วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566

“พิธา” พบปะนักศึกษาไทย MIT คนไทยร่วมฟังล้นห้อง โชว์วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ “3F” firm ground-fair game-fast forward growth แนะใช้เทคโนโลยีสร้างความเท่าเทียม เปลี่ยนปัญหาประเทศให้กลายเป็นเศรษฐกิจ

 


“พิธา” พบปะนักศึกษาไทย MIT คนไทยร่วมฟังล้นห้อง โชว์วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ “3F” firm ground-fair game-fast forward growth แนะใช้เทคโนโลยีสร้างความเท่าเทียม เปลี่ยนปัญหาประเทศให้กลายเป็นเศรษฐกิจ


วันที่ 28 ตุลาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนพบปะเครือข่ายในสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุยกับนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในสถาบัน MIT (Massachusett Institute of Technology - สถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสซาชูเซตส์) โดยมีนักศึกษาและคนไทยในสหรัฐอเมริกาที่สนใจเข้าร่วมฟังจนเต็มห้องประชุม


โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปแบบเป็นกันเอง โดยบทสนทนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ในการศึกษาต่อและการใช้ชีวิต ในฐานะที่พิธาเป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด-MIT รวมทั้งสิ่งที่ได้รับจากการอยู่ที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม


โดยในช่วงหนึ่งของการบรรยาย พิธีกรได้ถามถึงแนวทางเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ว่ามีแนวคิดอย่างไรที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพื่อนำประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ซึ่งพิธาระบุว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีการเติบโตมาโดยตลอด แต่ความเหลื่อมล้ำก็ตามมาเช่นกัน ในยุคก่อนนี้ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของ trickle down economics หรือการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วหวังว่าจะมีการจ้างงานและความเจริญตามมา ซึ่งไม่เพียงพอพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการคือการเติบโตแบบที่กระจายผลพลอยได้อย่างทั่วถึง (inclusive growth) ต่างห่าง


ซึ่งไม่ใช่การให้คน 1% เป็นผู้นำพาเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่กรุงเทพเป็น 50% ของจีดีพีประเทศ ไม่ใช่การให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่ 20% โดยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากไม่กี่ประเทศ ไปกระจุกตัวอยู่ในเพียง 5 จังหวัด แต่การเติบโตแบบ inclusive growth คือเราต้องเติบโตขึ้นมาจากข้างล่าง และเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส 


พิธากล่าวต่อไป ว่าที่ผ่านมาเราได้เห็นคนพูดกันตลอดเวลาเหมือนๆ กันไปทั้งหมด ทั้งเรื่อง s-curve ใหม่ จะต้องทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติจริงผ่านการออกแบบงบประมาณที่สอดคล้อง มีแต่เพียงการตัดริบบิ้นเปิดงานเป็นครั้ง ๆ ไปเท่านั้น


ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด inclusive growth ได้ จะต้องทำผ่าน “3F” นั่นคือ firm ground (รากฐานที่มั่นคง), fair game (กติกาที่เป็นธรรม) แล้วจึงจะนำไปสู่ fast forward growth (การเติบโตแบบก้าวกระโดด) ได้


พิธากล่าวว่าในด้านแรกคือ firm ground นี่คือปัญหาประการแรกของแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย คือการไม่มีรากฐานที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ความปลอดภัย ฯลฯ และกระทั่งวิธีคิด เช่นที่ผ่านมาผู้นำทุกคนพูดเหมือนกันหมด ว่าเราต้องใช้เทคโนโลยี อย่าง robotics, machine-learning, AI, 3D printing ฯลฯ แต่คนที่พูดส่วนใหญ่ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะเอาไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาหรือเพื่อก่อให้เกิดอะไร 


แต่หากตั้งต้นด้วยปัญหาที่คนไทยจำนวนมากเจออยู่ เราจะมองเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความเท่าเทียม เปลี่ยนความเจ็บปวดของคนไทยให้กลายเป็นเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า คือโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ คนต่างจังหวัดที่พบปัญหาน้ำประปา คือโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมระบบท่อ สมาร์ทมิเตอร์ และ IoT สิ่งเหล่านี้ล้วนคืออุตสาหกรรมและการจ้างงานทักษะสูงในระดับทั่วประเทศ ที่เมื่อทำสำเร็จแล้วสามารถขยายออกไปในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย


พิธากล่าวต่อไป ถึง fair game หรือกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนาดย่อยสามารถแข่งขันได้ เช่น ในเรื่องของสุราก้าวหน้า ที่วันนี้กฎหมายยังกีดกันการค้าผ่านการกำหนดทุนจดทะเบียนและจำนวนแรงม้า หากสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ รัฐบาลเข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยและกระบวนการผลิต นี่คือโอกาสที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล และสามารถนำไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดได้


“สมมุติมีสตาร์ทอัพในประเทศไทย คนที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ที่ทันสมัยอยู่ที่ MIT แล้วไปเจอกฎหมายประเทศไทย ไปเจอเสือนอนกินที่เป็นธุรกิจใหญ่ ๆ ที่บอก ก็น่าสนใจนะคริปโต แต่ฉันจะเป็นคนลงเอง ซุปเปอร์แอพก็น่าสนใจนะ แต่ต้องเป็นของเครือ 4-5 บริษัทนี้เท่านั้น สตาร์ทอัพมันก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นคุณจะไปเชียร์ว่าต้องมี fast growth ก็ต้องทำไป แต่นั่นเป็นยอดพิระมิด สิ่งที่จะต้องไปด้วยกันก็คือ firm ground และ fair game” พิธากล่าว


โดยต่อไป พิธามีกำหนดการพบปะกับพี่น้องคนไทยในวอชิงตัน ดีซี วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป ที่ร้าน Sisters Thai(Alexandria) ตามคำเรียกร้องจากคนไทยจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์




ศาลพิพากษาจำคุก ‘เบนจา อะปัญ’ คดีม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน #ม็อบ10สิงหา64 รวม 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

 


ศาลพิพากษาจำคุก ‘เบนจา อะปัญ’ คดีม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน #ม็อบ10สิงหา64 รวม 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

 

วันนี้ (30 ตุลาคม 2566) เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “เบนจา อะปัญ” นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกฟ้องกรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 นั้น

 

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก ข้อหามาตรา112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 'เบนจา อะปัญ' กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64

 

ศาลชี้จำเลยปราศรัยกล่าวถึง ร.10 โดยตรง ชัดว่าเป็นการหมิ่นประมาทล่วงเกิน การเบิกความของจำเลยไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีเจตนากล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลอย่างไร

 

พิพากษาผิด มาตรา 112 จำคุก 3 ปี ส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ให้ลดโทษหนึ่งในสาม เพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุกรวมทั้งสิ้น 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท

 

ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และยังอยู่ระหว่างเรียน ป.ตรี ขณะกระทำผิดมีอายุเพียง 21 ปีเศษ ถือเป็นการกระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566

‘รอมฎอน’ ชวนประชาชนแสดงความเห็นร่างกฎหมาย ‘ยุบ กอ.รมน.’ ล่าสุดผู้แสดงความเห็นทะลุ 27,000 คน หวังนายกฯ ไม่ปัดตกเพราะเป็นร่างการเงิน เปิดโอกาสสภาถกเถียงเต็มที่

 


‘รอมฎอน’ ชวนประชาชนแสดงความเห็นร่างกฎหมาย ‘ยุบ กอ.รมน.’ ล่าสุดผู้แสดงความเห็นทะลุ 27,000 คน หวังนายกฯ ไม่ปัดตกเพราะเป็นร่างการเงิน เปิดโอกาสสภาถกเถียงเต็มที่ 


วันที่ 28 ตุลาคม 2566 รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ซึ่งเป็นร่างที่รอมฎอนและ สส. พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสู่สภาฯ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มีผู้ร่วมแสดงความเห็น (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม) กว่า 27,000 คน 


รอมฎอนกล่าวว่า กอ.รมน. เป็นองค์กรพิเศษที่ฟื้นคืนชีพในปี 2551 หลังการรัฐประหาร 2549 มีลักษณะเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่นๆ และเป็นหน่วยงานที่อาศัยกรอบคิดเรื่องภัยคุกคามด้านความมั่นคงเข้ามาควบคุมแทรกแซงชีวิตของพลเรือน ด้วยเหตุนี้จึงเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหา 5 มาตรา เพื่อยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกลไกพิเศษที่นำโดยทหาร ส่งสัญญาณเชิงบวกว่าเราต้องการไปสู่ทิศทางทางการเมือง ลดมาตรการทางทหาร สถาปนาประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและสถาปนาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกวินิจฉัยให้เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าร่างจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ได้ ต่อเมื่อได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี จึงน่าสนใจว่านายกฯ จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ตนเห็นว่านายกฯ ควรเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้พิจารณาถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่ ไม่ใช้อำนาจปัดตกเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น


