วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กลุ่ม24 มิถุนาฯพร้อมมวลชน บุกสภาฯ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบปมไม่ให้ประกันตัว"บุ้ง-ใบปอ" และทะลุแก๊ส ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ตำรวจสภาสั่งห้ามป้ายยกเลิก112เข้าสภา ด้าน"ณัฐชา"เผย 6 ก.ค. กมธ.จะไปขอคำชี้แจงกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์

 


กลุ่ม24 มิถุนาฯพร้อมมวลชน บุกสภาฯ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบปมไม่ให้ประกันตัว"บุ้ง-ใบปอ" และทะลุแก๊ส ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ตำรวจสภาสั่งห้ามป้ายยกเลิก112เข้าสภา ด้าน"ณัฐชา"เผย 6 ก.ค. กมธ.จะไปขอคำชี้แจงกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ 


วันนี้ (30 มิ.ย. 65) เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมด้วย นายเจษฎา ศรีปลั่ง สมาชิกกลุ่ม เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ผนึกกำลังมวลชนอิสระ ยื่นหนังสือร้องเรียนนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบศาลคุมขัง "ใบปอ" ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ "บุ้ง" เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง และสมาชิกทะลุแก๊ส ว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และขอให้มีการแก้ไข ป.วิอาญา 108/1 ตัดดุลยพินิจศาลสั่งคุมขังและไม่ให้ประกันตัวสู้คดี พร้อมทั้งตรวจสอบเรือนจำว่ามีการทรมานนักโทษการเมืองหรือไม่


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศก่อนที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี พร้อมมวลชน พร้อมด้วยมวลชน จะไปถึงยังจุดยื่นหนังสืออาคารรัฐสภานั้น ตำรวจรัฐสภาได้ทำการตรวจยึดป้ายข้อความจำนวนกว่า 10 ป้าย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ยกเลิก 112 ) โดยสั่งห้าม ทางกลุ่มฯ นำเข้าไปในเขตอาคารรัฐสภา เป็นเหตุให้ นายณัฐชา เข้าสอบถามข้อเท็จจริงกับตำรวจรายนั้น ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งห้าม มีระเบียบข้อบังคับ และใช้หลักเกณฑ์ใด ในการพิจารณาว่าป้ายประเภทใดเข้ามาในพื้นที่สภาไม่ได้


นายณัฐชา ได้กล่าวถึงประเด็นการสั่งห้ามนำป้ายเข้าบริเวณพื้นที่สภา ก่อนที่จะเชิญกลุ่มฯ ที่จะมายื่นและร้องกมธ. ได้พูดคุย โดยระบุว่า ไม่ว่าจะประชาชนคนใดจะมีความเห็นอย่างไร ก็ต้องแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองได้ในพื้นที่อาคารรัฐสภาตามหลักประชาธิปไตย แต่วันนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายที่สุดตลอดเวลาที่ผมเป็น ส.ส. คือประชาชนไม่สามารถนำความคิดเห็นตนเองมายื่นต่อ ส.ส. ตัวแทนประชาชนที่นี่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สภาฯ อ้างระเบียบกฎเกณฑ์ ที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าผิดหลักกฎหมายใด 


ความคิดของประชาชนไม่ได้เข้าทำเนียบหรือศาลก็ไม่ว่า แต่ไม่ได้เข้าสภาฯ ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเป็นที่ปลอดภัยที่สุดท้ายที่ควรพูดคุยได้นี่ สุดท้ายมันทลายลงไปแล้ว


นายณัฐชา จึงได้ขอเรียกร้องไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเรียกร้องไปยังผู้อำนวยการสำนักฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ยึดป้ายไป ถึงกรณีดังกล่าวว่า จะต้องมีผู้รับผิดชอบและให้คำตอบถึงข้อระเบียบได้ อันเป็นเหตุของการกีดกั้นความคิดของประชาชนในพื้นที่อาคารรัฐสภา 


ต่อมา กลุ่ม24 มิถุนาฯ พร้อมมวลชน ได้เข้ามายืนเรียงแถวพร้อมกัน โดยมวลชนได้ชูป้ายขัอความที่ผ่านการตรวจจากตำรวจสภาเข้ามาได้ 


จากนั้น นายอัครวินท์ สมบูรณ์ หรือ วิน กล่าวว่า การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการที่ว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวแก่นักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข 


ขณะที่อาทิตยา พรพรหม หรือ ซัน ได้กล่าวว่า การอดอาหารประท้วงของทั้ง 2 คน ทำให้สภาวะสุขภาพอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ทางราชทัณฑ์กลับไม่ให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมได้กล่าวถึงกรณีกลุ่มทะลุแก๊ส ที่พยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ เนื่องจากความเครียดที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยเฉพาะ กรณีของ "พลพล" ทะลุแก๊ส ซึ่งถูกกล่าวหากรณีวางเพลิงรถตำรวจที่แยกดินแดง ซึ่งอาทิตยากล่าวต่อไปว่า ความจริงมีหลักฐานปรากฎว่า พลพล ไม่ได้อยู่บริเวณนั้นเลย เมื่อรถตำรวจถูกเพลิงไหม้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาเปิดเผยกัน 


จากนั้น นายเจษฎา ได้ยกตัวอย่างกรณีของนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า และมีการหลบหนีคดี ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมตัวได้และศาลอาญาให้ประกันตัว แต่ในกรณีของกลุ่มทะลุแก๊ส หรือน.ส.ณัฐนิช และน.ส.เนติพร กลุ่มทะลุวัง ที่มีการมารายงานตัวทุกครั้ง และไม่เคยหลบหนี ฉะนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังกมธ.ว่า ทำไม นายสุนทรถึงได้รับการประกันตัว และขอเรียกร้องให้ทุกคนคืนสิทธิการประกันตัว ตนไม่อยากเห็นใครแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องไปอยู่ในเรือนจำ ในฐานะผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษา


