วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

ศาลตัดสินจำคุก 8 เดือน 20 วัน “สมบัติ ทองย้อย” คดีหมิ่น “ประยุทธ์”

 


ศาลตัดสินจำคุก 8 เดือน 20 วัน “สมบัติ ทองย้อย” คดีหมิ่น “ประยุทธ์”


วันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมิ่นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสมบัติ ทองย้อย วัย 52 ปี จำเลยซึ่งถูก อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แจ้งความกล่าวหาว่าได้โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเจ้าพนักงาน จำนวน 2 โพสต์ (ในช่วงเดือน มิ.ย. 2562 และ ส.ค. 2563)


ความผิดในฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 328 และตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16


ระหว่างกระบวนการสืบพยาน ศาลสั่งงดสืบพยานปาก พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เสียหาย เห็นว่าไม่เป็นที่แน่นอนว่าพยานจะสามารถมาเบิกความได้


ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 อัยการโจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, พยานคนกลางผู้ได้อ่านข้อความตามฟ้อง, เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย, พนักงานสอบสวน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้เสียหายของคดีนี้


ฝ่ายจำเลย ทั้งทนายและจำเลยร่วมกัน แถลงถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่าจำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่น และในการต่อสู้คดีจะนำสืบพยานฝ่ายจำเลยรวม 4 ปาก ประกอบด้วย จำเลย, ผู้รวบรวมสถิติจาก iLaw และนักวิชาการ 2 ราย ซึ่งจะให้ความเห็นเรื่องอำนาจของประชาชนในการตั้งคำถาม กับบทบาทในการตรวจสอบในการใช้อำนาจของนายกฯ และการฉ้อฉลเชิงอำนาจ


ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลเจ้าของสำนวนทำการปรึกษากับอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว ก็ได้มีคำสั่งไม่ให้ออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ให้ส่งเป็นหนังสือเชิญแจ้งให้มาเป็นพยานแทน


ในระหว่างที่มีการสืบพยาน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้เสียหาย มิได้มาเบิกความต่อศาลตามที่ได้รับหนังสือเชิญแจ้ง โดย อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเป็นผู้แจ้งความในคดีได้แถลงต่อศาลว่า เหตุที่ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้เนื่องจากไปปฏิบัติราชการอยู่ต่างประเทศ คือไปเข้าร่วมประชุมเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียน - สหภาพยุโรป ที่ประเทศเบลเยี่ยม


จากนั้นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงเห็นสมควรให้งดสืบพยานปากผู้เสียหาย โดยระบุพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานไม่สามารถมาเบิกความได้ ประกอบกับคดีนี้จำเลยยังถูกคุมขังอยู่ ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และหากเลื่อนนัดออกไปก็ไม่เป็นที่แน่นอนว่าพยานจะสามารถมาเบิกความได้ จึงเห็นสมควรให้งดสืบพยานปากดังกล่าว


ศาลได้ลงคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายสมบัติ ทองย้อย 8 เดือนกับอีก 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หมิ่นประยุทธ์

"ก้าวไกล" ยื่นหนังสือ"ประธานศาลฎีกา" ถามแนวทางการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ร้องให้ยึดหลักนิติรัฐ-ความยุติธรรม เชื่อสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้คลี่คลายได้

 


"ก้าวไกล" ยื่นหนังสือ"ประธานศาลฎีกา" ถามแนวทางการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ร้องให้ยึดหลักนิติรัฐ-ความยุติธรรม เชื่อสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้คลี่คลายได้

 

วันนี้ (31 ม.ค. 66) ที่สำนักงานศาลฎีกา พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส. พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อสอบถามประเด็นบรรทัดฐานในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาจากคดีการแสดงออกทางการเมือง ทั้งขอให้พิจารณาดำเนินการตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม จากกรณีที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนักกิจกรรมทางการเมือง ส่งผลให้ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเองและอดน้ำ-อาหาร เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม เป็นต้นมา

 

โดย พิธา ร่วมกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวบริเวณหน้าสำนักงานศาลฎีกา และรายละเอียดในหนังสือมีใจความดังนี้

 

ด้วยขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในฐานความผิดจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดีไม่ได้รับการเคารพสิทธิประกันตัว ทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้และรัฐจึงเคารพสิทธิดังกล่าวนั้น และพึงระมัดระวังการใช้อำนาจรัฐในทางปฏิเสธสิทธิประกันตัวของประชาชน กระทั่งได้มีกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เรียกร้องให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย และขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอดอาหารของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองในปัจจุบัน และขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติการตามสิทธิ หน้าที่ และอำนาจ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน เคารพในสิทธิและเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้การรับรอง

 

ข้าพเจ้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังมีรายนามตอนท้ายหนังสือนี้ ขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่บอบบางต่อสิทธิมนุษยชน และท่าทีของศาลยุติธรรมในการกำกับดูแลของประธานศาลฎีกา (“ท่าน”) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกิจการในศาลยุติธรรม รวมถึงการควบคุมหรือรักษาความเป็นเอกภาพของคําพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

 

ทั้งนี้ ตามนัยแห่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107- 135 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องรายงานคดีต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาต้องรายงานคดีต่อประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยตามข้อ 14 แห่งระเบียบดังกล่าว ระบุว่า “การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามข้อ 13 ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และให้แสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ข้าพเจ้าดังมีรายนามตอนท้ายหนังสือนี้ จึงใคร่เรียนสอบถามว่า การที่ศาลยุติธรรมมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในฐานความผิดอันเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ดี มาตรา 116 ก็ดี หรือมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องก็ดี ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำผิดจริงตามคำฟ้อง อันพึงสันนิษฐานว่าบุคคลดังกล่าวยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ หรือมีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญานั้น เป็นคำสั่งอันเนื่องจากการควบคุมความเป็นเอกภาพของคำสั่งศาลตามนัยแห่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลหรือบังคับบัญชาของท่านหรือไม่

 

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า สถานการณ์ที่บอบบางต่อการประกันสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ในปัจจุบัน อาจคลี่คลายได้ด้วยการที่ศาลยุติธรรม โดยกำกับดูแลหรือบังคับบัญชาของท่าน เคารพหลักนิติรัฐและจรรโลงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการยื่นหนังสือ มีตัวแทนจากประธานศาลฎีกาออกมารับหนังสือ ทำให้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงแนวทางการติดตามความคืบหน้าและถามถึงความเป็นไปได้ในการเปิดพื้นที่พูดคุยถึงบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรม แต่เจ้าหน้าที่มีท่าทีบ่ายเบี่ยง ให้เพียงชื่อและหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อเท่านั้น

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ตะวันแบม #คืนสิทธิประกันตัว




เปิดความคิดเห็นของ “จตุพร พรหมพันธุ์” กรณี บางซื่อกับหัวลำโพง ในการต่อสู้ปี 2553 เพื่อเป็นหลักฐานให้คนเสื้อแดงและประชาชนใช้ดุลยพินิจและแสดงความคิดเห็น

 


เปิดความคิดเห็นของ “จตุพร พรหมพันธุ์” กรณี บางซื่อกับหัวลำโพง ในการต่อสู้ปี 2553 เพื่อเป็นหลักฐานให้คนเสื้อแดงและประชาชนใช้ดุลยพินิจและแสดงความคิดเห็น


ถอดเทปจากบางส่วนของรายการ “ประเทศไทยต้องมาก่อน” ตอน “หน้าไหว้หลังหลอก” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566


เมื่อเช้านี้คุณอดิศร เพียงเกษ ซึ่งครั้งแรกก็โพสต์เล่นงานผมก่อน คุยด้วยท่วงทำนองดุดัน เมื่อวานนี้ผมก็ตอบไป มาเมื่อเช้านี้ท่วงทำนองก็สุภาพ แต่ก็มีท่วงทำนองลักษณะน้ำกรดแช่เย็น น้ำผึ้งอาบยาพิษ เพราะฉะนั้นผมเรียนไปยังพี่อดิศร เพียงเกษ เราก็มีส่วนดี ๆ ที่สุดในชีวิตกันมากมาย เพราะรู้จักกันมานาน ร่วมกันตามสู้กันมานาน ให้การยอมรับนับถือกันตลอดเส้นทาง คุณอดิศร เพียงเกษ เองก็ประกาศชัดว่าเป็นส.ส.มา 5 ครั้ง ส.ส.เขต 4 ครั้ง บัญชีรายชื่อ 1 ครั้ง แต่ก็นับแล้วทั้ง 5 ครั้ง พรรคการเมืองคนละพรรคทั้งสิ้น ไม่ซ้ำ


เพราะฉะนั้น คำว่าภักดีกัน การเป็นนักการเมือง 5 ครั้ง 5 พรรคการเมือง นั่นก็เป็นตัวอธิบาย แต่นั่นก็เป็นสิทธิส่วนตัว ความสัมพันธ์ร่วมเวทีปราศรัยของไทยรักไทย หรือแม้กระทั่งกระบวนการคนเสื้อแดง ก็ต่างคนต่างทำหน้าที่ร่วมกัน และก็มีมุมหนึ่งที่ท่านภาคภูมิใจว่าไปเสนอแต่งตั้งให้ผมเป็นรองโฆษกพรรค ก็ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร แต่ว่าเมื่อมีการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 หลังจากผมและคณะไปแถลงต่อสู้อยู่ที่ทำการพรรค เพราะแทบไม่เหลือใครแล้ว ต่อมาก็ได้ลาออกเพื่อมาต่อสู้กับคณะยึดอำนาจคมช.ชุดนั้น ก็คืนตำแหน่งนี้ให้กับพรรคไป