รอมฎอนทิ้งท้ายว่า การแสดงความเห็นของประชาชน จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าต้องการให้ กอ.รมน. ถูกยกเลิก หรือต้องการให้คงอยู่ ขอเชิญชวนประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=285


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กอรมน #ก้าวไกล

'ศิริกัญญา' ยันไม่มีเจตนาดิสเครดิตดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ อยากให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ชัดเจน

 


'ศิริกัญญา' ยันไม่มีเจตนาดิสเครดิตดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ อยากให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ชัดเจน


วันนี้ (28 ต.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรทำการเมืองสร้างสรรค์ อย่าดิสเครดิตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยระบุว่า ยังไม่มีถ้อยคำไหนที่เป็นการดิสเครดิตในสภาผู้แทนราษฎร


ศิริกัญญา ได้กล่าวว่า เราได้แต่เรียกร้องให้รัฐบาลมีข้อเท็จจริง พูดความจริงกับประชาชน ถ้ามองว่าเป็นการด้อยค่าหรือดิสเครดิตต้องขออภัย เราไม่ได้มีเจตนา เพียงแต่อยากให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่า


ทั้งนี้หากรัฐบาลผลักดันโครงการนี้ไม่สำเร็จไม่น่าจะถึงขั้นผิดรัฐธรรมนูญ เพราะ กกต.พูดแล้วว่าแม้จะไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ หรือไม่ได้ทำตามในเอกสารเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ยื่นไว้ ก็ไม่มีบทกำหนดโทษ ถ้าจะผิดรัฐธรรมนูญคงเป็นเรื่องการเดินหน้าต่อ การออก พ.ร.ก.เงินกู้ การใช้ธนาคารของรัฐในการดำเนินการ การแบ่งจ่ายเงินเป็นหลายงวด อาจผิด พ.ร.บ.เงินตรา และข้อจำกัดของข้อกฎหมายอื่น ๆ 


ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะมีผลต่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ระบุว่าหากบอร์ดชุดใหญ่ได้ฟังข้อคิดเห็น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ไม่ได้ดูตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ ชง เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังปวดหัวกับการเสาะหาแหล่งเงินในโครงการนี้


สำหรับข้อเสนอการปรับลดงบประมาณของโครงการเหลือ 1 แสนล้านบาท คงต้องหาแนวทางที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ดีกว่า เช่น โครงการขนาดย่อยที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ทันที รอเพียงรัฐบาลอัดฉีดงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ปรับปรุงสาธารณูปโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เน้นเพิ่ม GDP อย่างเดียว ไม่ได้ตอบโจทย์ต่อการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ 


เมื่อถามถึงกรณีที่นักวิชาการประเมินว่าพรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าดิจิทัลวอลเล็ตอาจสร้างความเสียหาย และจะขอร่วมไม่ไว้วางใจนายเศรษฐา ทวีสิน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สุดท้ายจะต้องเป็นการลงมติโดยครม.อยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าได้ร่วมหอลงโรงกันแล้วน่าจะเห็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ได้เริ่ม โอกาสที่จะเอาไปใช้ในการอภิปรายทั่วไป หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยหน้าต้องดูรายละเอียดโครงการก่อน เราได้แต่ติดตามอย่างใกล้ชิดว่าโครงการจะออกมาในทิศทางใด 


"อยากให้รัฐบาลยึดที่เป้าหมายเป็นสำคัญมากกว่า แนวทางการดำเนินการ หากยึดติดว่าต้องแจกเงินอย่างเดียว อาจทำให้สูญเสียเป้าหมายใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยได้สัญญากับประชาชนว่าจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ภายในเวลา 4 ปี หากเปรับเปลี่ยนวิธีการประชาชนน่าจะรับฟัง" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ บุกสีลม รณรงค์ชาวออฟฟิศเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นับถอยหลัง 4 วันสุดท้ายก่อนหมดเขตลงทะเบียนใช้สิทธิ หวังยอดลงทะเบียนทะลุเป้าหมาย 1 ล้านคน พร้อมติดตาม 10 ข้อเสนอที่ได้หารือกับสำนักงานประกันสังคม

