วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตวิธีคิดและการทำงานต่อกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์สู้ศึก COVID-19 (24 เม.ย. 63)


ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตวิธีคิดและการทำงานต่อกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์สู้ศึก COVID-19 (24 เม.ย. 63)

แม้นดูเหมือนว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการสู้ศึก COVID-19 ในเชิงเปรียบเทียบกับหลายประเทศ

แต่ดิฉันคิดว่าท่ามกลางการต่อสู้กับโรคร้ายระบาดทั่วโลก เรามีต้นทุนการสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี มีบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และวิถีประวัติศาสตร์พัฒนาการการต่อสู้ของประชาชน ทำให้พัฒนาการด้านสาธารณสุขเราโดดเด่นยิ่งกว่าพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ดิฉันคิดว่าในสถานการณ์ COVID-19 เราควรทำได้ดีกว่านี้มาก ๆ หากไม่ถูกชี้นำผิด ๆ จากด้านการเมืองและการนำของรัฐบาลในระยะต้นของการระบาด ทำให้เราเสียหายทั้งด้านเม็ดเงินที่ต้องจ่ายและการล้มตายของผู้คน ที่สำคัญทำให้เกิดมาตรการเข้มข้นในการปิดเมือง ปิดประเทศ ในช่วงระยะหลังนี้ ทำให้ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในแผ่นดินนี้ย้อนหลังไปร่วม 80 ปี

ดิฉันขอเริ่มต้นให้มีการถอดบทเรียนโดยผู้คนด้านสาธารณสุขก่อน ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ดิฉันได้พูดในรายการไปแล้ว

ในฐานะประชาชน โดยจุดยืนผลประโยชน์ประชาชน และพอจะมีความรู้เรื่องโรคติดเชื่ออยู่บ้าง ดิฉันมีความเห็นต่อการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยสรุปย่อ ๆ ดังนี้คือ

1) ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีต่อโรคระบาดร้ายแรงตั้งแต่ต้น ๆ ประหนึ่งว่าไม่มีแผนการที่เหมาะสมกับโรคระบาดร้ายแรง เอาประสบการณ์เก่ามาใช้ได้ระดับหนึ่ง เช่น จากโรคซาร์ เท่ากับไม่มียุทธศาสตร์ในการรับมือโรคระบาด Pandemic ที่มีลักษณะร้ายแรงทั้งการดำเนินโรคและการติดต่อรวดเร็ว ซึ่งคณะทำงานด้านสาธารณสุขต้องมีทีมที่แข็งแกร่งพอที่จะนำเสนอต่อสังคมให้ได้ว่า “ชีวิตประชาชนและสาธารณสุขต้องนำการเมือง”

2) เมื่อขาดคณะทำงานที่แข็งแกร่งและมีวิสัยทัศน์ ตลอดจนระบบงานป้องกันที่ดีเพียงพอ ไม่สามารถนำเสนอแผนป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเป็นระบบเชิงรุก ด่านแรกในการตั้งรับก็ถูกตีแตก เพราะระบบการคัดกรองที่สนามบินและจุดทางเข้าประเทศล้มเหลว ปล่อยให้คนติดเชื้อจากภายนอกเข้าประเทศได้อย่างสะดวกสบาย นำเชื้อเข้ามาติดต่อในประเทศไทย

3) ที่มีปัญหามากในการตั้งรับแบบถอยหลังพิงฝาโรงพยาบาล คือการให้นิยาม PUI คนป่วยที่เข้าข่ายการสอบสวนโรคและมีสิทธิตรวจเชื้อได้ฟรี เป็นนิยามที่แคบ ต้องมีไข้และอาการแสดงของทางเดินหายใจเป็นหลัก ทำให้จำกัดการตรวจ COVID-19 เฉพาะผู้สงสัยในระดับ 2-3 หมื่นตัวอย่างอยู่นาน จนเพิ่งขยายนิยามผู้มีสิทธิตรวจ COVID-19 มากขึ้น แสดงถึงจุดอ่อนในการเข้าใจโรคนี้ว่า ผู้มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการก็ติดเชื้อ COVID-19 และเผยแพร่ได้  ดังนั้นประวัติการเสี่ยงสัมผัสเชื้อควรจะถือว่าสำคัญยิ่งกว่าไปยืนวัดไข้แล้วอ้างว่าผ่านการคัดกรอง  บัดนี้แม้มีการแก้ไขให้นิยามกว้างขึ้น แต่ก็หลังจากเชื้อแพร่กระจายเสียหายไปโดยใช่ที่ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม และควรอธิบายด้วยว่าปัจจุบันที่แสนกว่า Test นั้น จำนวนคนยังอยู่ระดับหมื่น อาจไม่ถึงห้าหมื่นคน ไม่ใช่ตรวจแสนกว่าคน

4) จากการให้นิยามคับแคบเพื่อจำกัดการตรวจหาเชื้อ เท่ากับไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก มีแต่ตั้งรับ คัดกรอง ลวก ๆ และถอยหลังพิงฝาโรงพยาบาล โดยตั้งรับแบบที่ถือเอาความสามารถของโรงพยาบาลเป็นหลัก ไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ณ บริเวณที่สงสัยสัมผัสโรคระบาด เราเพิ่งเริ่มที่ภูเก็ตและกำลังทำในบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เข้มข้นพอ ถ้ายังไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้ดีพอ คุณจะเอาอะไรไปทำให้ฝ่ายการเมืองยอมเปิดการล็อคเมือง ล็อคผู้คน ล็อคประเทศ เพราะเขากลัวการติดเชื้อรอบใหม่

5) การแสดงตัวเลขจำนวนการทดสอบตัวอย่างและผล ตลอดจนรายละเอียดสับสนมาก จนกระทรวงลบรายงานนี้ออกไป เพราะเมื่อแสดงว่ามีผลรอยืนยันหลายหมื่นตัวอย่าง สร้างความกังวลให้กับคนที่ติดตามตัวเลข ในที่สุดก็ลบทิ้งจากรายงานทั้งหมดย้อนหลัง

แสดงถึงความเลอะเทอะในข้อมูลและการรายงาน อีกทั้งต้องให้สาธารณชนเข้าใจว่าการตรวจแสนกว่าตัวอย่าง จริง ๆ แล้วเป็นจำนวนคนกี่คน เพราะหนึ่งคนส่งตรวจหลายครั้ง หลายตัวอย่าง ที่จริงต้องมีข้อมูลการทดสอบที่ดีและชัดเจนว่าตรวจกี่ราย ผลบวก ผลลบ และที่รอผลอยู่ จริง ๆ มีเท่าไร? ไม่ใช่มาลบทิ้งเฉย ๆ

6) ปัญหาการบริหารอุปกรณ์การแพทย์และการป้องกันบุคลากรการแพทย์ให้ปลอดภัย ควรจะมีการประเมิน ทบทวนและแก้ไข ไม่ใช่ห้ามรายงานว่าขาดแคลน มีการย้ายคนที่ออกมาปูดเรื่องเหล่านี้

