วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ธิดา ถาวรเศรษฐ : อุดมการณ์การต่อสู้ของประชาชน จาก 14ตุลา ถึงปัจจุบัน รายการ แลไปข้างหน้าฯ EP.119

 


ธิดา ถาวรเศรษฐ : อุดมการณ์การต่อสู้ของประชาชน จาก 14ตุลา ถึงปัจจุบัน


ในรายการ แลไปข้างหน้ากับธิดา ถาวรเศรษฐ EP.119

ลิ้งค์ยูทูป https://www.youtube.com/watch?v=-8eTrfj-bgA


สวัสดีค่ะ ดิฉันก็ห่างหายไปนาน มีสถานการณ์การเมืองเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง ส่วนมากก็ไปออกรายการอื่น ๆ ก็คิดว่าเราน่าจะกลับมาจัดรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเหมือนเดิม ก็คือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง ซึ่งสำหรับคนรุ่นดิฉันก็คือจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นี่ก็คือเป็นภาระหน้าที่ บางคนก็เรียกแม่เฒ่านะ ก็คือแม่เฒ่าหรือคนแก่ ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา จากคนที่อยู่ในอดีตจะให้แง่คิดและมีประโยชน์อย่างไรกับในปัจจุบัน สำหรับดิฉันจะเน้นประเด็นการต่อสู้ทางการเมือง


ในวันนี้เนื่องจากเราเพิ่งผ่าน 14ตุลา มาหยก ๆ ผ่าน 6ตุลา มา คือ 6ตุลา มันอยู่ทีหลัง 14ตุลา 3 ปี แต่เวลาเรามาเรียงรำลึก 6ตุลา ก็มาก่อน ค่อนข้างที่จะมีคนร่วมคึกคัก เพราะประชาชนเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ 14ตุลา ก็ดูจะเงียบ ๆ ไปสักหน่อย ที่จริงมันมีสาเหตุที่มา แต่วันนี้ดิฉันจะพูดเฉพาะประเด็นว่า การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนในเมือง เราควรจะนับตั้งแต่ 14ตุลา16 เป็นต้นมา อุดมการณ์ของผู้ออกมาต่อสู้นั้น เป็นอย่างไร? ดิฉันอยากจะเน้นเฉพาะ “อุดมการณ์” เรื่องของผู้คน ถ้าพูดแล้วมันยาว เราก็คิดว่าวันนี้เราอยากจะพูดในเรื่องอุดมการณ์ก่อน


อันนี้ก็เหมือนกับเป็นการเล่าเรื่องและมีแง่คิด ในฐานะที่ดิฉันผ่านสถานการณ์ ไม่น่าเชื่อว่า 51 ปีมาแล้ว ก็ลองคิดถึงภาพว่าตอนนั้นดิฉันยังเป็นอาจารย์เด็ก ๆ เพิ่งจบปริญญาโทมา สถานการณ์ 14ตุลา16 มันก็เลยเปลี่ยนผันชีวิตเมื่อเราเข้าไปอยู่ในสนามของการต่อสู้และเห็นภาพการปราบปรามประชาชน มันก็เลยทำให้เราเสียใจมาก แล้วก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตว่า คนอื่นเขาสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เรายังมีชีวิตอยู่ เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองมั้ยว่าเราอยู่เพื่ออะไร? ดิฉันตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่มัธยม จึงไม่ได้สนใจมากในการที่จะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของชีวิต เราก็เริ่มเปลี่ยนมา แต่ว่า 14ตุลา เป็นจุดพลิกผัน และดิฉันเชื่อว่าเป็นจุดที่มันเกิดอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนเป็นจำนวนมาก


ถ้าพูดโดยสรุปของอุดมการณ์ 14ตุลา16 นั่นก็คือ การขับไล่เผด็จการ “ถนอม-ประภาส” อย่าลืมว่าหลังจากรัฐประหาร 2490 เรามีการปกครองโดยคณะทหารมาเป็นลำดับ ในเบื้องแรกยังเป็นคณะทหารที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรมา นั่นก็คือ จอมพล ป. แต่เป็นจอมพล ป. ที่ไม่เอาอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัย แต่อย่างไรก็ตามจอมพล ป. ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร


จากจอมพล ป. ก็มาเป็น จอมพลสฤษดิ์ แล้วก็มาเป็น ถนอม-ประภาส พอมาถึง ถนอม-ประภาส ลองคิดดูจาก 2490 มาจนถึง 2516 ก็เป็นเวลา 26 ปี ของการที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร มันเป็นเรื่องที่สุดแสนจะทนทานได้ แม้นว่าเผด็จการทหารบางระยะใช้พลเรือน ใช้นักวิชาการ ใช้ข้าราชการ โดยเฉพาะยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือแม้กระทั่งจอมพล ป. หรือแม้กระทั่งจอมพลถนอมก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์การเมืองก็ยังเป็น การวิเคราะห์ความขัดแย้งหลัก คือเป็นความขัดแย้งระหว่างเผด็จการทหารที่ครองอำนาจกับประชาชน