 


กมธ.พัฒนาการเมืองฯ บุกสีลม รณรงค์ชาวออฟฟิศเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นับถอยหลัง 4 วันสุดท้ายก่อนหมดเขตลงทะเบียนใช้สิทธิ หวังยอดลงทะเบียนทะลุเป้าหมาย 1 ล้านคน พร้อมติดตาม 10 ข้อเสนอที่ได้หารือกับสำนักงานประกันสังคม

 

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ. และ วรายุทธ ทองสุข โฆษก กมธ. พร้อมด้วย สส. ใน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ลงพื้นที่ซอยละลายทรัพย์ ย่านสีลม เชิญชวนชาวออฟฟิศลงทะเบียนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

โดยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่คนทำงานต้องได้รับ พร้อมเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมไปใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งสิ้น 24 ล้านคน และจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน โดยสำนักประกันสังคมตั้งเป้าหมายการลงทะเบียนเลือกตั้งไว้ที่ 1 ล้านคน ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งเพียง 120,000 คน และเหลือเวลาเพียง 4 วันเท่านั้นในการลงทะเบียน

 

พริษฐ์กล่าวว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พี่น้องประชาชนผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมจะได้เข้าคูหาเลือกตัวแทนที่จะมาจัดการเงินกองทุนนี้โดยตรงแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนทำงานและแปรเงินที่แต่ละคนส่งเข้ากองทุนให้ออกมาเป็นสวัสดิการที่ตอบโจทย์ที่สุด

 

ด้าน วรายุทธ กล่าวว่า ผลตอบรับจากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบข่าวการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แต่เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่คนทำงานต้องได้รับ ก็ทำให้เกิดความสนใจมากขึ้น และต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคมนี้

 

ดังนั้น กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มาลงทะเบียนใช้สิทธิในโค้งสุดท้าย ก่อนหมดเขตวันอังคารที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม https://sbe.sso.go.th

 

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (26 ตุลาคม) ในการประชุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม โดย กมธ. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ และการแก้ปัญหาสำหรับการเลือกตั้งรอบถัดไป โดยหลังจากนี้ กมธ. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการติดตามเร่งรัดการแก้ปัญหาต่อไป

 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ ได้แก่ 1. เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ (https://sbe.sso.go.th/sbe/verify.do) ได้ 24 ชั่วโมง (จากปัจจุบันที่ลงทะเบียนได้แค่ในช่วงเวลา 06.00 น. - 23.00 น.)

 

2. ขยายกรอบเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. ไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ใกล้กับวันเลือกตั้งที่สุดโดยยังไม่ขัดข้อกฎหมายหรือระเบียบใดๆ (เช่น กลาง-ปลายเดือน พ.ย.) 3. ปรับปรุงแนวทางการประชาสัมพันธ์ทั้งในเชิงเนื้อหาสาระที่ถูกสื่อสาร (เช่น เพิ่มการสื่อสารเรื่องประโยชน์ที่จะได้จากการใช้สิทธิ) และในเชิงช่องทางการสื่อสาร (เช่น เพิ่มความร่วมมือกับสถานประกอบการของผู้ประกันตน)

 

4. สร้างพื้นที่ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย เช่น เวทีดีเบต แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้สมัคร เพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเพิ่มความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่ยังเปิดให้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 5. หาช่องทางในการส่งข้อความโดยตรงถึงคนที่ลงทะเบียนแล้ว เพื่อเตือนหรือเชิญชวนให้เขาตัดสินใจออกมาใช้สิทธิจริงในวันเลือกตั้ง 6. เพิ่มความครอบคลุมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ โดยเฉพาะการเลือกสถานที่หน่วยเลือกตั้งที่ใกล้กับผู้ประกันตน เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมหรือใกล้สถานประกอบการที่มีผู้ประกันตนจำนวนมาก

 

7. เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง สามารถเปลี่ยนหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองจะไปใช้สิทธิได้จากหน่วยที่ลงทะเบียนไว้ในวันลงทะเบียนเลือกตั้ง 8. วางเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เรื่องการตีความบัตรดี-บัตรเสีย เนื่องจากการเลือกตั้งจะใช้วิธีการเขียนตัวเลขซึ่งอาจสร้างความสับสนได้ เช่น การแยกระหว่าง 1 กับ 7