7) การประเมินสถานการณ์ การวิเคราะห์ และวางแผนการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมกับคณะแพทย์มหาวิทยาลัย, คณะแพทย์โรคทรวงอก, คณะแพทย์โรคติดเชื้อ และคณะแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ไปเป็นคนละทางสองทาง ทำให้ขาดพลังในการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลและการเมือง ในการที่ให้สาธารณสุขนำการเมืองในช่วงโรคระบาด

8) กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานด้านสาธารณสุขควรถอดบทเรียนสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจัง ไม่ใช่ชื่นชมด้านบวก ละเลยด้านลบที่มีปัญหาไม่ใช่น้อย ต้องตรวจสอบถอดบทเรียนอย่างจริงจัง ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการปรับรื้อโครงสร้างการทำงาน จากรับ/ถอย มาเป็นรุกและรับอย่างมีจังหวะก้าว ไม่ใช่ปล่อยให้การเมืองนำแบบผิดทิศผิดทาง และต้องรุกเพื่อประชาชน  ให้ชีวิตประชาชนและสุขภาพเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารประเทศ นี่คือความมั่นคงแท้จริง ไม่ใช่การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ดังนั้นต้องมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไปจนสถานการณ์ปกติ ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร ผลักดันให้รัฐต้องจัดงบประมาณใหม่ที่เน้นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา เพื่อสร้างคนไทยที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ใช่ยืนกุมเป้าขอรับกระผมต่อฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลแต่ละยุค และจะได้ไม่หลงผิดไปชื่นชมระบอบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เพราะนี่ก็คือบทเรียนเช่นกัน!

ธิดา ถาวรเศรษฐ : บทเรียนรัฐบาลอำนาจนิยมในสถานการณ์สู้ศึก COVID-19

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.37 ตอน เราอยู่กับล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวไม่ได้ตลอดกาล คนจะอดตาย


แต่พอเปิดสาระจริงๆ ออกมา ไม่ใช่การขอความเห็นหรือไอเดียอะไรเลยครับ เพราะถ้าจะให้เข้าใจแบบนั้น สาระสำคัญในจดหมายต้องประมาณว่า มาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลทำมา ท่านคิดเห็นอย่างไรและมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง สำหรับการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อไป

แต่นี่กลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีบอกกับมหาเศรษฐีว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำมาเป็นการช่วยเหลือคนในองค์กรหรือช่วยเหลือประชาชน รู้นะ ขอบใจมาก

แต่ต้องทำเพิ่มและรายงานมาทันทีภายในสัปดาห์หน้าว่าจะมีมาตรการอะไรอีก นอกจากไม่ใช่เป็นการขอควาเห็นแล้ว ยังไม่ใช่ขอความร่วมมือด้วย

เพราะนี่เรียกว่า ขอความมัดมือโดยแท้ มหาเศรษฐีทั้ง 20 รายที่ได้รับจดหมาย จะมีใครบ้างที่ตอบนายกฯ ว่า เรียนนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาคิดว่าผมได้กระทำมามากพอแล้ว มาตรการหลังจากนี้ไม่มี

ทุกคนก็ต้องเสนอมาตรการออกไป และแน่นอนว่า งบประมาณที่ใช้ก็ต้องเป็นงบฯ ของมหาเศรษฐี ทำให้สถานะของโครงการเหล่านี้เกิดความลักลั่นไม่ชัดเจนว่าตกลงใครเป็นเจ้าภาพกันแน่

- จดหมายเปิดผนึก คิดง่ายแต่ทำยาก 

กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายรายออกมาตรการทั้งดูแลบุคคลากรในสังกัดและช่วยเหลือประชาชนมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งตรงนั้นชัดเจนครับว่าเค้าคิดเองทำเอง

แล้วก็มีกรอบการตัดสินใจกรอบการดำเนินงานของตัวเอง แต่พอเป็นมาตรการตามคำขอของนายกฯ ความหมายของมันคือมาตรการสาธารณะ

ถามว่าเมื่อดำเนินการไปแล้ว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เอกชนรายไหนประกาศจะทำอะไรออกมา ถ้าหากว่าประชาชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่ได้รับไม่ทั่วถึง จะไปเรียกร้องเอากับใคร

หรือหากมาตรการที่เอกชนบอกว่า ทำตามคำขอของนายกรัฐมนตรี เดินไปแล้วเกิดมีปัญหา มีประชาชนบางกลุ่มเกิดมีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วก็จะต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไข จะเรียกร้องกับใครดี

อย่าคิดว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นนะครับ ขนาดรัฐบาลมีอำนาจเต็ม มีฐานข้อมูล มีบุคคลากร มีกลไกต่างๆ เต็มมือ แค่เยียวยาประชาชนเดือนละ 5 พันบาท ยังมีปัญหาไม่จบไม่สิ้นจนวันนี้

ดังนั้น ในวิกฤตขนาดใหญ่ของโลก การกำหนดมาตรการสาธารณะเพื่อช่วยเหลือประชาชน รัฐต้องเป็นเจ้าภาพเท่านั้น ส่วนเอกชน ผู้ประกอบการ หรือมหาเศรษฐีรายใดก็ตาม ถ้าจะเข้ามาร่วม

ก็มาในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นเจ้าของโครงการตามคำขอของนายกรัฐมนตรี เช่น คุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ออกมาบอกว่า เตรียมใช้งบประมาณ 100 ล้าน แต่ไม่ให้ตอนนี้

จะไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง ดูดน้ำใต้ดินเอามาใช้ที่จ.สุโขทัย หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รัฐบาลจะอนุญาตให้ทำไหม ถ้าให้ทำ การดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาโดยเอกชนจะไปเข้าข้อระเบียบใดๆ ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะต้องมีการยกเว้นข้อระเบียบ จะต้องมีการเปิดช่องให้เอกชนบางรายเข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

ผมไม่ได้กล่าวหาว่ามหาเศรษฐีทั้ง 20 ราย จะเสนอโครงการที่ตัวเองมีนอกมีในนะครับ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่ารัฐบาลเล่นง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้

นี่ยังไม่นับรวมว่าทั้ง 20 ราย มีข้อต้องคิดอีกนะครับว่าจะออกมาตรการตอบสนองนายกรัฐมนตรีขนาดไหน เม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ ต้องเรียงตามลำดับความร่ำรวยหรือไม่

ครทำมากทำน้อยจะมีผลต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างไร แล้วสายตาของสังคจะมองเข้ามาแบบไหน ผมว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ จะเป็นเรื่องคิดง่ายแต่ทำยาก ประเมินผลสำเร็จลำบาก

อย่ามาหาว่าผมไปพูดถึงรัฐบาลเหมือนที่เค้าติดแฮชแท็กกันนะครับ แต่ผมเห็นว่าการที่รัฐบาลพลิกเอามาตรการรับมือวิกฤตนี้ไปใส่มือมหาเศรษฐีแล้วให้เค้าเป็นเจ้าภาพเบ็ดเสร็จในตัวเอง เป็นเรื่องคิดง่ายเกินไป

