วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567

“ณัฐพงษ์” ถก สทนช. แนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ เห็นพ้อง 5 เรื่องต้องเร่งทำ พร้อมใช้กลไกผู้นำฝ่ายค้าน-กมธ.บริหารจัดการน้ำ เสนอแนะรัฐบาลจัดสรรรงบเตรียมการก่อนเข้าฤดูฝนปีหน้า

 


“ณัฐพงษ์” ถก สทนช. แนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ เห็นพ้อง 5 เรื่องต้องเร่งทำ พร้อมใช้กลไกผู้นำฝ่ายค้าน-กมธ.บริหารจัดการน้ำ เสนอแนะรัฐบาลจัดสรรรงบเตรียมการก่อนเข้าฤดูฝนปีหน้า


วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน และ เดชรัต สุขกําเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center เดินทางไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับฟังข้อมูลและหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ โดย สทนช. ได้รายงานข้อมูลที่สนใจหลายประเด็นโดยเฉพาะความคืบหน้าเรื่องการจัดทำผังน้ำ


การจัดทำผังน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เห็นศักยภาพในการรับและระบายน้ำในแต่ละจุด ถือเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบผังเมือง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน ไม่สร้างอุปสรรครุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะลดและบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


ทั้งนี้ โครงสร้างการจัดทำผังน้ำที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติอนุมัติไปแล้ว 2 ผังลุ่มน้ำ รออนุมัติอีก 4 ผังลุ่มน้ำ จากทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ 


นอกจากนี้ อีกส่วนสำคัญคือการปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ทุกส่วนราชการสามารถใช้งบประมาณสอดคล้องและทันกับช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละปี โดยไม่เกิดปัญหาซ่อมแซมหรือปรับปรุงไม่ทันช่วงฤดูฝน ที่อาจเกิดปัญหาเช่นเครื่องสูบน้ำเสีย ประตูน้ำเปิดไม่ได้ พนังกั้นน้ำยังไม่ได้ซ่อม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในอนาคตลงได้ส่วนหนึ่ง


ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่หลายจังหวัดและหารือกับ สทนช. ในวันนี้ ทำให้เห็นตรงกันว่าเราควรเร่งซ่อมแซมหรือปรับปรุงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา มิฉะนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัยมากขึ้นในอนาคตใน 5 ประเด็นด้วยกันคือ 


(1) แก้ไขปัญหาเรื่องลำน้ำที่อุดตันจากตะกอนและโคลนทับถมในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา เพื่อให้ลำน้ำสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น ไม่เกิดอุทกภัยโดยง่าย

(2) ซ่อมแซมโครงสร้างระบบชลประทานหรือพนังกั้นน้ำที่เสียหายจากอุทกภัยที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับน้ำ และป้องกันน้ำท่วมได้ดีขึ้น

(3) เร่งปรับปรุงอุปสรรคที่กีดขวางทางน้ำที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ เช่น เส้นถนนที่ ท่อระบายน้ำเล็กกว่าขนาดของลำน้ำเดิม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเช่นที่ผ่านมา

(4) จัดทำแผนและปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มและอาจส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนในอนาคต

(5) การพัฒนาระบบเตือนภัยในหลายพื้นที่ที่ยังขาดสถานีโทรมาตรหรือปรับปรุงเกณฑ์การเตือนภัยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ณัฐพงษ์กล่าวว่า จะใช้กลไกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เร่งปรึกษาหารือและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกของ กมธ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแนะรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วนให้ครบถ้วนและทันการณ์ และให้หน่วยงานดำเนินการให้พร้อมก่อนเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยวางกำหนดการเบื้องต้นว่าจะมีการประชุมเพื่อติดตามทั้ง 5 เรื่องนี้ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2567


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์