วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566

หนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ” ถึงมือ “วิษณุ” แล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบ ชี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจเบ็จเสร็จเด็ดขาดตามรธน. ไม่จำเป็นต้องชี้แจง

 


หนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ” ถึงมือ “วิษณุ” แล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบ ชี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจเบ็จเสร็จเด็ดขาดตามรธน. ไม่จำเป็นต้องชี้แจง


วันนี้ (31 สิงหาคม 2566) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งสังคมกำลังตั้งคำถามว่านายทักษิณอยู่ที่โรงพยาบาลจริงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ให้คำยืนยันได้ หากตนยังมีเครดิตอยู่บ้าง ก็จะยืนยันว่าอยู่จริง ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจริง หลังจากที่พักอยู่ถึงเวลาเที่ยงคืน เนื่องจากนายทักษิณป่วย มีความดันขึ้นเกือบ 200 รวมไปถึงต้องกินยาสลายลิ่มเลือด คงแพ้อะไรสักอย่าง ซึ่งเรียกว่าดีเปรส ทำให้อาการทรุดหนักลง แต่หนักขนาดไหนตนไม่รู้ จึงทำให้ต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ซึ่งตนได้ฝากฝังให้แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจได้ดูแล พร้อมย้ำว่าตัวของนายทักษิณยังอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ใครไปเยี่ยมไปเยือนก็ไปที่นั่น และอีกหน่อยก็จะเปิดให้คนอื่นเข้าเยี่ยมด้วย


ส่วนอาการป่วยของนายทักษิณในลักษณะเช่นนี้เป็นเหตุให้มีข้อมูลเพิ่มไปขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้ โดยปกติแล้วคนที่ขอพระราชทานอภัยโทษโดยมาก จะอ้างคุณงามความดี 3 ประการ คือคุณงามความดีในอดีต, คุณงามความดีในปัจจุบัน เช่นขณะนี้เป็นนักโทษได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษดีเยี่ยม และอาจระบุในอนาคตจะบวชหากได้พ้นโทษไปแล้ว หรือจะไปทำคุณงามความดีก็สุดแล้วแต่


ส่วนครอบครัวชินวัตร ได้มาปรึกษานายวิษณุ เกี่ยวกับเรื่องของการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ นายวิษณุกล่าว ไม่มี ไม่เคยเจอเลย


นายวิษณุ ยังยอมรับอีกว่า เอกสารการเขียนและอภัยโทษของนายทักษิณได้ถึงมือของตนแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนใครเป็นผู้เขียนขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ไม่ขอตอบว่าเป็นใคร ซึ่งการเขียนขอพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ เป็นการขอเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวกับโอกาสวันสำคัญ ไม่ต้องดูว่ารับโทษมาแล้วเท่าใด เป็นพระมหากรุณาธิคุณทั้งนั้น โดยย้ำว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ ซึ่งมีขั้นตอนไม่นาน ส่วนจะทันในสมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าต้องอยู่ไปนานเท่าไหร่ และประเมินไม่ถูก เพราะยังตั้งคณะรัฐมนตรีไม่เสร็จ นายวิษณุกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณชินวัตร #ขอพระราชทานอภัยโทษ

“เศรษฐา”ควงทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยลุยตลาดรัชดา รับปากแก้ทันทีค่าไฟแพง 4 เดือนแรกเป็นรบ. ย้ำยังบอกตัวเลขวันนี้ไม่ได้ต้องหารือพรรคร่วมก่อน ไม่ทราบ “ลุงป้อม” ลาออก สส. ไว้เดี๋ยวชวนกินข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล

 


“เศรษฐา”ควงทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยลุยตลาดรัชดา รับปากแก้ทันทีค่าไฟแพง 4 เดือนแรกเป็นรบ. ย้ำยังบอกตัวเลขวันนี้ไม่ได้ต้องหารือพรรคร่วมก่อน ไม่ทราบ “ลุงป้อม” ลาออก สส. ไว้เดี๋ยวชวนกินข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล


วันนี้ (31 สิงหาคม 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พวงเพชร ชุนละเอียด ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐาได้เปลี่ยนชุดลำลองสวมแจ็คเก็ตสีน้ำตาล ซึ่งเป็นชุดสำหรับลงพื้นที่ก่อนจะเดินเท้าจากที่ทำการพรรคเพื่อไทยไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีเพชรบุรีเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสุทธิสาร เพื่อไปตลาดเมืองไทยภัทร พบปะประชาชนและรับฟังปัญหาความเดือดร้อน ช่วงหนึ่งได้แวะ ร้านขายผลไม้ โดยนายกรัฐมนตรี สอบถามถึงการค้าขายสภาพเศรษฐกิจ และยังแวะร้านขายข้าวไข่เจียว สอบถามถึงราคาไข่ ไก่ น้ำมันพืช ราคาแก๊สหุงต้ม โดยเศรษฐารับปากว่าหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วเสร็จจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และระหว่างทางได้พบปะประชาชนที่ขอถ่ายรูปเซลฟี่ตลอดทางตั้งแต่หน้าพรรค ยันทางเข้าสถานี


เมื่อถึงสถานีรถไฟฟ้าเพชรบุรีนายกรัฐมนตรีได้แลกเหรียญโดยสาร สำหรับการเดินทาง  ต่อแถวเข้าขบวนรถไฟฟ้าตามขั้นตอนปกติกับผู้ใช้บริการทั่วไป หลังเดินทางมาถึงตลาดเมืองไทยภัทรมีประชาชนรอต้อนรับบางคนถือป้ายรูปนายเศรษฐา ทวีสินข้อความว่า "เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของคนไทย" โดยมีประชาชนตะโกนเชียร์ว่า "นายกฯเศรษฐาคนไทยเป็นเศรษฐี" ซึ่งเศรษฐายังได้สั่งซื้อเกาลัดจำนวน 10 ถุง ถุงละ 100 บาทด้วย