- ทำไมไม่ส่งจดหมายถึงกลุ่มในอาณัติของรัฐฯ เอง 

ถ้าจะทำจดหมายเปิดผนึกโดยมีเนื้อหาสาระแบบที่ปรากฏออกมา ไม่ควรยื่นให้กับบรรดาเศรษฐีทั้งหลายครับ นายกรัฐมนตรีควรทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรมหาศาล เช่น การไฟฟ้า ปตท. กองสลากและอีกหลายราย บอกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นว่า มาตรการช่วยเหลือที่ทำมา เห็นแล้ว ขอบใจ แต่ขอให้ทำเพิ่ม แล้วก็แจ้งมาภายในสัปดาห์หน้าว่า รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่จะทำอะไรเพื่อประชาชนได้อีกบ้าง

อย่างงี้ชัดครับว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าภาพและอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือไม่ก็เอาง่ายๆ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 250 ส.ว. ที่นายกฯ ตั้งมาเองกับมือ

แล้วถามว่าจะช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมจากปัจจุบันนี้ได้อย่างไรบ้าง

ถ้าขอความเห็นขอไอเดียมหาเศรษฐี ผมไม่มีปัญหา แต่จดหมายที่ออกมา มันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น นี่ไม่ใช่การออกมาปกป้องคนร่ำคนรวยทั้งหลาย ไม่ใช่หน้าที่ผม และไม่ใช่สิ่งที่ผมพึงกระทำ

แต่ผมต้องการเห็นรัฐบาลแสดงศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตแล้วแก้ปัญหาพาประชาชนให้รอดพ้นไปด้วยกัน ด้วยความสามารถของตัวเอง

- ไล่จับคนไร้บ้าน เล่นงานคนแจกโจ๊ก

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจหรือบังคับใช้กฎหมาย 1-2 วันนี้มีข่าวการไปจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ไปแจกข้าวปลาอาหารให้กับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ

ในฐานะที่ผมก็เป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งที่เดินแจกข้าวกล่อง ข้าวสารอาหารแห้งให้กับประชาชนมาแล้ว 1 สัปดาห์

อยากจะบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย ควรใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ระมัดระวังไม่ให้การใช้อำนาจนั้น กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่เกิดความตึงเครียดขึ้นมา

ผมเห็นด้วยว่าการแจกข้าวแจกของต้องให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครจะแจกของก็แจ้งองค์กรปกครองท้องถิ่น แจ้งส่วนราชการให้รับทราบ แล้วก็มาช่วยกันดูแล แต่หากเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้า คนแจกไม่ได้แจ้ง แต่คนรับเค้ามารอ ก็ไม่ควรไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นคดีความ ทำแบบนั้น ถึงที่สุดจะไม่มีใครได้อะไร

เจ้าหน้าที่ที่จับกุมก็ถูกต่อว่า คนเจตนาดีเอาของไปแจกก็เสียความรู้สึก แล้วตกเป็นผู้ต้องหา ชาวบ้านที่กำลังไม่มีกินก็กลายเป็นถูกแย่งอาหารไปต่อหน้า คดีไปรกโรงรกศาลอีกต่างหาก

เอาอย่างงี้เถอะครับ คนแจกก็แจ้งหน่วยงานเค้าหน่อย แต่ถ้าไปเจอใครกำลังแจกแล้วยังไม่ได้แจ้งหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ก็ไปช่วยดูแล แล้วตักเตือน ขอความร่วมมือว่า คราวต่อไปต้องแจ้ง เท่านี้ก็จบ จะให้เกิดกรณีจี้ชิงโจ๊กกันอยู่ทำไม

สมัยจอมพล.ป มีคนกลุ่มหนึ่งในนามขบวนการไฮปาร์ค ประท้วงรัฐบาล ประกาศอดข้าวกลางท้องสนามหลวง รัฐบาลแก้เกม เอาอาหารไปเลี้ยง ผู้ประท้วงไม่ยอมกิน สุดท้ายถูกจับกุมดำเนินคดี เรียกว่า กบฏอดข้าว

มาปัจจุบันนี้ อย่าถึงกับให้มีกบฏแจกข้าวเลยครับ ใครไม่ไปสัมผัสจริงอาจจะไม่รู้ ผมไปสัมผัสมาด้วยตัวเอง นัดแจกข้าวเวลา 11.30 น. ทุกที่ผมไม่เคยได้แจกตรงเวลา เพราะประชาชนมารอกันตั้งแต่ 10.00 น.

ในยามปกติที่เค้าพอช่วยเหลือตัวเองได้ ข้าวกล่องหนึ่ง น้ำขวดหนึ่ง ข้าวสารหนึ่งถุง น้ำพริก 1 กระปุก ไม่มีแรงดึงดูดใจขนาดนี้ล่ะครับ แต่นี่เขากำลังลำบากจริงๆ

ของแต่ละอย่างที่คนเอามาแจก มันมีความหมาย ที่ผมสังเกตเห็น คนส่วนใหญ่ที่มารอ ยังไม่ได้กินข้าวเช้าจึงมาเร็ว เพื่อต้องการอาหารมื้อนั้นไปกินทั้งเช้าทั้งเที่ยง นี่คือความจริงที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน คนเอาของไปแจก เจ้าหน้าที่ต้องไปช่วยเขาจัดการ ไม่ใช่ช่วยกันจัดการเขา

แล้วไอ้ประเภทไปจับคนไร้บ้าน ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวก็ขอเถอะครับ คนเค้านอนตามถนน คนเค้านอนตามตลาด ไม่มีบ้านอยู่แล้ว จะไปจับเอามาทำไม

ในสถานการณ์แบบนี้ การบังคับใช้กฎหมายกับคนยากคนจน เอาแต่ความเด็ดขาดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจและความเมตตากำกับด้วย

ไม่มีใครเถียงล่ะครับว่ายามนี้สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ แต่ที่คนยากคนจนเขาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เขาไม่ได้ต้องการเสรีภาพใดๆ มากไปกว่าเสรีภาพที่จะได้อยู่ได้กินได้ดำรงชีวิตได้ในวันที่รัฐปิดโอกาสในการทำงานทำกิน

- เราจะอยู่กับเคอร์ฟิว ตลอดไปไม่ได้ 

ส่วนเรื่องการคลายล็อคที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง ผมเห็นว่าจำเป็นที่รัฐบาลต้องรีบสรุปให้ชัดนะครับ จะยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ก็รับได้ แต่มาตรการต่างๆ ไม่ควรเข้มข้นเท่ากับปัจจุบันนี้ตลอดไป

แน่นอนครับ หลังจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่จำนวนผู้ได้รับผลกระทบและอดอยากก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้จริงเหมือนกัน ตราบเท่าที่ยังไม่มียารักษาเด็ดขาด
ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

โลกยังต้องอยู่กับโควิดนี้ไปอีกนาน การปรับวิถีชีวิต การเพิ่มมาตรการป้องกันในสังคม การที่กลไกรัฐสอดส่องดูแล หาคนป่วยแยกคนเสี่ยง นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