ทั้งนี้นายเจษฎา ยังได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจอนุมัติประกันตัวอย่างเลือกปฏิบัติ เห็นได้จากกรณีศาลให้ประกันตัว สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า รวมถึง กรณี ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจาร แต่ยังได้รับการประกันตัว


จากนั้นนายณัฐชา ได้รับมอบหนังสือจากตัวแทนกลุ่มฯ และกล่าวว่า ทางกมธ.จะรับเรื่องไปพิจารณา และในวันที่ 6 ก.ค. กมธ.จะเดินทางไปที่กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ เพื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังพยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ ซึ่งยังไม่ได้รับการชี้แจงจากรมราชทัณฑ์


ต่อมา นายสมยศ ได้กล่าวปิดท้ายว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นสถานที่ซึ่งฆ่าผู้ต้องขังมาแล้วหลายคน ดังเช่น อำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ผู้ต้องหาคดี 112 จากการส่ง SMS สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง และ พล.ท.มนัส คงแป้น ที่ล้วนเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลปิด บริหารงานไม่โปร่งใส ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตนจึงเรียกร้องในความโปร่งใสของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วย


ทั้งนี้เมื่อยื่นหนังสือและพูดคุยแล้วเสร็จ ทางกลุ่มฯ ได้เดินออกนอกพื้นที่อาคารรัฐสภาและนำป้ายข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 ที่ตำรวจสภาสั่งห้ามนำเข้าไปบริเวณอาคารรัฐสภา มาถือถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน




“บก.ฟ้าเดียวกัน” ถูกบุกจับ ข้อหาเผยแพร่หนังสือสภาความมั่นคง กรณีให้สันติบาลสืบประวัติ “ทูตรัศม์” / สั่งผู้ว่าฯ ระดมจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดี

 


"บก.ฟ้าเดียวกัน" ถูกบุกจับ ข้อหาเผยแพร่หนังสือสภาความมั่นคง กรณีให้สันติบาลสืบประวัติ "ทูตรัศม์" / สั่งผู้ว่าฯ ระดมจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดี


เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 65 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ถูกตำรวจเข้าจับกุมในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเผยแพร่เอกสารลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ โดยที่ตำรวจมีการขอศาลออกหมายจับ แม้เจ้าตัวจะติดต่อขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากติดภารกิจในคดีอื่น พบเหตุที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพหนังสือของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 63 สั่งการสันติบาลติดตามและสืบสวนประวัติของ "ทูตรัศม์" เจ้าของเพจ "ทูตนอกแถว" เพื่อประกอบการปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้ต่อไป และให้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในทางลับ เพื่อการจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่อง


ก่อนหน้านี้ นายธนาพลเคยได้รับหมายเรียกจาก ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รองสารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. ในคดีที่มี พ.ต.อ.ศราวุธ วินัยประเสริฐ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เป็นผู้กล่าวหา ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความ เอกสารใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ (มาตรา 123), ทำให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไปซึ่งข้อความ เอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ (มาตรา 124), ตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดใด ๆ เพื่อให้ได้ข้อความ หรือเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศมา (มาตรา 128) และข้อหานำข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)


หลังได้รับหมายเรียกครั้งแรกในเดือนเมษายน นายธนาพลได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาออกไป 60 วัน และนัดหมายจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 28 มิ.ย. 65 แต่ต่อมาเขามีภารกิจในอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญาตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 65 จึงได้ติดต่อประสานงานแจ้งขอเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนออกไปเป็นวันที่ 4 ก.ค. 65


แต่พบว่าในวันที่ 28 มิ.ย. 65 นั้น ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน ได้ไปร้องขอศาลอาญาออกหมายจับธนาพล โดยมีนางสาวณัชชา ศรีขจร เป็นผู้พิพากษาศาลอาญาที่อนุญาตให้ออกหมายจับ เลขที่ 1296/2565


การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 16.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจากกองปราบปราม 2 นาย ได้แก่ พ.ต.อ.กิติภูมิ ศรีแผ้ว และ ส.ต.ท.เอกภพ ภักดีมี เข้าแสดงหมายจับนายธนาพล ที่สำนักงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม


เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาตัวนายธนาพลไปที่กองปราบปราม ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันกับ บก.ปอท. โดยไม่รอทนายความติดตามไปถึง นายธนาพลได้ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากยืนยันว่าได้ประสานในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนไว้ก่อนแล้ว


เวลา 19.30 น. หลังทนายความติดตามไปถึง พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง และ ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนนายธนาพล โดยกล่าวหาเขาใน 4 ข้อกล่าวหาข้างต้น จากพฤติการณ์สืบเนื่องมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 21 และ 22 พ.ย. 63 โดยมีการเผยแพร่ภาพหนังสือของ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ลงวันที่ 11 พ.ย. 63


หนังสือฉบับดังกล่าวลงนามโดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่งถึงผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล โดยเป็นการสรุปผลการประชุมของหัวหน้าหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงหลังการประชุมที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน โดยมีการแจ้งมติที่ประชุมเป็นข้อ ๆ จำนวน 4 ข้อ  โดยสรุปเนื้อหา ได้แก่


1. ให้หน่วยข่าวติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงวันที่ 23-27 พ.ย. 63


2. ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ติดตามและสืบสวนประวัติของอดีตนักการทูตที่เกษียณอายุราชการ (ได้แก่ รัศม์ ชาลีจันทร์ หรือ “ทูตรัศม์” เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว”) ที่เผยแพร่ข้อมูลโจมตีรัฐบาล เพื่อประกอบการปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้ต่อไป


3. ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมแนวทางป้องกันการระดมมวลชนมาร่วมการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่ส่วนกลาง และการชุมนุมคู่ขนานในภูมิภาค รวมทั้งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ (ในทางลับ) เพื่อดำรงการจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง


4. ให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยการลงพื้นที่ของเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย


ผู้กล่าวหาอ้างว่าการโพสต์ดังกล่าว เป็นการเผยแพร่เอกสารชั้นความลับของหน่วยงานที่มีความหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และเป็นเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ จึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน


หลังแจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหา ธนาพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป พร้อมกับให้การยืนยันว่าได้มีการประสานกับพนักงานสอบสวน ขอเลื่อนนัดหมายเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกแล้ว ไม่ได้มีเจตนาหรือพฤติการณ์จะหลบหนี การกระทำของพนักงานสอบสวนที่ไปร้องขอออกหมายจับทันที เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


ต่อมาเวลา 21.25 น. พนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวธนาพลในชั้นสอบสวน โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล โดยตำรวจตีวงเงินประกันเป็นจำนวน 100,000 บาท และกำหนดให้มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนทุก 15 วัน


ที่มา : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#TLHR

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์





“ชัชชาติ” ลงนาม MOU ร่วมศาลยุติธรรม พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยง การกำกับดูแลเรื่องการประกันตัว เพิ่มบทบาทผู้นำชุมชนยื่นขอประกันตัว ดูแลผู้ต้องหา เป็นการกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ

 


“ชัชชาติ” ลงนาม MOU ร่วมศาลยุติธรรม พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยง การกำกับดูแลเรื่องการประกันตัว เพิ่มบทบาทผู้นำชุมชนยื่นขอประกันตัว ดูแลผู้ต้องหา เป็นการกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ


วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ที่ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่าง ศาลยุติธรรมกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม


นายจีระพัฒน์ กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากทุกปี ศาลใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงร้อยละ 90 ของจำนวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ยื่นต่อศาล แต่ในบางกรณีจะมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไม่เคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมาก่อนเพราะไม่ทราบถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวว่าสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมกับคำร้อง หรือเคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ทำสัญญาประกันและวางหลักประกัน แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันมาเสนอหรือมาวางต่อศาลได้ เป็นเหตุให้ต้องถูกจองจำในระหว่างการพิจารณาคดี ย่อมถือได้ว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เป็น “ผู้ที่ถูกขังโดยไม่จำเป็น”


ประธานศาลฎีกาได้เล็งเห็นว่า การลดการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไรก็สามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยชั่วคราวได้อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้กำหนดให้พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม โดยการนำมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ มาใช้ในการปล่อยชั่วคราว เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราว การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทาง และการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนี การปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 กำหนดให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกำหนด ได้แก่ เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คำปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะประชาชนของสังคมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น


สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อที่จะขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยการประสานความร่วมมือให้กรรมการชุมชนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรืออยู่อาศัยจริง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและน่าจะทราบความเป็นไปกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในชุมชน ทั้งยังเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ มีบทบาทในการช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง และการช่วยสอดส่องกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาล ตลอดจนในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาห่างไกลที่ทำการศาล และมีฐานะยากจนไม่มีเงินพอเสียค่าพาหนะเดินทางมาศาลเพื่อมารายงานตัวบ่อยครั้ง คณะกรรมการชุมชนอาจช่วยเป็นผู้รับรายงานตัวแทนศาลได้ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา และไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายให้สังคม ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่สังคม


นายจีระพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมขอขอบคุณนายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนกรุงเทพมหานครที่ได้ให้เกียรติมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป


นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหลักของกทม.ที่เราเจอและเป็นนโยบายหลักคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเมืองโดยเฉพาะในกทม.เรามีชุมชน 2,000กว่าชุมชนและเป็นชุมชนแออัด 900 กว่าชุมชน โดยมีความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหลักอย่างที่คนชอบพูดกันว่า คุกเอาไว้ขังคนจน ซึ่งแม้คดีอยู่ในช่วงประกันตัวก็ตามเนื่องจากหลายคนไม่มีหลักทรัพย์


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่เราเห็นสองเรื่องหลักในชุมชนต่าง ๆ 

1. ในชุมชนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนโดยมีประธานและคณะกรรมการชุมชนซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็น บุคคลที่รู้จักคนในชุมชนเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาคณะกรรมการชุมชนไหนเข้มแข็ง ชุมชนนั้นจะรอดได้ ยกตัวอย่างเช่น ในเขตคลองเตยหากเราจะนำของไปบริจาค ตัวประธานชุมชนจะทราบเลยว่าบ้านไหนต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หรือคนไหนเป็นลูกใคร อยู่บ้านหลังไหน ทำงานอะไร คนในชุมชนจะรู้จักเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้รายละเอียดได้ดีกว่าศาล และถ้าเราให้เกียรติ ให้ความรับผิดชอบเหมือนกับการกระจายอำนาจลงไปตนว่า คนในชุมชนจะเกิดความภูมิใจและจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบยุติธรรมให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาที่ได้กระจายอำนาจให้ประชาชน อย่างเช่นการให้อำนาจประชาชนในการช่วยแจ้งเหตุ ประชาชนรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเมือง การกระจายอำนาจให้ประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่น่าจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง


2. ก่อนที่จะรู้จักโครงการนี้จากการลงพื้นที่บ่อย ๆ ก่อนเป็นผู้ว่าฯ ตนได้คุยกับคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นประธานกรรมการชุมชนแถวฝั่งธน ซึ่งตนก็ได้ถามประธานชุมชนว่าอยากได้อะไร คุณลุงคนนั้นก็บอกกับตนว่าทำไมในฐานะประธานกรรมการชุมชนเขาถึงไม่ได้สิทธิในการยื่นประกันตัวในศาล ทั้งที่เขาเป็นกรรมการชุมชน ซึ่งตอนนั้นตนก็ไม่ทราบถึงโครงการนี้ของศาล ก็ไม่รู้เรื่อง แต่พอมาเป็นผู้ว่าฯ ก็ได้พบว่ามีโครงการนี้อยู่ และได้ฟังความรู้จากท่านผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ก็เลยพึ่งมาทราบความหมายที่ประธานชุมชนคนดังกล่าวพูด จึงได้ทำความเข้าใจกับโครงการ และรู้สึกดีใจมากและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและให้ความยุติธรรมแก่พี่น้องในชุมชน ทางกทม.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการนี้ขึ้นมา และเป็นก้าวต่อไปในการลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชนดูแลกันเอง ตนเชื่อว่าถ้าชุมชนมีความเข้มเเข็งและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น สุดท้ายเมืองจะดีขึ้น


#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์





กทม. ร่วมกับสมาคมผกก.ภาพยนตร์ไทย/หอภาพยนตร์/สมาคมหนังกลางแปลง/ชมรมกรุงเทพน่าอยู่กว่าเดิม แถลงจัดงาน “กรุงเทพฯ กลางแปลง”

 


กทม. ร่วมกับสมาคมผกก.ภาพยนตร์ไทย/หอภาพยนตร์/สมาคมหนังกลางแปลง/ชมรมกรุงเทพน่าอยู่กว่าเดิม แถลงจัดงาน “กรุงเทพฯ กลางแปลง”


เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 65 ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) กรุงเทพมหานคร นำโดย นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์และสมาคมหนังกลางแปลง ชมรมกรุงเทพน่าอยู่กว่าเดิม แถลงจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ “กรุงเทพฯ กลางแปลง” โดยจะมีการจัดงานฉายหนังทั่วกรุงฯ ตลอดเดือนก.ค. (7-31 ก.ค. 65) เพื่อรับกับเทศกาล Film Festival รวม 10 สถานที่ 4 สุดสัปดาห์ หนัง 25 เรื่อง โดย 25 เรื่องนี้ได้รับอนุญาตจากลิขสิทธิ์แล้ว


โดยจะเริ่มต้นฉายห้วงแรกในวันที่ 7-9 ก.ค. สถานที่ลานคนเมือง หนังที่ฉายคือ 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) / เวลาในขวดแก้ว (2534) / แพรดำ (2504)


สถานที่ True Digital Park (TDPK) หนังที่ฉายคือ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552) / แม่นาคพระโขนง (2502) เป็นต้น


วันที่ 14-16 ก.ค. สถานที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย หนังที่ฉายคือ RRR (2565) / มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) / บุญชูผู้น่ารัก (2531)


สถานที่ส่งรถไฟ หนังที่ฉายคือ 4Kings (2564) / Portrait of a Lady on Fire (2562)  / One for the Road (2564)


วันที่ 21-23 ก.ค. สถานที่สวนเบญจกิติ หนังที่ฉายคือ มหานคร (2547) / อนธการ (2558) / Wheel of Fortune and Fantasy (2564)


สถานที่ตลาดสวนบางแคภิรมย์ หนังที่ฉายคือ Fast and furious (2552) / ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ (2547) / เพื่อนสนิท (2548)


วันที่ 28-30 ก.ค. สถานที่ Block - สยามสแควร์ หนังที่ฉายคือ รักแห่งสยาม (2550) / Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) / สยามสแคว์ (2527)


สถานที่สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หนังที่ฉายคือ คู่กรรม (2556) / พี่นาค (2562) / มือปืน (2556)


วันที่ 31 ก.ค. สถานที่สวนครูองุ่น หนังที่ฉายคือ School Town King (2563)


สถานที่สุขุมวิท 31 หนังที่ฉายคือ One for the Road (2564)


นายชัชชาติ กล่าวว่า เดือด มิ.ย. เป็น Pride Month ส่วนเดือน ก.ค. เป็น “กรุงเทพกลางแปลง” เป็นกิจกรรมสนุก ๆ ที่จะนำรอยยิ้ม นำความสุข นำความหวังกลับมาให้คนกรุงฯ


ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่าสำหรับ 12 เดือน 12 เทศกาล อยากให้มีกิจกรรมหลากหลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภาพยนตร์


ด้าน นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า จุดประสงค์คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเลือกหนังที่หลากหลาย เก่าสุดคือ 2502 และล่าสุดคือ 2565 การชมภาพยนตร์ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่การชมภาพยนตร์ยังได้เรียนรู้ประเทืองปัญญา ขณะเดียวกันในงานจะมีการเชิญนักแสดงและผู้กำกับมาพูดคุยถึงภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ อีกด้วย รวมทั้งจะมีการเวิร์กช้อปการทำภาพยนตร์จากผู้กำกับให้ได้เรียนรู้อีกด้วย


