วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

#conforall เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ คำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนชนสถาบันฯ

 


#conforall เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ คำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนชนสถาบันฯ


วันนี้ (24 เมษายน 2567) เวลา 13.30 น. ที่อาคาร ALL RISE สำนักงานไอลอว์ เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for all แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญคำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนชนสถาบันฯ โดยระบุว่า หลังจากวันที่ 23 เมษายน 2567 รัฐบาลมีมติให้ทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวางแผนจะทำประชามติ 3 ครั้ง และในครั้งแรกจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” พวกเราเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นดังนี้


1. รัฐบาลกำลัง ‘พายเรืออยู่ในอ่าง‘ หลังจากเสียเวลาไปกว่า 200 วัน ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และก็กลับมาเริ่มต้นที่จุดเดิม ทั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน ต่างก็เคยเสนอแนวคำถามไว้แล้ว ถ้ารัฐบาลยืนยันจะทำประชามติสามครั้ง ก็สามารถเปิดบทสนทนาพูดคุยเรื่อง “คำถาม” ได้โดยตรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้เราใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ประชามติเข้าชื่อประชาชนกว่า 200,000 คน เพื่อเสนอคำถาม รัฐบาลก็ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ไม่แม้แต่แยแสคำถามที่ประชาชนต้องลงแรง ลงชื่อบนกระดาษ ถ่ายเอกสาร แปลงข้อมูลจากกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัล แม้เราเคยยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องคำถามประชามติรัฐบาล ก็ไม่เคยได้รับการนัดหมายให้เข้าพบ


สิ่งที่หายไปจากจุดยืนของรัฐบาลในวันนี้ ทั้งที่เป็นหนึ่งในหัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเมื่อย้อนดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2563 และ 2566 ก็ระบุอย่างชัดเจนให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่แนวทางที่รัฐบาลนำเสนอในวันนี้กลับมองข้ามประเด็นดังกล่าว โดยไม่มีคำอธิบาย


2. คําถามประชามติที่รัฐบาลประกาศนั้น มีปัญหาอย่างน้อย 3 ประการ 


2.1 คําถามนี้มี 2 ประเด็น ที่ซ้อนกันในคำถามเดียว คือ เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเห็นด้วยหรือไม่ กับการคงเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้ประชาชนเผชิญกับ “สภาวะไร้ทางเลือก” ในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่มีทางเลือกว่าจะออกเสียงในการทำประชามติอย่างไร


2.2 เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ถูกแก้ไขหลังการจัดทําประชามติเมื่อปี 2559 ยังคงอยู่ คําถามประชามตินี้จะ “ไม่ทําให้เกิดการจัดทํารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” และทำให้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง


2.3 คําถามประชามติที่มีตั้งเงื่อนไขในหมวดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนํามาใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจในระหว่างการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ


ในฐานะที่พวกเราเป็นเคยเสนอคำถามประชามติให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยประชาชนมากกว่า 200,000 คน ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเสนอคำถามนี้ เมื่อรัฐบาลไม่รับคำถามของเราและตั้งคำถามที่มีหลักการแตกต่างจากคำถามของเราอย่างชัดเจน เราจึงไม่สามารถที่จะลงประชามติ “เห็นชอบ” หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ เราไม่สามารถ “รับๆ ไปก่อน” และซ้ำรอยบทเรียนในอดีตได้อีกแล้ว


3. พวกเราคาดหมายได้ว่า อาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไปลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้ง พวกเราให้ข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะมีคนกาช่อง “ไม่เห็นชอบ” หรือ Vote NO มากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือเสียงที่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 หากแต่เสียง Vote NO ยังเป็นเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยไม่มีเนื้อหาของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง


ถึงวันนี้คงเหลือโอกาสน้อยที่จะหลีกเลี่ยงการทำประชามติด้วยคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความเห็นว่า ประชามติที่ถามสองประเด็นพร้อมกันนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เพียงจำกัดในประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ประชามติครั้งนี้ยังเป็นการถามประชาชนด้วยว่า มีประชาชนจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ “ไม่เห็นชอบ” กับเงื่อนไขที่ “ติดล็อก” แต่ต้องการแก้ไขพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ


4. เราพยายามเตือนรัฐบาลมาตลอดว่า การตั้งคำถามแบบใด ‘เสี่ยงที่จะไม่ผ่าน’ แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันที่จะใช้คำถามสร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง และมากไปกว่านั้นสร้างการถกเถียงให้กับหมวด1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ โดยไม่จำเป็น รัฐบาลได้จุดไฟให้สังคมเกิดคำถามว่า “หมวด 1 และหมวด 2” คืออะไร มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องห้ามแก้ไข และกำลังใช้ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นคำถามที่ “ล็อคเงื่อนไข” เช่นนี้ จึงเป็นคำถามของรัฐบาล โดยรัฐบาล เพื่อรัฐบาล


เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของคำถามนี้ จึงต้องเป็นเจ้าของผลลัพธ์ที่ตามมาด้วย หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป


5. เราขอยืนยันว่า พวกเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน พวกเราไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับของคสช. ต่อไป โดยกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีความชอบธรรม เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ หากมีเงื่อนไขปิดกั้นตั้งแต่ต้นก็สุ่มเสี่ยงที่กระบวนการข้างหน้าจะมีเงื่อนไขตลอดเส้นทางและทำให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้นๆ


ไม่ว่าผลการทำประชามติครั้งแรกจะเป็นอย่างไร หรือการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เส้นทางของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นยังเดินหน้าได้ โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ วุฒิสภา หรือสว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งรวมถึง สว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 67 จาก 200 คน ดังนั้น ในการเลือกสว. ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 หากประชาชนร่วมกันลงสมัคร สว. เพื่อส่งผู้สมัครที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยเข้าสู่สภา “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ก็จะได้รับแรงส่งสนับสนุนจาก สว. ชุดใหม่เหล่านั้นให้เดินหน้าไปได้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ




ก้าวไกลขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดความเสี่ยงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สำเร็จ

 


ก้าวไกลขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดความเสี่ยงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สำเร็จ

 

วันนี้ (24 เมษายน 2567)พรรคก้าวไกลได้โพสต์เพจทางการของพรรคระบุข้อความ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่า เราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็วที่สุด

 

หลังจากการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) รัฐบาลได้แถลงเห็นชอบในหลักการให้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทาง “ประชามติ 3 ครั้ง” (ตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาฯ ที่ตั้งโดยรัฐบาลและนำโดยภูมิธรรม เวชยชัย) โดยให้มีการจัดประชามติครั้งที่ 1 ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ด้วยคำถามที่ว่า

 

ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์)?”

 

ในขณะที่เรารอการเผยแพร่มติ ครม. สู่สาธารณะ และรอการออกประกาศฯในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ พรรคก้าวไกลขอย้ำอีกรอบให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่อง “คำถามประชามติ” ดังกล่าว ซึ่งเรามองว่าเป็นคำถามประชามติที่มีปัญหาและเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ

 

#1 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติครั้งแรกจะไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เนื่องจากเป็นคำถามที่มีการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม

 

การบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดเรื่องหมวด 1-2 ในตัวคำถาม จะทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1-2) อาจไม่แน่ใจว่าจะลงมติเช่นไร

 

หากประชาชนแต่ละคนที่มีจุดยืนดังกล่าวตัดสินใจลงคะแนนไม่เหมือนกัน (เช่น บางคนลงคะแนน “เห็นชอบ” / บางคนลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” / บางคน “งดออกเสียง”) ก็จะหมายความว่าในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติจะไม่ผ่าน (ยิ่งหากการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เรื่องเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทันประชามติครั้งแรก)

 

หากประชามติไม่ผ่านเพราะเหตุผลดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลง แต่ยังจะก่อปัญหาในการตีความต่อไปในอนาคต ว่าเหตุผลที่ประชามติไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร (เช่น เป็นเพราะประชาชนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ เป็นเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องการล็อกหมวด 1-2)

 

2 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาเชิงกฎหมาย

 