ยอมรับความจริงเถอะครับ ถ้ายังไม่มีวัคซีน เราก็ต้องอยู่กับโควิด19 แบบนี้ต่อไปให้ได้ แต่ที่จะทำให้เราอยู่ไม่ได้จริงๆ คือการปิดกั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบบปัจจุบันในระยะยาว

คนยากจน คนเล็กคนน้อย จะตายก่อน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ก็กำลังจะตายตาม และเมื่อถึงตรงนั้น 20 รายที่นายกฯ เขียนจดหมายไปหา จะเหลือรอดอยู่เท่าไหร่ก็ไม่รู้

เราอาจจะต้องอยู่กับโควิดตลอดไปก็เป็นได้ แต่เราอยูกับเคอร์ฟิวตลอดกาลไม่ได้ คนจะอดตาย เงิน 5 พันบาท แม้ว่าจะเพิ่มจาก 9 ล้านคนเป็น 14 ล้านคน แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา

คนได้เดือนละ 5 พัน ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะอยู่ได้ แต่เป็นการยังชีพฉุกเฉินเพื่อรอวันฟื้นคืนกลับสู่ปกติ หรือผ่อนคลายจากปัจจุบันนี้
จะเอาตัวเลขคนป่วยคนตายชี้วัดอย่างเดียวไม่พอนะครับ ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน แล้วอ่านสถานการณ์ให้ขาดไปถึงอนาคตด้วย

กิจการบางอย่างป้องกันให้รัดกุมไม่ประมาท ก็ต้องปล่อยให้เค้าเปิด กิจกรรมบางประเภทต้องทำใจว่า คงเปิดไม่ได้อีกนาน ผับ บาร์ เวทีมวย ไก่ชน วัวชน ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันไป

ผับบาร์ลองปรับรูปแบบมาเป็นร้านอาหาร จัดระยะห่างให้คนนั่งกินได้ไหม เวทีมวยชกถ่ายทอดโทรทัศน์โดยไม่มีคนดูในเวทีได้หรือไม่ นี่แค่ยกตัวอย่างแบบเร็วๆ นะครับ แต่ถึงเวลาต้องนั่งคิดเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง

- วิถีประยุทธ์ จะฉุดพัฒนาการทางการเมืองลง 

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือโควิด19 นายกรัฐมนตรี ตัดนักการเมืองออก ใช้ข้าราชการ โดยปลัดกระทรวงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน อย่าลืมซะล่ะครับว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนักการเมือง

ดังนั้น ทั้งหมดที่เป็นอยู่ ก็คือการบริหารจัดการโดยนักการเมืองชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่วิถีทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จะเน้นรัฐราชการ มาตามกลไกอำนาจนิยม

ที่ต้องการคนรับคำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซ้ายหัน ขวาหัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นักการเมืองอำนาจนิยมแบบพล.อ.ประยุทธ์ จึงเลือกที่จะใช้ข้าราชการ แต่ไม่ตอบสนองต่อการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ไม่หือไม่อือกับข้อเรียกร้องให้มีการเปิดสภาถกอภิปรายเรื่องนี้

ผมไม่ได้มานั่งคลั่งประชาธิปไตยตอนที่โรคระบาดกำลังรุนแรงนะครับ แต่ระบบการเมือง ที่นักการเมืองอย่างพล.อ.ประยุทธ์กำลังทำอยู่ จะมีปัญหาทั้งผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน ความโปร่งใสและเข้มแข็งของกลไกตรวจสอบและพัฒนาการทางการเมืองของสังคมไทย'นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.36 ตอน 5,000 บาท ไม่ใช่เงินเยียวยา แต่เป็นเงินยังชีพฉุกเฉิน คนหิวรอไม่ไหว


แม้ท่าทีที่ออกมาจะเป็นการยอมรับข้อผิดพลาดของผู้นำประเทศ แต่ต้องพูดกันตรงๆ ว่า นี่ไม่ใช่วิธีการบริหารบ้านเมืองในสถานการณ์วิกฤต

โควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลก คนเป็นนายกรัฐมนตรีพูดอะไรต้องมีน้ำหนัก ชัดเจน แล้วก็จบทันที ไม่ต้องแปล ไม่ต้องอธิบายกลับไปกลับมาจนคนเกิดความไม่เชื่อมั่น แล้วก็เกิดความระส่ำระสาย

หวังว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกนะครับ ประเด็นไหนจะให้โฆษกแถลงก็ว่ากันไป ประเด็นไหนท่านนายกฯ จะพูดเองแล้วพูดแบบเรื่อยเปื่อยเหมือนกับ 'คืนวันศุกร์' ตอนเป็นหัวหน้าคสช. ไม่ได้อ่ะครับ

- โรคหิว เป็นกันวันละ 3 เวลา 

ถ้ายังปล่อยให้เป็นเหมือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่น การยอมรับของประชาชนมีปัญหามากขึ้นแน่ๆ พูดถึงสถานการณ์วิกฤตรัฐบาลต้องมองให้ออกนะครับ เวลานี้เรื่องโควิด-19 กับเรื่องปากท้องของประชาชน กลายเป็นวิกฤตที่มีน้ำหนักไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน

แน่นอนครับ สำคัญที่สุด ต้องคำนึงถึงการป้องกันรักษาโรคแล้วก็ควบคุมการแพร่ระบาด แต่พร้อม ๆ กันนั้นต้องบำบัดรักษาโรคหิว โรคไม่มีกินของประชาชนด้วย

จริงอยู่ว่าโรคระบาดหรือโรคห่า ใครเป็นแล้วรักษาหาย ก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ แต่อย่าลืมว่าโรคหิว เป็นได้ทุกวันและวันละ 3 เวลา วันนี้การควบคุมโรคอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่การจัดการกับความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในระดับที่น่าหนักใจและน่าเสียวไส้ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องเงิน 5,000 บาทเรื่องเดียวจนถึงวันนี้ยังไม่จบและดูไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ

คนจำนวนหนึ่งจะได้รับเงินและเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ ไปถามคนในรัฐบาลก็อธิบายง่าย ๆ ว่าได้ทุกคน รัฐบาลไม่ทอดทิ้งใคร แต่ขอให้รอหน่อย

มันรอได้ที่ไหนล่ะครับ เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้ แล้วไม่มีกิน

ผมคิดว่าอาจจะต้องปรับความเข้าใจกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลยนะครับ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า

- เงิน 5,000 ต้องได้ทันที 

ถ้าท่านเปลี่ยนการตรวจสอบคุณสมบัติคนจะได้เงิน 5,000 จากคำว่าอุทธรณ์เป็นคำว่าทบทวนสิทธิ์ได้ ผมว่าการเรียกเงินจำนวนนี้ว่าเงินเยียวยา ก็ควรเปลี่ยนครับ

