วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

“พริษฐ์” สรุปรายงานอนุฯ ศึกษารูปแบบเลือกตั้ง สสร. ต่อสภาฯ ย้ำสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดโมเดลหลากหลายให้สังคมร่วมพิจารณา ตอบโจทย์เรื่องความเชี่ยวชาญ-ความหลากหลายได้

 


พริษฐ์” สรุปรายงานอนุฯ ศึกษารูปแบบเลือกตั้ง สสร. ต่อสภาฯ ย้ำสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดโมเดลหลากหลายให้สังคมร่วมพิจารณา ตอบโจทย์เรื่องความเชี่ยวชาญ-ความหลากหลายได้

 

วันที่ 31 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณารายงานผลการศึกษา เรื่อง “การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง” โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ภายใต้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เป็นผู้อภิปรายสรุปเนื้อหาในรายงานดังกล่าว โดยระบุว่า คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีทั้งความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เปิดกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกกลุ่มมากที่สุด หากถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการ “เลือกตั้งทั้งหมด” ซึ่งไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่ถูกเสนอโดยหลายฝ่ายทางการเมืองและภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2562 หรือหากมองไปนอกประเทศ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว วัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงเป็นการจัดทำข้อเสนอเพื่อเปิดจินตนาการให้เห็นถึงทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายในการออกแบบ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า กรอบคิดหลักในการออกแบบ สสร. ควรเริ่มต้นด้วยการมองว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องมีประเภทเดียว แต่อาจประกอบด้วย สสร. ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ สสร. มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และมีพื้นที่ให้กับคนจากหลากหลายกลุ่มมาทำงานร่วมกันได้อย่างผสมผสาน โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งอาจแบ่งออกได้มากที่สุดเป็น 3 ประเภทหลัก ประกอบด้วย ก) สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป ข) สสร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ และ ค) สสร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ที่ล้วนต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

 

ก) สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป มี 3 โจทย์หลักที่ต้องพิจารณาในการออกแบบ ประการแรก “จะกำหนดพื้นที่อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง” หากใช้จังหวัดหรือพื้นที่ที่เล็กกว่าจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ก็จะมีตัวแทนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ในทุกจังหวัด หรือหากใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ก็จะทำให้ สสร. มีตัวแทนที่ครอบคลุมหลายประเด็นมากขึ้น หรืออาจมี สสร. ตัวแทนพื้นที่มากกว่าประเภทเดียว เช่น ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น สสร. ที่เลือกกันในระดับจังหวัด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น สสร. ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

 

โจทย์ประการต่อมาคือ “จะกำหนดจำนวน สสร. ต่อ 1 เขตเลือกตั้งอย่างไร” จะมีจำนวน สสร. เท่ากันในทุกจังหวัด หรือจะมีจำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัดที่ต่างกันตามสัดส่วนประชากร เพื่อให้น้ำหนักหรือจำนวนประชากรต่อ สสร. หนึ่งคนมีค่าเท่ากันในทุกพื้นที่

 

และประการสุดท้าย “จะใช้วิธีใดในการเลือก สสร. ในแต่ละเขตเลือกตั้ง” โดยในกรณีที่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครเป็นรายบุคคล ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอวิธีการเลือกตั้ง 5 ทางเลือก ได้แก่

 

(1) ระบบ Single Non-Transferable Vote หรือ SNTV คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน ไม่ว่าเขตเลือกตั้งนั้นจะมีจำนวน สสร. ที่จะได้รับเลือกตั้งกี่คน

(2) ระบบ Multiple Non-Transferable Vote หรือ MNTV คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้มากเท่ากับจำนวน สสร. ที่จะได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น หากเขตเลือกตั้งมี สสร. 3 คน ประชาชนจะเลือกผู้สมัครได้มากสุด 3 คน

(3) ระบบ Approval Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครกี่คนก็ได้ที่ตนพร้อมให้การอนุมัติ เช่น หากเขตเลือกตั้งมี สสร. 3 คน ประชาชนจะเลือกอนุมัติผู้สมัคร 1 คน 3 คน หรือ 10 คนก็ได้

(4) ระบบ Single Transferable Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนสามารถเรียงลำดับผู้สมัครตามความชอบ โดยหากผู้สมัครที่ตนเลือกเป็นอันดับ 1 ได้รับคะแนนน้อยมาก และยังไม่มีผู้สมัครคนใดชนะขาด ระบบก็จะมีวิธีในการโอนคะแนนดังกล่าวไปให้กับผู้สมัครที่ตนเลือกเป็นอันดับ 2 หรืออันดับถัดไป เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงตกน้ำ

(5) ระบบ Score Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนสามารถให้คะแนนผู้สมัครตามลำดับความชอบ เช่น ให้ 3 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 1 ให้ 2 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 2 และให้ 1 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 3

 

หรือหากจะกำหนดให้ประชาชนเลือกผู้สมัครเป็นทีมหรือบัญชีรายชื่อ ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็ได้เสนอวิธีการเลือกตั้ง 2 ทางเลือก ได้แก่