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป) การแก้ไขข้อความหรือเนื้อหาใด ๆ ในหมวด 3 เป็นต้นไป อาจนำไปสู่ความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความหรือเนื้อหาในหมวด 1-2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ

 

ตัวอย่าง: หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการยกเลิกวุฒิสภาและหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยว ก็ควรมีการตัดคำว่า “วุฒิสภา” หรือ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่ปรากฎในหมวด 1-2 ออก (เช่น ในมาตรา 12 ที่กำหนดว่าองคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา) เนื่องจากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวุฒิสภาแล้ว

 

แต่หากหมวด 1-2 ถูกล็อกไว้ การแก้ไขข้อความดังกล่าวจะทำไม่ได้และอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงกฎหมาย

 

3 คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างได้และไม่สะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

 

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง

 

ที่ผ่านมา การแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1-2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ ทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมถึงตอนจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 / 2550 / 2560) ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ให้มีการการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าในหมวดใด) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ

 

ดังนั้น หากประชาชนบางกลุ่มอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวด 1-2 โดยที่การแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นการกระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ การไปล็อกไม่ให้เขาแม้กระทั่งได้เสนอความเห็นของเขาด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง สสร. (แม้ในที่สุด สสร. ส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา) อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

 

ข้อกังวลทั้งหมดที่พรรคก้าวไกลมีต่อคำถามประชามตินี้ เป็นข้อกังวลที่เราได้พยายามสะท้อนต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

 

ในเมื่อการทำประชามติแต่ละครั้งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท และต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะออกแบบคำถามประชามติที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงโดยไม่จำเป็น

 

เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงขอเสนออีกครั้งก่อนที่จะสายเกินไป ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและหันมาใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้าง (เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?”) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกคำถามประชามติที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ของรัฐบาลเอง (นำโดย นิกร จำนง) เคยได้เสนอให้คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ

'ชัยธวัช' ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

 


'ชัยธวัช' ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

 

วันนี้ (24 เมษายน 2567) นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการยื่นขอขยายเวลาในการทำเอกสารชี้แจง ว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ทางทีมกฎหมายของพรรคได้ไปยื่นขอเวลาเพิ่มอีกครั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าวันนี้ศาลคงพิจารณา รวมถึงมีคำสั่งว่าจะให้ขยายหรือไม่ หวังว่าวันนี้คงมีความชัดเจน ซึ่งเราอยากขยายเวลาอีกเพราะเดิมขอขยายไป 30 วัน แต่ได้รับการขยายไปแค่ 15 วัน โดยเห็นว่าไม่เพียงพอ

 

เรื่องนี้กระทบกับพรรคใหญ่มาก การจะเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต้องมีความละเอียด จำเป็นต้องแสวงหาข้อมูลทางกฎหมายและข้อเท็จจริงมาโต้แย้งให้มากที่สุด ในกระบวนการยุติธรรมที่ดีควรจะเปิดโอกาศให้ผู้ถูกร้องโดยเฉพาะคดีกล่าวหาร้ายแรง ถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีสิทธิ์ที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ รวมถึงจำเป็นต้องแสวงหาพยานและข้อเท็จจริงให้ศาลไต่สวนอย่างถึงที่สุด เพราะน้ำหนักของบทลงโทษมันต่างจากคดีที่ผ่านมาที่มีการวินิจฉัยตามมาตรา 49 ที่เป็นเพียงสั่งให้ยุติการกระทำ จึงคิดว่าศาลน่าจะพิจารณาขายเวลาให้เราออกไปอีก ” นายชัยธวัชกล่าว

 

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ทางพรรคก้าวไกลขอขยายออกไปอีก 30 วัน เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม เราจึงอยากอ่านรายละเอียดอีกรอบว่ามีการแก้อะไรไปบ้าง และคดีนี้มีบทลงโทษร้ายแรงมาก ดังนั้นการหาแง่มุมต่อสู้ทางกฎหมายและข้อเท็จจริง ลำพังเพียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ให้ยุติการกระทำอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการกล่าวหาเพื่อร้องให้ยุบพรรค และพยานบุคคลที่จะเสนอให้ศาลไต่สวนก็ต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยว่าจะยินดีหรือไม่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาติดวันหยุดสงกรานต์ไปหลายวัน จึงมองว่าเหมาะสมที่จะให้โอกาสขยายระยะเวลาเพิ่มเติม