ขณะเดียวกัน บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า มีอาชีพหลักเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ส่วนอาชีพรองทำธุรกิจกลางคืน ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ธุรกิจกลางคืนได้รับปัญหา แต่ตอนนี้ดูมีความหวังมากขึ้นสามารถทำอะไรได้มากขึ้น  จึงมองว่าการจัดฉายครั้งนี้ จะมีการฉายหนังที่พูดถึงคุยที่ใช้ชีวิตกลางคืน และมีการเชื่อมโยงไปถึงการใช้ “ผู้ว่าฯเที่ยงคืน” ทำให้ชีวิตทุกมิติของคนกรุงเทพฯ มีความหมายมากยิ่งขึ้น


#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์













วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"บุ้ง" อาการทรุดหนัก ต้องนอนรพ.ราชทัณฑ์และให้ยาทางเส้นเลือด ซูบผอมอย่างชัดเจน "ใบปอ" น้ำหนักลดเพิ่มเป็น 6 กก. ฝากขอบคุณจดหมายทุกฉบับที่ส่งเข้ามา

 


"บุ้ง" อาการทรุดหนัก ต้องนอนรพ.ราชทัณฑ์และให้ยาทางเส้นเลือด ซูบผอมอย่างชัดเจน "ใบปอ" น้ำหนักลดเพิ่มเป็น 6 กก. ฝากขอบคุณจดหมายทุกฉบับที่ส่งเข้ามา


วันนี้ ( 29 มิ.ย. 65) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยบันทึกเยี่ยม "ใบปอ-บุ้ง" กลุ่มทะลุวัง ระบุว่า 


เช้าวันนี้ (29 มิถุนายน 2565) ครอบครัวได้โทรสอบถามอาการของ “บุ้ง” ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังทราบว่าเธอถูกส่งตัวไปจากทัณฑสถานหญิงกลาง จึงได้ทราบรายละเอียดว่า "บุ้ง" มีอาการปวดท้องด้านขวาจนร้าวไปถึงด้านหลัง ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 27 มิ.ย. 2565 และได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลในคืนดังกล่าวประมาณเวลา 23.00 น. 


บุ้ง - อาการทรุดหนักจนต้องให้ยาทางเส้นเลือด และซูบผอมลงอย่างชัดเจน


หลังพบกับแพทย์ "บุ้ง" มีอาการเพลียมากและหายใจถี่ ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้ เพราะจะทำให้เจ็บกระบังลม นอกจากนี้แพทย์จำเป็นที่จะต้องให้น้ำเกลือและวิตามิน เนื่องมาจาก "บุ้ง" ไม่สามารถทนอาการเจ็บปวดที่ท้องได้แล้ว


เบื้องต้น แพทย์ได้วินิจฉัยว่า "บุ้ง" อาจเป็นไส้ติ่งที่มดลูก หรืออาจจะเกิดจากภาวะการอดอาหารที่มีระยะเวลายาวนาน ลำไส้มีการบีบตัวจากการอดอาหาร จนไม่สามารถที่จะทานยาเองได้ และเมื่อตรวจเลือดก็ได้พบว่ามีค่าโพแทสเซียมที่ต่ำมาก จึงต้องให้ยาทางเส้นเลือดร่วมด้วย


ในระหว่างที่ครอบครัวได้มีโอกาสพูดคุยกับ "บุ้ง" ก็ได้สังเกตเห็นว่าในตอนนี้ "บุ้ง" ดูซูบลงเยอะมาก แก้มตอบและเห็นส่วนคอชัดเจน เธอดูเหนื่อยล้า ตาลอย มึนเบลอ และตอบคำถามได้ช้าตลอดการสนทนา 


นอกจากนี้ "บุ้ง" ได้เล่าว่าตัวเองมีความกังวลที่ต้องมาอยู่ห่างจาก "ใบปอ" แบบนี้ อีกทั้งแพทย์ได้แจ้งกับเธอว่าหากเธอไม่ยอมรับอาหารเหลว อาจทำให้เธอต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปอีกสักระยะหนึ่งด้วย


ด้าน "ใบปอ" เป็นห่วงและคิดถึงพี่บุ้ง อยากให้กลับมาแข็งแรงไว ๆ รอวันที่ได้ออกไปอ่านจดหมายของทุกคน


ในช่วงบ่าย ทนายความได้เข้าเยี่ยม"ใบปอ" จึงได้อัพเดทอาการของ "บุ้ง" ให้ฟัง “ต้องเจาะแขนสองข้างเลยเหรอ” ใบปอถามอย่างสงสัยและเป็นห่วง พร้อมทั้งเล่าว่า “วันที่พี่บุ้งต้องไปโรงพยาบาล พี่บุ้งอาการหนักมากถึงขั้นดิ้นและปวดท้องร้าวไปจนถึงหลังตั้งแต่คืนวันจันทร์”


ส่วนอาการ "ใบปอ" เธอได้บอกว่าวันนี้น้ำหนักลดลงรวมเกือบ 6 กิโลกรัม ตั้งแต่เข้าเรือนจำมา และตอนนี้เริ่มมีอาการปวดท้องมากขึ้น “ปวดแบบช่วงเป็นโรคกระเพาะ” ใบปอทานเฉพาะน้ำเปล่ามาหกวันแล้ว ก่อนหน้านี้ใบปอยังดื่มนมและน้ำผลไม้บ้าง แต่ช่วงนี้ไม่ทานแล้ว ออกซิเจนในเลือดลดลงกว่าปกติเป็นบางวัน มีอาการเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น “เพราะว่าลงแดนแล้ว ต้องเดินเยอะ เพลียแต่ยังสู้อยู่” เธอทิ้งท้ายเรื่องอาการตัวเอง