(1) ระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด (Closed Party-List) คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกได้ 1 ทีม โดยจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมได้จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่ทีมได้ และผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งขึ้นอยู่กับลำดับบัญชีรายชื่อที่ทางทีมได้จัดสรรไว้

(2) ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open Party-List) คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน เลือกได้ 1 ทีม และสามารถเลือกเจาะจงได้ว่าอยากเลือกผู้สมัครคนใดในบัญชีรายชื่อของทีมดังกล่าว โดยจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมได้จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่ทีมได้ ส่วนผู้สมัครคนไหนในทีมจะได้รับเลือกตั้งก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนในทีมนั้นได้รับ เปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่นในทีมเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในเมื่อ สสร. ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้งมีทางเลือกที่หลากหลาย หลายฝ่ายจึงมองว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจะมีแค่ สสร. ประเภทนี้ประเภทเดียวก็อาจเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังมีบางฝ่ายที่อาจกังวลว่า สสร. ตัวแทนพื้นที่เพียงอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์เข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งโจทย์และการตัดสินใจ รวมถึงบางฝ่ายก็กังวลว่า สสร. ที่มีแค่ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกมองข้าม แต่จำเป็นในการสะท้อนเสียงที่หลากหลายทางสังคม

 

แต่ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการยืนยัน ว่าข้อกังวลดังกล่าวไม่ควรนำไปสู่การเสนอให้ สสร. บางส่วนไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทางออกที่เป็นไปได้ในการคลี่คลายข้อกังวลดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มประเภท สสร. ขึ้นมาอีก 2 ประเภทที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเฉพาะ แต่ยังคงมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นั่นคือ ข) สสร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ค) สสร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

 

พริษฐ์ยังระบุด้วยว่า หากตัดสินใจว่าจะมี สสร. ประเภทเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาจาก สสร. ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปหรือไม่ จะมี 3 โจทย์หลักที่ต้องพิจารณาในการออกแบบต่อไป ประการแรก “จะกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัคร สสร. ประเภทดังกล่าวอย่างไร” ซึ่งในส่วนของ สสร. ประเภท ข) อาจจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น กฎหมาย รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การเมืองในระบบ หรือการเมืองภาคประชาชน

 

เช่นเดียวกับในส่วนของ สสร. ประเภท ค) ก็อาจจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายต่าง ๆ เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือหากมองว่ากลุ่มความหลากหลายสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มมาก ก็อาจจะเลือกไม่กำหนดหมวดหมู่หรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะ แต่เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครรับเลือกตั้งต้องระบุเองในกระบวนการสมัครและการรณรงค์หาเสียง ว่าตนเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายในมิติใด

 

โจทย์ประการต่อมา “ใครจะเป็นผู้เลือก สสร. ประเภทดังกล่าว” แน่นอนว่าทางเลือกที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการรวบรวมรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติมาให้ประชาชนเลือกโดยตรง ผ่านการเพิ่มบัตรเลือกตั้งขึ้นมาอีก 1 ใบต่อ 1 ประเภท แต่หากใครกังวลว่าการมีบัตรเลือกตั้งหลายใบมากเกินไปอาจเกิดความสับสน อีกทางเลือกหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณา คือการให้ สสร. ประเภท ข) และ ค) ถูกเลือกโดย สสร. ประเภท ก) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรง แต่วิธีนี้จะยังคงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าการปล่อยให้ สสร. ประเภท ข) และ ค) ถูกเลือกโดยคณะรัฐมนตรี รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมการใด ๆ เนื่องจาก สสร. ประเภท ก. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด และอย่างน้อยที่สุด ประชาชนยังได้รับรู้ในวันเลือกตั้ง สสร. ว่า สสร. ประเภท ก. ที่เขาเลือกเข้าไปโดยตรง จะไม่เพียงแต่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังมีอำนาจในการเลือก สสร. ประเภทอื่น ๆ เข้ามาทำงานเพิ่มเติมด้วย

 

โดยอาจมีการกำหนดกติกาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สสร. ประเภท ก) ต้องแจ้งกับประชาชนก่อนวันเลือกตั้งว่าจะเสนอชื่อใครมาเป็น สสร. ประเภทอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมทำงาน ไม่ว่าจะผ่านกลไกแบบบังคับ เหมือนที่แต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ต้องระบุชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หรือจะใช้กลไกแบบสมัครใจก็ได้

 

และโจทย์ประการสุดท้าย “จะใช้ระบบเลือกตั้งใดในการเลือก” ซึ่งทางเลือกสำหรับโจทย์นี้จะคล้ายกับที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอไว้สำหรับระบบเลือกตั้ง สสร. ประเภท ก) ก่อนหน้านี้

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ทางเลือกต่าง ๆ ที่รายงานนี้ได้นำเสนอ จะเห็นว่าการออกแบบ สสร. สามารถทำได้หลายโมเดลมาก เพื่อตอบโจทย์สำคัญต่าง ๆ โดยหากมองว่า สสร. ควรมีแค่ตัวแทนพื้นที่ในทุกจังหวัด ก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก) ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือหากมองว่าไม่จำเป็นต้องมี สสร. ที่เป็นตัวแทนในพื้นที่ต่าง ๆ ก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก) ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หรือหากมองว่า สสร. ควรมีทั้งตัวแทนพื้นที่ในระดับจังหวัด และตัวแทนเชิงประเด็นในระดับประเทศ ก็อาจจะแบ่ง สสร. ประเภท ก) เป็น 2 ประเภทย่อย คือที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คล้ายกับ สส. ที่มีทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