 

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคจะถูกยุบและทำให้ สส.ของพรรคมีการย้ายแบบข้ามขั้ว ในพรรคมีการพูดคุยกันหรือมีสัญญาใจอะไรกันหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนเชื่อว่าสส.ของพรรคก้าวไกลในรุ่นนี้น่าจะมีสถานการณ์ไม่แย่ไปกว่าในคราวที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเราเข้าใจดีถึงความต้องการ และความคาดหวัง รวมถึงเสียงที่ได้รับจากประชาชนอย่างล้มหลามที่ต่างจากสมัยพรรคอนาคตใหม่ แต่เราก็ทำงานอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

ผมก็พยายามบอกเพื่อน ๆ ในพรรคว่าอย่าไปสร้างบรรยากาศในการสร้างความไม่ไว้วางใจ หรือไปล่าแม่มดกัน ประเด็นสำคัญสุดตอนนี้คือการพูดคุยทิศทางการทำงานของพรรค เป้าหมายที่ชัดเจนหลังจากนี้ เพื่อทำให้พรรคกัาวไกลพัฒนา และทำงานตอบสนองประชาชนมากขึ้น และที่สำคัญการสัมมนาช่วงประชุมใหญ่พรรคที่ผ่านมา เรามีการพูดถึงการต่อสู้คดีและความเป็นไปได้ทางการเมืองที่เราจะไม่ถูกยุบพรรคยังมีอยู่ บรรยากาศแรกหลังมีคำวินิจฉัยในในคดีที่แล้ว คนจำนวนมากอาจจะคิดว่าพรรคยุบแน่นอน100% จนมาถึงวันนี้ความคิดที่ว่าพรรคก้าวไกลน่าจะมีช่องทางในการต่อสู้ยังมีอยู่ นายชัยธวัชกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล

“สมคิด” มั่นใจไร้แรงกระเพื่อมใน "เพื่อไทย" หลังปรับครม. ย้ำไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร จี้ ฝ่ายค้านพูดให้ชัดอยากแก้ไขหรือไม่

 


สมคิด” มั่นใจไร้แรงกระเพื่อมใน "เพื่อไทย" หลังปรับครม. ย้ำไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร จี้ ฝ่ายค้านพูดให้ชัดอยากแก้ไขหรือไม่

 

วันนี้ (24 เมษายน 2567) นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงกรณีการพรรคร่วมฝ่ายค้านออกมาโจมตีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ถึงเวลานี้พรรคร่วมฝ่ายค้านควรคิดให้ดีว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 สมควรต้องแก้ไขหรือไม่ ถ้าคิดว่าสมควรจะแก้ก็ต้อง เรื่องประเด็นอื่นๆเป็นประเด็นรอง ส่วนที่ออกมาโจมตีว่าแก้เพื่อคนโน้นคนนี้ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้นแต่เป็นการแก้เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ติดกับดักรัฐธรรมนูญ

 

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า อยากถามไปยังพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ถ้าไม่แก้จะคงรัฐธรรมนูญ60 ไว้อย่างนั้นหรือ หากพรรคฝ่ายค้านไม่ให้แก้จะได้ไม่แก้ ทั้งๆที่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองต่างชูประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการหาเสียง ดังนั้นการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการตามที่ทุกพรรคการเมืองหาเสียงไว้ ส่วนจะทำประชามติกี่ครั้งเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วก็ต้อง ตามคำวินิจฉัยของศาล ทุกพรรคควรมาร่วมมือกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

 

ส่วนประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่มีแรงกระเพื่อมไม่มีคลื่นใต้น้ำ แน่นอน เพราะพรรคเพื่อไทยผ่านการปรับคณะรัฐมนตรีมาหลายครั้งและมีการปรับคณะรัฐมนตรีทุกรัฐบาล การปรับครั้งนี้ให้คนเหมาะสมกับงาน เป็นอำนาจของท่านนายกรัฐมนตรี ดังนั้นมั่นใจว่าสส.ในพรรคทุกคนพร้อมช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแน่นอน” นายสมคิด กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปรับครม #แก้รัฐธรรมนูญ