เพราะฉะนั้น อุดมการณ์ของขบวนการ 14ตุลา16 ก็คือขับไล่เผด็จการทหารและต้องการรัฐธรรมนูญ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องตราตรึงเอาไว้ แม้นว่าผู้คนในยุค 14ตุลา ระยะหลังจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องยอมรับว่าที่ประชาชนมาร่วมเป็นจำนวนมาก ดิฉันว่าหลายแสน อาจจะเป็นร่วมล้าน เป็นครั้งที่ประชาชนมากมายแสดงอานุภาพ เพราะเขาได้ผนึกกำลังทั้งฝั่งจารีต ฝั่งจารีตก็เข้ามาร่วมนะ มีทั้งอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม เพราะในช่วงนั้นมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการปฏิวัติปลดแอกจากจักรวรรดินิยม เป็นการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอยู่เป็นจำนวนมาก


ดังนั้น เรียกว่าจอมพลถนอม จอมพลประภาส และแม้กระทั่งลูกชาย ก็กลายเป็นผู้ปกครองที่ขัดแย้งกับประชาชนเกือบหมดประเทศเลย อาจจะมีเครือข่ายในทหารจำนวนหนึ่ง แล้วก็มีเครือข่ายข้าราชการจำนวนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม 26 ปี กระทั่งฝ่ายจารีตสุดโต่ง แม้กระทั่งอนุรักษ์นิยมเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ออกมาต่อต้านเต็มที่เลย แล้วก็จริง ๆ ขบวนการนักศึกษาที่เป็นผู้นำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และคุณธีรยุทธ บุญมี จริง ๆ แล้วในที่สุดก็พิสูจน์ว่าเขาเป็นพลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ว่าในตอนนั้นมีเป้าหมายร่วมกันก็คืออุดมการณ์ขับไล่เผด็จการทหาร เรียกร้องรัฐธรรมนูญถือเป็นพลังก้าวหน้า


เพื่อให้ไปได้เร็ว ดิฉันก็จะมาถึง 6ตุลา19 ผ่านมา 3 ปี มันมีความเบ่งบานของเสรีภาพ สามารถมีการตั้งพรรคการเมืองสังคมนิยมก็ได้ เสรีนิยมก็ได้ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคจารีตก็ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง จนกระทั่งตั้งรัฐบาลได้ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คุณคึกฤทธิ์ ก็ไปตั้งอีกพรรคหนึ่งเป็นพรรคกิจสังคม แล้วตอนนั้นก็ตั้งสภาสนามม้า นั่นก็คือเสรีภาพเบ่งบาน แต่ว่าอุดมการณ์ในการขับไล่เผด็จการทหารและต่อต้านการสืบทอดอำนาจยังดำรงอยู่


เนื่องจากมันอยู่ในยุคสงครามเย็น และชัยชนะของการปฏิวัติสังคมนิยมรอบข้าง มันจึงทำให้ฝ่ายจารีตและกระทั่งเสนาอำมาตย์จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นฐานะผู้ปกครอง คือเปลี่ยนมือจาก “ถนอม-ประภาส” ก็มาเป็นเครือข่ายของจารีตอำนาจนิยม เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ดิฉันอยากจะเรียนว่า ถ้าใครวิเคราะห์ความขัดแย้งหลักไม่ถูกก็จะมีจุดยืนไม่ถูก เมื่อในขณะนั้นความจริงแล้ว “คู่ขัดแย้งหลัก” ก็ยังเป็น “ประชาชนกับผู้ปกครอง” ลองคิดดูว่ามีการเรียกร้องค่าแรงจาก 12 บาท ขึ้นมาได้ตั้งเยอะแยะ แล้วมีการตั้งกลุ่มอะไรต่าง ๆ มากมาย แล้วก็เกิดการแตกแยก มีการแทรกแซง จากการที่ฝ่ายทหารเข้ามาแทรกแซงในฐานะเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” มันเริ่มตั้งแต่หลัง 14ตุลา16 เป็นต้นมา จึงมีการก่อม็อบของฝ่ายจารีตอำนาจนิยมเพื่อมาปะทะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มอะไรต่าง ๆ แล้วก็มีสื่อของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สื่อยานเกราะ” เป็นต้น


อุดมการณ์ของ 6ตุลา19 ดิฉันมารวบรัดตรงที่อุดมการณ์เลย อุดมการณ์ของ 6ตุลา19 ก็ยังไม่ต้องการให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่คนที่ไปตีความว่าอุดมการณ์ของพวกนักศึกษาปัญญาชน ก็คือต้องการล้มสถาบัน เป็นคอมมิวนิสต์หมด ดิฉันเชื่อว่าสายจัดตั้งของพคท.ก็มีจำนวนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่ากระแสสังคมนิยมมันไม่ได้มาจากสายจัดตั้งเท่านั้น มันมาจากฐานะที่เป็นโลกาภิวัฒน์เลย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา ลาว ที่มีการปฏิวัติ แล้วก็การปฏิวัติของจีน ทั้งหมดเหล่านี้มันมีกระแสที่มาจากสากล แล้วมีกระแสที่มีการจัดตั้งฝ่ายซ้าย แต่จริง ๆ ขีดความสามารถของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาควบคุม ในทัศนะของดิฉันอาจจะต่างจากคนอื่น ก็คือน้อยมาก มีเฉพาะบางคน


