งเริ่มจิบน้ำในปริมาณจำกัด แต่ยังคงเดินหน้าอดอาหารประท้วงเพื่อ 2 ข้อเรียกร้องดังเดิม


เมื่อคืนวานที่ผ่านมา (26 ก.พ.) บุ้งถูกส่งตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางกลับไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้ง เนื่องจากอาเจียนปนเลือดไม่หยุด นาน 3 วันติดต่อกัน 


เมื่อมาถึง รพ. แพทย์ได้ให้ยาลดกรดและยาแก้อาเจียนผ่านทางสายน้ำเกลือ ซึ่งบุ้งให้ความยินยอมกับแพทย์ครั้งแรก เพราะทรมานกับอาการอาเจียนปนเลือดมาก ทั้งนี้ บุ้งขอรับน้ำเกลือเพียง 1/3 ของปริมาณน้ำเกลือ 1 ถุงเท่านั้น 


จากการเข้าเยี่ยม ทนายความสังเกตว่าตอนนี้บุ้งหน้าซูบตอบ เบ้ารอบดวงตามีร่องลึก หรือตาโหล มีอาการอ่อนเพลียตลอดเวลา มีอาการเป็นตะคริวบ่อยครั้ง ถามถึงตะวันและแฟรงค์ว่ามีอาการเป็นยังไงบ้าง 


บุ้งแจ้งว่า ขณะนี้ได้ #จิบน้ำ ในปริมาณที่จำกัด แต่ยังคงยืนยันว่าจะอดอาหารประท้วงต่อไป ทั้งขอยืนยัน 2 ข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งได้แก่

1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

2) ต้องไม่มีใครถูกขังเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บุ้งเนติพร #ตะวันแฟรงค์ #ทานตะวัน

วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“หมอเหวง” และคปช.53 ทวงคำสัญญาพรรคเพื่อไทย เร่งทวงความยุติธรรม ให้มีปฏิบัติการจริงในกรณีคดีจากการปราบปรามประชาชนปี 53 ตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบคดีที่ถูกแช่แข็งให้ถึงที่สุด

 




“หมอเหวง” และคปช.53 ทวงคำสัญญาพรรคเพื่อไทย เร่งทวงความยุติธรรม ให้มีปฏิบัติการจริงในกรณีคดีจากการปราบปรามประชาชนปี 53 ตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบคดีที่ถูกแช่แข็งให้ถึงที่สุด


วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ นพ.เหวง โตจิราการ พร้อมด้วยญาติวีรชน เมษา-พฤษภา 53 และทนายโชคชัย อ่างแก้ว ได้เดินทางมาพบตามนัดหมายกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ ประกอบด้วย นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้วและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรค, น.ส.ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดและรองโฆษกพรรค ร่วมให้การต้อนรับ


นพ.เหวง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อโดยกล่าวว่า เมื่อ 23 ก.พ. 66 คปช.53 ได้เคยยื่น 8 ข้อเรียกร้องต่อพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น โดยเรื่องเร่งด่วน 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน กระทั่งครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อตรวจสอบคดีความกรณีการตาย เมษา-พฤษภา53 ที่ถูกแช่แข็ง บิดเบือน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังมีอีก 62 ศพที่ยังไม่มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ


2) แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีทหารและนักการเมืองที่ทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน 3) ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา53 ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนอื่น แต่เกี่ยวข้องกับ ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้นเอง


ส่วนข้อเสนออีก 5 ข้อ ที่ไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ 1) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้มีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ 2) แก้ไขกฎหมายผันเป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร รวมทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 3) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ปฏิรูปกองทัพและองค์กรอิสระอย่างจริงจัง 4) กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค 5) วุฒิสภาชิกถ้ายังจะมีอยู่ให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศ


นพ.เหวง กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่สามารถทำได้เลยคือตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนส่วนต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบผลักดันและเร่งรัดคดีกรณีการตาย เมษา-พฤษภา53 ให้ถึงที่สุด ซึ่งมีคำสั่งไต่สวนการตายออกมาแล้ว 33 ศพ ในจำนวนนี้ 16 ศพ คำสั่งไต่สวนการตายระบุว่า ตายจากกระสุนทหารที่มาทำหน้าที่โดยคำสั่งของศอฉ. ยังไม่มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีก 62 คดี


นพ.เหวง กล่าวต่อว่า วันนี้เริ่มต้นมาที่พรรคเพื่อไทยด้วยความปรารถนาดี เพราะว่าเรานำคะแนนเสียงมาให้ ถ้าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนและตอบรับโดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นเลย ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะใจคนทั้งประเทศ ไม่เพียงเฉพาะคนเสื้อแดงและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เพราะคนทั้งประเทศจะเห็นอย่างชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนงแน่วแน่ในการที่ยุติทหารฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนน มิฉะนั้นการที่ทหารจะฆ่าประชาชนกลางถนนจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าพรรคเพื่อไทยตอบรับและจริงใจโดยการเอาฆาตกรและผู้สั่งฆ่ามาลงโทษ พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนชื่นชมอย่างล้นหลาม


ด้านทนายโชคชัย กล่าวว่า วันนี้เรามาพรรคเพื่อไทยด้วยพันธกรณีก่อนการเลือกตั้งที่เราได้เคยยื่นข้อเรียกร้องต่อพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ซึ่งวันนี้เราก็มาติดตามจากเรื่องคดีปี 53 ที่ถูกฟรีซแช่แข็งไปประมาณ 10 ปี หลังการยึดอำนาจปี 2557 เราหวังว่าจะมีการขับเคลื่อนเพื่อทวงความยุติธรรมตามความประสงค์ของพวกเราต่อไป


จากนั้นนพ.เหวงและคณะได้ขึ้นไปยื่นหนังสือและสนทนาร่วมกัน และในเวลาต่อมาได้ลงมาให้สัมภาษณ์ภายหลัง โดย นพ.เหวง กล่าวว่าทางพรรคเพื่อไทยโดย อ.ชูศักดิ์ เป็นคณะนำและในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ได้ให้เกียรติและเปิดโอกาสให้ คปช.53 ได้พบและยื่นหนังสือ จากที่เราได้เคยยื่นข้อเรียกร้องไปเมื่อปีที่แล้ว วันนี้เรามาเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 23 ก.พ. และ 10 เม.ย. 66 โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งคดีให้ถึงที่สุด นำคนฆ่าและคนสั่งฆ่ามาลงโทษ และเพื่อยุติการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนนและหยุดการทำรัฐประหารยึดอำนาจอีกต่อไป


นอกจากนี้ นพ.เหวง ยังฝากถึง นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ว่า “กล้า ๆ หน่อยนักการเมือง” กล้าหาญทางการเมือง กล้าหาญทางจริยธรรม กรุณาสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ ด้วยการตั้งคณะกรรมการทวงความยุติธรรมให้วีรชนเมษา-พฤษภา53 จนถึงที่สุด ผมว่าประวัติศาสตร์ไทยจะจดจารึกวีรกรรมของ เศรษฐา ทวีสิน ไปชั่วนานเท่านาน ว่าเป็นคนปักธงไม่ให้ทหารฆ่าประชาชนสองมือเปล่าและไม่มีการยึดอำนาจอีกต่อไป


นอกจากนี้ นพ.เหวง ยังเรียน อ.ชูศักดิ์ว่า ต้องไปแก้กฎหมายว่าทหารและนักการเมืองที่กระทำผิดอาญาต่อประชาชนพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือนปกติ และให้รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณี เมษา-พฤษภา53