นอกจากนี้ เธอยังฝากบอกพี่บุ้งของเธอว่า “เหงา คิดถึงพี่บุ้ง ทุกคนที่นี่ถามถึงพี่บุ้งเยอะ เป็นห่วงมาก ทุกคนอยากให้พี่บุ้งกลับมาแข็งแรงเร็ว ๆ ไม่ต้องเป็นห่วงใบปอ ใบปออยู่ได้ อยากให้พี่บุ้งดูแลตัวเองให้ดี ถ้ากลับมาต้องกักตัวแยกกัน เดี๋ยวจะฝากของกลับไปให้”


หลังจากนั้นทนายได้อ่านจดหมายจากสหภาพคนทำงานที่รวบรวมมาให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง ใบปอได้ฟังแล้วก็ยิ้มดีใจ “ได้ฟังจดหมายจากสหภาพคนทำงาน ที่ทุกคนรวบรวมมาแล้ว มีกำลังใจมาก อยากออกไปแล้ว อยากออกไปอ่านจดหมายของทุกคน ขอบคุณทุกคนที่ส่งกำลังใจเข้ามาใบปอได้รับแล้ว อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน ไม่อยากให้ใครถูกคุมขังอีกแล้ว ใบปอก็จะดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะทำได้ รอวันที่จะได้รับอิสรภาพออกไปเจอทุกคนนะคะ ฟังแล้วชื่นใจมากเลย ขอบคุณสหภาพคนทำงานมาก ๆ”


หลังจากอ่านจดหมาย เราแจ้งใบปอว่าเดือนกรกฎาคมนี้มีวันหยุดมากถึงครึ่งเดือน อาจจะได้เยี่ยมน้อยลง  


ใบปอก็พูดขึ้นมาว่า “ถ้าอยู่ข้างนอกก็คงดีใจ” แต่ตอนนี้ใบปออยู่ในเรือนจำ วันหยุดหมายความว่าจะไม่มีคนมาเยี่ยม ใบปอนิ่งไปก่อนจะถามทนายกลับมา “พี่คิดว่าหนูจะติดเต็มเดือนเลยเหรอ” ซึ่งทนายก็ตอบคำถามนี้กับเธอไม่ได้เหมือนกันว่า ศาลจะให้สิทธิประกันตัวคืนแก่พวกเขาเมื่อไหร่


สุดท้าย ทนายความจึงอัพเดทให้ใบปอฟังว่าทางเพจทะลุวันได้ไปทำโพล เนื่องในวันที่ 24 มิถุนายน ว่า “ได้ประชาธิปไตยมา 90 ปี ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพจริงหรือไม่ ?” ซึ่งคนมาทำโพล 937 คน กว่า 99 % เห็นว่าประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง


"ใบปอ" จึงฝากคำถามมาถามทุกคนย้อนหลังวันที่ 24 มิถุนา อีกครั้งว่า “24 มิถุนาเราได้ประชาธิปไตยแต่ทำไมยังมีนักโทษทางการเมืองต้องถูกคุมขังในเรือนจำ”


ขอขอบคุณข้อมูล #ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทะลุวัง #TLHR

อาจารย์ธิดา ร่วมพี่น้องเสื้อแดง พบปะ รับประทานแม็คฯ ราชประสงค์ ชวนรำลึกภาพความทรงจำ ร้านที่อยู่ในบริเวณที่คนเสื้อแดงได้เคยใช้ชีวิต ต่อสู้ร่วมกันอย่างยากลำบาก วาระกำลังจะปิดสาขาลง เชิญร่วมโครงการปลูกต้นไม้พันต้น ร่วมกับล้านต้นของผู้ว่าฯชัชชาติ

 


อาจารย์ธิดา ร่วมพี่น้องเสื้อแดง พบปะ รับประทานแม็คฯ ราชประสงค์ ชวนรำลึกภาพความทรงจำ ร้านที่อยู่ในบริเวณที่คนเสื้อแดงได้เคยใช้ชีวิต ต่อสู้ร่วมกันอย่างยากลำบาก วาระกำลังจะปิดสาขาลง เชิญร่วมโครงการปลูกต้นไม้พันต้น ร่วมกับล้านต้นของผู้ว่าฯชัชชาติ


วันนี้ (29 มิ.ย.65 ) ตามที่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 เฟซบุ๊ก Mcdonald’s ได้ประกาศแจ้งลูกค้าถึงการเตรียมปิดแมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งถือเป็นสาขาแรกในประเทศไทย หลังให้บริการนานกว่า 37 ปี โดยจะเปิดให้บริการเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 


การปิดตัวดังกล่าวเป็นเพียงการปิดชั่วคราวในช่วง 2 ปี ตามแผนงานการรีโนเวตศูนย์การค้าอัมรินทร์เพื่อเชื่อมต่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเกษรวิลเลจ ในการปรับปรุงโฉมใหม่ หลังให้บริการมาตั้งแต่ปี 2537  


อย่างไรก็ตาม แมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์พลาซ่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่แห่งความทรงจำของเพื่อนฝูงหรือครอบครัว ที่บริการอาหารอร่อยด่วน ยังเป็นแม็คฯ สาขาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมายาวนาน นับแต่หลังเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ บริเวณแยกราชประสงค์ คนเสื้อแดงจึงเรียกแม็คฯ สาขานี้ว่า แม็คฯ ราชประสงค์ เพราะอยู่ใกล้เวทีการชุมนุม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดง และในทุก ๆ ปี จะมีการรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ที่อยู่ใกล้กับแมคโดนัลด์สาขาอัมรินทร์พลาซ่า