เพราะคำว่าเยียวยา มันหมายความว่ารอได้ อีก 2-3 เดือน หรือปีหน้าถึงจะเยียวยาก็มีด้วยซ้ำไป แต่ความหมายจริง ๆ ของเงิน 5,000 นี้ คือเงินยังชีพฉุกเฉิน ต้องได้ทันที ต้องกินวันนี้และรออีกต่อไปไม่ไหว

เหตุการณ์มาถึงวันนี้ คนเป็นจำนวนมาก ถอยถึงแนวรบสุดท้าย อะไรที่มีติดตัวเอาออกไปขาย อะไรที่มีอยู่ในบ้านเอาออกไปจำนำจนทั้งชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือเพียงเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล

พอพูดถึงเรื่องนี้ก็มีคนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแจกเงิน 5,000 เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่คัดค้านการแจกเงิน 2,000 บาทในนโยบายประชารัฐ ต้องเข้าใจกันเสียใหม่นะครับว่า  นั่นมันคนละเรื่อง การแจกเงิน 2,000 บาท ในนโยบายประชารัฐ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งทำในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่มีงานทำและช่วยเหลือตัวเองได้ตามสถานภาพ จึงมีเสียงคัดค้านเพราะเห็นว่า หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรมีมาตรการระยะยาวที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ได้หมายความแค่การเอาเงินไปแจกเฉยๆ

ต่างจากเงิน 5,000 บาทในสถานการณ์นี้ นี่ไม่ใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือเงินกระตุ้นชีวิตให้สามารถดำรงต่อไปได้ คนเค้าไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า เค้าจะงอมืองอเท้า แต่รัฐบาลมัดมือมัดเท้า ไม่ให้เค้าทำมาหากินได้

ก็เข้าใจล่ะครับ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด แต่กับประชาชนคนยากคนจน เมื่อมัดมือมัดเท้า ท่านต้องมีข้าวป้อน ถ้ามัดทั้งมือทั้งเท้าแล้วข้าวก็ไม่มีกิน เค้าจะอยู่กันยังไง

- แก้ปัญหานอกกรอบ ตอบโจทย์ให้ได้ 

ดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่กระทรวงการคลังสิครับ คนได้รับผลกระทบเขาไปเรียกร้องเงินยังชีพฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่า เค้าไม่คิดสู้ เค้าเรียกร้องด้วยซ้ำไปว่า ถ้าจะไม่ให้เงิน ก็ต้องให้เค้าค้าขาย ให้เค้าทำงานปกติ เงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลจะไม่มีความหมายอีกต่อไป

รัฐบาลอาจจะอธิบายว่า มีเหตุผล มีข้อจำกัด มีระเบียบ มีตัวบทกฎหมาย แต่กับสถานการณ์ตอนนี้ คิดกรอบเดิมไม่ได้ครับ นี่คือวิกฤตที่โลกไม่เคยเจอ ถ้าแก้ปัญหาโดยวิธีคิดแบบเก่า วิธีการทำงานแบบเดิม ผมรับรองว่าไม่สามารถจะผ่านสถานการณ์นี้ไป

กฎกติกาทั้งหลายก็กลไกรัฐทั้งนั้นล่ะครับสร้างขึ้นมา เมื่อโควิดมันลอยมาเหนือกติกา ก็ต้องคิดนอกกรอบ ตอบโจทย์ให้ได้ว่า 27 ล้านคนที่มาลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจะจัดการยังไง

อย่าไปตอบลอย ๆ ว่าคนเป็นเกษตรกรให้รอมาตรการช่วยเกษตรกร คนเป็นนักศึกษาให้รอมาตรการช่วยนักศึกษา เพราะเอาเข้าจริงรัฐบาลยังไม่มีมาตรการอื่นๆ ออกมา

ขนาดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในวันเดียวกันกับที่ประชาชนไปเรียกร้องเงิน 5,000 บาทที่กระทรวงการคลัง (14 เม.ย. 63) เวลา 14.30 น. นายอุตตม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีนัดประชุม เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และจะนำไปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ามีการสั่งเลื่อนการประชุมโดยมีรายงานข่าวว่าเหตุผลก็คือ มีประชาชนไปประท้วงกันอยู่ที่กระทรวงการคลัง

ทั้งที่การประท้วงของประชาชนจบไปตั้งแต่บ่ายต้นๆ บ่ายสองครึ่งหลังจากมีการปิดประตูกระทรวงแล้ว ต้องประชุมได้ หรือหากองค์ประชุมไม่สบายใจ สามารถนัดประชุมที่ไหนก็ได้ แต่นี่กลายเป็นว่าแทนที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะได้เข้าครม.สัปดาห์นี้ กลับต้องรออีก 1 สัปดาห์ แล้วไม่รู้ว่าถึงที่สุดจะได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจริงหรือไม่

มาถึงตรงนี้ ผมเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่ากรอบเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะทยอยกู้เข้ามา ปัญหาที่แท้จริงคือยังไม่มีมาตรการ ยังไม่มีรูปธรรมที่จะใช้เงินใช่ไหม

วิกฤตขนาดนี้ ต้องใช้เงินมาแก้ไขปัญหา ประครองสถานการณ์มากมายมหาศาล แต่ถ้าหากไม่มีมาตรการชัดเจน เอาเงินมามากกว่านี้อีกกี่เท่าก็ไม่มีความหมาย

นายกฯ ยืนยันว่า 5,000 บาทต้องได้ครบ 3 เดือน แต่เงินเดือนที่ 2 ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เงินกู้เท่าที่ฟังตามกรอบเวลา ได้เป็นอย่างเร็วต้นเดือนมิ.ย.ด้วยซ้ำไป

ถามว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงต้นเดือนมิ.ย. คนไทยและประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนจะอยู่กันอย่างไร

- เริ่มขยับปรับล็อคเศรษฐกิจ

เรื่องคลายล็อคทางเศรษฐกิจ ผมเคยได้เสนอไปแล้ว ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าผมเสนอแล้วเสียงดังรัฐบาลต้องรับฟัง ไม่ใช่ล่ะครับ เป็นแต่เพียงมุมแบบนี้ หลายคนหลายฝ่ายย่อมมองเห็นตรงกันได้

พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอายุถึงสิ้นเดือนเมษายน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งประเทศจะต้องถูกล็อคดาวน์ไปพร้อมๆ กันทั้งหมดเสียเมื่อไหร่
ลองจัดหมวดหมู่สิครับ อย่างน้อย 9 จังหวัดที่ยังคงปลอดเชื้อ น่าจะเป็นดี1 ประเภท1 พื้นที่นำร่องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางชนิดสามารถขับเคลื่อนภายใต้มาตรการที่เหมาะสมได้

ต่อมาก็เป็นกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์มีอยู่อีก 25 จังหวัด น่าจะเป็นชุดถัด ๆ ไป

ผมเข้าใจครับว่าการรับมือโรคระบาด ต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก เหมือนชกมวยจะโดนน็อคเอาง่าย ๆ

แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามวยเอาแต่ตั้งการ์ดอย่างเดียว ไม่ออกอาวุธอะไรไปบ้าง เราจะเอาชนะได้ยังไง