 

หรือหากต้องการรับประกันพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางสังคมจริง ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการเพิ่ม สสร. ขึ้นมาอีก 2 ประเภท เพื่อให้ประชาชนเลือก สสร. ผ่านบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ ประกอบด้วย 1 ใบ สำหรับ สสร. จังหวัด 1 ใบ สำหรับ สสร. ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ และ 1 ใบ สำหรับ สสร. ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย หรือหากกังวลว่าการมีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบจะสร้างความสับสนยุ่งยาก ก็อาจกำหนดให้ สสร. ประเภท ข) และ ค) ถูกเลือก โดย สสร. ประเภท ก) ที่ประชาชนเลือกเข้าไป

 

พริษฐ์กล่าวสรุปว่า สุดท้ายแล้ว สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดมีได้หลายโมเดลและหลายรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรายงานนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าโมเดลหรือระบบเลือกตั้ง สสร. แบบใดดีที่สุด แต่ต้องการฉายภาพให้ได้เห็นถึงทางเลือกอันแตกต่างหลากหลายที่เป็นไปได้เกี่ยวกับโมเดลหรือระบบเลือกตั้ง สสร. รวมถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก

 

หากโมเดล สสร. เป็นเสมือนจานอาหาร และหากคณะอนุกรรมาธิการฯ นี้เป็นเสมือนร้านอาหารที่ขายเฉพาะอาหารที่ใช้สูตรว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมหวังว่ารายงานฉบับนี้ก็จะเปรียบเสมือนเมนูอาหารที่มีอาหารตามสั่งที่หลากหลายเพียงพอให้ประชาชนได้เลือกและปรุงแต่งได้ตามรสชาติที่เขาต้องการ โดยไม่มีใครจำเป็นต้องไปตอบสนองความต้องการของตนเอง ด้วยการเดินไปทานที่ร้านอาหารอีกร้านหนึ่ง ที่ขายอาหารบางจานซึ่งหันเหออกจากหลักการว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด” พริษฐ์กล่าว

 

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ และมีมติให้ส่งรายฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาและเป็นทางเลือกต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สสร #รัฐธรรมนูญใหม่



“พิธา-ชัยธวัช” ยกทัพ "ก้าวไกล" แถลงโต้ศาลรธน. ตัดสินทำสังคมขัดแย้งสถาบันมากขึ้น ยันการแก้ม.112 ไม่ได้คิดล้มล้างการปกครอง

 


“พิธา-ชัยธวัช” ยกทัพ “ก้าวไกล” แถลงโต้ศาลรธน. ตัดสินทำสังคมขัดแย้งสถาบันมากขึ้น ยันการแก้ม.112 ไม่ได้คิดล้มล้างการปกครอง


วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 16.30 น. นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงพร้อมกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ที่รัฐสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การแก้ไข ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง และห้ามดำเนินการในลักษณะนี้อีกว่า ทางพรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่ได้มีเจตนาเพื่อล้มล้างทำลายหรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด


นอกจากนี้พวกเรายังกังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว เช่นอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตต่อความเข้าใจและความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลักการสำคัญของระบอบการเมืองที่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในสมัยระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ในปัจจุบันและอนาคตอาจอาจจะกระทบสิ่งสำคัญอีก เช่น การตีความอะไรคือการล้มล้างการปกครองอาจจะเกิดปัญหา ที่พวกเราเข้าใจหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนไม่ตรงกัน มีความคลุมเครือทั้งในแง่การข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนาใช้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต จะทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบระบบรัฐสภาในการหาข้อยุติความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต


สุดท้ายคำวินิจฉัยในวันนี้ยังส่งผลกระทบให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


พรรคก้าวไกลขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้พวกเราหลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในวันนี้จะไม่ได้กระทบเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเท่านั้น เป็นเรื่องของอนาคตของระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ #ม112 #ล้มล้างการปกครอง



ด่วน!! ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียง แก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง ให้หยุดการกระทำ


ด่วน!! ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียง แก้ ม.112  เป็นการล้มล้างการปกครอง ให้หยุดการกระทำ


วันนี้ (31 มกราคม 2567) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่


ทั้งนี้ ทางพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง แจ้งว่านายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฎิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดห้องวอร์รูมที่รัฐสภา เพื่อให้ส.ส.ก้าวไกล ฟังคำวินิจฉัยพร้อมกัน


ผลการวินิจฉัยปรากฏว่า


1. การนำ ม.112 ออกจากหมวดความผิดเรื่องความมั่นคง เป็นความมุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติไทย


