วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567

“วิโรจน์” นำทีม กมธ.ทหาร ชำแหละทรัพย์สินกองทัพ จากที่ดิน-โรงแรม-สถานีโทรทัศน์ จนถึงสนามกอล์ฟ พบขาดทุนมากกว่ากำไร ถามกองทัพบริหารธุรกิจไม่เป็น แต่ทำไมลงทุนทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จี้ทบทวนตัวเองแล้วเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้


 “วิโรจน์” นำทีม กมธ.ทหาร ชำแหละทรัพย์สินกองทัพ จากที่ดิน-โรงแรม-สถานีโทรทัศน์ จนถึงสนามกอล์ฟ พบขาดทุนมากกว่ากำไร ถามกองทัพบริหารธุรกิจไม่เป็น แต่ทำไมลงทุนทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จี้ทบทวนตัวเองแล้วเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 


วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ” 


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวเปิดงาน โดยระบุถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพ ว่าการปฏิรูปกองทัพมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คือ การยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือการเปลี่ยนเป็นระบบรับสมัครทหารกองประจำการ 100% 


ประเทศไทยมีหน่วยรบพิเศษมากมาย การฝึกของหน่วยรบพิเศษหลายครั้ง คือ การฝึกมนุษย์เหล็กที่โหดและหนักมาก แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการทหารไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนใด ๆ จากการฝึกหน่วยรบพิเศษเหล่านี้เลย เพราะเป็นการฝึกที่มีแบบแผนและคนที่เข้าร่วมการฝึกก็ล้วนแต่มาจากความสมัครใจและรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเจอกับการฝึกแบบไหน ความสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ที่จะทำให้เราได้ทหารมืออาชีพ


วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเปิดโครงการพลทหารปลอดภัย คณะกรรมาธิการการทหารได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 38 เรื่อง หลายกรณีปัญหามาจากตัวพลทหารที่ไม่พร้อมเอง หลายกรณีมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายกรณีมาจากความไม่พร้อมและความไม่สมัครใจที่จะเป็นทหาร ทำให้ครูฝึกดำเนินการได้ไม่เป็นไปตามแผน หลายครั้งมีการระบายอารมณ์ส่วนตัว กระทำการที่เข้าข่ายซ้อมทรมาน หลายครั้งมีการชี้แจงว่า พลทหารกระทำความผิดอย่างร้ายแรง แต่คณะกรรมาธิการฯ ก็ตั้งคำถามกลับไปเสมอว่า ทำไมไม่ดำเนินคดีสั่งฟ้องต่อศาลทหาร แต่กลับใช้วิธีทำทารุณกรรมในค่ายทหารแทน


สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ทำได้ คือ การชี้เบาะแสและรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ดีเอสไอ อัยการฝ่ายสำนักงานสอบสวนบ้างหรือล่าสุดกรณีพลทหารศิริวัฒน์ ใจดี คณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะผู้กระทำจะต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริต โดยในมาตรา 42 ให้มีการเอาผิดครึ่งหนึ่งกับผู้บังคับบัญชาด้วย 


วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่กองทัพบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือเอาผิดกับนายทหารระดับบังคับบัญชาอย่างจริงจัง จนมีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาว่า ตราบใดที่ยังไม่มีระเบียบภายในของกระทรวงกลาโหมที่จะเอาผิดนายทหารระดับบังคับบัญชา โดยออกระเบียบอิงกับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ มาตรา 13 ที่ให้ข้าราชการมีความรับผิดถึงสองเท่า และถ้าไม่เห็นการเอาผิดระดับบังคับบัญชา วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก็จะคงอยู่เรื่อยไป 


วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องของเสนาพาณิชย์ที่จะมีการพูดถึงในวันนี้ ทุกครั้งมักมีการอธิบายจากกองทัพว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อมาจัดสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย แต่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาหนี้สินของทหารชั้นผู้น้อยที่ผ่านมามีความรุนแรงมาก จากจำนวนกำลังพลของทุกเหล่าทัพ 2.5 แสนนาย คนที่ถูกหักเงินกู้สหกรณ์จนเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 30% มีจำนวนถึง 53,210 นาย หรือ 21% และมีคนที่ถูกหักแล้วเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 9,000 บาทถึง 81,030 นาย หรือ 32% ของกำลังพลทั้งหมด ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรีแล้วว่า ห้ามหักเงินเดือนข้าราชการจนเหลือน้อยกว่า 30% แต่เหล่าทัพต่าง ๆ ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตาม เว้นแต่กองทัพอากาศที่มีการออกประกาศมาชัดเจนแล้วว่าจะไม่หักเงินเดือนกำลังพลให้ต่ำกว่า 30% และน้อยกว่า 9,000 บาท


“นี่คือภัยความมั่นคงของทหารทั้งหมด ทั้งที่ควรจะการแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แต่ทำไมเหล่าทัพต่าง ๆ จึงยังไม่ยอมทำตามมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมา มีข้อสังเกตจากกรรมาธิการว่า นายพลจำนวนไม่น้อยมีตำแหน่งแห่งที่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ และได้ผลประโยชน์จากดอกผลจากการปล่อยกู้กับนายทหารชั้นผู้น้อย ที่พูดมานี้ไม่ใช่หมายความว่า ให้พลทหารเบี้ยวหนี้ แต่การที่จะปล่อยให้ใครกู้ต้องเช็คเครดิตด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้แบบไม่อั้นแล้วหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยจากเขา อยู่ในฐานะทั้งเจ้านายและเจ้าหนี้ในตัวคนเดียวกัน นี่เป็นการหน่วงรั้งที่ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขหรือออกกฎระเบียบไม่ให้หักเงินเดือนทหารให้เหลือน้อยกว่า 30% และ 9,000 บาทหรือไม่”


วิโรจน์ ยังระบุอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ แหล่งเงินที่จะเอามาใช้ดูแลทหารชั้นผู้น้อย คณะกรรมาธิการทหารไม่เคยมีเจตนาว่า จะเอาเงินนอกงบประมาณของกองทัพทุกอย่างคืนกลับมาคลัง แต่เราต้องการความโปร่งใส อะไรที่ตอบไม่ได้ว่า เกี่ยวพันกับภารกิจกองทัพอย่างไรก็ควรจะถ่ายโอนคืนกลับมาให้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างเช่น คลื่นวิทยุ ที่ต้องสงสัยว่าจะขาดทุนมหาศาล เหตุผลที่ไม่ถ่ายโอนคืนคืออะไร 


“สิ่งที่ทั้งกรรมาธิการวิสามัญถ่ายโอนฯ และกรรมาธิการการทหารต้องการมากที่สุด คือ ความโปร่งใส การที่เอาเงินไปใช้อุดหนุนดูแลสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะที่เขาเป็นมดงานที่สำคัญของประเทศ แต่ถ้าเงินนอกงบประมาณถูกใช้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกใช้อย่างปกปิดอำพราง ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ สิ่งที่อ้างว่า ทำเพื่อทหารชั้นผู้น้อยก็ยากที่ประชาชนจะเชื่อได้ 100%” วิโรจน์ กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกองทัพ #ธุรกิจทหาร