ปชน.เสนอญัตติด่วนคดีตากใบหมดอายุความเที่ยงคืนวันนี้ ชี้กระบวนการยุติธรรมไทยกำลังถูกท้าทาย-ความไว้วางใจต่อรัฐเสี่ยงถดถอย ย้ำชัดไม่ใช่ปัญหาระหว่างพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ
วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความของคดีตากใบ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการเสนอญัตติด่วนในลักษณะเดียวกันจากพรรคประชาชาติเข้ามาด้วย
รอมฎอน ระบุว่า ถ้านับจากวินาทีนี้จนถึงเที่ยงคืน เหลือเวลาอีกประมาณ 13 ชั่วโมง อายุความของคดีอาญาร้ายแรงที่เป็นผลมาจากโศกนาฏกรรมเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคดีอาญามีอยู่ 2 สำนวน คือ สำนวนที่ประชาชนฟ้องเองที่ศาลจังหวัดนราธิวาส กับสำนวนที่อัยการสั่งฟ้อง ทั้ง 2 คดียังไม่มีการจับกุม มอบตัว และจำเลยทั้ง 14 คนก็ยังไม่ปรากฏตัวต่อศาลจนถึงเวลานี้
เหตุการณ์ตากใบเป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องชำระสะสางอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อเดินหน้าต่อไปในการสร้างสันติภาพและหาข้อยุติความขัดแย้ง
“เราต้องการทางออกทางการเมือง นี่เป็นเรื่องของรัฐ ความมั่นคงของรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และหลักนิติธรรม”
รอมฎอน กล่าวต่อไปว่า เวลานี้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศกำลังถูกท้าท้ายและถึงภาวะตีบตัน หลายเดือนมานี้ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและกลไกกรรมาธิการพยายามที่จะเปิดเผยความจริง อีกทั้งฝ่ายตุลาการก็พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อทำให้ความจริงและความยุติธรรมเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นในแวดวงระหว่างประเทศว่า ตกลงประเทศไทยยังอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมหรือไม่ หลายเรื่องวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดก็ยังมีอยู่ ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องมีต่อประชาชนจะเกิดขึ้นหรือไม่
อีกทั้งในช่วงนี้สถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล หลังจากนี้อาจมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น หลังจากนี้อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น กระบวนการพูดคุยและเจรจาในช่วงนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจน แม้จะมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพใหม่ แต่ก็คงยากถ้าเหตุการณ์ตากใบคลี่คลายในลักษณะที่ผูกปมใหม่อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญเวลานี้ กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทั่วไป ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และแวดวงต่าง ๆ คดีตากใบกลายเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไปแล้ว ที่สำคัญ คือ ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ออำนาจรัฐก็กำลังถดถอย ประเทศไทยกำลังเผชิญข้อพิสูจน์ที่ว่า รัฐไทยไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้จริงหรือไม่
“เราต้องระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาของภาวะเสื่อมถอยนี้ ที่เร่งด่วนมาก ๆ คือ เราจะโอบอุ้มความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บที่กำลังรอคอยความจริงและความยุติธรรมนี้ได้อย่างไร นี่คือหน้าที่ของพื้นที่ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง และฝ่ายนิติบัญญัติของเรา ที่จะนำเรื่องยาก ๆ เรื่องที่ท้าทาย และเรื่องที่เป็นปัญหาหลักของรัฐแบบนี้มาคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย มาหาทางออกร่วมกัน” รอมฎอน กล่าว
รอมฎอน กล่าวต่อไปว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาทางการเมือง แต่ไม่ใช่การเมืองระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคการเมือง แต่เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่ไม่ลงรอยกันและอยู่ภายใต้สัมพันธภาพที่เปราะบาง เราจึงควรอย่างยิ่งที่จะใช้พื้นที่ของสภาแห่งนี้ ในฐานะเป็นหนึ่งในหนทางที่ประเทศนี้จะสามารถใช้ได้ เพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เราจำเป็นต้องใช้ปากพูด ใช้หู ในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แทนที่จะปล่อยให้เสียงปืน เสียงระเบิดเสียงของความรุนแรงผูกขาดความจริงและคำอธิบายต่าง ๆ และแทนที่จะใช้ความเงียบหลบหนีปัญหา เราต้องเผชิญหน้ามันอย่างมีวุฒิภาวะ