2. การเสนอให้สิทธิ์โต้แย้งข้อเท็จจริงการการติชมโดยสุจริตไม่มีความผิด อาจนำไปสู่ผู้กระทำผิดใช้เป็นข้ออ้างว่าเข้าใจสุจริต ซึ่งย่อมทำให้ศาลต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ย่อมต้องพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงถ้อยคำจะเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขัดกับรัฐธรรมนูญที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ


3. การเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้อง และเป็นคดีที่ยอมความได้ ทำให้กลายเป็นความผิดส่วนพระองค์ ไม่ใช่ความผิดของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องกระทบจิตใจปวงชนชาวไทย


และแม้นโยบายที่เสนอกับ กกต. จะไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะแก้ ม.112 อย่างไร แต่ศาลถือเอาข้อมูลตามเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล จนถึงปัจจุบัน ที่อ้างร่างเก่าที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งศาลนำมาพิจารณาในครั้งนี้ ซึ่งแสดงเจตนาลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การที่มีพรรคการเมืองใช้นโยบายที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง ส่งผลให้อาจเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย รธน.มาตรา 34 จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เมื่อดูความเคลื่อนไหวที่มีการทั้งการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น และการเสนอกฎหมาย จึงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำนั้นได้ เพราะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลจึงวินิจฉัยให้ยกเลิก และไม่ให้แก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยการกระบวนการนิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุด พรุ่งนี้ (1 ก.พ. 67) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่น "ยุบพรรคก้าวไกล" ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ก้าวไกล #112 #ล้มล้างการปกครอง





“ธนาธร” เข้าประชุมกมธ.ถ่ายโอนทรัพย์สินกองทัพฯ หวังโอนรายได้เข้าคลัง ปั้นกองทัพสมัยใหม่ ยัน ไม่ได้ปูทางหวนคืนการเมือง เมินคนค้านนั่งกรรมาธิการ ชี้ ไม่เคยมีปัญหา

 


“ธนาธร” เข้าประชุมกมธ.ถ่ายโอนทรัพย์สินกองทัพฯ หวังโอนรายได้เข้าคลัง ปั้นกองทัพสมัยใหม่ ยัน ไม่ได้ปูทางหวนคืนการเมือง เมินคนค้านนั่งกรรมาธิการ ชี้ ไม่เคยมีปัญหา


วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 10.10 น. ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ถึงความคาดหวังในกมธ.ชุดนี้ ว่า คิดว่ากมธ.ชุดนี้จะมีเป้าหมายในการศึกษาทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงดูว่าจะมีอะไรสามารถถ่ายโอนกลับเข้ามาที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ เชื่อว่ากองทัพในปัจจุบันมีภารกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศเยอะมาก ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม และศูนย์ประชุมต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก จึงเห็นว่าควรถ่ายโอนรายได้เหล่านี้ไปให้กระทรวงการคลัง และทำให้กองทัพมีความเป็นสมัยใหม่


เมื่อถามว่า จะหาจุดสมดุลระหว่างการเมืองกับกองทัพอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า ต้องใช้กมธ.ในการสนทนากัน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ส่วนจะเป็นความขัดแย้งเรื่องการเมืองและกองทัพหรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์มีมาแล้ว ในอดีตกองทัพไม่มีงบประมาณ​ ขอก็ไม่ได้ กองทัพก็ขอทรัพย์สินบางส่วนไปบริหารเองเพื่อจัดเป็นสวัสดิการให้กับทหาร แต่เวลาก็ผ่านมานานแล้ว หากกองทัพอยากมีสวัสดิการก็ต้องขอผ่านกลไกสภา เหมือนกระทรวงอื่นตามปกติ คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นปัญหาการเมืองและเชื่อว่ากมธ.ชุดนี้ คงมีข้อสรุปที่เห็นร่วมกันได้


เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าการที่นายธนาธรนั่งกมธ.ชุดนี้ เป็นการปูทางเข้ากลับเข้าสู่การเมือง นายธนาธร กล่าวว่า “ไม่หรอกครับ ทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าผมติดตามเรื่องนี้มานาน จึงอยากให้มาช่วยนั่งในกมธ.ชุดนี้ ซึ่งผมก็ยินดี”


เมื่อถามถึงกรณีที่นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากมธ.การกฎหมาย ร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่านายธนาธรไม่เหมาะสมที่จะนั่งกมธ.ฯ นายธนาธร กล่าวว่า “เป็นมาหลายกมธ.แล้ว ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร”


ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรหากนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม นั่งประธานกมธ.ชุดนี้ นายธนาธร กล่าวว่า เชื่อว่านายจิรายุ จะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่ติดขัดอะไร


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธนาธร #กมธถ่ายโอนทรัพย์สินกองทัพ




จำคุก 'มายด์ ภัสราวลี' 2 ปี คดี 112 ปราศรัย #ม็อบ24มีนา64 " โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันเดินหน้าสู้ต่อ ให้เกิดบรรทัดฐาน ชวนร่วมส่งกำลังใจผู้ต้องหา 112 ทุกคน

 