ไม่ได้หลับหูหลับตาดึงดันเสนอนะครับ ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกเดินก้าวยาวๆ แต่ในบางพื้นที่ลองขยับก้าวสั้น ๆ ดูสิครับว่าจะเป็นยังไง  ความเข้มงวดเข้มแข็งเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด ยังต้องเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

แต่ในทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนหมดหวังกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ก็ควรเปิดพื้นที่ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้

กรุงเทพฯ ภูเก็ต จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อคงต้องรออีกนาน แต่จังหวัดอื่นๆ ลองจัดกลุ่มแล้วพิจารณาก็ไม่มีอะไรเสียหาย

- ช่วงรัฐมนตรีเหงา 

ช่วงนี้รัฐมนตรีหลายคนคงเหงา เพราะว่านายกฯ เอางานให้ปลัดกระทรวงไปทำเกือบหมดแล้ว บางคนก็เลยขยันเป็นพิเศษ วันก่อนเห็นรัฐมนตรีกระทรวงดีอี พาตำรวจไปจับประชาชน

อ้างว่าเป็นกลุ่มปล่อยเฟคนิวส์ เอามา 7 คน ประกาศจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด ผมตามอ่านข่าวดู พบว่าบางคนโพสต์ข้อความ ซึ่งแม้จะเป็นเฟคนิวส์ ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

สถานการณ์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องไปไล่ล่าไล่จับประชาชนขนาดนั้นก็ได้ พบว่าใครปล่อยข้อความอันเป็นเท็จ เจ้าหน้าที่มีสิทธิไปพบว่ากล่าวตักเตือน ออกหนังสือให้หยุดการกระทำ หากไม่หยุดก็ต้องมีมาตรการขั้นต่อไป

ขนาดประธานศาลฎีกายังออกคำแนะนำให้ผู้พิพากษาตัดสินกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์นี้ตามความเหมาะสมด้วยซ้ำไป

ตัวรัฐมนตรีกระทรวงดีอี ก็น่าจะพิจารณาดำเนินการกับคนปล่อยเฟคนิวส์ตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาบรรยากาศของประเทศไม่ให้ตึงเครียดกับทุกมุมจนเกินไป

ถ้ากระทรวงดีอีมีเวลา ไปพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชาชน ให้สามารถที่จะจำแนกแยกแยะคุณสมบัติบุคคล แล้วเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลได้รวดเร็วทันที อย่าให้มั่วเหมือนตอนนี้ดีกว่า

ทีคนเป็นนายกฯ พูดผิดแล้วก็พูดใหม่ ออกมาขอโทษและก็พูดต่อไปได้ ประชาชนโพสต์ข้อความอาจจะเป็นเฟคนิวส์โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ว่ากล่าวตักเตือน แล้วให้เขาปฏิบัติตัวเสียใหม่ มันจะอะไรกันนักกันหนา

หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมมิติต่างๆ ของสังคมมนุษย์จะเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คสช.ทำเอาไว้เลย

ตอนนั่งเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คนที่นั่งกันอยู่ในวง ใครคิดบ้างว่าจะมีวันนี้ แล้วไม่มีอำนาจ หรือกลไกใดจะกดให้โลกและสังคมไทยนิ่งอยู่กับที่

อย่าว่าแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเลยครับ เกิดโควิด-19 มา 3-4 เดือน ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจนวินาทีนี้ ยังเอาใจช่วยรัฐบาลอยู่นะครับ ลุ้นทุกวันให้แก้ปัญหาได้ แต่บางเรื่องน่าหนักใจก็ต้องพูดกันตรง ๆ นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.35 ตอน "โรคห่า" เบาลง แต่ "โรคหิว" กำลังบาน


ณัฐวุฒิชี้โรคห่าเบาลงแต่โรคหิวกำลังบาน งงหนักสงกรานต์ไม่หยุดแต่แจก 5 พันมีวันหยุด

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด‘เต้น’’ เผยแพร่ทางแฟนเพจ ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ และยูทูบ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ Official' เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 63 ว่า

สมัยโบราณยุคต้นกรุงศรีอยุธยา เกิดโรคระบาด ชาวบ้านเค้าเรียก 'โรคห่า'

โควิด-19 คราวนี้ถ้าเรียกเทียบเคียงว่าเป็นโรคห่าก็คงไม่ผิดกติกา สถานการณ์ที่เรากำลังเจอมี 2 โรคพร้อมๆ กันนะครับ คือ ‘โรคห่า’ กับ ‘โรคหิว’

โควิด-19 ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3-4 วันก่อนหน้านี้ลดลงทุกที จนอยู่ในระดับที่คาดหวังได้ว่าหากลดลงในอัตราส่วนใกล้เคียงกันน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาไม่ช้านัก

แต่สวนทางกันกับจำนวนผู้ติดเชื้อก็คืออีกโรคหนึ่งครับ ‘โรคหิว’ ซึ่งเวลานี้มีจำนวนคนที่ประสบสถานการณ์ยากลำบากในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

โรคหิวหรือโรคขาดทรัพยากรในการดำรงชีพเป็นโรคติดต่อเหมือนกัน แต่ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน มันติดต่อกันมาแล้วหลายวัน คนไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร นี่คือสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งมือในการแก้ไข

- เราไม่ทิ้งกัน ถ้าคิดจะให้ อย่าใจแคบ

มาตรการแจกเงินรายละ 5,000 บาท ต้องทำให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่แจกหยุดแจกหยุดอย่างที่เป็นอยู่นี้ วันธรรมดาแจก เสาร์อาทิตย์หยุด จันทร์ค่อยแจกอีกที ผมไม่เข้าใจนะครับว่า

ทำไมต้องทำแบบนี้ ถ้าจะอ้างว่าเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุด ก็วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ คือวันหยุดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็สั่งการให้เป็นวันราชการทำงานปกติได้ จะเว้นเสาร์อาทิตย์ไว้ทำไมล่ะครับ ก็สั่งให้เป็นวันทำงานแล้วก็ให้งบประมาณที่จัดไว้รายละ 5,000 บาท ทำงานได้ตลอดเวลา

โรคห่าก็ไม่มีวันหยุด โรคหิวยิ่งไม่มีวันหยุด แต่มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ไม่รู้จะมีวันหยุดไว้ทำไม

ส่วนกรอบระยะเวลาที่จะแจกเงิน 5,000 บาทต่อเนื่องกันไป 6 เดือนนั้น เรื่องนี้ตั้งแต่ประกาศมา ผู้คนก็ตกใจเพราะเท่ากับรัฐบาลประเมินว่า เราต้องอยู่กันในสภาพนี้อีกอย่างน้อย 6 เดือนจากนี้ไป

แม้ภายหลังจะพยายามอธิบายว่าจ่ายจริงแค่ 3 เดือนเท่านั้น เรื่อง 6 เดือนก็ต้องรออีกที แต่อยากจะชี้ให้เห็นนะครับว่า ประชาชนเค้ารอไม่ได้ ถ้าจะจ่าย 5,000 บาทติดต่อกันอีก 3 เดือน