ทั้งนี้ เศรษฐามาถึงตลาดเมืองไทยภัทร ได้พบกับ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารบริษัทเมืองไทยประกันภัย ที่บริเวณหน้าร้านขายผลไม้และแนะนำให้นายกฯ ได้ลองชิมลูกพลับ และนายกฯ บอกว่ารสชาติดี ขณะเดียวกันช่วงที่นายกฯ ได้พบกับมาดามแป้งได้แซวกลับว่า "สวัสดีท่านนายก" ซึ่งอาจหมายถึงนายกสมาคมฟุตบอล ที่มาดามแป้งนั้นเป็นหนึ่งในแคนดิเดตเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว


บางช่วง ก็มีหญิงสาวรายหนึ่ง สวมเสื้อสีเขียวสะท้อนแสง ตะโกนว่า "นายกต้องพิธา คนเดียวเท่านั้น คนนี้ไม่ใช่นายก เพราะไปขโมยเขามา" พร้อมตะโกนว่า "โกหก" แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ยินก่อนที่หญิงคนดังกล่าวจะเดินห่างออกไป โดยไม่มีการปิดกั้นใด ๆ จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี


จากนั้นนายกรัฐมนตรี ยังได้แวะแผงลอตเตอรี่และซื้อลอตเตอรี่ 13 ชุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เลือกเองแต่ไม่เปิดเผยหมายเลข ช่วงหนึ่งระหว่างที่เศรษฐาเดินพบกับตำรวจ ที่มาปฏิบัติหน้าที่ด้านการจราจรระหว่างลงพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้เข้าไปสอบถาม พร้อมรับปากจะเข้าไปดูแลเรื่องของสวัสดิการตำรวจให้ และสอบถามเรื่องของความเป็นอยู่ ของนายตำรวจชั้นประทวน


ระหว่างลงพื้นที่นายกรัฐมนตรีได้ลองชิมอาหาร เช่นกล้วยทอด เมื่อถามว่าอิ่มไหมนายกรัฐมนตรีตอบว่าจุกมากเนื่องจากก่อนที่จะลงพื้นที่ได้รับประทานอาหารเที่ยงมาแล้ว


โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงปัญหาที่ประชาชนต้องการจะฝากถึงรัฐบาล พบว่าปัญหาหลักที่ประชาชนฝากถึงนายกรัฐมนตรีคือเรื่องปัญหาค่าครองชีพ ค่าน้ำค่าไฟ เป็นหลัก


หลังพบปะเรื่องของแม่ค้าและประชาชนเสร็จ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ ว่า การลงพื้นที่วันนี้มารับฟังปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ค่าพลังงาน และแก๊สหุงต้ม รวมถึงค่าไฟที่จะทำให้ต้นทุนในการประกอบอาหารแพงขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาที่รากฐาน เมื่อวานนี้ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ประชุมครม.นัดแรกก็จะหารือทันที ส่วนจะลดค่าไฟลงกี่บาทนั้นขอให้ใจเย็นๆ ยังไม่สามารถบอกตัวเลขตอนนี้ได้


ส่วนปัญหาเรื่องการโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีความแออัดจะเพิ่มตู้โดยสารหรือไม่นั้นขอดู ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง รวมถึงราคาค่าโดยสาร ที่จะสอดคล้อง กับการใช้ชีวิตของประชาชน แต่ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตู้โดยสารอาจจะน้อย ทั้งหมดจะต้องไปพิจารณาไปเป็นองค์ประกอบรวม แม้จะบอกว่าเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยแต่ก็ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อดูงบประมาณโดยรวม ส่วนจะ 20 บาทตลอดสายหรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูและหารือกันอีกครั้ง


เศรษฐา ยืนยันว่าการลดค่าไฟนั้นสามารถทำได้ทันทีภายใน 4 เดือนที่เข้ามาบริหาร เข้าใจโจทย์ว่าต้องการเท่าไหร่ แต่จะพยายามสุดความสามารถ หากบอกตัวเลขไปวันนี้จะผิดเพี้ยนไป จะถามกี่หนก็ยังคงตอบแบบนี้


ส่วนกรณีการลาออกของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จาก สส.บัญชีรายชื่อ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ทราบว่าจะลาออกเพราะสาเหตุใด กับ พล.อ.ประวิตร เคยคุยกันถ้าผ่านโทรศัพท์เพียงนิดเดียวและไม่เคยเจอกันเป็นการส่วนตัว แต่ตั้งใจไปว่าหากเข้าทำเนียบแล้วจะเชิญมาร่วมรับประทานอาหาร


ส่วนวันนี้มาลงพื้นที่มี นวลพรรณ ล่ำซำ มาต้อนรับ และรู้จักสนิทสนมกันดี  เมื่อถามถึงมาดามแป้งเป็นตัวเต็งสมัครนายกสมาคมฟุตบอล ส่วนตัวรู้สึกว่าใครจะไปแข่งก็คงถอนตัวหมด ตนรู้จักคุณแป้งมานานได้เห็นถึงความทุ่มเท และมีกำลังใจให้


วันนี้มาอยู่ภาคการเมืองแล้วก็ไม่ควรไปชี้นำ และระหว่างเดินลงพื้นที่มาก็เจอตำรวจชั้นปฏิบัติงานหลายคน ก็มีโครงการจะแก้ไขหนี้สินของข้าราชการตำรวจ และจะรับไว้เป็นมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ต้องได้รับการดูแล และเตรียมที่จะพักหนี้ ธกส. ชั่วคราวเพื่อให้ฟื้นฟูหนี้สินในระยะสั้น