"หมอชลน่าน" ยัน สธ.ควบคุม "โควิด" ได้ วอน ปชช.อย่าตื่นตระหนก สถานการณ์ควบคุมได้ กรมควบคุมโรคเตือนแล้วจำนวนผู้ป่วยพุ่งหลังสงกรานต์

 


“หมอชลน่าน” ยัน สธ.ควบคุม “โควิด” ได้ วอน ปชช.อย่าตื่นตระหนก สถานการณ์ควบคุมได้ กรมควบคุมโรคเตือนแล้วจำนวนผู้ป่วยพุ่งหลังสงกรานต์


วันที่ 24 เมษายน 2567 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฝากถึงประชาชนอย่าตื่นตระหนกถึงข่าวสารเกี่ยวกับโควิด และขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น


โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า นพ.ชลน่านมีความห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พรบ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง และที่ผ่านได้มีการสั่งการสธ.ทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง รอบสัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 14 – 20 เมษายน 2567) ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,004 ราย เฉลี่ยวันละ 143 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามรายงานของกรมควบคุมโรคว่าหลังสงกรานต์จะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากการเล่นน้ำสงกรานต์ พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากขึ้นคือ กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง คาดว่าเป็นเพราะส่วนใหญ่มีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวังป้องกันตนเอง จึงเกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น ทั่วประเทศมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบ 292 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรังซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยง


จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา


นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า โรงพยาบาลหรือสถานที่พยาบาลไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รถสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ หากมีอาการคล้ายหวัด ตรวจ ATK ผลเป็นบวก ให้กินยารักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าอาการมากขึ้นให้ไปพบแพทย์ กลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) หากมีอาการคล้ายหวัด ตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบพบแพทย์รับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากรทางการแพทย์ เตียงรองรับผู้ป่วย เวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี  ขอประชาชนอย่าได้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขพร้อมดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงสาธารณสุข #โควิด19

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

มิตรสหาย 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ทำบุญอุทิศส่วนกุศล จุดเทียนวางดอกไม้รำลึก 10 ปี ถูกลอบสังหาร คดีไม่คืบและเงียบหาย

 


มิตรสหาย 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ทำบุญอุทิศส่วนกุศล จุดเทียนวางดอกไม้รำลึก 10 ปี ถูกลอบสังหาร คดีไม่คืบและเงียบหาย


วันนี้ (23 เม.ย. 67) เวลา 11.00 น. ที่วัดเสมียนนารี พระอารามหลวง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ กลุ่ม ‘เพื่อนไม้หนึ่ง’ นำโดยนางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมด้วยพี่น้องประชาชนรวมตัวกันเพื่อร่วมถวายสังฆทานและจตุปัจจัยไทยธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ในวาระครบรอบ 10 ปีการถูกลอบยิงเสียชีวิต


จากนั้นเวลา 12.00 น. ทั้งหมดได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจุดเทียนและวางดอกไม้รำลึกเพื่ออธิษฐานจิตถึง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ กวีราษฎรของคนเสื้อแดง ณ จุดที่ถูกลอบยิง บริเวณลานจอดรถร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ซอยลาดปลาเค้า24 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 


โดยพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อยืดสีขาวสกรีนเป็นรูปใบหน้าและข้อความระบุว่า "ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร" ซึ่งใช้เวลาในการทำกิจกรรมบริเวณนี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ ก่อนยุติพิธีรำลึกในเวลา 13.15 น


สำหรับ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' เป็นนามปากกาของ กมล ดวงผาสุข ชื่อเล่นว่า ไผ่ เป็นชาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


ไม้หนึ่งชอบการเขียนกวีและเขียนมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมถึงมหาวิทยาลัย จนเป็นที่รู้จักและมีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในมติชนสุดสัปดาห์ งานกวีของไม้หนึ่งมีเอกลักษณ์ มีการใช้ภาษาที่แข็งกร้าว ทรงพลัง จนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในฐานะกวีรุ่นใหม่