นพ.เหวง กล่าวว่า อ.ชูศักดิ์ บอกว่าตนเองใส่ใจเรื่องนี้และได้พยายามทำโดยการไปแก้กฎหมายป.ป.ช. เพราะเรื่องเกี่ยวกับปี 2553 ทางฝั่งผู้มีอำนาจรัฐในสมัยนั้นเขามองว่ากระทำไปเพราะเขาเป็นรัฐบาล จึงเสนอกฎหมายว่าถ้าป.ป.ช.ตีตก ให้ผู้เสียหายสามารถที่จะเดินเรื่องฟ้องร้องด้วยตัวเอง แต่มีการท้วงติงมาจนพรรคเพื่อไทยต้องดึงร่างกฎหมายดังกล่าวกลับออกมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน และรัฐธรรมนูญมีเจตจำนงให้ป.ป.ช.เท่านั้นที่มีอำนาจในการฟ้องนักการเมือง


ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ได้เซ็นรับหนังสือและรับว่าจะนำเอกสารที่ คปช.53 มายื่นวันนี้เสนอต่อหัวหน้าพรรคเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป


ด้านทนายโชคชัย กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีวันนี้เรามาที่พรรคเพื่อไทยก็ได้รับคำตอบจากตัวแทนของพรรคเพื่อไทยว่าไม่เคยนิ่งนอนใจเพิกเฉยต่อกรณีเหตุการณ์ปี 2553 และพร้อมที่จะสนับสนุนการทวงความยุติธรรมของคณะพวกเรา ซึ่งพวกเราก็จะดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่เราแจ้งไว้


และในวันที่ 29 ก.พ. 67 เวลา 09.30 น. คปช.53 จะเดินทางไปรัฐสภา เกียกกาย เพื่อพบกับพรรคก้าวไกลต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #คปช53 #ทวงความยุติธรรม #เมษาพฤษภา53












วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ชยพล” จี้กองทัพเรือตอบให้ชัด จะกู้เรือหลวงสุโขทัยหรือไม่ หลังเรือล่มมาปีกว่า ถามเหตุใดไม่ให้สหรัฐฯ ช่วยกู้ทั้งลำ กลับจบแค่การปลดอาวุธ ย้ำต้องกู้เรือเท่านั้น ประชาชนจึงจะเห็นความจริง

 


ชยพล” จี้กองทัพเรือตอบให้ชัด จะกู้เรือหลวงสุโขทัยหรือไม่ หลังเรือล่มมาปีกว่า ถามเหตุใดไม่ให้สหรัฐฯ ช่วยกู้ทั้งลำ กลับจบแค่การปลดอาวุธ ย้ำต้องกู้เรือเท่านั้น ประชาชนจึงจะเห็นความจริง

 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ เขต 8 พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “นิราศ(เรือหลวง)สุโขทัย: จากเรือรบสู่ประการังเทียม?” ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล โดยชยพล ได้ไล่ไทม์ไลน์ของเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางลงตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2565 พร้อมกับกำลังพลอีก 106 นาย ซึ่งขณะนั้นกองทัพเรือได้เดินเรือออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานเทิดพระเกียรติพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องในวันครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันประสูติขององค์พระบิดาของกองทัพเรือไทย

 

พร้อมกันนี้ ชยพล ได้ยกการอภิปรายของอดีต สส.ก้าวไกลอย่าง พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ที่เคยอภิปรายถึงประเด็นการล่มของเรือหลวงสุโขทัยไว้ ว่าประกอบด้วยปัญหา 3 ประการ ไม่ว่าจะเป็น (1) สภาพอากาศ ในวันเกิดเหตุรายงานพยากรณ์อากาศของกองทัพเรือได้รายงานไว้ว่าคลื่มลมจะสูงประมาณ 2.5 เมตร และรายงานของเอกชนระบุไว้ว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร ถึงอย่างนั้นหากเรือหลวงสุโขทัยถูกบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามงบประมาณที่ขอไป ก็ไม่มีทางที่จะล่มได้อย่างแน่นอน (2) สภาพความพร้อมของเรือ เช่น สมอเรือ มอเตอร์ยังมีอาการขัดข้อง มาตรวัดในเรือใช้งานไม่ได้ เครื่องจักรสั่นสะเทือนผิดปกติ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้งานได้ 3 จาก 4 เครื่อง และ (3) ความผิดพลาดของการสั่งการซึ่งจุดที่เรือหลวงสุโขทัยล่ม จะใกล้กับท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เหตุใดถึงพยายามเดินเรือกลับไปสัตหีบจนอับปางในที่สุด