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #เพื่อไทย #นายกฯพบประชาชน




‘ชลธิชา’ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง ‘ก้าวไกล’ เดินหน้าเสนอกฎหมายแก้ ป.วิอาญา เพื่อสิทธิประกันตัวของประชาชนทุกคน

 


ชลธิชา’ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง ‘ก้าวไกล’ เดินหน้าเสนอกฎหมายแก้ ป.วิอาญา เพื่อสิทธิประกันตัวของประชาชนทุกคน

 

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 แถลงข่าวกรณีการไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่นักโทษการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ จึงขอใช้โอกาสนี้ส่งสารไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ ว่าตอนนี้มีประชาชนอยู่ในเรือนจำและกำลังอดอาหารเพื่อเอาชีวิตเข้าแลกกับสิทธิที่พึงมีตั้งแต่แรก แต่ถูกพรากไปเพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว

 

โดยชลธิชายกกรณีเร่งด่วน คือกรณีวารุณีซึ่งถูกควบคุมตัวมาแล้วเป็นเวลา 65 วัน มีการเรียกร้องสิทธิประกันตัวด้วยการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม และประกาศยกระดับอดน้ำตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดวารุณีถูกส่งเข้ารับการรักษา​ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังจากมีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก อย่างไรก็ตาม วารุณียืนยันประกาศอดอาหารต่อไป นอกจากนี้ยังมีกรณีของเวหา ซึ่งประกาศอดอาหารเช่นกัน

 

ชลธิชา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 และอยู่ระหว่างพิจารณาคดีอย่างน้อย 7 คน กระบวนการยุติธรรมในประเทศต้องล้มเหลวถึงขนาดไหนจึงทำให้ประชาชนเอาชีวิตเข้าแลก ทั้งที่สิทธิประกันตัวถูกรับรองในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลต้องให้ประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งในกรณีวารุณี แม้จะมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น แต่ยังคงยื่นต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ต่อเนื่อง

 

ที่ผ่านมา ศาลมักไม่มีเหตุผลประกอบที่แน่ชัดว่าเหตุใด การกระทำลักษณะใดบ้างที่พิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือกระทำความผิดซ้ำ กลายเป็นว่าสิทธิในการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน มักถูกพรากไปโดยง่ายด้วยเหตุผลที่เลื่อนลอย” ชลธิชาระบุ

 

ส.ส.ปทุมธานี ตั้งคำถามว่า ระบบยุติธรรมของประเทศไทยยังคงตั้งมั่นอยู่ในหลักนิติธรรมหรือไม่ และเหตุใดสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จึงถูกเลือกปฏิบัติและถูกพรากไป นี่เป็นการผลักภาระให้ผู้ต้องหาในการยื่นขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และที่ร้ายแรงที่สุดคือการต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพันในการเรียกร้องสิทธิ

 

เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมสูญเสียความน่าเชื่อถือไปมากกว่านี้ พรรคก้าวไกลยืนยันยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนั้นในขณะนี้ได้จัดตั้งทีมทำงานเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และ 108/1 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประกันตัว เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคนได้รับสิทธิประกันตัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานระหว่างการต่อสู้คดี

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน




“สส.เพื่อไทย” เข้าชื่อร่วมกัน เสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เปิดทางผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีเอง ทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

 


“สส.เพื่อไทย” เข้าชื่อร่วมกัน เสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เปิดทางผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีเอง ทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน 


วันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พร้อม สส. พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา อันจะเป็นการเปิดทางให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมได้


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สส.พรรคเพื่อไทยร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสาระสำคัญคือเราอยากให้สิทธิผู้เสียหายในการที่จะฟ้องคดีได้เอง ในกรณีที่ 1 ป.ป.ช.สั่งไม่รับคำร้อง หรือ 2. กรณี ป.ป.ช.สั่งว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งเราก็คิดว่าเรื่องไม่น่าจะจบที่ ป.ป.ช.เท่านั้น ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไปพิจารณา หากอัยการสูงสุดเห็นว่ามีมูลก็ให้สามารถสั่งฟ้องได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ในกรณีไม่มีคดีที่จะนำสู่ศาลได้ โดยสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งไม่รับคำร้อง หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ควรจะให้สิทธิผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม แสวงหาความเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีได้เอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็จะทำให้กระบวนการยุติธรรมคุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ใช่เพียงแค่  ป.ป.ช. สั่งไม่ฟ้องหรือสั่งไม่มีมูลแล้วยุติหรือสิ้นสุดเลยโดยผู้เสียหายก็ไม่ได้รับการเยียวยาโดยประการอื่นใด นอกจากนี้ยังเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประกอบคู่กัน เมื่อให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เองก็ควรให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้


ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อได้รับร่างแก้ไขกฎหมายมาแล้ว ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายชื่อและข้อบังคับ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน




สส.ก้าวไกล ชงตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาน้ำประปาทั้งระบบ เผยเป็น สส. 4 เดือน ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนต่อเนื่องคือคุณภาพน้ำประปา

 


สส.ก้าวไกล ชงตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาน้ำประปาทั้งระบบ เผยเป็น สส. 4 เดือน ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนต่อเนื่องคือคุณภาพน้ำประปา

 

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง เขต 4 พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเสนอญัตติด่วนตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและบริหารน้ำประปาทั้งระบบ โดยระบุว่า เนื่องจากตลอดเกือบ 4 เดือนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎร ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนอย่างต่อเนื่องคือคุณภาพน้ำประปา ที่มีสีขุ่นแดง ไม่ใสสะอาด นอกจากนี้ยังมีปัญหาปริมาณน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนในพื้นที่