จำคุก 'มายด์ ภัสราวลี' 2 ปี คดี 112 ปราศรัย #ม็อบ24มีนา64 โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันเดินหน้าสู้ต่อ ให้เกิดบรรทัดฐาน ชวนร่วมส่งกำลังใจผู้ต้องหา 112 ทุกคน

 

วันนี้ (31 มกราคม 2567) ตามที่เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์นักกิจกรรม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา64 เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ นั้น

 

คืบหน้าล่าสุด เวลาประมาณ 9.45 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิประชาชน รายงานผ่าน X ระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และกำลังศึกษาอยู่ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม

 

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. ภายหลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น น.ส.ภัสราวลี ได้เปิดเผยเพิ่มเติมต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ ศาลอ่านคำพิพากษา ในความผิด 2 ข้อหาคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตนข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษาว่าตนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคำปราศรัยเป็นการหมิ่นสถาบันฯ ลงโทษจำคุก 3 ปีแต่ให้การเป็นประโยชน์ และ มีสถานะเป็นนักศึกษาลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาไว้ 3 ปีเพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี

 

โดยในคำพิพากษาศาลบอกว่า คำปราศรัยของตนไม่ได้พูดถึงข้อกฎหมายในตอนที่ปราศรัย อาจจะทำให้คนที่รับฟังเข้าใจผิดต่อสถาบันฯไปได้ แต่ตนยืนยันว่าข้อเท็จจริงที่ตนอ้างอิงใช้ประกอบในการปราศรัยเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นในที่สาธารณะอยู่แล้ว โดยตนยืนยันว่าจะต่อสู้คดีนี้ต่อ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าประชาชนอย่างเราจะสามารถพูดถึงทุกสถาบันการเมืองที่อยู่ภายใต้แล้วรัฐธรรมนูญได้

 

ทั้งนี้น.ส.ภัสราวลี ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All เข้ายื่นหนังสือขอเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือทางออกการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ มาถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบรับกลับมาเลยว่าจะให้พบวันไหน ซึ่งทางกลุ่มฯยังเฝ้ารอ อยากขอนายกฯ เจียดเวลาให้กลุ่มได้เข้าพบเพื่อพูดคุย และไม่ให้ประเด็นคำถามประชามติ เป็นชนวนที่จะล็อคให้ประเทศอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งต่อไป

 

และ ภัสราวลี ยังกล่าวย้ำเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล #นิรโทษกรรมประชาชน ร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 และสามารถดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่นี่ amnestypeople.com/activities/

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112 #นิรโทษกรรมประชาชน




ลุ้น! ศาลนัดฟังคำพิพากษา มายด์-ภัสราวลี คดี #ม112 ปราศรัย แยกราชประสงค์ #ม็อบ24มีนา64 ยันปราศรัยด้วยความสุภาพ นอบน้อม หวังดีและจริงใจในการนำเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หวังศาลให้ประกันตัว หรือ ให้รอลงอาญา

 


ลุ้น! ศาลนัดฟังคำพิพากษา มายด์-ภัสราวลี คดี #ม112 ปราศรัย แยกราชประสงค์ #ม็อบ24มีนา64 ยันปราศรัยด้วยความสุภาพ นอบน้อม หวังดีและจริงใจในการนำเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หวังศาลให้ประกันตัว หรือ ให้รอลงอาญา


วันนี้ (31 มกราคม 2567) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เจริญกรุง 63  เวลา 8.40 น. น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา64 เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ซึ่งจัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ว่า


วันนี้ตนค่อนข้างมั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุดต้องได้รับการประกันตัวเพราะว่า การได้รับการประกันตัวที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของพวกเรา เพราะคนที่โดนคดี ม.112 ต้องมีสิทธิ์ได้ออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ แม้ว่าคำพิพากษาจะออกมาว่าผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ในศาลชั้นต้น ตนจึงหวังว่าหวังในชั้นอุทธรณ์ก็จะได้ประกันตัว หรืออย่างดีก็คงจะได้รอลงอาญา


สำหรับตนนั้น มีคดี ม. 112 อยู่ 3 คดี สำหรับในคดีนี้เป็น การชุมนุมกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน ม็อบ24มีนา64 “เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร” จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์  ซึ่งตนมั่นใจว่าการปราศรัยของตน ตนพูดด้วยความสุภาพนอบน้อม พูดด้วยความหวังดีทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทแต่อย่างใด สิ่งที่พูดในวันนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยที่เกิดข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากไม่พูด เราก็จะยิ่งซุกปัญหาไว้ใต้พรม และไม่ได้แก้ไข ตนจึงมั่นใจว่า สิ่งที่ตนพูดไปเป็นประโยชน์ต่อทุกสถาบัน


ทั้งนี้ในวันที่ 1 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ตนขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมานาน รวมถึงจะได้คืนความเป็นธรรมให้อำนาจให้กับประชาชนเพราะประชาชนอย่างพวกเรามีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์การเมือง คดีทางการเมืองไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย หากรัฐบาลชุดไหน ๆ เข้าใจถึงหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตนก็คาดหวังมากว่า รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีจากการเลือกตั้ง จะเห็นความสำคัญของการริเริ่มเรื่องนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อคงความสง่างามที่จะเข้าไปใน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” มายด์ ภัสราวลี กล่าวทิ้งท้าย