ทั้งนี้ ยังไม่นับเหตุการณ์ช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มีการนัดหมายทำกิจกรรมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ เรื่อยมาจนถึงกิจกรรมโดยคนรุ่นใหม่ จนถึงปัจจุบัน แม็คฯ สาขานี้ ยังใช้เป็นสถานที่พบปะในการทำกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังเป็นจุดนัดพบก่อนเคลื่อนขบวนหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ 


สำหรับในวันนี้เวลา 12.00 น. พี่น้องเสื้อแดง ต่างทยอยเข้ามากว่า 200 คน เกือบทั้ง 50 เขตของกทม. โดย 12.45 น. อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานนปช. ได้สวมเสื้อสูทสีแดงเดินเข้ามาในร้าน ด้วยรอยยิ้ม ทักทายพี่น้อง ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นกันเอง ระหว่างรับประทานแม็คฯ พี่น้องสลับสับเปลี่ยนมาถ่ายรูปกับอาจารย์ธิดา ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เพราะบางคนไม่ได้เจอกันนานมาก


โดยทีมงานยูดีดีนิวส์ ได้เตรียมกิจกรรมมาเพิ่มบรรยากาศแห่งการพบปะสังสรรค์ในครั้งนี้ ซึ่งอาจารย์ธิดา มีของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางใจให้พี่น้องติดไม้ติดมือกลับบ้าน


กิจกรรมนั้นคือ ให้พี่น้องโชว์สัญลักษณ์ที่ใช้ในการร่วมต่อสู้ปี 2553 บางคนนำแหวนรุ่นซึ่งสลักชื่อ วีระ มุสิกพงศ์ (ประธานนปช.คนแรก) มา บ้างนำผ้าโพกศรีษะคำว่า "คนเสื้อแดง" มาโชว์ บ้างนำเสื้อที่มีลายเซ็นต์อดีตแกนนำนปช.  บ้างสวมเสื้อ "ความจริงวันนี้" มารำลึกความหลัง อีกทั้งนำริชแบนด์สีแดงที่เขียนคำว่า "คนเสื้อแดง" มาแสดง พร้อมทั้งบอกว่า ริชแบนด์อันนี้สวมใส่ตลอดทุกครั้งที่ออกมาร่วมกิจกรรมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 และอีกหลายคนนำบัตรสมาชิกนปช. มาร่วมรำลึก รวมถึงบัตรสมาชิก สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนล (PTV) มาร่วมแสดงด้วย


พี่น้องเสื้อแดงหลายท่านที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ต่างบอกว่า ที่แห่งนี้เป็นที่บันทึกความทรงจำ ซึ่งทุกครั้งที่นึกถึงภาพเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะผุดขึ้นมา ไม่ว่าการต่อสู้ การสูญเสีย หรือการพบปะกัน


ขณะที่อาจารย์ธิดา ได้กล่าวขอบคุณและต้อนรับพี่น้องทุกคนที่มาที่นี่ อาจารย์ธิดากล่าวต่อไปว่า เราไม่ค่อยจะได้เจอกันแต่เนื่องในวาระนี้ ณ ร้านแห่งนี้ เราได้เคยใช้ชีวิตต่อสู้มาร่วมกัน อย่างยากลำบาก แม้จะเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้ว แม้หลายคนจะอายุมากขึ้น แต่หัวใจยังสาวยังหนุ่มอยู่ จากนั้นอาจารย์ธิดาได้ถามว่าแล้วต่อไปเราจะเจอกันในที่อื่น ๆ ดีไหม ซึ่งพี่น้องต่างยกมือและตอบว่าดีพร้อม ๆ กัน


วันนี้ก็เป็นวันที่เรามาพบเจอกันอีกครั้งหนึ่งไม่ใช่มีแต่วาระในการรำลึกถึงคนตาย ไม่ใช่มีแต่วันรำลึกของการเข่นฆ่า แต่ว่าชีวิตของเราต้องดำเนินต่อ ลูก ๆ หลาน ๆ เยาวชนรุ่นหลังเขาก็ต้องเดิน เราก็ต้องเตรียมกำลังเดินด้วยกันกับเยาวชน (พี่น้องต่างส่งเสียงว่าถูกต้องและปรบมือ) วันนี้เราไม่ได้แจ้งเชิญชวนผ่านสื่อโซเชี่ยล แต่ใช้เป็นการบอกปากต่อปากกันระหว่างพี่น้องที่ได้พบเจอกัน ก็ต้องขออภัยสำหรับคนที่ได้ดูการถ่ายทอดแล้วไม่ได้มา นัดหน้าอาจจะมากันได้ทั่วถึงมากกว่านี้ อาจารย์ธิดา กล่าว


อาจารย์ธิดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากขอบคุณและดีใจที่พวกเรามา เราจะมีโปรเจคโครงการที่ทำด้วยกันอีกหลายโครงการ ซึ่งโครงการแรกคือในนามของ "ยูดีดีนิวส์" คือ โครงการปลูกต้นไม้พันต้นร่วมกับล้านต้นของผู้ว่าฯชัชชาติ ให้พี่น้องทั้ง 50 เขตได้ดูพื้นที่สาธารณะในเขตของตัวเองไว้ เราทุกคนจะร่วมปลูกต้นไม้ 1,000 ต้น โดยคน 1,000 คน