สส.ลำปาง พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความเป็นจริงหลายจังหวัดในประเทศไทยไม่ได้มีการประปานครหลวงเหมือนที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และไม่ได้มีการประปาส่วนภูมิภาคเหมือนหัวเมืองใหญ่ หลายพื้นที่มีระบบน้ำประปาที่มาจากการบริหารจัดการกันเองของหมู่บ้านหรือท้องถิ่น เช่น อบต. และหากพิจารณาจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ใช้วิธีการอุดหนุนงบประมาณ แต่กลับยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

รภัสสรณ์ ชี้ว่า สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ดูได้จากวาระปรึกษาหารือในสภาทุกสัปดาห์ ที่มีแต่ปัญหาร้องเรียนเรื่องน้ำประปา การอุดหนุนงบประมาณแม้ยังมีความจำเป็น แต่ปัญหาน้ำประปามีอีกหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข เช่น การขาดผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณซื้ออุปกรณ์ งบประมาณซ่อมบำรุง ปัญหาการตรวจสอบมาตรฐาน รวมถึงปัญหาการใช้น้ำประปาผิดประเภท

 

สส.พรรคก้าวไกลจึงมีมติร่วมกัน ยื่นญัตติด่วนเพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาและบริหารน้ำประปาทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นประปาหมู่บ้าน ประปาของท้องถิ่น ประปาส่วนภูมิภาค และประปานครหลวง ตั้งแต่การจัดสรรน้ำดิบ การผลิตและให้บริการ การควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐาน โดยหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. ทุกพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพเสียที

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล




“นายกฯเศรษฐา” ขอบคุณทุกภาคส่วน ตอบรับแนวทาง ‘กระตุ้นการท่องเที่ยว-กระตุ้นเศรษฐกิจ’ จ่อคุย ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อม ‘พักหนี้เกษตรกร’


นายกฯเศรษฐา” ขอบคุณทุกภาคส่วน ตอบรับแนวทาง ‘กระตุ้นการท่องเที่ยว-กระตุ้นเศรษฐกิจ’ จ่อคุย ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อม ‘พักหนี้เกษตรกร’


วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาผู้เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีว่า เข้าใจว่าพรุ่งนี้ (1 กันยายน 2566) น่าจะตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จเรียบร้อย  ส่วนกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชื่อนายพิชิต ชื่่นบาน นั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ท่านด้วย หากไม่ผิดข้อกฎหมาย ไม่มีความผิด และผ่านแล้วก็น่าจะไม่ถือว่าผิดจริยธรรม


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกฯ กังวลในเรื่องของจริยธรรม นายเศรษฐา กล่าวว่า กำลังอยู่ในระหว่างการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมีความเห็นออกมาแล้วว่าผ่านก็หวังว่าจะเป็นที่สิ้นสุด เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่มีใครถูกใจทั้งหมด ทุกๆ ท่าน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติก็ต้องให้เกียรติ และขอให้รอดูผลงาน วัดกันด้วยผลงานดีกว่า


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มีปฏิกิริยาไม่พึงพอใจรายชื่อ ครม. นายเศรษฐา กล่าวว่า “ก็น้อมรับฟังครับ”


นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาแนวทางการลดราคาพลังงานว่า เรื่องการลดราคาพลังงานเป็นหนึ่งในวาระแรกๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.  พร้อมทั้งอีกหลายเรื่อง จึงขอให้ทุกฝ่ายอดใจรอ เพราะไม่ได้มีเพียงเรื่องของวีซ่าหรือการลดราคาพลังงานเท่านั้น ในวันนี้ (31 สิงหาคม 2566) ก็จะมีการหารือกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรื่องการพักหนี้เกษตรกรว่าจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรและดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ เนื่องจากพี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนเรื่องหนี้สินเยอะมากและเป็นอีกหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย


นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับแนวทางการลดราคาพลังงานนั้นขอเวลาให้มีการพิจารณาเรื่องตัวเลขต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งต้องปรึกษากับกระทรวงการคลังในเรื่องของงบประมาณต่างๆ จึงขอให้ทุกฝ่ายรอความชัดเจนอีกหน่อย


ผู้สื่อข่าวถามถึงการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสายการบินตอบรับในเรื่องของการขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยว นายเศรษฐา กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่ได้ลงไปพื้นที่ภาคใต้แล้วกลับมาพูดคุยกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และ 8 สายการบินเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ขอขอบคุณสายการบินต่างๆ และทุกภาคส่วนที่ตอบรับ โดยมีการเตรียมพร้อมที่เราจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นภาคส่วนที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็มาเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว ซึ่งได้ให้คำแนะนำในการไปดูความพร้อมของทุกภาคส่วนสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ


นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (31 สิงหาคม 2566) จะลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อติดตามปัญหาสินค้าราคาแพง และยังมีหน่วยงานต่างๆ อีกหลายด้านที่จะมาหารือกัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆ


ผู้สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่อาจต้องมีความกังวลว่าจะพบกับมวลชนที่คัดค้านหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นธรรมดาของการอาสามาทำการเมือง เรื่องเหล่านี้เราก็ต้องรับฟัง มีทั้งคนติ มีทั้งคนชมและมีทั้งคำแนะนำ ก็อยากให้เป็นการติเพื่อก่อ


ผมเองก็เพิ่งเข้ามาก็มีความตั้งใจจริงที่จะเข้าไปรับฟังปัญหาที่พี่น้องประชาชนประสบจริงๆ อะไรที่แก้ไขได้ก็จะรีบเร่งด่วนในการทำ ดังนั้น ครม. นัดแรกจึงเป็นเรื่องสำคัญ และมีหลายเรื่องที่จะต้องพิจารณา เรื่องของการแถลงนโยบายก็สำคัญ ขณะนี้แผนกนโยบายก็กำลังรวบรวมนโยบายจากทุกๆ พรรคเข้ามา เพื่อเตรียมการแถลงนโยบายรัฐบาล ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์น่าจะเรียบร้อย” นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่สุด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #เพื่อไทย




วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่น 2 แสนรายชื่อต่อ กกต. เสนอคำถามประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำร่างใหม่ทั้งฉบับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% หวังกกต.เร่งตรวจสอบ นำเข้า ครม.ทันนัดแรก

 


กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่น 2 แสนรายชื่อต่อ กกต. เสนอคำถามประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำร่างใหม่ทั้งฉบับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% หวังกกต.เร่งตรวจสอบ นำเข้า ครม.ทันนัดแรก

 

วันนี้(30 สิงหาคม 2566) เวลา 13.30 น. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) นำรายชื่อประชาชน 212,139 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอคำถามทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มายื่นต่อกกต.