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการซ่อมบำรุงของเรือหลวงสุโขทัย เช่นเรื่องการซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กที่ถูกกร่อนจนบางต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งซ่อมไปเพียง 5 จุดจาก 13 จุดที่มีปัญหา แล้วไปซ่อมอีก 10 จุดที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีคิวรอการซ่อมอยู่ถึง 19 รายการ

 

หลังเกิดเหตุการณ์ ตนอยากให้พี่น้องประชาชนลองคิดดูว่ากองทัพเรือนั้นคิดอย่างไร ถึงมีท่าทีทั้งขัดแย้งกันไปมาอยู่เสมอ เช่น หลังเกิดเหตุมีการเริ่มกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 กองทัพเรือได้เริ่มเปิดให้บริษัทได้ยื่นซองประมูลโครงการกู้เรือหลวงสุโขทัยเป็นครั้งแรก ผ่านไปเป็นเวลา 2 เดือนหลังจากวันที่เรือล่ม กองทัพเรือได้แจ้งว่าผลการสอบสวนมีความคืบหน้าไปกว่า 90% ซึ่งก็คือเสร็จกระบวนการในขั้นตอนของการสอบปากคำพยานทั้งหมดเกือบ 300 คน โดยเหลือเพียงแค่การกู้เรือเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบ

 

ซึ่งทางกองทัพเรือได้ให้ข่าวว่า คาดว่าจะเริ่มกู้เรือกันได้ในเดือนเมษายนปี 2566 เป็นอย่างช้า หลังจากผ่านไปกว่า 7 เดือน ในช่วงเดือนกันยายนปี 2566 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการทหาร ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการล็อคสเปคในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ทำให้ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาขอสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

 

และในระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2566 กองทัพเรือก็เริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเอกสารไม่ครบ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ค้านสายตาคนรอบข้างมาก จน กมธ.การทหาร ต้องเชิญกองทัพเรือเข้าชี้แจง โดยชยพลตั้งคำถามว่า กองทัพเรือเองก็ย้ำมาตลอดว่าการกู้เรือเป็นภารกิจด่วน แล้วเหตุใดจึงล้มกระดานเสียเอง ทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่จากการเริ่มยื่นซองกันในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ขัดกับที่กองทัพกล่าวไว้แต่แรก ว่าพร้อมเริ่มกู้เรือตั้งแต่เดือนเมษายน 2566

 

ชยพล กล่าวต่อว่า กระทั่งวันที่ 19 มกราคม 2567 ตนได้เปิดเอกสารจาก JUSMAGTHAI 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาคือการทวงถามรายงานข้อเท็จจริงในกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง และการเตือนว่าตามสัญญาการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ก่อนจะให้บุคคลที่สามมายุ่งกับยุทโธปกรณ์ของสหรัฐได้ ต้องได้รับคำยินยอมจากรัฐบาลของสหรัฐฯ ก่อน และ JUSMAG ก็ได้ส่งหนังสือมาแจ้งกองทัพเรือไทย ให้ทำตามข้อตกลงการใช้อาวุธ โดยส่งหนังสือมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 แจ้งให้ส่งรายงานโดยระบุข้อมูลคือ “วันที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขข้อผิดพลาดโดยกองทัพเรือ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์”

 

ทางสหรัฐฯ รอคำตอบจากกองทัพเรือไทยมาเกือบปี ซึ่งหมายความว่าตลอด 1 ปี กองทัพเรือเตะถ่วงเรื่องการกู้เรือและล่าช้าในเรื่องการสรุปข้อเท็จจริงที่ควรต้องชี้แจงให้ประชาชนและประเทศคู่ค้าด้วย ขณะที่ในวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ผบ.ทร. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความร่วมมือกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ว่าจะร่วมมือกันลงไปสำรวจซากเรือหลวงสุโขทัย ลงไปถ่ายรูปสำรวจเก็บหลักฐาน พร้อมตามหาผู้สูญหายอีก 5 นายและปลดอาวุธเรือ แต่พอพูดถึงเรื่องการกู้เรือ กลับไม่มีระบุว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ จะร่วมการกู้เรือครั้งนี้ หรือจะยังคงมีการกู้เรืออยู่หรือไม่