สำหรับบรรยากาศในวันนี้นอกจากสื่อมวลชนไทย ยังมีสื่อมวลชนต่างชาติที่มาร่วมนำเสนอข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจและมอบดอกดาวเรือง-ดอกกุหลาบให้กับนางสาวภัสราวลีก่อนขึ้นไปฟังคำพิพากษา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มายด์ภัสราวลี #มาตรา112




วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2567

“เพื่อไทย” เสนอญัตติ ตั้ง “กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม” รับฟังความเห็นรอบด้าน หาข้อยุติภายใน 60 วัน เปิดกว้างนักวิชาการ-ภาคประชาชนร่วม

 


“เพื่อไทย” เสนอญัตติ ตั้ง “กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม” รับฟังความเห็นรอบด้าน หาข้อยุติภายใน 60 วัน เปิดกว้างนักวิชาการ-ภาคประชาชนร่วม

 

วันนี้ 30 มกราคม 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่จะมีการยื่นเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อสภาผู้แทนราษฎร  โดยจะเสนอเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567  

 

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม อยากรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดจะต้องพิจารณากฎหมาย เพื่อหาข้อยุติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองและบุคคคลภายนอก ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการชุดนี้ให้ได้มากที่สุด องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ควรมีไม่เกิน 28-29 คน กรรมาธิการควรมาจาก สส. ของพรรคที่มีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับและควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนและนักวิชาการที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เข้ามาร่วมศึกษา

 

พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะต้องดำเนินการศึกษาโดยใช้เวลา “ไม่นานเกินไป แต่ไม่ช้าเกินรอ” คือไม่เกิน 60 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อความรอบคอบรัดกุม รับฟังทุกเสียงสะท้อนให้มากที่สุด

 

สำหรับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เห็นว่าการนิรโทษกรรมควรเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และไม่ควรถูกยกขึ้นเป็นสาเหตุของการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #นิรโทษกรรม

ศาลจังหวัดสมุทรปราการให้ประกัน "ก้อง อุกฤษฏ์" วางหลักทรัพย์วงเงิน 250,000 บาท หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดี ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ

 


ศาลจังหวัดสมุทรปราการให้ประกัน "ก้อง อุกฤษฏ์" วางหลักทรัพย์วงเงิน 250,000 บาท หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดี ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ

 

วันนี้ (30 มกราคม 2567) ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน X ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำคุก "ก้อง อุกฤษฏ์" 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา112 และ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

 

สืบเนื่องมาจากโพสต์ข่าวของเพจ Jonh New World เข้ากลุ่ม #รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวต่างชาติเพื่อประท้วงพระมหากษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี พร้อมข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”

 

คืบหน้าล่าสุด เวลา 12.20 น. ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นวงเงิน 250,000 จากหลักทรัพย์เดิมจำนวน 150,000 บาท และเพิ่มจำนวนอีก 100,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข

 

สำหรับ "ก้อง อุกฤษฏ์" นั้นเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยเข้าร่วมกลุ่ม “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” และต่อมาเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "ลูกพ่อขุนฯโค่นล้มเผด็จการ" และกลุ่ม #ทะลุราม เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการมีรัฐสวัสดิการ "ก้อง อุกฤษฏ์" ได้จับไมค์ขึ้นปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้คาดคิด ถึง 2 คดี ใน 2 สถานีตำรวจ และถูกฟ้องใน 2 ศาล

 

โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 อุกฤษฏ์ ได้ร่วมวงเสวนา Stand Together 4 เดินหน้านิรโทษกรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน ที่จัดโดย iLaw ช่วงหนึ่งของการสนทนา อุกฤษฏ์ได้เล่าถึงคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยผ่านเพจเฟสบุ๊กส่วนตัว “John New World” ซึ่งทำให้เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่ในที่พัก พยายามกดดันให้เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย โชคดีที่ต่อมาเขาได้พบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคนที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้องจึงได้บังเอิญพบกับทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

 

และต่อมาอุกฤษฏ์ยังถูกเจ้าหน้าที่จาก สน.บางแก้ว เข้าอาญัติตัวด้วยข้อหาแชร์โพสต์จากเพจ John New World ในข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี และยังถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แจ้งข้อหาเพิ่มในคดีแรกจากสามกรรมเป็นห้ากรรม แม้ว่าข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามานั้นอุกฤษฏ์จะไม่ได้มองว่าจะสามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้ก็ตาม

 

ทำให้เขามีคดีมาตรา 112 สองคดี โดยคดีแรกศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุกห้าปี 30 เดือน และคดีที่สองศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่มีเหตุให้รอลงอาญาและศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นพิจารณาคดี เป็นหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่มีเงื่อนไขในการให้ปล่อยตัวชั่วคราว และนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ตามรายละเอียดข้างต้น