ทั้งหมดนี้ ความสัมพันธ์อันดีไม่มีปัญหาอะไรกันเลย ความเป็นจริงหลากหลายเรื่องราวที่ คุณอดิศร เพียงเกษ ได้หยิบยกมาว่า ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินบริจาค แล้วก็คำว่า “สู้แล้วรวย” ว่าผมรวยมาก และรวมกระทั่งว่า อ้างว่าคนส่งกลอนมาแล้วก็อ่านกลอน ว่าไปรับงานไปรับเงินมาแล้วก็มาพูดเรื่องนี้เพื่อที่จะมาหยุดแลนด์สไลด์ที่ว่า แล้วก็อุปมาอุปไมยไม่ต่อปี 52 แต่ต่อปี 53 ว่าตัวเองตัดสินใจลงที่บางซื่อ แล้วผมไปลงที่หัวลำโพง มีปัญหาว่าเมื่อได้วันเลือกตั้งแล้วก็ควรจะหยุด


ความเป็นจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีการคุยอย่างตรงไปตรงมา เพราะทุกคนไม่อยากจะขยายบาดแผล แต่ว่าเมื่อ คุณอดิศร เพียงเกษ ซึ่งความจริงผมก็ไม่ได้โกรธอะไร เมื่อตั้งใจต้องการจะมาพูดเรื่องบางซื่อกับหัวลำโพงในการต่อสู้ปี 53 ว่ามีบางคนลงที่บางซื่อ มีบางคนลงที่หัวลำโพง


สถานการณ์ลองทบทวนสั้น ๆ ช้า ๆ ในสถานการณ์สมรภูมินั้น เหตุการณ์ความตายมีเป็นจำนวนมาก และก็จนกระทั่งว่าหลายคนเกือบทั้งหมดแบกรับสถานการณ์ไม่ไหว ผมรู้สถานการณ์ซ้อนว่าจะมีคนไม่เห็นด้วยกับการยุติเวที มีการประชุมกันที่ตู้คอนเทนเนอร์หลังเวที ทุกเสียงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เลยนะ ยกเว้นผมคนเดียว เป็นเอกฉันท์ก็ไม่ได้ มีผมคนเดียว ว่าต้องยุติเวที บัดนี้เราได้เวลาเลือกตั้งแล้ว ผมบอกว่าผมไม่คาดคิดว่าวันนี้จะต้องมากล่าวลาหรือมาเห็นต่างกับคนทุกที่มีความรักกันเพราะว่าผูกพันการต่อสู้จนถึงนาทีนั้น และทุกคนคิดอย่างเดียวกันยกเว้นผมคนเดียว


ผมอธิบายความว่าถ้าเราไปขึ้นบนเวทีว่าบัดนี้เราได้วันเลือกตั้งแล้ว ถ้ามันไม่มีหีบศพอยู่ด้วย จะไม่เกิดเหตุการณ์อะไร แต่มันมีหีบศพ นักการเมืองพอได้หีบบัตรแล้วจะทิ้งหีบศพ เราจะตอบคำถามกับผู้ชุมนุมและญาติผู้ชุมนุมและคนเกี่ยวข้องกับความตายไม่ได้เลย นี่เป็นประการแรก


ประการที่สอง จะมีการยึดเวที พูดง่าย ๆ ว่าจะมีการรัฐประหารเวทีทันทีที่บรรดาแกนนำทั้งหลายขึ้นไปกล่าวยุติการชุมนุม ก็จะมีอีกชุดหนึ่งเข้ามายึดเวทีแทน และพอชุดนี้ สถานการณ์จะตึงเครียดและความตายจะมากกว่าเดิม เพราะว่าเรามีหน้าที่ในการพยายามอธิบายห้ามผู้คนและให้ยืนยันแนวทางสันติวิธี เพราะการสู้กลางแจ้ง ถ้าสู้ทางการทหารผิดหมด เราต้องสู้ทางการเมือง และถ้ามีการทหารเมื่อไหร่ พังทันที ผมอธิบายว่าเราจะลงจากเวทีนี้อย่างคนที่อัปยศอดสูที่สุด เพราะเวทียังต้องเดินต่อไป และผมก็ชี้ตัวให้เห็นเลย เพราะเจ้าของเวทีที่จ่ายค่าเวทีตัวจริงเขาไม่ต้องการให้ยุติเวที แต่ทุกคนมันตกใจ พูดง่าย ๆ ว่าใจถอดหมดแล้ว


และผมเองก็อธิบายความให้ฟังกันว่า ประชาชนอย่างไรเขาไม่กลับ เมื่อเขาไม่กลับเราจะไปยังไง คิดจะลงเลือกตั้ง คุณจะมีหน้าไปพบคนเหรอ? ถ้าวันนั้นไม่มีการคิดในเชิงซ้อนนะที่จะมีอีกชุดหนึ่งยึดเวที เอาล่ะ! อธิบายกับประชาชนก็พอ ๆ ถู ๆ ไถ ๆ ได้ ก็ปรากฏว่าก็กล่าวคำลากัน และผมก็พูดท้ายว่าปี 2535 ตรงกับวันนี้เลยนะ ตรงกับวันที่ยุติการชุมนุม ปี 35 ปี 53 แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ถึงวันที่ 13 ผมก็หลุดไปที่รามคำแหงพวกที่อยู่บนเวทีเพียงแค่คนเดียว แล้วก็นำทัพ กว่าพรรคพวกหมู่มิตรจะตามกันมายากลำบากมาก ผมอยู่ในบรรยากาศนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นขออยู่ส่งประชาชน ก็ถือว่าก็แยกย้ายกันไป


ผมพยายามจะไม่เล่า เพราะว่ามันกระทบกระเทือนใจกันหลายคน แต่ที่ผมบอกไงว่า มันมีการวางแผนซ้อนเวทีอยู่แล้ว และคนที่ทำได้ก็คือคนเดียว พอประชุมเสร็จผมก็ได้รับโทรศัพท์ก็ตามคลิปเลย ก็คือนายกฯ ทักษิณ ที่ต้องพูด ก็โทรมาถาม ความจริงผมไม่เคยพูดที่ไหน เรื่องนี้ถ้าหลุดไปก็ไม่เคยเกิดจากผมมาก่อนเลย แต่เมื่อคุณอดิศร เพียงเกษ หยิบยกเรื่องนี้มา นายกฯ ทักษิณ บอกว่า “หยุดเวทีได้อย่างไร? ผมได้อะไร”


ผมรู้เรื่องนี้กันมาตั้งแต่ต้นว่าจะมีการซ้อนเวที ถ้าซ้อนเวที แน่นอนที่สุดมันจะเป็นปลายอีกมุมหนึ่ง ความรุนแรงมันก็จะเกิด มันจะคุมไม่อยู่ ผมจึงต้องหักกับทุกคน ผมก็บอกว่าอย่างนี้ ว่าถ้าอย่างนั้น เพื่อให้เวทีเดินต่อ แต่ผมเชื่อว่าคงไม่อยู่ครบแล้ว คนที่เคยเป็นลูกพรรคของท่าน ท่านเคลียร์ไป บรรดาสายนักเคลื่อนไหว ผมจะเคลียร์เอง ความจริงแยกกันแล้วนะ


พิธีกร : วันนั้นกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็ตัดสินใจออกเหมือนกัน เป็นส.ส.เหมือนกัน


จตุพร : เป็นหมด


พิธีกร : ไปเอาหีบบัตรเหมือนกัน


จตุพร : ก็เหลือผมคนเดียว ผมก็ต้องตามมาเคลียร์ คนใกล้ชิดของผมบอกว่าใครหนีก็ได้ เราห้ามหนีนะ แล้วก็อธิบาย สุดท้ายก็เหลือตามจำนวนที่ปรากฏเห็น นายกฯ ทักษิณ ก็ไปเคลียร์กับนักการเมือง ลูกพรรค ที่เป็นอดีตส.ส. อะไรของท่าน ท่านก็ว่าไป ผมก็เคลียร์กับนักเคลื่อนไหว เวทีก็เดินมาถึงวันที่ 18 ที่วุฒิสภามาเจรจา และจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 19 ซึ่งก็เป็นความเจ็บปวด เป็นความขมขื่น


ถ้าวันนั้นเราไม่ยืนแข็งแรง เวทีเขาไม่กลับอยุ่แล้ว เจ้าของเวทีเขาไม่เลิก และอีกชุดหนึ่งจะเข้ามาซ้อน ถ้าผมไม่อยู่คานเอาไว้นะ เพราะว่าเรามีประสบการณ์ในการที่จะควบคุมไม่ให้เกิดปัญหา และนาทีนั้นโอกาสตาย 100% อยู่แล้ว หนักมาก เพราะว่าการที่ยืนอยู่เสี่ยงที่สุดอยู่แล้ว


ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ความเป็นจริงผมไม่อยากเล่าเลย เมื่อคุณอดิศรได้หยิบยกเรื่องนี้มา อดิศร เพียงเกษ เขาก็เล่าให้ฟังว่า หลังจากนั้นเขาก็ไปประเทศลาว เขาใช้คำว่าประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ลาวสักพักผมก็รู้ว่าก็ไปอยู่กัมพูชากับแรมโบ้ ที่พยายามล้อผมว่าแรมโบ้ 2 คนที่ไปอยู่กับแรมโบ้จริง ๆ ก็คือคุณอดิศร เพียงเกษ


วันนั้น เวทีวันที่ 19 คนที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ซึ่งความตายมันมากเหลือเกิน ธนาวุฒิบอกห้าม ๆ เราอย่าขึ้น เขาขอขึ้น ๆ เขาพูดเอง ๆ แต่ว่าสุดท้ายเมื่อเหลือจุดสุดท้ายคือที่เวที คือมันล้อมหมดแล้ว เอาไม่อยู่แล้ว หน้าเวทีมีแต่คนแก่กับผู้หญิงประมาณสัก 500 คน และทุกคนพร้อมตายแล้ว คืออารมณ์มันมาถึงว่าพร้อมพลีชีพแล้ว เราเองก็ห่วง ผมก็นอนเก้าอี้ผ้าใบ เดี๋ยวก็มีคนมาลาไป ๆ ไปเถอะ ๆ เราก็รอเวลา จนกระทั่งขึ้นไปยุติการชุมนุม เพราะว่าถ้ามียุติ ความตายอย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้น ณ เวที เพราะเป็นจุดสุดท้าย


ผมเล่ามาถึงตอนนี้เพื่อจะบอกว่า หลายปีต่อมา มืองานคนสำคัญก็มาเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งว่าวันนั้นมีการวางแผนที่จะยิงถล่มเวทีขณะที่ขึ้นกล่าวยุติ แต่มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่ตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผมไม่ควรจะอยู่อีกแล้วตรงนั้น ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจเรื่องหัวลำโพงกับบางซื่อ ผมไม่โทษพี่วีระนะที่กล่าวลาออกจากการเป็นประธาน เพราะว่าทันทีที่ลูกชายถูกเอาปืนจี้ เรื่องราวมันก็เปลี่ยนแปลงไป คนเป็นพ่อคน ก็ไม่โทษกัน ไม่ว่ากัน แต่ว่าผมในฐานะเรารู้สถานการณ์ รู้ทุกมุมการชุมนุม แม้ว่าเจอหรือไม่เจอ ผมนั่งอยู่ผมก็เช็คการข่าวผมละเอียดยิบ


ผมรู้เลยวันนั้นถ้าเป็นเอกฉันท์ ถ้าผมไม่ทัดทานเอาไว้ ขึ้นเวทีพลั้ว พอลงจากเวทีอีกชุดหนึ่งเข้าไปยึดเลย เจ้าของเวทีเขาไม่ให้หยุด แต่ว่าชุดที่สู้อยู่ ณ ขณะนั้นใจถอดหมดแล้ว ยอมหมดแล้ว แต่ว่าผมก็อธิบายว่าอย่างไรประชาชนไม่มีวันจะกลับเลยนะ นอกจากไม่กลับ อีกชุดหนึ่งจะมายึดเวที นี่ก่อนเกิดเหตุการณ์ เสธ.แดง ถูกสไนเปอร์


ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่าหัวลำโพงมันจำเป็น เพราะมิฉะนั้นมันจะตายนองเลือดที่บางซื่อชนิดที่มากกว่า อาจจะเป็นหลายร้อยศพก็ได้ ที่ต้องลากไปหัวลำโพงเพื่อจะลดความตายที่จะเกิดขึ้น แล้วเจ้าของเวทีเขาก็เตรียมการอีกชุดหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงบอกว่าเหตุที่ต้องเดินได้ต่อไง ก็นักการเมือง นายกฯ ทักษิณ เคลียร์ นักเคลื่อนไหว ผมเคลียร์ แต่ผมไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นเพราะผมเห็นเกมส์ทั้งสนาม เห็นเกมส์ทั้งกระดานว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมก็อธิบายชัดว่าไม่ควรจะเกิดปรากฏการณ์อันนี้เลย ทั้งห้องมีผมเสียงเดียว แต่เพราะว่าผมเห็น ผมอธิบายว่านี่ไง ชี้ให้เห็นเลย แต่ทุกคนหันหัวไปแล้ว


การที่คุณอดิศร เพียงเกษ มายกเรื่องนี้ก็ดีแล้ว ว่าวันนั้นที่ผมต้องไปหัวลำโพง และถ้าผมลงบางซื่อตามคุณอดิศรไปวันนั้น และอีกหลายคน ที่นั่นจะนองเลือดหนักกว่าเดิม เลือดนองท้องช้าง เพราะว่าเจ้าของเวทีเขาไม่ยอม และมีชุดหนึ่งซึ่งเป็นคนของเจ้าของเวที และเราก็จะเป็นหมาเลย นี่จะเป็นหมาจริง ๆ เลย เห็นหีบบัตรแล้วทิ้งหีบศพเลย ผมพยายามจะไม่พูด


ประเด็นต่อมาพี่อดิศรบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นแกนนำ เอาล่ะ ผมก็บอกว่าแกนนำมันเป็นคำสมมุติ แล้วก็บอกเรื่องตำแหน่งประธานนปช. ผมบอกว่าเวลานี้ผมไม่ได้ใช้เลย แต่ละคนก็ไปใช้ตำแหน่งอื่นหมดแล้ว เช่น ณัฐวุฒิ ก็เป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย อ.ธิดา ก็เป็นคณะทวงคืนความยุติธรรม ผมก็คณะหลอมรวมประชาชน ไม่มีใครไปใช้ในตำแหน่งนี้ก็ฟรีซ หมายความว่าก็ยุติกันไปในทางชื่อตำแหน่ง ส่วนใครจะอย่างไรก็ว่ากันไป เพราะว่าต่างคนต่างไม่ใช้กัน ไอ้ที่บอกว่าอย่ามาเป็น บัดนี้ต่างคนต่างไม่ใช้


ประเด็นต่อมาบอกว่า เรื่องเงินบริจาค คือผมก็ฟ้องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ปากดี ศาลจำคุก 2 ปี แต่ว่ารอลงอาญา ที่กล่าวหา คนที่อยู่ในที่ชุมนุมที่เป็นคีย์แกนทั้งหลายต้องรู้ว่าผมไม่เคยยุ่งเรื่องการเงินเลย ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาคหรือจะเป็นเงินใดก็ตาม ผมไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ยุ่ง และไม่ประสงค์จะไปรับรู้ด้วย แต่เวลาที่ต้องตอบคำถามมันก็มักจะยัดใส่ทั้งที่ผมไม่เกี่ยวข้องเลยในปี 2553 ปี 57 ผมก็อธิบายความแล้วว่าก็ให้คนไปรับผิดชอบ ผมไม่ประสงค์จะยุ่งเรื่องนี้


ทีนี้คุณอดิศร เพียงเกษ ก็บอกว่าโดยพยายามอ่านกลอน ตัวเองนักกฎหมายนี่ ว่ามีคนส่งกลอนมาให้เพื่อจะบอกว่าเป็นการรับเงินมาในการออกมาพูด และก็สู้แล้วรวย ปัจจุบันฐานะร่ำรวยมาก คุณอดิศรฟังผมดี ๆ นะ คุณอาจจะไม่มีความรู้สึกเพราะคุณเป็นผู้แทน 5 ครั้ง 5 พรรคการเมือง แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ถ้าผมเป็นคนไม่อดทนนะ หลากหลายเรื่องราว นี่ผมพูดครั้งแรกนะ เรื่องนี้พูดครั้งแรกนะ และผมเองก็ถ้าไม่มีเรื่องอะไรกระทบกระเทือนจิตใจมากมายผมก็อยู่ตามประสาผมอยู่แล้ว เพราะว่าผมเป็นคนปากกับใจตรงกัน ใช่คือใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่ และอะไรที่มันผิดผมก็ต้องบอกผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯ ทักษิณ ไม่ประสงค์จะฟัง เพราะแน่นอนที่สุดเวลาต่อสู้ก็ดีกันอยู่นะ แต่เวลาชนะนี่ผมเป็นยาขม เพราะผมคอยทักท้วงเพราะผมรู้ว่าอะไรจะเกิดปัญหา เพราะเราเห็นเลือดเห็นความตายของประชาชน กว่าจะได้ชัยมามันแลกด้วยเลือดเนื้อชีวิตและคราบน้ำตา แต่อย่างที่บอกเอาชัยชนะไปให้ผู้ฆ่าหมายความว่ายังไง


