วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ศาลรธน. มีหนังสือให้ อสส. ส่งข้อมูล กรณี “ธีรยุทธ” ร้อง “ทักษิณและพรรคเพื่อไทย” หยุดการกระทำการตามคำร้อง เพื่อล้มล้างการปกครองฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรธน. ว่าจะรับคำร้องหรือไม่


ศาลรธน. มีหนังสือให้ อสส. ส่งข้อมูล กรณี “ธีรยุทธ” ร้อง “ทักษิณและพรรคเพื่อไทย” หยุดการกระทำการตามคำร้อง เพื่อล้มล้างการปกครองฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรธน. ว่าจะรับคำร้องหรือไม่


วันนี้ (22 ตุลาคม 2567)  เพจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้องที่ 1 ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต


ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา


ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 โดยเจรจากับแกนนําของพรรคการเมืองอื่น ที่ร่วมรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1


ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล


ประเด็นที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นํานโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา


ทั้งนี้ นายธีรยุทธยื่นคําร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ธีรยุทธจึงยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ทักษิณเลิกกระทำการดังกล่าวและให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณใช้เป็นเครื่องมือกระทำการดังกล่าว


ศาลรัฐธรรมนูญให้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคําร้องของธีรยุทธไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณชินวัตร #เพื่อไทย #ศาลรัฐธรรมนูญ #อัยการสูงสุด