 

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนได้พิสูจน์และประกาศออกมาชัด ๆ ว่าอุปสรรคในการจัดการทางธุรการ ไม่สามารถหยุดยั้งการออกสิทธิ์ออกเสียงเพื่อจะเสนอในสิ่งที่เราต้องการได้ จากปรากฏการณ์นี้เราใช้เวลาเพียงนิดเดียว ซึ่งแปลว่ายากกว่านี้เราก็ทำได้และพร้อมจะทำ ใครที่รู้สึกว่ากิจกรรมครั้งนี้ทำให้มีความหวัง ประเทศและประชาชนไปต่อได้ ขอให้คิดว่าท่านมีความหวังจากการกระทำของท่านเอง ไม่ใช่ iLaw หรือเครือข่าย แต่เป็นทุกคนที่ร่วมมือกัน

 

นายยิ่งชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ใช้เวลา 3-4 วันในการคีย์รายชื่อประชาชนลงในระบบไมโครซอฟท์เอกซ์เซล จึงหวังว่ากกต.ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบจะเร็วกว่าเรา และอยากถามกกต.ว่าจะตรวจสอบรายชื่อเสร็จกี่โมง

 

เรารออยู่อย่าช้ากว่าเรา เพราะเราอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ยื่นแล้ว ท่านสามารถตรวจสอบเสร็จได้เลย และนำข้อเสนอนี้ไปวางที่โต๊ะก่อนการประชุมครม.นัดแรก นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น ซึ่งครั้งนี้ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราต้องออกแรงเพื่อไปสู่เป้าหมาย คือวันที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรายังคงต้องออกแรงอีกเรื่อย ๆและตราบใดที่ยังไปไม่ถึง มีความท้าทายใดก็จะพยายามฝ่าฟันไปให้ถึง นายยิ่งชีพกล่าว

 

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มประชาชนฯ กล่าวว่า การเข้าชื่อครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะทุกคนที่ต้องการประชาธิปไตยต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้มีการร่างใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คำถามที่จะทำประชามติจะต้องถูกเสนอโดยประชาชน เพราะที่ผ่านมาคนที่มีอำนาจในทางการเมืองเป็นผู้กำหนดคำถาม ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดคำถามเอง และเข้าชื่อเสนอโดยประชาชนเอง ซึ่งจริงๆ เราต้องการเพียงแค่ 50,000 รายชื่อ แต่กลับได้รายชื่อมา 212,139 รายชื่อ ตรงนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การยกร่างหนทางที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังอีกยาวไกล เราคาดหวังว่าหลังจากที่ได้ส่งรายชื่อให้กกต.แล้ว กกต.จะทำงานอย่างรวดเร็วและส่งให้กับครม. และเราจะได้ทำประชามติตามคำถามที่เราได้ออกแบบมา

 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าการร่วมลงชื่อครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนแรกคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ 50,000 รายชื่อ เมื่อไม่สามารถใช้การลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ประชาชนได้แสดงพลังให้เห็นว่าไม่ได้หายไปไหน คนที่ต้องการประชาธิปไตยยังมีอีกมาก และได้แสดงให้เห็นแล้วผ่านการลงชื่อในครั้งนี้ เราจึงคาดหวังที่จะส่งไม้ต่อให้กกต.ร่วมเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ตัวแทนกลุ่มประชาชนฯยังกล่าวต่อว่า แม้วันนี้เราจะได้มายื่นรายชื่อต่อกกต.แล้ว ตามกฎหมายให้กกต.ตรวจสอบรายชื่อไม่เกิน 30 วัน แต่ก็ไม่มั่นใจว่ากกต.จะปฏิบัติหน้าที่ได้เร็วมากแค่ไหน และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจะต้องส่งรายชื่อไปยังสำนักเลขาธิการครม. เพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้ไม่มีกรอบเวลาชัดเจนว่าต้องเสร็จภายในเมื่อใด และไม่ทราบว่าสำนักเลขาธิการครม.มีการออกระเบียบแล้วหรือยัง และเราก็ไม่มั่นใจว่า เมื่อสำนักเลขาธิการครม.ได้รับรายชื่อแล้ว จะต้องส่งไปตรวจสอบกับหน่วยงานไหนอีก หรือต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเหมือนเรื่องอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งเราจะติดตามต่อไปว่า เมื่อได้ยื่นรายชื่อแล้วจะไปถึงขั้นไหน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่




‘พริษฐ์’ ฝาก 2 คำถามถึง ‘เศรษฐา’ ยังยืนยันประชุม ครม. นัดแรก มีมติเพื่อเดินหน้าจัดประชามติรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และคำถามเป็นอย่างไร หลังมติสภาไม่เห็นชอบ ‘ก้าวไกล’ ขอเลื่อนวาระประชามติ รธน. ขึ้นมาก่อน

 