ถามว่าผู้นำนักศึกษาจำนวนหนึ่งอยู่ในสายจัดตั้งทั้งหมดมั้ย ดิฉันว่าไม่ใช่ ที่สำคัญคือนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุม ต่อให้มีสายจัดตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ให้แกนนำมีความสัมพันธ์ แต่ว่านักศึกษาที่อยู่ในสนาม มีอาวุธ 3-4 กระบอก นั่นเขาไม่เรียกว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธ มันเป็นการป้องกันตัวแค่นั้น ยังไงก็ไม่ใช่การล้มล้างประเทศ แต่ด้วยความหวาดกลัวก็มีการจัดการรุนแรง อุดมการณ์ของ 6ตุลา19 ที่เขาไม่ยอมเลิกก็คือสืบทอดมาจาก 14ตุลา16 เพราะฉะนั้น 6ตุลา19 เป็นการวางแผนจากฝ่ายจารีตนิยม ก็คือ มันเป็นไปได้ยังไง ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมรวมตัวกับประชาชน นักศึกษา เพื่อขับไล่เผด็จการ แล้วไปเรียกเขามา นี่เป็นการวางแผนเพื่อที่จะให้มีการก่อม็อบขับไล่ เพื่อจะได้ปราบปราม อันนี้ดิฉันเชื่ออย่างนั้น


แต่ว่าถ้าเรามาพูดเฉพาะเรื่องของอุดมการณ์ก็แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์ 6ตุลา19 นั้น ในความคิดของดิฉันนะ ไม่ใช่เป็นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่ต้องการให้การต่อสู้ 14ตุลา16 เสียเปล่า ขับไล่ไปแล้วเอากลับมา ดังนั้น นักศึกษาและประชาชนที่ไม่ถูกจัดการโดยฝ่ายจารีตอนุรักษ์นิยม ก็ยังสามารถจัดชุมนุมได้ เขาทดสอบโดยเอาจอมพลประภาสมาก่อน แต่ว่าก็มีคนช่วยจัดการให้จอมพลประภาสกลับไป มีนักข่าวสายทหารยังมาตามดิฉันให้ไปดูเลยว่าเขาขึ้นเครื่องบินไปแล้ว แต่ก็มีหนังสือพิมพ์บางส่วนกลายเป็นว่าดิฉันไปเป็นพวกประภาสไปเสียอีก ก็มีเหมือนกัน สมัยนั้นก็ใส่ร้ายป้ายสีก็คือมีทั้งซ้ายสุดโต่ง ขวาสุดโต่ง รบกัน คนที่ไม่ได้เป็นทั้งขวาทั้งซ้ายก็เลยมีปัญหา ความจริงดิฉันบอกก็ได้เพราะว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว และก็เป็นมิตรอันดี คือ “คุณศรี อินทปันตี” คนที่เขียนว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” แต่คุณศรี อินทปันตี เป็นนักข่าวสายทหารด้วย แต่ก็มาบอกอาจารย์ว่า อาจารย์ช่วยไปดูเผื่อจะได้บอกให้คนรู้ว่าประภาสไปแล้วจริง ๆ เราก็เลยโดน กลายไปเป็นสายทหารไปด้วย


ในทัศนะดิฉัน เหตุการณ์ 6ตุลา19 เป็นการวางแผนของฝ่ายจารีตอำนาจนิยมในการจัดการกับนักศึกษาประชาชนเพราะรู้ว่าความจริงอุดมการณ์ปัญญาชนก็คือ เขาไม่ต้องการให้ทรราชกลับมา เพราะถ้ากลับมาก็แปลว่า 14ตุลา16 ผิดพลาดซิ! เพราะฉะนั้นมันเป็นไฟต์บังคับแล้วว่า ถ้า “ถนอม-ประภาส” กลับมา นักศึกษาต้องรักษาอุดมการณ์ นั่นก็คือ อุดมการณ์ 14ตุลา16 ขับไล่เผด็จการและการสืบทอดอำนาจ เป็นอุดมการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6ตุลา19 ถ้าสมมุติว่าเขาจะทำเพื่อล้มล้างหรือพูดตรง ๆ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์นะ ทำไมจะต้องมาทำเอาในช่วงเวลาที่เขามีเหตุผลของการที่จะขับไล่จอมพลถนอม