กรณีนี้ก็เหมือนกัน ถ้านายกฯ ทักษิณ ไม่พูดถึงผมก่อนที่ฮ่องกงไม่มีวันนี้ เรานั่งจัดรายการกันมาคณะหลอมรวม ผมกับพี่นกเขาและคณะ ภารกิจเพื่อนับหนึ่งประเทศไทย คำว่าประเทศไทยต้องมาก่อน และหลัก ๆ นอกจากเรื่องปลดแอกพลังงานแล้วก็เรื่องการขับไล่ การหยุดระบอบ 3ป หยุดประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เกี่ยวอะไรกับทักษิณเลย แต่การที่นายกฯ ทักษิณ มาพูดดูถูกดูแคลน ถ้าสัญชาตญาณขี้ข้าอย่างถาวรอาจจะทนได้ ผมยอมรับบางเวลาก็เป็นขี้ข้าเหมือนกัน แต่ผมก็ใฝ่ฝันหวังรอถึงวันอิสรภาพ เพราะว่ามันไม่ใช่ผมไปสยบยอม แต่มันระหว่างทางมันมีประวัติการต่อสู้ มันมีเรื่องราวเกี่ยวข้องผูกพัน มันเรื่องความตายเยอะแยะกันไปหมด มันเลือดท่วมปาก แต่ว่าไม่ใช่สยบยอม ถ้าต้องการจะสอพลอไม่ยากลำบากหรอก ไม่ใช่ขี้ข้า แต่บางเวลาดูเสมือนว่า การยอมให้ถูกกระทำดูเสมือนหนึ่งว่าเป็นขี้ข้า แต่ว่าที่ยอมกันนั้นเพราะประชาชนเขาตาย เขาบาดเจ็บ เขาเจ็บปวด เขาไม่อยากได้ยินเรื่องแบบนี้ ไอ้ที่พูดเนี่ยไม่มีใครอยากได้ยิน ผมก็ไม่ได้อยากพูด แต่ว่าเมื่อ อดิศร เพียงเกษ เขาหยิบยกเรื่องนี้มา ผมบอกว่าวันนั้นถ้าผมตามลงบางซื่อด้วย ขาดผมคนเดียวนี้ ป่านนี้ตายเป็นเบือ เพราะเจ้าของเวทีเขาไม่ยอมจบ เตรียมอีกชุดหนึ่งเข้ามายึด


“เป้าสังหาร” เป็นที่รู้กัน คือหมายความว่า คือผมก็ได้ยินมาอยู่แล้วว่าเป็นการร้องขอจากฝ่ายเดียวกันให้จัดการผมเองด้วยซ้ำ เราก็ทนเพราะในสังคมนี้ การที่เราเป็นคนจิตใจนักเลงในแต่ละแวดวงทางการข่าวเราก็จะครบถ้วน แม่นยำ และจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 53 ผมแถลงข่าวบางครั้งก็ล่วงหน้าก่อนโฆษกศอฉ.อีกนะ การข่าวผมเป๊ะ ๆ ๆ ๆ กันทั้งนั้น เมื่อหยิบยกเรื่องนี้มาก็ได้อธิบาย ผมบอกกับคุณอดิศร เพียงเกษ ว่า ถ้านายกฯ ทักษิณ ไม่พูดในลักษณะดูถูกความเป็นมนุษย์ ผมก็กล้ำกลืนต่อได้ คุณอยากจะแลนด์สไลด์ก็ช่างหัวคุณ คุณอดิศร เพียงเกษ ซึ่งเอาคนไปต่อสู้สมัครเขต 2 ขอนแก่นแล้วไม่ได้ ความจริงก็ไปคุยที่ต่าง ๆ แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรคุณก็อยู่ได้ตามปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร


แต่ว่าการพยายามที่จะอธิบายใส่ความยัดเยียด แบบนายกฯ ทักษิณพูดนั่นแหละ ว่ารับเงิน ถ้ารับเงินผมจะถูกขัง 3 รอบ ผมจะมาไล่ประยุทธ์ ในช่วง 8 ปีนี้ ประยุทธ์ก็ไม่อยากจะมีเรื่องกับผมหรอกเอาว่าจริง ๆ แต่ว่าเขาไม่รู้จะสู้ยังไงกับผมเขาก็ต้องเอาไปขัง ถามว่าคุณอดิศรเคยถูกขังสักครั้งแล้วหรือยังตั้งแต่สู้มา คนเราไม่ใช่ สำนวนไทยเขาว่า “แก่เพราะกินเหล้า เฒ่าเพราะอยู่นาน” หรือว่าเพราะเกิดก่อนแล้วจะถูกนะ แต่ถ้าเกิดก่อนแต่ไม่มีศักดิ์ศรี เป็นมนุษย์ มันก็เสียชาติเกิดเท่านั้น ผมเนี่ยให้ความนับถือ เรียกพี่ทุกคำ เคารพนับถือไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ว่าการขึ้นเวที เช่นว่าไปประณามคนที่เขาไปโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประณามได้นะ แต่พรรคเพื่อไทยรับคนเหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไอ้คนที่โหวตน่ะคุณจะไปว่าไอ้คนที่มาเห็นมั้ย มันหาเสียงมันย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง ก็คุณแสดงด่าสาดเสียเทเสียไปดูคลิปซิ แต่เพื่อไทยก็เอาคนโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาไม่ใช่หรือ มาตรฐานตรงไหน


ต่อมาครับ บอกว่าใช้ภาษากล่าวหา “สู้แล้วรวย” รวยมาก ผมบอกว่าบรรดาแกนนำในระดับหัวแถว ผมนี่สาหัสที่สุดนะ ผมนี่จำเป็นจะต้องออกมาจากอิมพีเรียลและก็ต้องมาสร้างที่นี่ เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แต่เมื่อผมถูกนายกฯ ทักษิณ แกลวงไปสังหาร และกระบวนการต้องแยก ผมอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่กินน้ำเห็นปลิงกันแล้ว มันอยู่ไม่ได้จริง ๆ และมาหาสถานที่ที่ต้องเช่าเขา และก็ต้องมาสร้างในวันที่มันโควิด ในวันที่คสช.ยึดอำนาจอยู่ ยากที่สุด พยายามมา 8 เดือนแล้วมีแต่เสาขึ้นโด่เด่ ไม่รู้จะไปยังไง เล่าให้ฟังกันหลายครั้งว่าหมดหนทางจริง ๆ ยืมหนี้ยืมสินพรรคพวกที่มีฐานะหน่อยก็ช่วยมาบ้าง เพราะมันลำบากกันทั้งนั้น บางคนไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองอะไรเลยมาให้หยิบยืมสตางค์ แต่ว่ามันก็ไม่เพียงพอหรอกเพราะสร้างใหญ่มา หนี้สินเยอะแยะกันไปหมด มันก็ยากที่จะเสร็จ ยอมรับจริง ๆ ว่ามันไปไม่ได้ ผ่านไป 8 เดือนแล้วยังไปไม่ได้เลย ผมจะยอมแล้วนะ ยอมรับความเป็นจริงแล้วว่าคงสร้างไม่ได้ ตังก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ขอบริจาคชาวบ้านจะเอาตังที่ไหน ชาวบ้านก็ลำบาก มันมาเจอเหมือนกันหมด


เพราะฉะนั้นที่พี่อดิศรบอกว่ารวยมาก พี่มารับหน้าที่ตรงนี้มั้ย หนี้สารพัด หนี้ดาวเทียม สัญญาณเน็ต หนี้พนักงาน ส่วนตัวก็คือว่าคดีแพ่งที่ฟ้องผม ศาลฎีกาแพ่งบอกว่านายจตุพรพูดไม่มีลักษณะยุยงให้เผาบ้านเผาเมือง พูดเหมือนกับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ให้ยกฟ้องนายกฯ ทักษิณ ให้ลงโทษนายจตุพรเพราเป็นประธานนปช. ซึ่งขณะนั้นผมไม่ได้เป็น อนิสงฆ์ก็คือว่าพอคดีทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย บ้านที่ลูกชายอยู่ผมก็โอนไปให้แม่เขา เขาก็ตามไปฟ้องยึด ผมก็เชื่อว่าจะต้องเสียโดยปริยาย เราก็ไม่คาดคิดเพราะว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการกระทำความผิดไฟไหม้ และในคำพิพากษาก็บอกว่าไม่ได้มีลักษณะพฤติกรรมพูดยุยงให้เผาบ้านเผาเมือง แต่ว่าก็ต้องสูญเสียบ้าน เขาฟ้อง 2 ศาล ศาลแขวงดอนเมืองวันที่ 13 ก.พ. แล้วก็เดือนมีนาก็ศาลแพ่ง อย่างไรก็ต้องเสียบ้านไปเพื่อส่วนรวม


เพราะฉะนั้นคุณอดิศร เพียงเกษ อาจจะมองภาพปรากฏว่ารวยมาก พี่อดิศรมารวยแถวนี้มั้ย คือบางครั้งคนที่มองมาจากภายนอกบางวันเช่นว่าใครมาจัดงานโน่นนี่นั่น หมู่มิตรทั้งนั้น แต่คนมามองเห็นว่าภาพน่าจะมีตัง คือแบบเราหน้าไม่ยินยอมต่อความยากลำบาก ที่บอกว่าสู้แล้วรวยไม่ใช่ผมแน่นอน คุณอดิศรเองต้องดูว่าใครรวย ถ้ามาที่ผมก็พิสูจน์ได้ มีรายได้หลักจากบำนาญผู้แทนเดือนละ 1.2 หมื่น


ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะคุณอดิศรได้ตั้งคำถาม แม้ว่าจะพูดเรียบร้อยกว่าเดิมแต่ว่าแฝงไปด้วยน้ำกรดแช่เย็น น้ำผึ้งอาบยาพิษ แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ทักษิณ เริ่มต้นจากนายกฯ ทักษิณก่อน ก็เป็นธรรมชาติซึ่งคนที่อยู่กับนายกฯ ทักษิณจะต้องออกมาสวนกับเรา ซึ่งครั้งนี้ถือว่าน้อยมากกว่าครั้งไหน ปกตินี่เรียงกันมาเป็นตับ


อย่างที่บอกว่าการทำสงครามกับหมู่มิตรเป็นเรื่องที่ยากที่สุดและก็พยายามจะหลีกเลี่ยง แต่ว่าพอถึงจุดหมดความอดทน ไม่มีทางเลือกก็ต้องรบกัน ก็ต้องสู้กัน วันนี้ยังไม่ถึงขั้นสงคราม แต่ว่าถ้าเดินกันไปถึงจุดหนึ่ง ยิ่งมาดูถูกดูแคลนไม่เลิกแบบนี้นะ ไอ้ที่คุณกล่าวหาผมว่าขัดขวางโน่น ขัดขวางนี่ ผมจะทำตามที่ปากคุณว่า เพราะตอนนี้ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลย ผมแค่ป้องกันตน ตามที่คุณกล่าวหา แต่สัญชาตญาณประเภทนายว่าขี้ข้าพลอย ซึ่งไม่ควรที่จะกระทำ นักการเมือง 5 สมัย 5 พรรค เป็นตัวอย่างของความภักดีได้ดีมาก ท่านบอกว่าผมเปลี่ยนแปลงไปหน้ามือเป็นหลังมือ เอาล่ะท่านเป็นคนที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็ว่ากันไป เราก็ตอบกันด้วยความอดทน ส่วนที่ดีก็ยังมีกันอยู่ มันลบกันไม่ได้หรอก แต่ว่าไอ้ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องว่ากันไป เพราะยืนอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ผมก็คงไม่ยืนให้ถูกชกฟรีหรอก ก็ต้องใช้สิทธิ์ และถ้าไม่หยุดผมก็จะใช้สิทธิ์มากตามลำดับ


วันนี้เรื่องที่ผมไม่ควรจะเล่าถ้าอดิศร เพียงเกษ ไม่หยิบยกมา เมื่อเล่าแล้ว คนที่ต้องชักตาตั้งไม่ใช่คุณอดิศร เพียงเกษ แต่เป็นอีกคน ซึ่งความจริงจะหลุดจากปากผมนี่ยากมาก แต่ว่าเมื่อต้องการจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ผมก็ต้องจัดให้ คือในการต่อสู้นี้ ถ้าผมเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ป่านนี้พวกนี้ถลกหนังผมแดงเถือก แต่ผมเสียงดังได้ทุกกรณี เพราะว่าผมอยู่จนกระทั่งทุกอย่างได้สิ้นสุด และหลังจากนั้นผมมาเดินทางต่อสู้ต่อ ถ้าผมคิดเรื่องส่วนตัว ไอ้พวกที่หนีก็หนีไป ไอ้พวกที่ติดคุกก็ติดคุกไป ผมไม่ติดคุก ผมก็อยู่เฉยซิ รอเลือกตั้ง ไม่มีใครมาแข่งด้วย แต่ว่าไม่ใช่ผมไง ผมนี่ต้องฟาดฟันหลังจากนั้น 7-8-9 เดือน ฟาดฟันจนกระทั่งโกรธกัน สู้จนกระทั่งเอาเพื่อนออกมา ตัวเองเข้าไปแทน ไอ้พวกที่อยู่ต่างประเทศก็ได้กลับมาได้ แต่ตัวเองต้องเข้าคุกนะ เพราะว่ามันไปสร้างศัตรูบ่มเพาะกันมา ถ้าเราคิดแบบทักษะนักเลือกตั้งที่มันเห็นแก่ตัว เราจะทำทำไม สู้หนักอยู่แล้ว รออภิปรายในสภาก็ชำนาญการอยู่แล้ว ไอ้นั่นเป็นเรื่องที่เราเปลี่ยนแปลงกันไม่ได้


ที่หยิบยกเล่ากันวันนี้เหตุการณ์ระหว่างบางซื่อกับหัวลำโพง เพราะว่าเจ้าของรถไฟเขาไม่ได้ให้จอดที่บางซื่อ เพียงแต่ว่าถ้าทุกคนลงที่บางซื่อกันหมด วันนั้นจะตายกันเป็นเบือ ผมนี่รู้ว่าเจ้าของรถไฟเขาคิดอย่างนั้น และเขาคุยกับผม ไม่งั้นจะเดินต่อได้ยังไง ผมมีปัญญาจ่ายค่าเวทีเหรอ เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ที่ทุกคนกลัวตายสุดหมดแล้ว หาตาดำไม่เจอกันหมดแล้วแหละวันนั้น มันโหดมากนะ คือถ้าผมเอาด้วยวันนั้น 1. ที่เขาว่าหมา หมาจริง ๆ เพราะว่าได้หีบบัตรทิ้งหีบศพเลย 2. อีกพวกหนึ่งมายึดเวที และหลังจากนั้นก็จะร้อนแรงและจะตายกันเป็นเบือมากกว่านี้ เพราะเจ้าของเวทีเขายังไม่ได้อะไร ตามความที่ปรากฏ มันเป็นความรับผิดชอบ แต่เห็นแล้วว่าจะต้องแก้เกมส์แก้สถานการณ์อย่างไรเพื่อลดความตายความสูญเสีย ผมอธิบายว่าเกมส์มันเป็นเกมส์อำมหิต แต่ว่าผมไม่ไปเล่นเกมส์นี้ด้วย แต่เพื่อนทุกคนที่ประกาศแยกกันเลยนะ เหลือผมคนเดียวนี่ ไม่น่าเชื่อนะ สู้กันมาเต็มห้องนะ ทุกคนไปหมดแล้ว จะลงเวทีนี่ ลงจากเวทีให้เร็วที่สุดแล้ว ทุกคนมันเห็นสถานการณ์มันไปไกลแล้วว่าอยู่ไปมันกลัวหมดแล้วว่างั้นเถอะ ความกลัวหนัก เพราะว่ามันตายกันมากแล้ว แต่ว่าผมอธิบายว่าเดี๋ยวคนจะไม่กลับ แล้วมันจะมีคนมาซ้อนเวที ก็คือเดินเวทีต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และความแรงก็จะกำหนด ไอ้คนที่ลงเวทีก่อนก็หมาในสนาม และท้ายที่สุดที่ต้องไปต่อเพราะเจ้าของเวทีเขาบอก “ผมยังไม่ได้อะไร” และก็แบ่งกันในระหว่างเจรจา ลูกน้องที่เป็นส.ส.เก่านักการเมือง ทางนายกฯ ทักษิณ ก็ไปเคลียร์ ทางนี้ผมก็ไปเคลียร์ เวทีก็เดินกระทั่งไปถึงวันที่ 19 ตอนนั้นคุณอดิศรก็อยู่ประเทศลาวแล้ว

 

สามารถรับชมรายการฉบับเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/Jatuporn.UDD/videos/1300353277208750


เพื่อไทย รับฟังข้อเรียกร้องคณะราษฎร ยัน! ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ชี้แก้ ม.116 ทำได้ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเกินควร

 


เพื่อไทย รับฟังข้อเรียกร้องคณะราษฎร ยัน! ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ชี้แก้ ม.116 ทำได้ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเกินควร


วันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 11.00 น. พรรคเพื่อไทย นำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แพร่พรรคเพื่อไทย รับหนังสือและรับฟังข้อเรียกร้องจากกลุ่มคณะราษฎรยกเลิก ม.112 ทะลุวัง โมกหลวง กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่เสนอนโยบายเร่งด่วน 3 ข้อ ของแบม-นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ และตะวัน - นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้แก่ 1. ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกคุมขัง โดยให้ ส.ส. ได้ผลักดันต่อศาลให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข 2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยให้หัวหน้าศาลทุกภาคส่วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือได้รับรอง 3.พรรคการเมืองต้องมีนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร ด้วยการแก้ไข ม.112 และ ม.116 และกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม นั้น


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกับเยาวชนและประชาชนที่มาที่พรรคเพื่อไทย


1. การถอนประกันตัวเองและอดอาหารและน้ำ  ของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์(ตะวัน) และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)  พรรคเพื่อไทยมีความห่วงใยในความปลอดภัยแห่งชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษาทั้ง 2 คน ซึ่งควรจะมีชีวิต เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและชาติบ้านเมืองต่อไป และมีข้อฝากว่าแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แม้จะขัดต่อเจตนารมณ์และความยินยอมของผู้ป่วย ตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ข้อบังคับแพทยสภา และพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม จึงไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิตไปต่อหน้าต่อตา โดยมิได้ทำอะไรเลย

 

2. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทั้งของไทย และนานาอารยประเทศ พรรคเห็นว่าการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นนิสิต  นักศึกษา และเป็นเพียงผู้เห็นต่างทางความคิด มิได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงใดๆ ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม  คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก จึงถึงเวลาที่ควรจะได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการประกันตัวจะต้องเป็นหลัก การไม่ให้ประกันต้องเป็นข้อยกเว้น จะคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เกิน 1 ปีไม่ได้ และให้เพิ่มเติมในสิทธิกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ


3. ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า กรณีมาตรา 116 นั้นเป็นความผิดที่เรียกว่าเป็นการยุยง ปลุกปั่น เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด จนถูกเรียกได้ว่ากฎหมายครอบจักรวาล  มีองค์ประกอบหรือการตีความได้อย่างกว้างขวาง  การแก้ไขหรือยกเลิกจึงน่าจะกระทำได้


ส่วนกรณีการยกเลิกมาตรา 112 นั้น พรรคเห็นว่ามาตรานี้ บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐควบคู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การจะยกเลิกหรือแก้ไขใด ๆ มีความเห็นหลากหลายในสังคมและมีความแตกต่างกันในทางความคิดแบบสุดขั้ว อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจนยากที่จะหาบทสรุปที่เป็นไปในทางสันติและความสมานฉันท์ของคนในประเทศ การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภาที่ควรจะเป็นองค์กรรับผิดชอบโดยเร่งด่วน พรรคเพื่อไทยจะเสนอเป็นญัตติด่วน เพื่อปรึกษาหารือกันในรัฐสภา ในชั้นนี้พรรคจึ้งเห็นว่าการปรึกษาหารือกันในแนวทางปฏิบัติของการบังคับใช้มาตรา 112 จะเป็นทางออกหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้นและไม่อาจกระทำได้โดยลำพังของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากการหารือร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย และคณะราษฎร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ได้มาให้กำลังใจ และร่วมพูดคุยกับเยาวชนและประชาชนที่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นกันเอง โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ตะวันแบม #มาตรา112




“ทะลุวัง” และแนวร่วม บุกพรรคเพื่อไทย ส่งตัวแทนเจรจา จี้! แสดงท่าทีต่อ 3 ข้อเรียกร้อง “ตะวัน-แบม” ตัวแทนเพื่อไทยรับข้อเรียกร้องไว้และจะแถลงท่าทีในภายหลัง

 


“ทะลุวัง” และแนวร่วม บุกพรรคเพื่อไทย ส่งตัวแทนเจรจา จี้! แสดงท่าทีต่อ 3 ข้อเรียกร้อง “ตะวัน-แบม” ตัวแทนเพื่อไทยรับข้อเรียกร้องไว้และจะแถลงท่าทีในภายหลัง


วันนี้ (31 ม.ค. 66) เวลา 11.00 น. ที่ พรรคเพื่อไทย คณะราษฎรยกเลิก ม.112 (ครย.) พร้อมด้วย กลุ่มทะลุวัง, กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ หนอนบุ้ง, นายกฤษพล ศิริกิตติกุล หรือ โจเซฟ, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสา, น.ส.อันนา อันนานนท์, นายศุภวิทย์ เจตบำรุงศิลป์ และ น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยมีท่าทีต่อข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 ข้อ ของตะวัน-แบม ดังนี้


1. ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกคุมขัง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ผลักดันต่อศาลอาญา ให้มีการปล่อยตัวนักโทษโดยไม่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560


2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงจากการแต่งตั้งและการปฏิญาณตนกับกษัตริย์ โดยการให้หัวหน้าศาลทุกภาคส่วนมาจากการเลือกตั้งประชาชน หรือได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรและปฏิญาณตนการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาต่อสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้พิพากษามีอิสระ ห้ามไม่ให้ผู้บริหาร และอำนาจทางการเมืองทำการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี เพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรม และการปกป้องสิทธิเสรีภาพราษฎร


3. พรรคการเมืองมีนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการแก้ไขกฎหมาย ม.112 และ ม.116 และกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมือง เพื่อคืนความยุติธรรม นำผู้ลี้ภัยการเมืองกลับมาประเทศไทย ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกคดีที่เกิดจากราษฎรได้ใช้สิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้เป็นวาระแห่งชาติ


ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดเวทีขนาดย่อมบริเวณด้านหน้าที่ทำการพรรคฯ โดยมีแกนนำหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย


ต่อมาเวลา 11.55 น. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมด้วย ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ลงมารับหนังสือจากภาคประชาชน โดยก่อนเข้าเจรจาทางกลุ่มได้ส่งตัวแทน 7 คนได้แก่ เนติพร เสน่ห์สังคม (ทะลุวัง) หรือ บุ้ง ธนพร วิจันทร์ (เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน) อันนา อันนานนท์ และอ๊อกฟอร์ด (นักเรียนเลว) เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ บิ๊ก (แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) ณัฎฐธิดา มีวังปลา (พยาบาลอาสา) และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข (24มิถุนาประชาธิปไตย) เข้าเจรจากับคณะของพรรคเพื่อไทย


โดยพรรคฯ ได้เปิดห้องประชุมของพรรคฯ และส่งผู้แทนเจรจรา ได้แก่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย เข้าเจรจาด้วย โดยในช่วงแรกทางพรรคฯ เปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บบรรยากาศ และช่วงเจรจาพูดคุยกันนั้นขอให้สื่อฯ ออกไปรอด้านนอก


ภายหลังการเจรจากันเสร็จสิ้น ผู้แทนของกลุ่มฯ ได้ออกมาแจ้งกับสื่อมวลชน โดย “ไหม ธนพร” กล่าวว่า วันนี้การเจรจากับพรรคเพื่อไทยเป็นการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำในวันพรุ่งนี้คือ พรุ่งนี้จะไปหารือกับที่ประชุมในรัฐสภา ในการเลื่อนวาระการประชุมเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกินขึ้นมาพิจารณาในวาระต้น ๆ


“ธนพร” กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาได้ถามทางพรรคฯ ถึงท่าทีในการประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง โดยเฉพาะที่ถูกคดีในมาตรา 112 ซึ่งขอให้ส.ส.ในพรรคฯ ยื่นประกันผู้ต้องหาทางการเมือง ม.112 ทุกคน ซึ่งทางพรรคฯ ขอไปพิจารณากันก่อนและจะแถลงให้ทราบในโอกาสต่อไป


ต่อมา “บุ้ง เนติพร” ได้กล่าวถึงกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 และในข้อเรียกร้องของ “ตะวัน-แบม” ในข้อ 3 คือ พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 นั้น ทางพรรคฯ จะรับข้อเรียกร้องไว้และจะแถลงท่าทีให้ทราบต่อไป


ด้าน “แหวน ณัฎฐิดา” กล่าวว่า เชื่อมั่นในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยรับปากน้อง ๆ และพรรคเพื่อไทยจะไม่ทิ้งน้อง ๆ แน่นอน ในส่วนของตนในฐานะพยาบาลอาสา ขอเรียกร้องให้ รพ.ธรรมศาสตร์ มีแถลงการณ์อัพเดทอาการของ “ตะวัน-แบม” และ “สิทธิโชค” ที่อยู่ในเรือนจำ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับทราบอาหารของทั้งสามคนเพื่อไม่ให้ทุกคนวิตกกังวลมากเกินไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม #มาตรา112












ผบ.ตร. ขอโทษที่ทำให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ยันไม่เข้าข้างคนผิด ยอมรับการย้ายผู้กำกับห้วยขวางมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนความผิดไม่น่าถึง น.1


ผบ.ตร. ขอโทษที่ทำให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ยันไม่เข้าข้างคนผิด ยอมรับการย้ายผู้กำกับห้วยขวางมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนความผิดไม่น่าถึง น.1


วันที่ 31 มกราคม 2566 พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  กล่าวขอโทษไปยังประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่และทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ


สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันและพวกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุครั้งนี้ ทางตำรวจได้กำชับให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ซึ่งทางนครบาลอาจต้องส่งตำรวจไปสอบปากคำพยานที่ไต้หวันและสิงคโปร์  แต่หากพยานไม่กล้าให้ความร่วมมือ และขอให้ข้อมูลผ่านทางตำรวจสากล ก็ยินดีที่จะรับฟังจากทุกช่องทาง


ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ยอมรับข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (ม.157) แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์ ( ม.149) นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา ส่วนจะไปถึง ผบช.น หรือไม่  มองว่าไม่ถึงขนาดนั้น


อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร. ยอมรับว่า สั่งย้ายผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะมีข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้น  หากการสอบสวนพบว่ามีความผิดชัดเจน ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับผู้กำกับและรองสารวัตรก็มีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย  ขณะที่ช่วงนี้มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ก็ต้องมีการวามาตรการต่างๆ และให้ผู้บังคับบัญชากำชับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ซึ่งขนาดนี้มีการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อกล้องติดตัวตำรวจเพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป


ทั้งนี้ ยอมรับว่าตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละองค์กรมีทั้งคนดีและไม่ดีอยู่ แต่เชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีคนดีอยู่อีกจำนวนมากที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้กับประชาชน ผู้ที่ทำดีก็จะได้รับผลตอบแทนส่วนที่ทำไม่ดีก็จะต้องได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด  ตอนนี้อยากให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจกับการปฏิบัติหน้าที่  และจะกำชับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจท่องเที่ยวให้ปฏิบัติการอย่างโปร่งใส  ตรงไปตรงมาด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ดาราสาวไต้หวัน