พริษฐ์’ ฝาก 2 คำถามถึง ‘เศรษฐา’ ยังยืนยันประชุม ครม. นัดแรก มีมติเพื่อเดินหน้าจัดประชามติรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และคำถามเป็นอย่างไร หลังมติสภาไม่เห็นชอบ ‘ก้าวไกล’ ขอเลื่อนวาระประชามติ รธน. ขึ้นมาก่อน

 

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 พรรคก้าวไกล ได้เสนอให้ที่ประชุมโดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 54 (2) เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนฯ โดยเลื่อนวาระข้อที่ 5.33 ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในวันนี้

 

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติ ได้ระบุว่าประเด็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนของภาคประชาชนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนมาแล้วกว่า 2 แสนรายชื่อ เพื่อเสนอให้จัดประชามติเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องถกประเด็นดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและทุกชุดความคิด

 

ด้านพริษฐ์ ได้ให้เหตุผลในการเลื่อนระเบียบวาระ 3 ประการ ประกอบด้วย :

 

1) ประเทศของเราควรมีความชัดเจนโดยเร็วเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - ในมุมหนึ่ง ประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ แม้ในที่สุดแล้ว กกต. จะมีคำสั่งให้การใช้รายชื่อในระบบออนไลน์ทำไม่ได้ แต่ประชาชนก็มีความตื่นตัวกันเข้าชื่อในกระดาษได้มากถึง 2 แสนรายชื่อภายในไม่กี่วัน นับเป็นสถิติใหม่ในการล่ารายชื่อของภาคประชาชน แต่ในเมื่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องอาศัยเวลากว่า 2 ปี การมีความชัดเจนโดยเร็วว่าประเทศจะเดินหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

 

2) ความชัดเจนดังกล่าวไม่ควรเป็นการรอคณะรัฐมนตรีฝ่ายเดียว เพราะไม่ว่า ครม. จะตัดสินใจเมื่อไหร่อย่างไร การพิจารณาประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ของสภาฯ ยังคงมีความหมาย

- หาก ครม. มีความเสี่ยงจะไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ก็เป็นเหตุผลให้ควรใช้กลไกในสภาฯ ดำเนินการคู่ขนาน ตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9(4)

- แต่หาก ครม. มีความตั้งใจเดินหน้าหาข้อสรุปโดยเร็ว ยิ่งเป็นเหตุต้องให้ถกประเด็นนี้ในสภาตั้งแต่วันนี้ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียด และรายละเอียดที่จะกำหนดชะตากรรมหรือหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ที่คำถามประชามติ ดังนั้นจึงควรต้องใช้พื้นที่สภาฯที่มีตัวแทนทุกชุดความคิด มาถกกันก่อนถึงข้อเสนอต่างๆเรื่องคำถามประชามติ และข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก ก่อนที่ ครม. จะตัดสินใจ

 

3) การพิจารณาญัตติดังกล่าวไม่ควรจะรบกวนเวลาของสภาฯ มากเกินไป เพราะไม่ได้เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติใหม่ แต่เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติที่หลายพรรคการเมืองเคยเห็นชอบไปแล้วเมื่อไม่ถึงปีที่แล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ญัตติดังกล่าวถูกเสนอโดย 2 พรรค คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย และเมื่อมีการลงมติ ก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยในบรรดา 324 สส. ที่เห็นชอบต่างก็มาจากทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งมีหลายท่านที่นั่งอยู่ในที่ประชุมวันนี้ด้วย พรรคการเมืองและ สส. ส่วนใหญ่คงจะใช้เวลาไม่นานมากในการพิจารณาญัตติดังกล่าว เพื่อยืนยันจุดยืนเดิมที่ตัวเองได้เคยลงมติไว้

 

ทางด้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอใช้สิทธิพาดพิง ในฐานะที่ได้รับหน้าที่ผู้ประสานงานของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ตนอยู่ในห้องประชุม เดินไปคุยกับทุกพรรคการเมืองถึงเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น ที่อ้างว่าไม่มีการพูดคุยตกลงกันมาก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ตนและพรรคก้าวไกลเสียหาย ทั้งนี้ ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ และเรื่องนี้จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นหากเพียงพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกลทำสิ่งเดียวกันกับที่เราเคยทำเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในสภาฯ สมัยที่ 25

 

จากนั้น ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิง ระบุว่าเรื่องของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนั้น วันนี้เป็นคนละเวลา คนละเหตุการณ์ แต่ก็อย่าคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำอะไร เพราะเมื่อวานนี้ในการประชุมพรรค นายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าไม่เกินสองสัปดาห์จะมีการพูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนถกเถียงกันอยู่ แต่ความเดือดร้อนปากท้องของประชาชนสำคัญกว่าการถกเถียงประเด็นสาธารณะทั่วไป จึงไม่อยากให้หารือกันซ้ำซาก และอย่าพาดพิงถึงพรรคเพื่อไทยอีกเลย

 

ทั้งนี้ ผลการลงมติว่าจะให้มีการเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมหรือไม่ ได้ตกไปด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 143 และไม่เห็นด้วย 262 เสียง

 

ต่อมา พริษฐ์แถลงข่าว ระบุว่าพรรคก้าวไกลน้อมรับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในเมื่อวันนี้เราสูญเสียโอกาสในการถกเรื่องประชามติในสภาฯ จึงเห็นว่ายิ่งมีความจำเป็นที่นายกฯ คนใหม่และรัฐบาลใหม่จะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงมีคำถาม 2 ข้อไปถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่หลายโอกาสก็ได้พูดถึงความสำคัญของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

คำถามที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้สัญญากับประชาชน ท่านยังยืนคำเดิมหรือไม่ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะมีมติ ครม. ออกมาเพื่อให้มีการจัดประชามติเพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ต้องถามเช่นนี้เพราะแม้นายกฯ เคยออกมายืนยันหลายครั้ง แต่จากท่าทีและคำอภิปรายทั้งในและนอกสภาฯของ สส. บางคนในพรรคร่วมรัฐบาล สัมผัสได้ว่ามีบางส่วนที่อาจไม่เห็นด้วยกับการจัดประชามติโดยเร็วเพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