ในอดีต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเคยใช้รัฐสภาระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2548 อภิปรายปัญหาใหญ่ระดับชาตินี้ ซึ่งตนคาดหวังว่า 20 ปีถัดมา เรามีมรดกตกค้างที่ต้องคลี่คลายสะสาง อยากจะเรียกร้องสมาชิกฯ ว่า ปัญหาใหญ่ขนาดนี้เราต้องร่วมกันหาทางออก เพราะความยุติธรรมที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่เพียงการดำเนินคดีในชั้นศาลเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงการเปิดเผยความจริง การเยียวยาฟื้นฟู และแน่นอนควรมีการปฏิรูปสถาบันต่าง ๆ เพื่อที่จะไม่ให้เหตุการณ์คนมีอำนาจรัฐฆ่าประชาชนเกิดขึ้นอีก
หลังจากการอภิปรายเสนอญัตติ โดยทั้งพรรคประชาชนและพรรคประชาชาติ ในฝั่งของพรรคเพื่อไทย โดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้พยายามคัดค้านการเสนอญัตติดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยระหว่างวิปทั้งสองฝ่าย ได้มีการหารือตกลงกันได้ว่า จะมีการอภิปรายในญัตติด่วนดังกล่าวอย่างจำกัดจำนวนผู้อภิปราย โดยวิปพรรครัฐบาลได้ยกเหตุผลขึ้นมาว่า การประชุมเพิ่มวันศุกร์ที่ตกลงกันนี้ วัตถุประสงค์แรกเริ่ม คือ เพื่อสะสางญัตติอื่นที่ยังค้างคาอยู่ แต่เมื่อมีญัตติด่วนถูกนำเสนอขึ้นมา ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน จึงขอให้มีการอภิปรายอย่างจำกัดเวลาเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้ตามวัตถุประสงค์
ส่วน รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ร่วมอภิปรายในญัตติด่วนว่า ความจริงใจจะเป็นหัวใจที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะในกรณีตากใบเท่านั้น แต่รวมไปถึงการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสตั้งกระทู้ถามต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องความมั่นคงและตำรวจ ซึ่งท่าทีหรือคำตอบที่ได้จากรองนายกรัฐมนตรีในวันนั้น โดยหลักมีแต่เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณลักษณะหรือท่าทีของการถาม แทบไม่ได้รับคำตอบหรือความจริงใจอะไรจากรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาในการดับไฟใต้และทวงความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบแม้แต่น้อย
ที่ผ่านมาการพูดเรื่องตากใบของรัฐบาลนี้ในหลายโอกาสยังนำไปสู่การโหมไฟขึ้นมาอีก เช่น การที่รองนายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า วันนี้น้ำท่วมสำคัญกว่า ทั้งที่ไม่ควรจะต้องมาเลือกว่า เหตุการณ์ไหนสำคัญกว่าเหตุการณ์ไหน เพราะสิ่งที่ประชาชนกำลังเจอในพื้นที่ต่าง ๆ ล้วนสำคัญทั้งนั้น มากไปกว่านั้น ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็พูดเป็นนัยว่า ทำไมมาฟ้องเอาตอนนี้ กลายเป็นว่า เหยื่อที่สูญเสียกลายเป็นคนที่ถูกตราหน้าจากสังคม โยนบาปว่า มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองบางอย่างที่จะทำลายรัฐบาล
รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะส่งสัญญาณถึงการละเลยความเจ็บปวดของประชาชนเหมือนเดิมอีกหรือ แถมวันนี้ยังมี สส. บางคนบอกอีกว่า ทำไมไม่คุยกันในกรรมาธิการ แต่เรื่องนี้ใหญ่กว่าแค่คนสองคนหรือหนึ่งกรรมาธิการจะมาคุยกัน เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมและการส่งความจริงใจของรัฐบาลให้ประชาชน และถ้าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อรัฐบาลต้องตอบ 3 คำถามให้ได้ คือ
1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากการชุมนุมเริ่มต้นไปจนถึงการขนคนขึ้นรถเที่ยวสุดท้าย เป็นระยะเวลาตั้งแต่รุ่งเช้าถึงตี 1 ของอีกวัน อดีตนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นไม่รู้สึกอะไรเลยหรือว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ไม่รู้สึกว่า ต้องทำอะไรเลยหรือ เหตุใดจึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ระงับยับยั้ง
2) หลังจากนี้ เมื่อหมดอายุความ จะมีกระบวนการหรือนโยบายอย่างไรให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยจะไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว ให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มั่นใจได้ว่า สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้
3) แนวทางในการบริหารเพื่อดับไฟใต้ของรัฐบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านมาแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย รัฐบาลนี้จะนำเสนอนโยบายเพื่อดับไฟใต้ที่จะนำไปสู่ความแตกต่างได้หรือไม่
“ตราบใดที่ไม่สามารถสร้างความหวังและความจริงใจที่ประชาชนสามารถรู้สึกได้ ไฟใต้ก็มีแต่โหมกระพือ และสิ่งที่รัฐบาลได้พูดได้ทำในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ได้จุดไฟนั้นอีกครั้ง ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้แก้ไขในสิ่งที่ถูก อย่าปล่อยให้ไฟใต้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไปเลย” รังสิมันต์ กล่าว
หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง รอมฎอน ได้อภิปรายสรุปว่า ทราบว่า ญัตินี้จะส่งไปให้คณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พิจารณาต่อ วันนี้เรามีโอกาสได้เสนอแนะแล้ว ภาระกิจต่อไปอยู่ที่ กมธ.กฎหมายจะต้องหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและสังคมไทย หลายเรื่องได้ข้อสรุปว่า ในเมื่ออายุความกำลังจะหมด ซึ่งเจอในหลายความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจำนวนมาก เรามีเครื่องมือที่มากกว่าการดำเนินคดีในศาลเท่านั้น ซึ่งหลายคนได้พูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เสาหลักหนึ่ง คือ การดำเนินคดีอาญาเพื่อแสวงหาความรับผิดชอบและลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ในหลายกรณีความขัดแย้งทางการเมืองที่มีล้มตายเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องยากที่ความยุติธรรมจะดำเนินการได้ แต่กรณีที่เป็นโศกนาฏกรรมอย่างนี้เราเดินมาถึงเส้นทางสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นอาจจะต้องมีกระบวนการอย่างอื่นเสริม
เรื่องสำคัญ คือ การเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คนและเป็นการให้หลักประกันในสังคมนั้น ๆ ว่า “จะไม่เกิดขึ้นอีก” แม้จะคำสัญญาจากนักการเมือง จากผู้นำ แต่เราออกแบบเชิงสถาบันได้ด้วยการสร้างสัญลักษณ์ในเชิงสังคมที่ตระหนักรับรู้ ด้วยการเริ่มต้นเปิดเผยความจริง มองหน้าความเลวร้ายที่สังคมเราเคยทำ เคยเป็นมาก่อนอย่างตรงไปตรงมาและวุฒิภาวะ อีกทั้งทำเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลไม่ให้ถูกลืม แต่ได้รับการจดจำให้เกียรติ
“การขอโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการเยียวยาในเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง เพราะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยความจริงว่า เหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตเกิดขึ้นอย่างไรและทำให้คนในรุ่นหลังได้เรียนรู้ว่า จะไม่ทำอย่างนั้นอีก การเยียวยาฟื้นฟูก็จำเป็น แน่นอนการเยียวยาด้วยเงินคงไม่เพียงพอ แต่การเยียวยาในเชิงสัญลักษณ์ในเชิงเศรษฐกิจก็ยังจำเป็นอยู่”
สุดท้ายเรื่องใหญ่ที่สุด คือ การปฏิรูปในเชิงสถาบัน เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรปรับปรุงกฎหมาย ป.วิอาญาว่าด้วยการหมดอายุความ มีการพูดคุยถึงฐานความผิดบางอย่างที่เป็นคดีอาญาร้ายแรงที่ไม่มีอายุความ และมีการพูดถึงการบัญญัติกฎหมายที่นำฐานความผิดต่อมนุษยชาติมาเป็นกฎหมายภายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งการยกระดับการแสวงหาความยุติธรรมในกลไกระหว่างประเทศ เมื่อกลไกภายในประเทศมาถึงทางตันก็คนเสนอว่า เราควรต้องเดินหน้าเพื่อเป็นหลักประกันว่า ประเทศนี้จะไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้นที่ตากใบ หรือ หนองจิกอีก
รัฐบาลควรให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญกรุงโรมและยอมรับขอบเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีบางช่องทางที่รัฐบาลสามารถยอมรับขอบเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในเฉพาะกรณีย้อนหลังได้ เช่น แอฟริกา นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดให้มีการไต่สวนสาธารณะเปิดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเหล่านั้น ซึ่งกลไกนี้จะต้องมานั่งคิดว่า จะใช้กลไกกรรมาธิการหรือแบบอื่น
นอกจากนี้การสรุปบทเรียนที่ผิดพลาดในอดีตและการเปิดเผยความจริงที่ยังคลุมเครืออยู่อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่งตั้งเมื่อ 20 ปีก่อนเป็นรายงานที่น่าสนใจ โดยเปิดเผยความจริงภายใต้เวลาที่จำกัดเพียง 45 วัน ดังนั้นจึงถึงเวลาที่รายงานฉบับนั้นจะได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาล พร้อมเอกสารแนบภาคผนวกต่าง ๆ เพื่อเป็นการเปิดเผยความจริงและเยียวยาความจริงนั้นต่อญาติผู้สูญเสีย ส่วนช่องทางการสื่อสารและเจรจาสันติภาพยังเป็นช่องทางที่รัฐบาลควรให้ความใส่ใจ เพราะหากปราศจากช่องทางนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจจะอ้างเพื่อสื่อสารการเมืองได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเหล่านั้นมาเป็นช่องทางการเมือง ซึ่งโต๊ะเจรจาเวลานี้จึงสำคัญมาก ๆ รัฐบาลต้องเร่งรัดและเปิดให้พื้นที่เหล่านี้ได้ส่งเสียงแทนที่จะเป็นระเบิดและปืน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตากใบต้องไม่เงียบ #20ปีตากใบ #คดีตากใบ