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม112

"ใบปอ พร้อมภาคประชาชน" ร้องกมธ.งบฯ ให้ตรวจสอบงบจัดซื้ออาวุธของตำรวจศาล หลัง "บุ้ง" ถูกกระบองตี เผย "บุ้ง" อดอาหารประท้วงในเรือนจำ เหตุเจ้าหน้าที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ

 


"ใบปอ พร้อมภาคประชาชน" ร้องกมธ.งบฯ ให้ตรวจสอบงบจัดซื้ออาวุธของตำรวจศาล หลัง "บุ้ง" ถูกกระบองตี เผย "บุ้ง" อดอาหารประท้วงในเรือนจำ เหตุเจ้าหน้าที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ

 

วันนี้ (30 มกราคม 2567) เวลา 11.30 น.ที่รัฐสภา ตัวแทนจากองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมกับตัวแทนสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ พร้อมด้วยภาคประชาชนเดินทางมายื่นหนังสือต่อน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 ขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีการทำร้ายร่างกายในบริเวณพื้นที่ศาลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลใช้อำนาจ หรือใช้ดิ้วหรือกระบองทำร้าย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่มาจากภาษีของประชาชน และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ จึงขอให้คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตรวจสอบ ว่าใช้อำนาจอย่างเหมาะสมหรือไม่

 

น.ส.ณัฐนิช กล่าวว่า น.ส.เนติพรถูกคุมขังในข้อหาละเมิดอำนาจศาล และได้ประกาศอดอาหาร ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมารวมเป็นเวลา 3 วันแล้ว เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และตอนนี้อาการเริ่มแย่ลง มีอาการหน้ามืดและต้องมีคนช่วยพยุง จึงเดินทางมาเพื่อเรียกร้องว่ามีประชาชนถูกทำร้ายในพื้นที่ศาล

 

ขณะที่ น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายคณะกรรมาธิการฯ จึงจะนำไปพิจารณาว่าจะสามารถส่งเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังคณะกรรมาธิการชุดใดได้บ้าง รวมทั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย ที่ตนเองเป็นกรรมาธิการอยู่ รวมทั้งคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ที่มี น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน

 

ด้าน น.ส.พนิดา กล่าวว่าจะนำความเดือดร้อนของประชาชน ปรึกษากับฝ่ายกฎหมาย ว่าจะสามารถดำเนินการต่อในด้านใดได้บ้าง ส่วนครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือร้องเรียน จะนำไปสอบถามในชั้นกรรมาธิการว่า มีเหตุผลและที่มาอย่างไร เพื่อให้งบประมาณต่าง ๆ ถูกใช้อย่างคุ้มค่าและไม่หันกลับมาทำร้ายพี่น้องประชาชนเอง

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “บุ้ง ทะลุวัง” เริ่มอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ 28 มกราคม ผ่านมา

 

โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างการเมืองอีก

 

โดยเมื่อวัน 29 ม.ค. 2567 หลังทนายเข้าเยี่ยม พบว่า บุ้งอ่อนเพลีย ปวดท้อง รู้สึกหน้ามืด น้ำลายเหนียว ปวดหัว ฯลฯ

 

สำหรับ บุ้งถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา จากการถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีเดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์



ทะลุฟ้า จุดเทียน รำลึก 1 ปี ‘ลุงไพโรจน์’ สู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ หน้าศาลอาญา ชี้ คนอย่างลุงยังมีอยู่และเกิดขึ้นเพื่อสานต่อ

 


ทะลุฟ้า จุดเทียน รำลึก 1 ปี ลุงไพโรจน์’ สู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ หน้าศาลอาญา ชี้ คนอย่างลุงยังมีอยู่และเกิดขึ้นเพื่อสานต่อ

 

วันนี้ (29 มกราคม 2567) ที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา ประตู 8 กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมด้วยมวลชน จัดกิจกรรม วางดอกไม้ จุดเทียนรำลึก วาระครบรอบการจากไปของนายไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร หรือที่ทุกคนเรียกว่า #ลุงไพโรจน์

 

สำหรับลุงไพโรจน์ เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่เดินเท้าไปศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นประกันตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 โดยขณะที่ทนายความเข้าไปยื่นประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง 12 ราย ลุงไพโรจน์มีอาการเหนื่อยอ่อนและนั่งพักอยู่ที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าศาล จากนั้นได้หมดสติพับลงไปนอนบนฟุตบาท มวลชนที่อยู่รอบข้างจึงช่วยปฐมพยาบาลและพาส่งรพ.ราชวิถีโดยเร็ว แต่สุดท้ายเสียชีวิตก่อนถึงรพ. ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

 

ภายหลังทราบชื่อว่า ไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร อายุขณะนั้น 67 ปี เป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และเข้าร่วมในการต่อสู้อย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่สมัยคนเสื้อแดง จนถึงแฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 และเรื่อยมา

 

หลังการเสียชีวิตของลุงไพโรจน์ นั้น ไผ่- จตุภัทร์ ระบุว่า จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกนายไพโรจน์ที่หน้าศาลอาญาในวันที่ 29 มกราคมของทุกปี

 