 

ทั้งที่กองทัพเรือได้เข้ามาชี้แจงในสภาฯ หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าใน กมธ.การทหาร และกมธ.งบประมาณ 2567 ได้พูดถึงความตั้งใจจริงที่จะกู้เรือ โดยระบุความจำเป็นของการกู้เรือไว้ 3 ข้อ คือ (1) เพราะซากเรือขวางทางเดินเรือ (2) เพื่อตามหาผู้สูญหายอีก 5 นาย และ (3) เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการสรุปข้อเท็จจริง จึงจำเป็นต้องกู้อย่างเร่งด่วน เพื่อหาความจริงให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ และเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการล่มของเรือหลวงสุโขทัย จึงจะสามารถเปิดรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดให้กับประชาชนได้

 

ต้องกู้เรือเท่านั้นถึงจะเห็นความจริง ต้องกู้เรือเท่านั้นถึงจะเปิดเผยรายงานได้ เข้าใจได้ว่ากองทัพเรือไทยไม่สามารถกู้เรือได้เอง แต่ไม่เข้าใจตรงที่เมื่อมิตรประเทศอย่างสหรัฐได้มาถึงที่แล้ว ทำไมให้ช่วยไม่สุดทาง ทำไมถึงจบแค่การปลดอาวุธ แต่ไม่กู้จิ๊กซอว์นี้ขึ้นมา หรือมันเพราะว่า สัญญาการใช้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐ จะครอบคลุมแค่เฉพาะกับยุทโธปกรณ์ หากมีการปลดอาวุธแล้ว ก็จะสิ้นสถานะการเป็นยุทโธปกรณ์ในทันที ซึ่งแปลว่า จะกู้หรือไม่กู้ จะรู้หรือไม่รู้ความจริง ก็ไม่มีใครมาบังคับได้อีกแล้ว

 

ชยพลกล่าวว่า ตนจึงต้องการย้ำว่าการกู้เรือเท่านั้นถึงจะเห็นความจริง ต้องกู้เรือเท่านั้นถึงจะเปิดเผยรายงานได้ เข้าใจได้ว่ากองทัพเรือไทยไม่สามารถกู้เรือได้เอง แต่ไม่เข้าใจตรงที่เมื่อมิตรประเทศอย่างสหรัฐฯ ได้มาถึงที่แล้ว เหตุใดไม่ให้สหรัฐฯ ช่วยอย่างสุดทาง ทำไมถึงจบแค่การปลดอาวุธ

 

หรือเพราะว่าสัญญาการใช้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ จะครอบคลุมเฉพาะเมื่อตัวเรือยังดำรงสภาพการเป็นยุทโธปกรณ์ หากมีการปลดอาวุธแล้ว ก็จะสิ้นสถานะการเป็นยุทโธปกรณ์ทันที ซึ่งแปลว่า จะกู้หรือไม่กู้ จะรู้หรือไม่รู้ความจริง ก็ไม่มีใครมาบังคับได้อีกแล้ว JUSMAG จะไม่ได้ดูแลเรือหลวงสุโขทัยอีกต่อไป ชะตากรรมของเรือหลวงสุโขทัยจะอยู่ในมือของกองทัพเรือไทยเท่านั้น” ชยพลกล่าว

 

ชยพลทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ท่าทีของกองทัพเรือเอง ไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะยังกู้เรืออยู่หรือไม่ ขัดกับคำพูดตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องขอให้กองทัพเรือออกมายืนยันให้ชัด ว่าสรุปแล้วเราจะได้รู้ความจริงเมื่อใดกันแน่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เรือหลวงสุโขทัย #ก้าวไกล