คำถามที่ 2 เรื่องคำถามประชามติ หากยืนยันว่าจะมีการจัดประชามติเพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามที่ใช้จะเป็นอย่างไร พรรคก้าวไกลมองว่าคำถามเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากต้องกระชับ ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ยังควรยืนยัน 2 หลักการสำคัญว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เพราะเป้าหมายต้องไม่ใช่แค่การมีรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่โดยชื่อ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เพียงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคม โอบรับความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน 100%

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชามติรัฐธรรมนูญ




“ชลน่าน” ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติเลือก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รักษาการหัวหน้าพรรค

 


ชลน่าน” ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติเลือก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รักษาการหัวหน้าพรรค


วันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย โดย นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ตามที่ตนเคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ มีมติจับมือหรือดีลกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้ภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเสร็จเรียบร้อย ขออนุญาตทำตามที่เคยได้ประกาศเป็นสัจจะวาจา จึงขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตามที่ได้ประกาศเอาไว้


นายประเสริฐ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในวันนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้กล่าวลาและขอบคุณคณะกรรมการบริหารพรรคทุกท่าน ซึ่งข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย เมื่อหัวหน้าพรรคแสดงเจตนาลาออกแล้วคณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือทั้งหมดจะต้องหมดสภาพการเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคทุกคน แต่กรรมการบริหารพรรคคนอื่นยังรักษาการในตำแหน่งเดิมอยู่ ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ได้มีมติเลือกนายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะรองหัวหน้าพรรคให้ขึ้นเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยข้อบังคับพรรคเพื่อไทยกำหนดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 60 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ชลน่าน





“เศรษฐา” หารือทีมเศรษฐกิจ รทสช. ลั่น ประชุมครม.นัดแรกถกลดราคาน้ำมันทันที ยันทำงานไม่มีหยุด ด้าน “สุพัฒนพงษ์” บอกคุยวันนี้ยังไม่มีเสนอนโยบาย ชี้เรื่องพลังงานต้องคุยกับรมว.พลังงานคนใหม่

 


“เศรษฐา” หารือทีมเศรษฐกิจ รทสช. ลั่น ประชุมครม.นัดแรกถกลดราคาน้ำมันทันที ยันทำงานไม่มีหยุด ด้าน “สุพัฒนพงษ์” บอกคุยวันนี้ยังไม่มีเสนอนโยบาย ชี้เรื่องพลังงานต้องคุยกับรมว.พลังงานคนใหม่


วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 12.40 น. ที่ พรรคสำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมคณะ เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือนโยบายรัฐบาล ร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย  โดยเฉพาะขั้นตอนในการลดราคาค่าไฟ ค่าน้ำมันดีเซลว่าสามารถลดราคาได้ตั้งแต่การประชุมครม. นัดแรกเลยหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ระบุว่า จะประกาศทันที ขอให้รอนิดนึง ยืนยันทำงานไม่หยุด มีการดูเรื่องนโยบายอื่นด้วย ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ ก็ให้ความกรุณาและยินดีส่งไม้ต่อด้วยความราบรื่น


นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เป็นเรื่องของการพูดคุยแลกเปลี่ยนมากกว่า ส่วนทางการบริหาร ทางพรรคเพื่อไทยคงมาคุยกันอีกที เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ นายกฯ 2 ท่าน ได้มาพบกัน และสานต่อ เผื่อจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ ที่ผู้นำประเทศ ท่านนายกคนใหม่จะดำเนินการอะไรได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับนโยบายที่จะเสนอต่าง ๆ


ส่วนประเด็นที่มีการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนวันนี้กับพรรคเพื่อไทยเป็นประเด็นอะไรนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ก็เป็นประเด็นทั่ว ๆ ไป เมื่อถามว่าท่านนายกฯ ได้มีการสอบถามเรื่องของพลังงานบ้างหรือไม่นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ก็มี และบอกว่าทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมไว้แล้ว คงมีการหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไป ตามขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับความเป็นไปได้เรื่องการลดราคาพลังงานหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็คงต้องไปคุยกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน


เมื่อถามว่าสัญญาณการตอบรับจากพรรคเพื่อไทย ในการพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดีใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลรักษาการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะส่งมอบหรือส่งต่อ เป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลใหม่ ได้มาขอรับทราบสิ่งที่รัฐบาลรักษาการทำอะไรไว้บ้าง ส่วนเรื่องการพิจารณาจะทำอะไรต่อไปนั้น ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ดำเนินการ วันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เป็นการพูดคุย หากรัฐบาลใหม่จะนำนโยบายของรัฐบาลรักษาการไปดัดแปลง หรือทำให้ดีขึ้น เป็นนโยบายใหม่ของท่าน ก็สามารถทำได้ หลัก ๆ เป็นการพูดคุย ไม่ได้เป็นลักษณะของการทำนโยบาย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 พลฯ ดินแดง กรณีม็อบ #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิ.ย. 65

 


ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 พลฯ ดินแดง กรณีม็อบ #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565


วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายวัชรพล นาคสวย, นายพลพล จิตรสุภาพ, นายจตุพล บุญพูล และนายณัฐพล เหล็กแย้ม 4 จำเลย ในคดีเผาทำลายทรัพย์สินรถยนต์ตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ รวม 2 คัน จากเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณใต้ด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ในกิจกรรมม็อบ #ราษฎรเดินไล่ตู่ พร้อมทนาย ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.1847 /2565 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายวัชรพล นาคสวย, นายพลพล จิตรสุภาพ, นายจตุพล บุญพูล แลนายณัฐพล เหล็กแย้ม จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับในความผิดฐาน "ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ที่ห้องพิจารณาคดี 907 โดยไม่ให้สื่อสัมภาษณ์แต่อย่างใด