ทนายเผย"ตะวัน-แบม" ยอมจิบน้ำหลังพบอาจารย์แพทย์ 5 คน ขณะที่มีอาการแสบร้อนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อลดฮวบ หลังอดน้ำ-อาหาร มากกว่า 10 วัน

 


ทนายเผย"ตะวัน-แบม" ยอมจิบน้ำหลังพบอาจารย์แพทย์ 5 คน ขณะที่มีอาการแสบร้อนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อลดฮวบ หลังอดน้ำ-อาหาร มากกว่า 10 วัน 


จากกรณีที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาตาม มาตรา 112 ได้ถอนประกันตัวเองเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566  และต่อมาได้มีการยกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง จากนั้นยกระดับด้วยการปฏิเสธรับการรักษา ซึ่งต่อมาถูกส่งตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการอดอาหารและอดน้ำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถึงขณะนี้ผู้ต้องขังทางการเมืองก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 


โดยวันนี้ (30 ม.ค. 66) ทนายความของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ได้เปิดเผยความคืบหน้าต่อสาธารณชน กรณีทั้ง 2 อดอาหารและน้ำประท้วง ดังต่อไปนี้


ในวันที่ 30 มกราคม 2566 ทนายความได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อเข้าเยี่ยมตะวันและแบม จากการสอบถามพูดคุยพบว่าในวันนี้มีเพื่อนและครอบครัวมาเยี่ยม รวมถึงได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเยี่ยมด้วยเป็นจำนวน 3 คน นอกจากนั้นแล้วในวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 เวลา 15.15-17.00 น. ยังมีคณะอาจารย์แพทย์มาเข้าพบกับทั้ง 2 โดยเป็นอาจารย์แพทย์ทั้งสิ้นจำนวน 5 คน


จากการสรุปรายงานของแพทย์ระบุว่า นางสาวทานตะวัน ตื่นรู้ตัวดี อ่อนเพลีย ปากแห้ง หลับเป็นพักๆ เนื่องจากมีอาการร้อนในตัว แสบร้อนกลางอก เจ็บแปลบที่หน้าอกข้างช้ายเวลาตะแคงตัว สามารถโต้ตอบได้และอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมาะสมกับเรื่องที่พูดคุย นางสาวอรวรรณ ตื่นรู้ตัวดี อ่อนเพลีย ปากแห้ง ปวดกรามทั้งสองข้าง นอนหลับเป็นพักๆ เนื่องจากไม่สุขสบายและกัดฟัน สามารถโต้ตอบได้และอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมาะสมกับเรื่องที่พูดคุย โดยทั้งคู่มีค่าคีโตน (Ketone) สูงขึ้นกว่าเดิมมาก กล่าวคือ ตะวันมีค่าคีโตนอยู่ที่ 4.98 จากเดิม 2.40 และแบม มีค่าคีโตนอยู่ที่ 5.31 จากเดิม 2.16 (ผลตรวจจากวันที่ 25 มกราคม 2566) ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายเผาผลาญกล้ามเนื้อไปเป็นจำนวนมาก


ตะวันและแบมได้เล่าให้ฟังอีกว่า จากการพบเจออาจารย์หมอทั้งห้าท่าน ได้มีแพทย์ขอร้องให้จิบน้ำเพื่อบรรเทาอาการ สุดท้ายทั้งคู่จึงยอมจิบน้ำ และยอมทา KY Jelly ไป โดยในรายงานของทีมแพทย์ผู้ดูแล ใต้หัวข้อ “MSE” ของตะวันและแบมระบุว่า “มีความตั้งใจในการอดอาหารเพื่อเรียกร้องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไม่ได้ปรารถนาจะจบชีวิตตนเอง ซึ่งรับทราบว่าการอดอาหารมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่ได้แสดงความกลัวต่อความเสี่ยงนั้น”


รายงานของแพทย์ยังระบุภายใต้หัวข้อ “การสื่อสารของนางสาวทานตะวันและนางสาวอรวรรณต่อสังคม” ว่า


-ไม่กลัวตาย หากการตายนี้จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและอิสรภาพของผู้ที่ออกมาเรียกร้องและถูกดำเนินคดี เพียงเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ลดลง การมีชีวิตและประเทศชาติที่ดีขึ้น ก็ยินดีเสียชีวิต


“การเลือกวิธีการอดอาหารและน้ำเป็นแนวคิดที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีผลชัดเจนและรวดเร็ว”


- อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การตายและเห็นว่าการมีชีวิตต่อเพื่อการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักสำคัญ ยังเป็นประเด็นที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา


- เยาวชนเป็นผู้ที่ดูแลประเทศชาตินี้ต่อไป ชาติควรดูแลให้เยาวชนเติบโตต่อไปอย่างแข็งแรงเพื่อให้ดูแลประเทศ แทนการกระทำอะไรบางอย่างให้เยาวชนเกิดอุปสรรคต่อการเติบโตพัฒนา


ทนายความขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ไปยังคณะแพทย์หรือ “อาจารย์หมอ” ทั้งห้าท่าน ผู้ได้เข้าตรวจอาการของตะวันและแบม ในวันที่ 29 มกราคม 2565


ด้วยความนับถือเป็นอย่างสูง

30 มกราคม 2566


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม #ยกเลิก112 #คืนสิทธิประกันตัว

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566

ตำรวจ สน.ห้วยขวาง รับแล้วเรียกเงินกลุ่มนักท่องเที่ยวดาราสาวไต้หวันจริง

 


ตำรวจ สน.ห้วยขวาง รับแล้วเรียกเงินกลุ่มนักท่องเที่ยวดาราสาวไต้หวันจริง


วันที่ 30 มกราคม 2566 ความคืบหน้ากรณีดาราสาวไต้หวัน โพสต์แฉว่าถูกรีดเงิน 27,000 บาทแลกกับการปล่อยจากจุดตรวจสกัดบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตจีน พื้นที่ สน.ห้วยขวาง จนเป็นกรณีโต้แย้งกันไปมานั้น ล่าสุด จากการสอบปากคำตำรวจที่เกี่ยวข้องแต่ละนาย ทำให้มีผู้ยอมรับสารภาพว่ามีการเรียกเก็บเงินจริง


ทั้งนี้จากการสอบสวนและมีการแบ่งเงินกันที่บริเวณด่านในคืนเกิดเหตุ จากนั้นเมื่อปรากฏเป็นข่าวทางกลุ่มชุดตำรวจในวันนั้นพยายามปกปิดข้อมูล และไม่ยอมรับในช่วงแรก เนื่องจากเห็นว่าผู้เสียหายเป็นคนต่างชาติ และไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี


ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น., พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 ร่วมแถลงข่าว กรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวันถูกตำรวจเรียกรับเงิน


พล.ต.ท.ธิติ กล่าวว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีนจริง และปรากฏภาพนักท่องเที่ยวมีการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่


ซึ่งพบเห็นวัตถุผิดกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ตรวจยึดเป็นของกลางเพื่อส่งตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายกับนักท่องเที่ยว แต่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกจากจุดตรวจไป


กรณีนี้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาแล้วจำนวนหลายนาย


ส่วนเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวนั้น จะต้องดำเนินการติดตามพยานหลักฐาน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการรวบรวมให้ชัดเจน ทั้งพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเรียกมาสอบสวน พยานเอกสาร บันทึกรับสารภาพ จำนวนเงินที่แน่นอน ตามที่มีกระแสข่าวนั้น ซึ่งหากพบว่ามีความผิดชัดเจน ก็จะดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ไม่ได้ละเว้น


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหลักฐานที่ตำรวจได้รับมาในขณะนี้ ทำให้ได้ความชัดเจนในเหตุการณ์ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียกตรวจค้น ซึ่งคณะสอบสวน ได้ตั้งประเด็นสอบสวนต่อไปว่า เหตุใดจึงีการเรียกให้หยุดตรวจค้น และทำไมถึงใช้เวลาตรวจค้นนาน ซึ่งผลการสอบสวนจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับหลักฐานจากกล้องวงจรปิด


พล.ต.ท.ธิติ กล่าวว่า ยืนยันว่า ตำรวจไม่มีการสั่งการให้ลบภาพจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด เรื่องนี้ตรวจสอบได้เพราะเป็นกล้องของกรุงเทพมหานคร  ส่วนกล้องที่ติดหมวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้ได้รวบรวมส่งไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานให้ตรวจสอบ เนื่องจากไฟล์ถูกลบจริง แต่เป็นการลบเองหรือไฟล์หมดอายุนั้น ต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่มีใครสั่งการให้ทำเรื่องผิดกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้กลายเป็นข่าวดังเมื่อดาราสาวไต้หวัน อันหยูชิง หรือ Charlene An โพสต์เล่าเรื่องไม่คาดคิด ระหว่างเดินทางเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทยในวันที่ 29 ธันวาคม 2565 และเดินทางออกในวันที่ 5 มกราคม 2566