ทีนี้มา พฤษภา35 ดิฉันจะต้องมาให้ไวหน่อย ไม่อย่างนั้นมันก็จะยาว เพราะถ้าพูดเรื่องผู้คน จะมาก แต่ตัวละครของ 14ตุลา16 กับตัวละคร 6ตุลา19 เป็นการนำโดยนักศึกษาปัญญาชน แล้วก็สมทบด้วยฝ่ายต่าง ๆ แต่ตอน 6ตุลา19 นักศึกษาค่อนข้างโดดเดี่ยว เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน จัดตั้งกระทิงแดง จัดตั้งอะไรต่าง ๆ เพื่อที่จะมาจัดการกับนักศึกษา นักศึกษาเข้าไปอยู่ในที่จำกัด ตามหลักคุณทำความรุนแรงกับเขาไม่ได้ แต่นี่เป็นวิธีการที่พระบางรูป (กิตติ วุฑโฒ) บอกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์แล้วไม่บาป” ก็มีการไปเตรียมจัดการด้วย หลายคนก็บอกว่าพระนี่ก็สัมพันธ์กับ CIA


พอมา พฤษภา35 คืออย่าลืมว่าปี 2534 มีการทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง การทำรัฐประหารปี 2534 เป็นการทำที่ถูกพวกจารีตตีความว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง จปร.รุ่น 7 กับรุ่น 5 ก็คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (รุ่น 5) กับ พล.อ.จำลอง ศรีเมือง (รุ่น 7) เขามีความขัดแย้งอยู่ แต่ว่าคุณจำลองเขาได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ แล้วเขาก็มีมวลชนจำนวนมาก การทำรัฐประหาร 2534 ตอนมีรัฐประหารก็ไม่มีใครไปต่อต้านนะ แต่พอมีการตระบัดสัตย์/เสียสัตย์ โดยที่ “สุจินดา” ต้องการสืบทอดอำนาจ ก็มีการออกมาต่อต้าน นำโดยพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็น พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นนะ แล้วก็พรรคพลังธรรมของ จำลอง ศรีเมือง แล้วก็มีประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ตอนนั้นบางคนก็เรียก “ม็อบมือถือ” มีความผิดหวังของคนเล่นหุ้นเพราะว่าหุ้นที่ขึ้นจากสูงลงต่ำเลย ตอนช่วงนั้นมีเพจเจอร์ มีมือถือใช้ติดต่อแล้ว


ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ของประชาชนชนชั้นกลาง ไปจนกระทั่งแรงงานนอกระบบ ชนชั้นล่าง เป็นการต่อสู้ แต่อุดมการณ์คืออะไร อุดมการณ์ก็คือไม่ยอมให้รัฐประหารสืบทอดอำนาจ คือคุณทำรัฐประหาร 2534 ไปแล้ว พอมามีเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว คือเขายังฉลาด เอาคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี พอมีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ไม่ต้องการนายกฯ คนนอก ก็ไม่สำเร็จ ตรงนั้นพอมีการตระบัดสัตย์ แปลว่า “สุจินดา” จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ นี่คือการสืบทอดอำนาจ


ดังนั้น พฤษภา35 ก็ยังเป็นอุดมการณ์แบบเดียวกับ 14ตุลา16 ก็คือขับไล่เผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ 3 เหตุการณ์ในการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนเป็นอุดมการณ์เดียวกัน จนกระทั่งมาถึงยุคใหม่ หลังการลุกขึ้นสู้ของประชาชนปี 2535 เราได้รัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนประเทศมันจะรุ่งเรือง เหมือนกับดูดี แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ดิฉันอยากจะเรียนว่า บทบาทสำคัญที่คุณอานันท์ ปันยารชุน มีส่วนร่วม คุณอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นอนุรักษ์นิยม แต่ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง คือการเมืองเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ความคิดเป็นเสรีนิยม แล้วก็ไม่ใช่เป็นพวกสุดโต่ง


เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ในแง่สิทธิเสรีภาพมีมาก แต่มันได้สร้างองค์ประกอบที่ข้าราชการและชนชั้นนำสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง เพื่อควบคุมการเมืองที่มาจากประชาชนอีกที คือ “องค์กรอิสระ” เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีศาลรัฐธรรมนูญ มันเกิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมันควรจะเป็นเครื่องมือของประชาชน เพราะว่าให้วุฒิสมาชิกมาจากกรเลือกตั้ง ความหวังของเขาในขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องได้ประโยชน์ เพราะว่าเขาต้องการจะสลายพรรคการเมืองท้องถิ่น ที่ประเภทว่ามี 5 เสียงได้เป็นรัฐมนตรีช่วย 10 เสียงได้เป็นรัฐมนตรี อะไรอย่างนั้น อยากให้เป็นการเมืองของประเทศศิวิไลซ์ที่มีพรรคใหญ่ 2 พรรค เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น มันจะเป็นโอกาสทองของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล


แต่กาลมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น และวุฒิสมาชิกเขาก็มองว่าโอเคมาจากการเลือกตั้ง แต่คุณวุฒิของวุฒิสมาชิกมันสูงกว่าสส. ควรจะได้คนที่มีคุณภาพจำนวนหนึ่ง แล้วเอาวุฒิสมาชิกมาเลือกองค์กรอิสระ แต่ในที่สุด องค์กรอิสระและศาลต่าง ๆ ที่ขึ้นมาเป็นอิสระ อิสระจากอะไร ความหมายของเขาคือ อิสระจากนักการเมืองและรัฐบาล ในที่สุดมันก็เป็นอิสระจากประชาชน เพราะนักการเมืองมาจากประชาชน แต่ว่าตอนนั้นอาศัยว่าวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นก็คิดว่ามันคงจะดี ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวมทั้งสายกรรมกรก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ว่าคุณอานันท์ ปันยารชุนและคณะ ก็พยายามไปทำงานกับพวก NGO ต่าง ๆ เพื่อที่จะให้มาโบกธงเขียวคือช่วยสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ


เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 จะว่าไปดูเหมือนดีที่สุด จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้เต็มที่ แต่ในที่สุดร่างของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้กลายเป็นเรื่องทอดสะพานที่ทำให้อำนาจรัฐใช้ร่างอันนี้ ก็คือมีองค์กรอิสระทั้งหลาย มาจัดการพรรคการเมืองและนักการเมืองอีกที จึงกลายเป็นสว.มาจากการแต่งตั้ง มีสนช.มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็เลือกองค์กรอิสระ แล้วก็พวกศาลที่แยกไปจากศาลธรรมดาต่าง ๆ เอามาจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ศาลรัฐธรรมนูญ อะไรต่าง ๆ มาควบคุมนักการเมืองอีกที ก็เรียกว่าฝ่ายจารีตสามารถปรับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ให้เป็นประโยชน์หลังจากการทำรัฐประหาร


คำถามว่า รัฐประหารปี 2549 กับรัฐประหารปี 2557 การต่อต้านยังสืบทอดอุดมการณ์ 14ตุลา16 หรือเปล่า? ในทัศนะของอาจารย์ สถานการณ์ในปี 2549 ซึ่งพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการที่สามารถเรียกว่า บางคนเขาใช้คำว่า “ทำการตลาด” แต่หมายถึงว่าทำให้ประชาชนสนับสนุนเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นพรรคใหม่ เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยครองอำนาจน่าจะได้ยาวนาน เพราะในสมัยก่อนถือเป็นพรรคที่ต่อต้านทหาร จึงครองใจประชาชนจำนวนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม


มันจึงกลายเป็นว่าหมดยุคสงครามเย็น หมดยุคคอมมิวนิสต์ มันก็เลยกลายเป็นว่าจารีตอำนาจนิยมมาเป็นศัตรูกับนายทุน มันตลกมากเลยนะ เพราะว่าฝ่ายจารีตอำนาจนิยม พอหลังจากปี 2535 สิ่งที่เขาขยับก็คือ แทนที่จะแยกกันกับทหาร ก็กลายเป็นว่าผนึกกำลังร่วมได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างชั้นบนของสังคมไทย การควบคุมประเทศยังอยู่ในโครงข่ายของจารีตอำนาจนิยม เพราะเขาสามารถผนึกกำลังทั้งพลเรือน ทหาร ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทั้งกองทัพ ให้อยู่ในเครือข่ายเดียวกันเพราะเขามีบทเรียนว่า หลัง 2475 กองทัพแยกไปจากจารีต แต่ว่าหลังจาก 2490 เป็นต้นมา แม้นตอนต้นจะรวมกับจารีตขึ้นต่อได้โดยเฉพาะยุคจอมพลสฤษดิ์ แต่ว่าพอมาตอนหลัง ๆ เขาควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้น โครงสร้างของจารีตอำนาจนิยมแข็งแกร่งเพื่อต่อต้าน กลายเป็นว่าเพื่อต่อต้านนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชน


มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องสงครามเย็น แต่กลายเป็นว่าเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น เขากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เพราะพรรคการเมือง/นักการเมือง มาจากประชาชน จนถึงบัดนี้ยังมีการยุบพรรค เพิ่งยุบพรรคไปหยก ๆ เพิ่งถอดนายกฯ ไปหยก ๆ เขาคิดว่าเขาทำสงครามกับคุณทักษิณ ทำสงครามกับคุณธนาธร แต่จริง ๆ ไม่ใช่ นี่เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน เพราะว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย นี่ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนก็คือไม่ต้องการเผด็จการ รักประชาธิปไตย และต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน มันยังอยู่ในระบอบนี้


ถามว่าอุดมการณ์ 14ตุลา16 พอมาถึงปี 2549 มันยังเหมือนเดิมมั้ย? ประชาชนแบ่งแล้วนะคะ ส่วนหนึ่งก็คือปัญญาชนที่แท้ ๆ เขาค่อนข้างเป็นเสรีนิยมแต่เป็นอนุรักษ์นิยม ก็ยินดีที่จะสนับสนุนการทำรัฐประหารปี 2549 ทั้ง ๆ ที่ปี 2549 นั้น ขอคืนพระราชอำนาจให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากพระราชทาน ดังนี้เป็นต้น พอมาถึงจุดนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งถึงจะรู้ตัว ก็ถอยออกมา แต่ว่าคนจำนวนมากรวมทั้งดิฉันด้วย ตั้งแต่วันที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คาดหัว เริ่มก่อม็อบ เราก็รู้แล้วว่าอันนี้ ปัญญาชนที่ไปร่วม ถ้าจะเรียกว่าเป็นปฏิกิริยาก็ได้ ก็คือเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน


ถามว่าเราเลือกอะไร ดิฉันเลือกสืบทอดอุดมการณ์จาก 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35 มาจนถึง 2549 เพราะฉะนั้นปัญญาชนจึงแบ่งจำนวนหนึ่งก็คือ ส่วนหนึ่งบอกว่ารัฐประหารเป็นความจำเป็นเพราะตัวร้ายกว่าก็คือนายทุนสามานย์หรือคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ดิฉันไม่คิดอย่างนั้น ดังนั้นอุดมการณ์ 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35 จากปัญญาชน จากพรรคการเมือง/นักการเมือง ก็ลงมาสู่ประชาชนและมาสู่รากหญ้า ปัญญาชนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีใน 14ตุลา16 แม้กระทั่งเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังไม่ได้รักษาอุดมการณ์ 14ตุลา16 ในทัศนะดิฉัน ก็คือสนับสนุนการทำรัฐประหารว่าเป็นสิ่งจำเป็น


แต่ว่าคนจำนวนมากที่ต่อต้านรัฐประหารปี 2549 นั่นก็คือเป็นการสืบทอดอุดมการณ์ 14ตุลา16 นั่นคือเหตุผลว่าทำไมดิฉันถึงมาอยู่กับ “คนเสื้อแดง” ซึ่งตรงนี้ การมาอยู่กับคนเสื้อแดงมันต่างจากยุคสมัยของ 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35 ซึ่งเป็นเหตุการณ์รวดเร็วแล้วก็เลิก ซึ่งอันนี้มันเป็นการต่อสู้ยืดเยื้อ เพราะว่ารัฐประหาร 2549 นี้ กระทำต่อประชาชนและพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง มันกลายเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อ แล้วมันก็เลยทำให้แบ่งคนเป็นเหลืองแดง เป็นพวกจารีตอำนาจนิยม VS กับพวกเสรีประชาธิปไตย


แต่ในทัศนะดิฉัน คุณทักษิณจะเลวหรือดียังไง ต้องเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่คุณจะยอมให้การรัฐประหารมาจัดการ ดิฉันไม่เห็นด้วย ตอนนี้ก็เหมือนกัน ต่อให้คุณทักษิณข้ามขั้วไปแล้ว พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปแล้ว แล้วถ้ามีการรัฐประหาร เราจะเห็นด้วยมั้ย อาจารย์ไม่เห็นด้วยหรอก เพราะว่าอย่างที่บอก ยังไงเขาก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน แปลว่าจุดยืนดิฉันไม่เคยเปลี่ยน จาก 14ตุลา16 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


มาจนถึงรัฐประหารปี 2557 มันก็เป็นความต่อเนื่องจากปี 2549 เพราะเขาคิดว่ามันไม่ได้ผล ก็ต้องมาทำ 57 เพื่อให้ได้ครองอำนาจ รักษาอำนาจโดยที่ตัวเองไม่ถูกเช็คบิลจากคดีความปี 2553 และแม้กระทั่งเรื่องตากใบ ทั้งที่ตากใบก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ดิฉันอยากจะบอก ประเทศนี้ องค์กรของทหารไม่ว่าจะเป็นยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หรือ กอ.รมน. หรือกระทั่งในกองทหารปัจจุบัน เขาเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” นะ เวลาเขาทำอะไร ตัวนายกฯ หรือรัฐบาล บางทีไม่รู้เรื่อง ดิฉันไม่ได้ไปปกป้องรัฐบาลคุณทักษิณ แล้วดิฉันอยากให้คดีตากใบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกคดีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2553 แต่การทำรัฐประหารปี 2557 เป็นการปิดประตูกระบวนการยุติธรรมที่จะคืบคลานไปถึงผู้สั่งการ คืบคลานไปถึงนายทหารผู้ปฏิบัติการ รวมทั้งคดีตากใบด้วย มันก็หยุด ของคนเสื้อแดงก็หยุด


มาถึงยุคใหม่ของปัญญาชน 2563 เป็นต้นมา ดิฉันคิดว่านะ ประชาชนส่วนที่เข้าใจ ปัญญาชนส่วนที่เข้าใจ โดยเฉพาะมาปี 2563 เราจะเห็นว่านักศึกษาปัญญาชนออกมา การออกมาของนักศึกษาปัญญาชน โดยเฉพาะช่วงแรกเขาบอกขับไล่ “ประยุทธ์” ดิฉันจำได้ว่ามันมีคำพูดอะไรนะ ฟังแล้วมันอาจจะไม่เพราะหูเท่าไหร่ในตอนที่เป็นคำขวัญเวลาเขาออกมาปี 2563 ถ้าคนฟังจำได้ก็จะมีเสียงขับไล่ ก็คือขับไล่แล้วไม่ต้องการให้สืบทอดอำนาจ ส่วนประเด็นอื่น ๆ มันก็พ่วงเข้ามา แม้กระทั่งมีการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่หลัก ๆ ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย “ประชาชนปลดแอก” เราจะได้ยินเสียงเวลามีม็อบที่ขับไล่ลุงตู่ออกไป ในทัศนะดิฉันก็คือ อุดมการณ์ขับไล่เผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของผู้ครองอำนาจจากการทำรัฐประหาร แล้วคืนอำนาจให้ประชาชน มันยังมาต่อเนื่อง