เนื้อหาของงานกวีไม้หนึ่ง มักกล่าวถึงการต่อสู้ทางชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางสังคม เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 ไม้หนึ่งเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัย อ่านบทกวี จนได้รับการขนานนามว่าเป็น กวีราษฎร และภายหลังกลุ่มคนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมในปี 2553 ไม้หนึ่ง ก็ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ร่วมจัดรายการ "ทันเกมสื่อ" ทางช่องเอเชียอัพเดทด้วย


ไม้หนึ่ง ถูกมือปืนสองคนลอบสังหารเมื่อ 23 เม.ย. 2557 โดยในช่วงเวลานั้นมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่เห็นต่าง คือกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นทั้งในโลกออนไลน์และที่อื่น ๆ มีความตึงเครียดสูง


ซึ่งตำรวจที่รับผิดชอบคดีในขณะนั้นได้ตั้งประเด็นไว้หลายประเด็น รวมทั้งประเด็นทางการเมือง และต่อมาตำรวจได้ขออนุมัติหมายจับบุคคลตามภาพสเกตช์จำนวน 2 คน แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คดีกลับไม่มีความคืบหน้าและเงียบหายไปจนถึงปัจจุปัน ซึ่งผ่านมา 10 ปีเต็มแล้ว 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ไม้หนึ่ง #10ปีไม้หนึ่ง




ครม.ไฟเขียวทำประชามติ 3 ครั้ง คาดรอบแรกปลายก.ค.-ต้นส.ค. เคาะใช้งบ 3.2 พันล้าน หากผ่านชงแก้ม.256 ให้รัฐสภาสร้างสูตรส.ส.ร.

 


ครม.ไฟเขียวทำประชามติ 3 ครั้ง คาดรอบแรกปลายก.ค.-ต้นส.ค. เคาะใช้งบ 3.2 พันล้าน หากผ่านชงแก้ม.256 ให้รัฐสภาสร้างสูตรส.ส.ร.


เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ได้เข้ามารายงานข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ต่อ ครม. 2 ส่วน ซึ่ง ครม.เห็นชอบตามรายงานที่เสนอ โดยส่วนแรกคือ การขอทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นคำถามว่าเห็นชอบในการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ โดย ครม.มอบหมายให้สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอขั้นตอนการทำประชามติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มาตรา 15 เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะอยู่ในกรอบกฎหมายระหว่าง 90 - 120 วัน โดยการทำครั้งแรกจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งทำตามกฎหมายเดิมที่ระบุ อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกจะผ่าน แม้ยังไม่แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะลดเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เพราะจากการไปฟังเสียงประชาชน เขาอยากให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


นายนิกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากทำประชามติครั้งแรกผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้รัฐสภาประกอบไปด้วย ส.ส.และ สว.เป็นคนกำหนดออกแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นเมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก็ทำประชามติครั้งที่ 2 จากนั้นจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อร่างเสร็จก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งตนมั่นใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับจะอยู่ภายในกรอบอายุของรัฐบาลชุดนี้


ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งได้เสนอให้การลงประชามติต้องทำ 3 ครั้ง เนื้อหาในการทำครั้งแรกให้ถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์" ซึ่งการทำประชามติครั้งแรกต้องดำเนินการ ระหว่างวันที่ 21 ก.ค. - 21 ส.ค.67


อย่างไรก็ตาม การทำประชามติครั้งนี้จะไม่มีการตั้งคำถามว่า "จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ และจะใช้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท" ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบต่อๆ ไป จะมีเนื้อหาว่าอยากจะให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งให้ฝ่ายที่ดำเนินการไปพิจารณารายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อไป


"สรุป ณ วันนี้ มีการทำประชามติ โดย ครม.เห็นชอบ จากนี้ไปจะคิกออฟแล้ว วันที่ 21 ก.ค. - 21 ส.ค.67 จะต้องมีการทำประชามติ จากนั้น จะตามด้วยการทำประชามติอีก 2 รอบ" นายชัย กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