โดยวันนี้ (29 ม.ค. 67) 18.30 น. ลุงตุ๊ เพื่อนของลุงไพโรจน์ เป็นผู้กล่าวสดุดีไว้อาลัยลุงไพโรจน์เป็นคนแรก กล่าวว่า คนอย่างลุงไพโรจน์จะต้องยังมีอยู่และเกิดขึ้น และสิ่งสำคัญคือทุกคนจะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองเพื่อที่จะยืนหยัด ต่อสู้ได้อย่างยาวนาน สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อเชิดชูวีรชนใดวีรชนหนึ่ง สิ่งที่เราต่อสู้คือความบริสุทธิ์ เราต่อสู้เพื่อสังคมที่พัฒนาขึ้น และเราต่อสู้เพื่อที่อำนาจเป็นของประชาชน

 

จากนั้น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ขึ้นกล่าวรำลึก โดยตะวันกล่าวว่า วันนี้เมื่อปีที่แล้วเราสองคนอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จำได้ว่าขณะนั้นรอทนายมาแจ้งข่าวว่าเพื่อนได้รับการประกันตัวหรือเปล่า แต่วันนั้นที่ได้รับข่าวคือข่าวคุณลุงไพโรจน์เสียชีวิต จากการมาร่วมกิจกรรม ตอนนั้นทำให้ตนและแบม ไม่สามารถที่จะพูดอะไรออกมาได้นอกจากน้ำตาไหลอย่างเดียว ซึ่งตนก็ตั้งคำถามว่าจะต้องมีอีกกี่ชีวิต อีกสักกี่คน ถึงจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้มีอำนาจถึงจะได้ยินเสียงพวกเรา วันนี้เรามายืนอยู่ที่นี่ ที่หน้าศาลเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ลุงไพโรจน์ก็มายืนอยู่ตรงนี้ ทำไมผ่านมาแล้ว 1 ปี กลับไม่มีอะไรดีขึ้น ทำไมถึงไม่ฟังเสียงที่พวกเรา ส่งเสียงไปว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ยังมีคนที่ต้องเข้าเรือนจำเพราะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

 

ครบรอบ 1 ปีที่คุณลุงไพโรจน์จากไปด้วยอุดมการณ์จนลมหายใจสุดท้าย ขอขอบคุณลุง อยากขอบคุณลุงที่เป็นอีกหนึ่งพลังที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง เราเรียกร้องในสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้ และความเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่คน 1 หรือ 2 คนแต่เป็นเพราะทุกคนช่วยกันไม่ว่าจะอยู่ในเรือนจำหรืออยู่ข้างนอกเรือนจำแต่ทุกคนต่างช่วยกัน ด้วยพลังจากคนตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเรา สิ่งที่ลุงไพโรจน์ทำมาจะไม่มีวันสูญเปล่า ขอบคุณทุกคนรวมถึงลุงไพโรจน์ที่ร่วมสู้ไปกับตนในช่วงเวลาที่อดอาหารขณะถูกคุมขังเมื่อปีที่แล้ว ทานตะวันกล่าว

 

ด้านแบม อรวรรณ กล่าวเสริมว่าไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะเห็นต่าง วันนี้ 1 ปีผ่านมาแล้วแต่ไม่มีอะไรดีขึ้น กลับมีคนต้องเดินเข้าคุกอยู่เรื่อย ๆ ตนรู้สึกซาบซึ้งกับมวลชนและลุงไพโรจน์มาก ๆในขณะเมื่อปีที่แล้วที่ตนอดอาหารแต่ยังมีคนข้างนอกที่ร่วมสู้ไปกับพวกตนรวมถึงลุงไพโรจน์ วันที่ทราบข่าวว่ามีมวลชนเสียชีวิตขณะมาทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง ตนรู้สึกเศร้าเสียใจมาก มาถึงตอนนี้ไม่รู้ว่าลุงไปอยู่ที่ไหนแต่เราจะขอจดจำลุงในฐานะนักสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดไป อรวรรณ กล่าว

 

จากนั้นได้มีการเปิดเพลงนักสู้ธุลีดินของ จิ้น กรรมาชน ขณะที่เชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเขียนข้อความไว้อาลัยลงในสมุดบันทึกที่วางด้านหน้ารูปลุงไพโรจน์พร้อมกับวางดอกไม้รำลึก

 

จากนั้น แก้วใส วงสามัญชน และ ไผ่ จตุภัทร์ ร่วมเล่นดนตรี อาทิเพลง บทเพลงของสามัญชน อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เพื่อมวลชน เราคือเพื่อนกัน และเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ ระหว่างที่ร้องเพลงนี้มวลชนต่างจุดเทียนเพื่อแสดงความอาลัยแด่ลุงไพโรจน์ โดยระหว่างนั้น ไผ่ จตุภัทร์ ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกิจกรรม 1 - 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ กับ #เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมกับร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนด้วย ซึ่ง 14 วันจะมีกิจกรรมทุกวันเพื่อดันร่างกฎหมายไปให้ถึงสภา ก่อนที่ ปูน ทะลุฟ้า จะกล่าวปิดกิจกรรม ในเวลา 19.30 น.

 

UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทะลุฟ้า #นักสู้ธุลีดิน #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน #ลุงไพโรจน์