แน่นอน! ปัญญาชนในช่วงปี 2549 จำนวนหนึ่งกลายไปเป็นเสื้อเหลืองเกือบหมดเลย ขนาดพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายก็ยังเป็นเสื้อเหลือง เพราะว่า ในทัศนะดิฉันนะ เขาไม่รู้ว่าอะไรคือความขัดแย้งหลัก ใครคืออำนาจจริงของการปกครองประชาชน การปกครองประชาชน ถามว่าคุณทักษิณมีอำนาจอะไรต่อให้เป็นนายกฯ ยาวนาน ไม่งั้นจะโดนรัฐประหาร แล้วโดนจัดการซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือ? แล้วนี่ต่อไปนี่เป็นคุณอุ๊งอิ๊ง คุณอุ๊งอิ๊งก็ไม่ได้มีอำนาจ ยังไม่รู้ว่าจะไปวันไปพรุ่งเมื่อไหร่ ความขัดแย้งหลักก็คือยังเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ถือครองอำนาจที่แท้จริง แล้วมาจัดการกับประชาชน พูดตรง ๆ ว่า “กดขี่” มันอาจจะปราบปรามด้วยอาวุธ อาจจะจัดการด้วยการใช้กฎหมาย เครื่องมือสองอย่างนี้ก็ทรงพลังอย่างยิ่ง แล้วสามารถแทรกแซงกระบวนการทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารได้


อย่างคดี “เสื้อแดง” นะ พอหลังรัฐประหาร 2557 ถูกฟรีซแช่แข็งเลย โยนใส่ตู้แช่แข็ง หาไม่เจอแล้ว อยู่ลึก เหมือนกับตู้แช่แข็งบ้านอาจารย์ล่ะมั้ง เวลาจะหาอะไรเนี่ย คือแช่แข็งไปเลย เพื่อไม่ต้องการที่จะให้ไปกระทบกระเทือน แล้วทำให้ต่อไปอนาคตจะฆ่าปราบปรามประชาชนง่าย ๆ ไม่ได้อีก ถ้าเขาทำถูกมาตลอด มันไม่มีเหตุผลที่เขาจะต้องพยายามจะรักษาอำนาจ แต่ถ้าเขาทำไม่ถูก เขาก็ต้องพยายามจะรักษาอำนาจไว้เพื่อที่จะไม่ให้ใครมาจัดการเขาได้


เพราะฉะนั้น ในทัศนะดิฉัน 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35, รัฐประหาร 19 กันยายน 2549, รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนต่อการรัฐประหาร มันยังเป็นอุดมการณ์เดียวกัน ดังนั้น ดิฉันก็จะจบได้แล้วล่ะ มันคงจะยาวก็คือ ดิฉันมาอยู่ในฐานะของการร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ถูกกระทำ จนกระทั่งเราเกิดเป็น นปก. แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ เป็น นปก. แล้วจนกระทั่งมาเปลี่ยนเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ บางคนบอกแห่งชาติซิเพราะมันเยอะ รวมกัน ความจริงอาจารย์ไม่ชอบคำว่า “แห่งชาติ” แต่ว่ามันคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ชื่อมันก็คืออุดมการณ์มาตั้งแต่ 14ตุลา16 อาจารย์ต้องทิ้งเพื่อนคนดัง ๆ หลายคน เอาล่ะพูดได้ตั้งแต่ ธีรยุทธ บุญมี, ประสาร มฤคพิทักษ์ หรือคนจำนวนมากซึ่งเขาก็ดูยิ่งใหญ่นะ และแม้กระทั่งคนที่เคยคบหาสมาคมก็ไม่ได้เจอกันเลยอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน อาจารย์สุลักษณ์ ก็อาจจะเจอกันบ้างเพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ เราก็ยังให้ความเคารพ เขาก็ยังมีข้อดี ก็คือรักความจริง รักความยุติธรรม และรักคนรุ่นใหม่ นี่พูดถึงคนสองคน