เมื่อถึงเวลาศาลวิเคราะห์จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงสามารถวินิจฉัยได้ว่า นายวัชรพล นาคสวย จำเลยที่ 1 นายจตุพล บุญพูล จำเลยที่ 3 และนายณัฐพล เหล็กแย้ม จำเลยที่ 4 มีภาพยืนยันจากกล้องวงจรปิดที่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้ว่ากระทำการเผารถยนต์เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คันจริง จึงตัดสินให้จำคุก คนละ 4 ปี แต่จำเลยทั้ง 3 คนให้การที่เป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 คงเหลือจำคุกคนละ 3 ปี  ไม่รอลงอาญา


ส่วนนายพลพล จิตรสุภาพ จำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าร่วมกระทำด้วย จึงยกฟ้องในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย รวมทั้งไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกชุมนุม ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ทำการฝ่าฝืนเจ้าพนักงาน จึงตัดสินให้จำคุก 2 ปี แต่จำเลยให้การที่เป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือนไม่รอลงอาญา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ต่อเนื่องกันถึงเวลากลางคืนจำเลยกับพวก 30 คน ซึ่งรวมเยาวชนชายอีก 2 คนที่แยกตัวดำเนินคดี ได้ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มั่วสุมชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อความวุ่นวายบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญกำลังเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้พวกจำเลยยังได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์รถยนต์ตราโล่คันหมายเลขทะเบียน 07444 และรถยนต์หมายเลข 6 กจ 5593 กรุงเทพมหานคร ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 91,692 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 215, 216, 217  และ พ.ร.ก.การบริหารราช#ราษฎรเดินไล่ตู่การในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คดีนี้พวกจำเลยให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565


แต่วันนี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีของทั้ง 4 คนแล้ว ทำให้ทั้ง 4 คน ต้องกลับเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกครั้ง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ 

“นายกฯ เศรษฐา” น้อมรับฟังกระแสวิจารณ์รายชื่อครม. แต่ขอให้วัดกันที่ผลงาน ย้ำรัฐบาลมีภารกิจต้องทำอีกมาก เผยเร่งพูดคุยพรรคร่วม เตรียมแถลงนโยบายรัฐบาล เดินหน้าแก้วิกฤตประเทศ

 


“นายกฯ เศรษฐา” น้อมรับฟังกระแสวิจารณ์รายชื่อครม. แต่ขอให้วัดกันที่ผลงาน ย้ำรัฐบาลมีภารกิจต้องทำอีกมาก เผยเร่งพูดคุยพรรคร่วม เตรียมแถลงนโยบายรัฐบาล เดินหน้าแก้วิกฤตประเทศ


วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กระแสการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่า เราต้องให้เกียรติทุกฝ่าย ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและผู้ประสานงานในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องทำอีกมากและมีเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน โดยเราจะวัดกันที่ตรงนี้และทุกคนต้องเริ่มทำงานทันที


ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจสำคัญในช่วงต้นดูเหมือนจะเน้นไปที่เป้าหมายด้านการท่องเที่ยว นายเศรษฐา กล่าวว่า ในเรื่องการท่องเที่ยวได้เน้นย้ำโดยตลอดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ดีที่สุด และเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันในเดือนตุลาคมแล้ว ซึ่งในการลงพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ก็ได้คุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องแผนพัฒนาและการสนับสนุน ทั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การบินไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องการดูแลความปลอดภัย อีกทั้งยังได้พบปะพูดคุยกันกับทางสถานทูตจีนก็สนับสนุนและเห็นชอบเรื่องของนักท่องเที่ยวจีนที่เราจะยกเลิกการขอวีซ่า ก็หวังว่าได้รับการตอบสนองที่ดีจากทุกภาคส่วน จากนั้นก็จะมีการอธิบายให้เห็นได้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างไรและเห็นผลเมื่อไหร่


สำหรับความคืบหน้าในการจัดเตรียมนโยบายรัฐบาลนั้น นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และวันนี้ (30 สิงหาคม 2566)  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมคณะจะเข้ามาพูดคุย เพราะเราอยากให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าไปได้


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การมีชื่อนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพลเรือนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  นายเศรษฐา กล่าวว่า นายสุทินเป็นนักการเมืองอาวุโส เป็นสส.มาหลายสมัยและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ เชื่อว่าจะสามารถประสานงานกับกองทัพได้ดี ซึ่งตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็จะเข้าไปช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าว่าทุกหน่วยงานได้รับการดูแล เอาใจใส่แล้วจะพูดคุยอย่างเหมาะสมแล้วก็สมฐานะ


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้ แต่เชื่อว่าทั้ง 4 ท่านเป็นบุคคลที่เหมาะสม ในการเข้าดำรงตำแหน่ง ก็เหลือเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งว่าอาจใช้เวลาประมาณ 2 วัน


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าว นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องให้เกียรติ นายแพทย์ชลน่าน ประกาศเรื่องนี้เอง ซึ่งนายแพทย์ชลน่าน เป็น สส.หลายสมัย ทำประโยชน์กับพรรคเพื่อไทยมานาน ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ก็คงจะยังช่วยเหลือพรรคและดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป


“เรื่องนี้นายแพทย์ชลน่านประกาศไว้นานแล้วว่า หากมีการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย เสร็จภารกิจ ท่านก็จะประกาศลาออก” นายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยต่อนั้นก็คงจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถรอบรู้ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #ครมเศรษฐา1