ทนายด่าง-ทนายเมย์-ชูวัส ร่วมถกวงเสวนา 'เส้นทางนิรโทษกรรมทางการเมืองและคดีมาตรา 112'
สัปดาห์สุดท้ายของนิทรรศการ “ซ่อน(ไม่)หา(ย) - Presumption of Innocence” ที่จะจัดไปถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ได้ชวนทุกคนมาร่วมพูดคุยเพื่อส่งเสียงให้เรื่องราวที่ถูก “ซ่อน” ไม่ “หาย” ไปจากสังคมผ่านสองวงพูดคุยคือ เส้นทางนิรโทษกรรมทางการเมืองและคดีมาตรา 112 และชีวิตคนถูก “ซ่อน” และการต่อสู้เพื่อไม่ “หาย” ไปจากสังคม
โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งรายงานฉบับนี้จัดให้มาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นคดีที่อ่อนไหว ความเห็นกรรมาธิการต่อเรื่องคดีอ่อนไหวที่แบ่งเป็นหลายแนวทาง ชวนทุกคนมาอัพเดทเส้นทางการนิรโทษกรรมทางการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีมาตรา 112 ว่า มีความหวังมากน้อยเพียงใด รวมถึงคดีการเมืองที่ยังดำเนินอยู่มีความเคลื่อนไหวอย่างไร
วันนี้ (26 ตุลาคม 2567) เวลา 15.00-17.00 น. iLaw จัดเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางนิรโทษกรรมทางการเมืองและคดีมาตรา 112” ที่ Kinjai Contemporary ร่วมเสวนาโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กรรมาธิการศึกษานิรโทษกรรม ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และความหวังในการรวมคดี มาตรา 112
พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นว่า ในรายงาน กมธ. นิรโทษกรรม ไม่ได้มีการศึกษาเรื่องที่ควรศึกษา คดีตามมาตรา 112 คือใจความหลักของความขัดแย้งจริง ๆ กระบวนการนี้เสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ โดยที่ไม่ได้เนื้อหาของความขัดแย้งทางการเมือง มีแต่หลักคิดที่ว่าถ้าปล่อยคนที่ถูกดำเนินคดีออกไปก็จะกลับมาทำความผิดซ้ำอีก พูนสุขเห็นว่าสามารถใช้เวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ ควรจะนำไปสู่การพูดคุยให้มีเนื้อหาสาระได้มากกว่านี้
ด้านชูวัส ฤกษ์ศิริสุข หนึ่งในกมธ. นิรโทษกรรม เล่าว่า การพูดคุยเรื่องคดีความในปี 2563 เป็นต้นมาเป็นเรื่องที่ลำบาก และมักจะถูกเก็บไว้พูดทีหลัง หากเร่งกฎหมายนิรโทษกรรม อาจจะไม่ผ่าน และจะไม่มีวันผ่านโดยรวมมาตรา 112 อีก ตนไม่ได้มองว่า กมธ. ศึกษาถ่วงเวลาหรือยื้อเวลา แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาให้ความขัดแย้งในคดี 20 ปีที่ผ่านมาคลี่คลายลง
ในรายงาน กมธ. นิรโทษกรรม มีข้อสรุปว่า ไม่ต้องมีข้อสรุปในประเด็นคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 แต่เปิดพื้นที่บันทึกความเห็นของกมธ. แต่ละคนอย่างอิสระโดยไม่มีข้อสรุป กมธ. หลายคนเห็นว่าต้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองออกมา เขาไม่ได้อำมหิตถึงขนาดที่ยังอยากให้คนยังติดอยู่ในคุก แต่การพูดว่านิรโทษกรรมให้กับมาตรา 112 เขาไม่สามารถพูดแบบนี้ได้
ขณะที่ทนายด่าง หรือ กฤษฎางค์ นุตจรัส อธิบายว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุกาณ์ 6 ตุลาคม 2519 กฤษฎางค์คิดว่าคนในสภาไม่เข้าใจและมีอคติ ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วผู้กระทำความผิดจะกลับไปทำผิดฐานเดิมซ้ำอีกอีก ตนมองว่าไม่มีเหตุผล การนิรโทษกรรมเป็นการยกโทษให้กัน เพื่อให้สังคมสามัคคีมากขึ้น ในอดีตนักศึกษาในธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายมกุฎราชกุมาร ซึ่งถ้าเป็นจริงก็หนักหนาสาหัสกว่าคดีในปัจจุบัน แล้วทำไมถึงยังนิรโทษกรรมให้กันได้โดยที่ไม่กลัวว่าเขาจะกลับไปทำความผิดอีก แล้วคนที่ได้รับนิรโทษกรรมก็อยู่ในสภา หรือในคณะรัฐมนตรี
รับชมรับฟังทั้งหมดได้ที่
https://www.facebook.com/thai.udd.news/videos/1224030678895225/
https://www.youtube.com/live/jN9S0l6dt9I?si=jWmME3LhyXKDPyJa
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรม #รวม112