ก็ควรจะขยายฐานประชาชนผู้ได้รับจาก 9 ล้านคนเป็น 18 ล้านคนหรือมากกว่านั้นได้หรือไม่ มีคนไปลงทะเบียน 26 ล้านคน แต่รัฐบาลบอกว่าจะคัดเหลือแค่ 9 ล้าน ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นพวกขาดคุณสมบัติ
ต้องเข้าใจนะครับว่า แต่ละคนที่ยื่นเข้าไป อย่างน้อยมีคุณสมบัติพื้นฐานเดียวกัน คือคนที่จะไม่มีกิน ดังนั้น ส่วนที่เหลือ ถ้าอ้างว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ทอดทิ้งไม่ได้ ต้องเอามาพิจารณาโดยเร็วว่าจะช่วยเหลือดูแลกันยังไง

กระทรวงการคลังมีหน้าที่เร่งตรวจสอบคุณสมบัติ จัดเงิน 5,000 เข้าบัญชีประชาชนให้เร็วที่สุด

ทำตรงนี้ให้สำเร็จเถอะครับ ไม่ต้องไปเน้นเรื่องจะจับจะดำเนินคดี ไปนั่งขู่ชาวบ้านที่เข้ามาลงทะเบียนอยู่รายวัน

ทำไปทำมากระทรวงการคลังจะเล่นบทหลักในการจับกุมปราบปรามซะอย่างงั้น ให้คนอื่นเค้าทำเถอะครับ ไม่ใช่เรื่อง

- ในห้วงวิกฤต อย่ายึดติดอำนาจ

ส่วนกลไกการทำงานของรัฐ น่าจะเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ ทั้งในแง่ของงบประมาณ และการบริหารจัดการในพื้นที่

งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะถูกจัดสรรเพื่อใช้ดูแลแก้ปัญหากันเองได้ โดยลดข้อกังวลเรื่องระเบียบการตรวจสอบทั้งหลาย

ตำบลไหน หมู่บ้านใดเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต้องล็อคดาวน์ ให้ท้องถิ่นนั่นแหละครับเค้าดูแลกันเอง ถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถเอาเงินไปใส่กระเป๋าประชาชนได้ ก็ต้องบริหารจัดการให้เอาอาหารไปถึงบ้านประชาชนให้ได้

ท้องถิ่นเค้ารู้ครับว่าบ้านไหนอยู่กันกี่ชีวิต หลังคาเรือนไหนมีสมาชิกกี่คน แล้วในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะมีคนเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาอยู่ในนั้น

ล็อคดาวน์ คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า แต่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวปลาอาหารดูแลกันในนั้น จัดการแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งกลไกของท้องถิ่นเค้าทำได้ถึงที่

ชาวบ้านคนเลี้ยงหมูเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่มีรายได้ คนในหมู่บ้านมีอาหารกิน องค์กรปกครองท้องถิ่นและฝ่ายปกครองทำงานด้วยกัน เป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน วิกฤตใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้สำเร็จเพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือรัฐบาลนะครับ

แต่ในทางกลับกันรัฐบาลนั่นแหละต้องกระจายอำนาจไปให้ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับปัญหาในแต่ละพื้นที่เค้าบริหารจัดการตัวเองได้

- รักษาระยะห่างในบ้าน อยู่อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หน่วยงานทั้งหลายทำงานกันอย่างเต็มที่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกันเต็มกำลัง แต่ข้อแนะนำบางประการขอเถอะครับ

เพราะที่ท่านพูดมา ประชาชนเค้าทำไม่ได้ ผมได้ยินพูดต่อเนื่องกันหลายวันว่า อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ โอเคครับ นี่ก็อยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน

แต่ประเภทที่บอกว่า อยู่บ้านแล้วต้องรักษาระยะห่างอย่าใกล้ชิดกัน ทำอะไรก็ต้องเว้นพื้นที่ เพื่อป้องกันการติดโรค ถามจริงๆ เถอะครับว่าในประเทศไทยจะมีบ้านสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่คนอยู่กันในบ้านแล้วสามารถรักษาระยะห่าง 2 เมตรกันได้ตลอดเวลา แนะนำหรือขอความร่วมมือในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มันก็ไร้ประโยชน์ คิดจากโลกของความเป็นจริงดีกว่า

ให้คนอยู่กับบ้าน ไม่มีกิจกรรมสังคมภายนอกที่ไหนนี่ดีที่สุดแล้วครับ ส่วนชีวิตในบ้านต้องให้เค้าใกล้ชิดกันแล้วผนึกกำลังสู้ภัยโควิดด้วยกัน
ให้เค้าทำความเข้าใจกันเลยครับว่า ใครไปทำกิจกรรมสุ่มเสี่ยงข้างนอก กลับเข้ามาเท่ากับพาเชื้อโรคเข้าบ้าน มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลคนในบ้านนั่นแหละครับช่วยกันเตือนช่วยกันดู

สงกรานต์นี้ห้ามจัดกิจกรรมห้ามออกไปสังสรรค์เฮฮาดื่มเหล้าดื่มยากันที่ไหน ใครจะดูแลกันได้ล่ะครับถ้าไม่ใช่คนในบ้าน พ่อบ้านจะออกไปเฮฮาปาร์ตี้ แม่บ้านกับลูกๆ ก็ต้องห้ามปรามกันไว้

ลูกจะออกไปขับมอเตอร์ไซต์แว้น พ่อแม่ก็ต้องห้ามต้องดูแลกันได้ ใช้ความใกล้ชิดของคนในครอบครัวนี่ล่ะครับ เป็นรั้วป้องกันพฤติการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะออกไปข้างนอก

ในประเทศไทยมีบ้านจำนวนมากที่คนในบ้านเค้านอนเรียงกันอยู่แล้ว จะหาพื้นที่ 2 เมตรตรงไหน

ปลุกใจให้เค้าสู้ด้วยกันดีกว่า ให้ดูแลกันและกันในครอบครัว ห้ามใครออกไปทำผิดกติกาอย่างนี้จะได้ผลกว่าไหม

- วิกฤตนี้คือโอกาสพิสูจน์ศักยภาพ

พอจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ทยอยลดลง ผมคิดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลต้องเตรียมเกมรุกเอาไว้ เพื่อจะทำให้พื้นที่ในส่วนที่ยังปลอดโรคหรือพื้นที่ที่ว่างเว้นจากการตรวจพบคนติดเชื้อมาแล้วเป็นเวลานานๆ ไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน เขาได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเดินหน้าได้

จนถึงวันนี้ ยังคงมี 9 จังหวัดในประเทศไทยที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อนะครับ รัฐบาลน่าจะคิดโมเดลว่ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนไหนที่เปิดให้ทำกันก่อน ที่สามารถให้มีการจ้างงาน ที่สามารถจะให้ในพื้นที่ในจังหวัดเค้าทำมาหากินกันตามปกติได้