ทั้งนี้อาจารย์บอกว่าพวกเรา อยู่ในภาพที่สามารถทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ เราไม่ใช่คนที่หมดอายุ เราไม่ใช่ยาที่หมดอายุ เราไม่ใช่คนที่ไร้ค่า เราแก่อายุแต่เราจะเป็นแก่มะพร้าวกะทิยิ่งแก่ยิ่งมัน และแก่มีประโยชน์สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่แก่กะโหลกกะลา ต้นไม้ 1,000 ต้นใช้คน 1,000 คนปลูก นี่ ไม่ใช่เรื่องเหนือความเป็นจริง กิจกรรมบางอย่างเด็กเขาก็ทำได้ในแบบหนึ่ง เราสูงอายุก็ทำได้ในอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ธิดาย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเหนือความเป็นจริง เราทำได้และเราจะทำให้ดี และจะทำต่อไปนี่คือเรา "คนเสื้อแดง" 


จากนั้น พี่น้องได้ร่วมกันร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" และเพลง "ศรัทธา" จากนั้นต่างถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก สนทนาปราศรัยและแยกย้ายกันในเวลา 15.00 น.


สำหรับกิจกรรมในวันนี้ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และวรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา” นักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ ได้เข้าร่วมบรรยากาศพบปะสังสรรค์ในครั้งนี้ด้วย


อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 12.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเข้ามาสอบถามถึงกิจกรรมในวันนี้ ทีมงานยูดีดีนิวส์ได้แจ้งรายละเอียดให้ทราบ ทำให้เจ้าหน้าที่เดินออกไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์



















ผู้ว่าฯ กทม. หารือ ททท. แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน กรณีขายกัญชาที่ถนนข้าวสาร บอกว่า “เดี๋ยวจะไปตรวจ”

 


ผู้ว่าฯ กทม. หารือ ททท. แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน กรณีขายกัญชาที่ถนนข้าวสาร บอกว่า “เดี๋ยวจะไปตรวจ”


วันนี้ (29 มิ.ย. 65) เวลา 14.00 น. ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรื่องแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ กทม. ว่า มูลค่าเศรษฐกิจ รายได้การท่องเที่ยวของกทม.เมื่อปี 2562 กว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งอนาคตจะเป็นเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงสร้างงานให้กับคนกรุงเทพฯ ดังนั้น หากจะให้เศรษฐกิจดีขึ้น การท่องเที่ยวจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก จึงได้เชิญททท.มาหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพราะกทม.ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว แต่มีการอำนวยความสะดวกมิติอื่น ๆ


นายชัชชาติ ระบุว่า โดยมีการนำ 216 นโยบาย มาหารือว่ามีอะไรสอดคล้องกับ ททท.บ้าง จากที่หารือก็มี 50 ย่านอัตลักษณ์ / การทำ 12 เดือนเฟสติวัล ซึ่งททท.ก็ได้จัดทำหลายเทศกาล ในแต่ละเดือนอาจจะมีมากกว่า 1 เทศกาลก็ได้ เช่น แข่งเรือยาว / หนังกลางแปลง / งานคราฟต์ เป็นต้น


ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันเรื่องคลองเวนิสตะวันออก ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. เคยทำไว้ ซึ่งอาจจะขยายผลไปยังคลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ และฝั่งธนฯ อีกทั้งยังมีเรื่องแบรนด์ดิ้งกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการทั่วโลก ซึ่งจะมีสื่อหลายรูปแบบเจาะกลุ่มตลาดหลายเซกเมนต์


โดยช่วงแรกเราต้องเน้นลูกค้าในประเทศ เป็นตัวสำคัญในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวเป็นตัวสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมา พร้อมย้ำว่าต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าหมายให้ชัด มีความก้าวหน้า มีแผนปฏิบัติการออกมา นอกจากนี้มีตลาดหลายที่เปลี่ยนไป อย่างอินเดียที่มาแรงมาก จะมีคอนเท้นอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการนักท่องเที่ยวอินเดีย


กรุงเทพฯ พัฒนาได้ ไม่ใช่กทม.เป็นคนทำ แต่ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน การท่องเที่ยวเป็นเซกเมนต์ใหญ่ของเอกชน ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ซับพลายเชนลงลึกมาก ไปจนถึง รถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็กซี่ สามล้อ ถ้าจะให้เศรษฐกิจกลับมาต้องให้ท่องเที่ยวกลับมา ทำให้เราฟื้นได้เร็วขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว


นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการขายกัญชาสำเร็จรูปที่ถนนข้าวสาร ว่า เบื้องต้นได้รับข้อมูลเรื่องกัญชามวนแล้ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของตำรวจด้วย  เดี๋ยวจะหารือกับทีมที่ปรึกษา


ขณะเดียวกันเห็นว่ามีเด็กและเยาวชนสามารถเดินเข้าร้านได้ด้วย นายชัชชาติ ย้ำว่าต้องคุยกับตำรวจ เพราะจริง ๆ แล้วการจับกุมเรื่องยาเสพติดเป็นอำนาจของตำรวจ แต่ต้องดูด้วยว่าอำนาจของกทม.มีแค่ไหน


นายชัชชาติ ได้ถามกลับสื่อมวลชนว่า “เขาขายโจ่งแจ้งเลยไหม” โดยสื่อมวลชนได้ยืนยันกลับว่า “ใช่ มีทั้งการเปิดหน้าร้าน เปิดไฟ มีเด็ก ๆ เดินเข้าไป แต่ไม่ยืนยันว่าเด็กสูบหรือไม่” ซึ่งได้ชัชชาติ ได้ย้ำว่า เดี๋ยวจะไปตรวจ แต่ต้องไปตรวจแบบไม่บอกล่วงหน้านะ


#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์