ดาราสาวโพสต์ในแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรม เล่าว่า ถูกตำรวจที่ตั้งด่านเรียกให้รถหยุดและขอค้นตัว ค้นกระเป๋า โดยมีการมาจับค้นที่กระเป๋ากางเกง และกระเป๋าสตางค์ มีการถามถึงเรื่องวีซ่าสถานการณ์ยื้อไปนานกว่า 2 ชั่วโมง ท้ายสุดจึงเรียกเงิน 27,000 บาท จึงยอมปล่อย


ไม่คิดเลยว่า ไปเที่ยวปีใหม่ที่ไทยหวังเจอประสบการณ์ดี ๆ แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัวที่สุดในชีวิต และฉันจะไม่ไปเหยียบเมืองไทยอีก ลาก่อน กรุงเทพห่วย ๆ” ดาราสาวระบุในอินสตาแกรม


ทั้งนี้ ก่อนที่ตำรวจจะเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่รับเงินจริง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตำรวจรีดเงินดาราสาวไต้หวันจริง ระเบิดลงนครบาล


ทั้งที่ ผบช.น. ให้โฆษก แถลงข่าวยืนยันว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่มีตำรวจห้วยขวางเรียกรับผลประโยชน์ แต่ปรากฏว่า มีผู้หญิงคนไทย แฟนเป็นคนสิงคโปร์ ที่ไปร่วมวงสังสรรค์กินเหล้ากับดาราสาวไต้หวัน ให้การยืนยันว่า ได้เป็นผู้จ่ายเงินจำนวน 27,000 บาท ให้กับตำรวจที่ตั้งด่านด้วยตัวเอง และมีคลิปยืนยันด้วย


ต่อมา พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการด่วน ให้ ผบช.น.สั่ง ผกก.สน.ห้วยขวาง ช่วยราชการ หลังจากมีข้อมูลว่ามีตำรวจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกเรียกรับเงิน พร้อมกำชับ น.1 ดำเนินการตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีอาญาในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิดในเหตุดังกล่าวทุกราย อย่างเด็ดขาด มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง


ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำกำชับไปยังตำรวจนครบาล และตำรวจทุกพื้นที่ กรณีการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด หรือการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต้องกระทำตามอำนาจหน้าที่ เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามระเบียบแนวทางที่ ตร.ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ อันมิชอบด้วยกฎหมายอย่างเด็ดขาด


โดยให้ผู้บังคับบัญชาเพิ่มความเข้มในการตรวจตราการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ไม่ให้เกิดพฤติกรรมในทางไม่ดี หากพบว่าพื้นที่ใดมีการกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก จะพิจารณาโทษถึงระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ แต่ถ้าเกิดเป็นความผิดซ้ำซาก จะพิจารณาโทษถึงระดับผู้บังคับการ โดยจะดำเนินการเด็ดขาดทั้งทางวินัยอาญา และปกครอง” โฆษก ตร. กล่าว


ที่มาข่าวและภาพ : ประชาชาติธุรกิจ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ดาราสาวไต้หวัน

ประชาชนเดินขบวนยื่น 6,514 รายชื่อถึงประธานศาลฎีกา ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ตะวัน-แบม พร้อมยื่นหนังสือจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 66 คน ที่เห็นว่าผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักการและสิทธิตามกฎหมาย


ประชาชนเดินขบวนยื่น 6,514 รายชื่อถึงประธานศาลฎีกา ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ตะวัน-แบม พร้อมยื่นหนังสือจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 66 คน ที่เห็นว่าผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักการและสิทธิตามกฎหมาย

 

วันนี้ (30 ม.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามที่กลุ่มทะลุวัง นัดหมายเวลา 13.00 น. เพื่อเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณหอประชุมใหญ่ ไปยังศาลฎีกา สนามหลวง เพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อจากแคมเปญ “สนับสนุน 3 ข้อ เรียกร้องของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม ผู้ต้องหา ม.112 ที่ถอนประกันตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองด้วยการอดอาหารประท้วงนานหลายวันจนร่างกายทรุดหนัก บน Change.org/3Demands จำนวน 6,514 รายชื่อถึงประธานศาลฎีกา โดยข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคน 3. พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิก ม.112 และ 116

 

ด้าน เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง กล่าวก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนว่า กลุ่มทะลุวังและกลุ่มทะลุแก๊ส ร่วมกันจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวัน กับแบม ทั้งหมด 6,514 ราย ก่อนเดินขบวนมายื่นต่อศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของนักโทษทางการเมืองทุกคน พร้อมปฏิรูปกระบวนการศาลให้เป็นอิสระปราศจากการแทรงแซงจากผู้มีอำนาจจนขาดความโปร่งใส และให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 กับมาตรา 116

 

น.ส.เนติพร กล่าวด้วยเสียงสะอื้นว่า สำหรับอาการล่าสุดของตะวัน กับแบม เท่าที่ตนทราบขณะนี้ตัวซีดแล้ว ขณะที่กิจกรรมในวันนี้ จะมีเพียงการยื่นหนังสือเท่านั้น เราไม่มีเจตนาก่อความวุ่นวายใด เช่นเดียวกับการยื่นหนังสือเมื่อครั้งมีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยเสมอมา อย่างไรก็ตาม หลังประกาศการทำกิจกรรมในวันนี้ ตำรวจได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มเรียบร้อยแล้ว

 

ต่อมาเวลา 13.15 น. ธนพร วิจันทร์ หรือไหม จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกรวมพลเพื่อตั้งขบวน โดยนอกจากทะลุวังและประชาชนแล้ว ยังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง คณาจารย์ นักวิชาการ ประกอบด้วย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นายเอกชัย หงส์กังวาน เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

 

ธนพร เผยว่ามีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนทางออนไลน์ รวม 6,514 รายชื่อ ที่จะนำไปยื่นในวันนี้ นอกจากนี้ยังมี คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั้งประเทศ 66 คน เห็นว่าผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักการและสิทธิตามกฎหมาย วันนี้จึงนำจดหมายทั้ง 2 ฉบับ จากทะลุวัง และคณาจารย์นิติศาสตร์ ไปร่วมยื่นถึงประธานศาลฎีกา ด้วย

 

จากนั้นเวลา 13.30 น. ขบวนเคลื่อนออกจากลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ข้ามถนน และตัดสนามหลวง มุ่งหน้าสู่ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน เพื่อยื่นรายชื่อผู้สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องตะวัน-แบม

โดยระหว่างทางต่างเปล่งเสียงปล่อยเพื่อนเรา, ยกเลิก 112

 

และเมื่อเดินเท้าถึงบริเวณหน้าป้ายศาลฎีกา ขบวนได้มีการหยุด โดย บุ้ง ทะลุวัง นำอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ก่อนเดินเท้าต่อไปยังสำนักประธานศาลฎีกา ต่อไป

 

เวลา 13.50 น. กลุ่มทะลุวัง เดินเท้าถึงสำนักประธานศาลฎีกา โดย น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ได้เป็นตัวแทนยื่นรายชื่อให้แก่ นายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา ในฐานะตัวแทนประธานศาลฎีกา โดยทะลุวัง ให้เวลาในการตัดสินใจภายใน 3 วัน หากไม่มีการดำเนินการ จะกลับมาตั้งขบวนเดินเท้าเพื่อทวงถามอีกครั้ง พร้อมกับมวลชนที่มากกว่าครั้งนี้

 

ภายหลังยื่นรายชื่อ เเนติพรกล่าวว่า ตนเป็นลูกของผู้พิพากษา โตมากับการวิ่งเล่นในศาล และครอบครัวสั่งสอนโดยตลอดมาว่า กระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร

 

สำหรับ แถลงการณ์ของกลุ่มทะลุวัง ที่นำไปยื่นต่อศาลฎีกาพร้อม 6,514 รายชื่อ มีเนื้อหาความว่า

 

ตามที่ ทานตะวัน ด้วดุลานนท์, อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือแบม ได้ถอนการประกันตัว เนื่องจาก เป็นการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ศาลอาญา มีคำสั่งคุมขังเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ทั้งสองคนจึงอดอาหารและน้ำ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกคน 2.ปฏิรูปยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3. ประกันสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมาตรา 112 ทั้งสองคนปฏิเสธการรักษา มีอาการสาหัส เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต ขณะนี้สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม โดยกลุ่มทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อ ประชาชนจํานวน 6,000 คนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อของตะวันและแบบ ผ่านเว็บไซต์รณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change.org) จึงขอเรียกร้องต่อศาลฎีกาดังต่อไปนี้

 

1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน จากการที่ราษฎร ได้มีการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนและใช้มาตรา 112และ116 เป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขัง โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขหลายประการที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ ดังนั้นจึงขอให้ศาลฎีกาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกคน

 

2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาสั่งการอันเป็นการแสดงถึงการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาที่ทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงขอให้ศาลฎีกาประกาศโดยชัดแจ้งให้กระบวนการพิจารณาคดีปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหาร และผู้มีอำนาจหน้าที่ส่งผลต่อความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎร

 

3. ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร จากการใช้กฎหมายมาตรา 112และ116 อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ดำเนินการในการยกเลิกมาตรา 112 และ 116

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม #คืนสิทธิประกันตัว