แต่ในแนวทางตั้งแต่ตอนต้น กลุ่มที่เป็นเสื้อเหลืองทั้งหลาย NGO ที่เป็นเสื้อเหลืองทั้งหลาย เดี๋ยวนี้ยังมองหน้ากันไม่สนิทเลย จนกระทั่งมาบัดนี้ มันมีการที่นปช.ก็ล่มสลาย ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าเมื่อไม่มีการประชุม ไม่มีการนำ องค์กรนำก็ล่ม เพราะคน ๆ เดียวทำอะไรไม่ได้ เมื่อเราถามประชาชน จริง ๆ ประชาชนไม่อยากให้เลิกนปช. แต่อยากให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ แต่มันผ่านไปแล้ว มันจบ แต่กลายเป็นว่าเราเสนออย่างนี้ อดีตประธานนปช. คุณจตุพร พรหมพันธุ์ โกรธ!!! อาจารย์เป็นคนเดินแนวทางมวลชนนะ มีสื่อเขาถาม บอกเดี๋ยวต้องไปถามประชาชน แล้วอาจารย์ก็เป็นคนตรง ๆ นะ ก็ต้องบอกว่า เขาไม่อยากให้ยุบ เขาอยากให้ปรับองค์กรนำใหม่ ไม่ได้บอกว่าให้ไล่ประธานด้วยซ้ำ จริง ๆ เราก็คิดเห็นตรงกันว่าหมดเวลาแล้ว ก็ไปทางหนึ่ง และรวมทั้งส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสายพรรคการเมือง


อยากจะบอกว่าตั้งแต่เป็นประธานนปช.มา นอกจากไม่ได้รับการสนับสุนจากแกนนำสายพรรคการเมืองเท่าที่ควร ยังถูกด่าเยอะด้วย ถ้าไปดูการ์ตูน อรุณ วัชระสวัสดิ์ มงกุฎหนามกับทาสีแดงไปจนสุดห้อง แต่อาจารย์คิดว่าไม่เป็นไร เพราะอะไร เพราะอาจารย์ยังยืนอยู่กับอุดมการณ์ 14ตุลา16 ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร ไม่ว่าอะไรมาแลกก็ไม่ได้ ยังยืนหยัดตรงนี้ ไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น มาจนถึงบัดนี้ มันมีการประนีประนอม มียุทธวิธี มีการข้ามขั้ว อาจารย์ก็ต้องยังยืนอยู่อย่างเดิม เพราะนี่คือ 51 ปีของการต่อสู้ และอาจารย์เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ประชาชนรวมทั้งคนเสื้อแดงจำนวนมากก็ยังสืบทอดรักษาอุดมการณ์นี้ ตัวดิฉันเองยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้แม้นจะมีความผูกพันกันในฐานะมิตรร่วมรบก็ตาม แต่หลักการและอุดมการณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีค่าที่เราต้องส่งต่อเพื่อให้คนรุ่นใหม่


ฉะนั้นวันนี้อยากจะยืนยันว่า 51 ปีของ 14ตุลา16 อุดมการณ์ในการขับไล่เผด็จการ อุดมการณ์ในการรักประชาธิปไตย มันยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บางคนไม่เอาแล้ว แต่ขอให้รู้ด้วยว่าคนจำนวนหนึ่งนั้น เขายินดีเสียสละชีวิต จนกระทั่งเขาต้องสูญเสียชีวิตไป ไล่มาตั้งแต่ 14ตุลา16 ไม่รู้กี่ร้อยศพแล้วจนถึงปัจจุบัน แล้วคนที่เป็น ๆ ที่ยังรักษาอุดมการณ์เพราะนึกถึงคนที่เสียสละเหล่านี้ที่เขาได้ตายไป แต่เขายังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทำงานสืบทอดอยู่ มันก็มี


แต่คนที่ไม่ได้คิดอะไร โดยเฉพาะแกนนำในส่วนที่มาจากสายการเมือง ก็คิดต่างและไม่ได้สนับสนุนแม้กระทั่งอาจารย์จะเป็นประธานนปช.มาหลายปีแล้วก็ตาม แล้วก็พยายามที่จะทำให้มวลชนเสื้อแดงมีความมั่นคงทั้งแนวทางนโยบาย ทั้งในการจัดตั้ง แต่ยังไงดิฉันก็อยากภาคภูมิใจว่า จาก 14ตุลา16 มาจนถึงปัจจุบัน อุดมการณ์ในการต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจนั้น มันได้ดำรงอยู่และมันได้ขยาย แน่นอน มีคนมาแล้วมีคนไป อย่าว่าแต่คนรุ่นหลังเลย คนรุ่น 14ตุลา16 ที่เราต้อง “หันหน้าคนละทาง สร้างดาวคนละดวง” ก็มี เราก็ผ่านมาแล้ว


อยากให้กำลังใจคนที่ยังยึดมั่นในหลักการและแนวทางนี้อยู่ว่า ขณะนี้มีคนส่วนใหญ่ยังสืบทอดอุดมการณ์ตั้งแต่ 14ตุลา16 เป็นต้นมา และอยากให้คนเห็นต่างเข้าใจด้วยว่า คนที่เขาไม่ได้อยู่เพื่อผลประโยชน์ของตน และคนที่ได้ตายไปแล้วบนถนนเส้นนี้เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน มีอยู่จริงนะ!!! ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และไม่ใช่นักฉวยโอกาสใด ๆ ด้วย ก็ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่และคนที่ยังมีอุดมการณ์ในการต่อต้าน เพราะว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว อาจารย์เชื่อว่ามีเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่คนแก่ จนกระทั่งคนหนุ่มสาว วันนี้ลาไปก่อนนะคะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #อุดมการณ์14ตุลา16 #ต่อต้านเผด็จการ #ต่อต้านรัฐประหาร