แน่นอนครับ ผับ บาร์ คอนเสิร์ต กิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวยังเปิดไม่ได้ แต่ว่ากิจการส่วนอื่นๆ รัฐบาลต้องพิจารณาแล้วทำให้พื้นที่ 9 จังหวัดที่ยังปลอดเชื้อ เป็นโมเดลนำร่อง

ส่วนจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเกินกว่าครึ่งเดือนไปแล้ว ค่อยๆ ทยอยตามมา มาตรการคัดกรอง มาตรการป้องกันโรคยังคงต้องรัดกุม แต่กระบวนการทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลาย

ผมไม่ได้เสนอให้ประมาทนะครับ อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคไม่ให้แพร่เชื้อไม่ให้ลุกลาม เป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 แต่ประเด็นที่พูดไป รัฐบาลน่าจะคิดเผื่อไว้ก่อนได้

ส่วนกลไกรัฐในระดับประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วโลก ต้องขยัยตัวแล้วครับ หาข้อมูล หาคู่เจรจา อ่านสถานการณ์ให้ออกว่าพื้นที่ใดประเทศไหนที่กำลังเกิดปัญหาและเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าไปทำรายได้

เราแสดงตัวตลอดมาว่าเราเป็นครัวของโลก เราเป็นคลังอาหารของโลก คราวนี้ล่ะครับจะพิสูจน์ว่า เราเป็นจริงได้หรือไม่ ในท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ สำคัญอยู่ที่ว่าใครจะสามารถแทรกตัวเข้าไปในวิกฤตนั้นเพื่อสร้างโอกาสได้ไหม

ทูตพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรวบรวมข้อมูล รายงานกลับมายังรัฐบาล กำหนดยุทธศาสตร์ สร้างโอกาสให้กับประเทศไทย นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : เมื่อรัฐอำมาตย์ไทยเผชิญสงครามโรคในโลกสมัยใหม่

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : “กระทรวงสาธารณสุข” เล่นกลอะไรกับตัวเลขการตรวจเชื้อ COVID-19


ยูดีดีนิวส์ : 3 เม.ย. 63 วันนี้ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มีการแสดงความฉงนต่อตัวเลขการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข โดย อ.ธิดา ได้โพสต์ไว้ดังนี้

ธิดา ถาวรเศรษฐ : “กระทรวงสาธารณสุข” เล่นกลอะไรกับตัวเลขการตรวจเชื้อ COVID-19 (3 เม.ย. 63)

เนื่องจากดิฉันสนใจการทดสอบ COVID-19 เป็นพิเศษว่าตรวจวันละกี่ราย? รวม แล้วเท่าไร? และมีรอผลยืนยันเท่าไร?

ดิฉันตรวจสอบย้อนหลังจากข้อมูลของ “กรมควบคุมโรค” และ “รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ก็พบเรื่องที่ดิฉันไม่สบายใจอย่างยิ่งกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่แสดงผลสะสมมาว่า มีการตรวจจนถึงวันที่ 31 มีนาคม นับมาจาก 3 มกราคม 2563 ที่เริ่มมีการตรวจเชื้อ

ผลในวันที่ 31 มีนาคม ยืนยันผลบวก 1,651 ราย ผลการตรวจผู้เฝ้าระวังที่เหลือ 18,446 ราย ผลลบ 10,863 ราย รอผล 7,593 ราย ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสะสมในวันที่ 31 มีนาคม (ตัวเลขรอผล 7,593 ราย ที่รายงานก็ไม่น่าจะถูก เพราะเอา 18,446 – 10,863 =7,583)

โอเค ที่ผ่านมารายงานตัวเลขทุกวันก่อนถึงวันที่ 31 มีนาคม ก็จะประมาณนี้ คือมีตัวเลขผู้รอผลเพิ่มจนถึง 7,593 (7,583) ดูตารางที่มีผู้รวบรวมเอาไว้จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค จนเราสงสัยว่าทำไมรอผลมันถึงเยอะมาก หมายความว่าอะไร?

ผู้รอผลอยู่ที่ไหน?  โรงพยาบาล หรือ บ้าน ???

อาจแพร่เชื้อให้คนได้มากมายถ้ายังไม่รู้ผล ซึ่งดูสถิติอาจผลบวกถึง 2,000 – 3,000 คน อะไรจะเกิดขึ้นใน 2 สัปดาห์หน้า ถ้าผู้ป่วยที่ไม่รู้ผลแพร่เชื้อมากมาย

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในวันที่ 1 เมษายน ตัวเลขเปลี่ยนไป เหลือผู้รอผลประมาณ 2,000 กว่าคน หายไปทันทีกว่า 6,000 คน

หายไปไหน???  หายไปได้อย่างไร???

ปรากฏว่าไปใส่ไว้ในผลลบเพิ่มขึ้น 6,000 พันกว่าคนนี้เป็นการเล่นกลย้ายตัวเลขจาก “รอผล” เป็น “ผลลบ” ซะอย่างนั้นหรือ?


 ไม่ตลกเลยค่ะ กระทรวงสาธารณสุข คุณต้องออกมาแจงว่า

1) คุณตรวจไปเท่าไรตั้งแต่ 3 มกราคม ตามรายงานไม่ถึง 20,000 คน ลองเฉลี่ยหารด้วย 90 วัน ก็ตกวันละ 200 กว่า Test เท่านั้น ใช่ไหม?

2) ตัวเลขรอผลทำไมสะสมเกือบหมื่นคนในสิ้นเดือนมีนาคม แล้วถูกเสกให้หายไปได้อย่างไรในรายงานผลวันที่ 2 เมษายน

คุณตรวจวันเดียวกว่า 6,000 Test งั้นหรือ???  แล้ววันก่อน ๆ คุณทำเพียงหลักร้อย ไม่เกิน 700 รายต่อวัน

อธิบายหน่อยว่ามีอะไรเกิดขึ้น???

3) ปัจจุบันคุณมีความสามารถทำได้กี่รายต่อวัน (เต็มที่)

4) สาธารณสุขมีแผนการในเรื่องทดสอบ COVID-19 อย่างไร?  ในเดือนเมษายน, พฤษภาคม, มิถุนายน, กรกฎาคม นี้  คุณจะตรวจแบบเดิม เพิ่มแบบอื่นอีกไหม?

5) สำคัญที่สุด กระทรวงสาธารณสุขลบข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่รอผลตรวจทั้งหมด เพราะรายงานเดิมปกติมี เช่น รายงานวันที่ 31 มี.ค. ผลการตรวจผู้ป่วยที่เหลือ (จากผลบวก) 18,446 ราย ไม่พบเชื้อ 10,863 ราย รอผล 7,598 ราย  พอวันที่ 1 เม.ย. เหลือ 2 พันกว่าราย

ตอนนี้เข้ามาดูข้อมูลแล้ว...หายหมด!!!  ลบออกเกลี้ยง!!!!

ขอบคุณ ตารางข้อมูลจาก เพจ Solo Invertor