 

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับการเลือกตั้งรอบถัดไป หรือในอีก 2 ปี ได้แก่ 1. ตัดขั้นตอนในการลงทะเบียนเลือกตั้ง เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมมีฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งครบถ้วน และสามารถใช้ข้อมูลจากการเลือกตั้งรอบนี้เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งถัดไปได้ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการวางแผนทรัพยากรและแผนการดำเนินงาน

 

และ 2. ทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น ขยายสิทธิให้แรงงานข้ามชาติที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ทบทวนเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบติดต่อกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธพัฒนาการเมือง




‘แพทองธาร’ ประกาศนำ ‘เพื่อไทย’ กลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งในหัวใจประชาชน เดินหน้าสานต่ออุดมการณ์ เชื่อมศรัทธา สร้างครอบครัวเพื่อไทยให้แข็งแกร่ง ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนอย่างเข้มแข็ง

 


แพทองธาร’ ประกาศนำ ‘เพื่อไทย’ กลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งในหัวใจประชาชน เดินหน้าสานต่ออุดมการณ์ เชื่อมศรัทธา สร้างครอบครัวเพื่อไทยให้แข็งแกร่ง ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนอย่างเข้มแข็ง

 

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า ขอขอบคุณสมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกท่านที่มอบความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเพียงการส่งต่อภารกิจทางด้านอุดมการณ์ แต่คือการเชื่อมความเชื่อมั่น ความมั่นคง ความศรัทธา เชื่อมการต่อสู้ของทุกคนเข้าด้วยกันอีกครั้ง

 

ในฐานะของพรรคเพื่อไทย เราผ่านอะไรกันมาเยอะมากๆ เราเป็นพรรคการเมืองประสบความสำเร็จมากที่สุด และเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทํามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นกัน

 

ดิฉันเติบโตมาในแวดวงการเมือง ได้สังเกต ได้ใกล้ชิด ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ต้องขอขอบคุณ ดร.ทักษิณ ชินวัตร คุณพ่อที่ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจ เห็นถึงอุดมการณ์ของท่านและทำให้ได้เรียนรู้ ได้ใกล้ชิดและที่สำคัญได้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของดิฉันในการดำรงชีวิต ดิฉันรู้ดีว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และสําคัญมากๆ โดยเฉพาะบริบทของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน แน่นอนค่ะดิฉันมั่นใจว่า เรามีบุคลากรที่มีความสามารถ สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยในปัจจุบัน เราจะทำพรรคเพื่อไทยให้พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว

 

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทีมคณะบริหารของพรรคเพื่อไทยทีมใหม่นี้ จะต้องถอดบทเรียน ทบทวน การเลือกครั้งที่แล้ว เพื่อทำให้ดีขึ้น เพื่อที่จะนําพรรคเพื่อไทยของเราให้กลับมายืนอยู่ในใจพี่น้องประชาชนในฐานะพรรคการเมืองอันดับหนึ่งอีกครั้งอย่างยั่งยืน

 

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าการตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลในวันนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

 

- การลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน

- การปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสายที่เริ่มขึ้นแล้วในบางสาย

- การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

- การให้ภาคเอกชน คนรู้จริง เข้ามาพัฒนาในเรื่องของ Soft Power ของประเทศอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก

- การนำร่องใช้บัตรประจําตัวประชาชนเพื่อรักษาพยาบาล ในโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกที่

- การรับมือกับวิกฤตอย่างทันท่วงที ช่วยคนไทยให้กลับบ้านในสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง

- การกลับไปเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตกับนานาประเทศ

 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ก็สามารถสร้างโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศของเราอย่างมากมาย และมั่นใจว่าในอีก 4 ปีต่อจากนี้ก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นให้ประเทศของเราอย่างแน่นอน

 

พรรคเพื่อไทยจะยังคงสานต่อภารกิจสําคัญ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพอย่างที่เราทำมาต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 25 ปี ด้วยรากฐานที่มั่นคงและแข็งแรง เรามีวันนี้ได้เพราะผู้ใหญ่ในพรรคของเราที่ช่วยกันรดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้ต้นนี้แข็งแรงและมีรากฐานที่มั่นคง ดิฉันมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น มองได้ไกลขึ้น ก็เพราะผู้ใหญ่ทุกท่านที่ได้ร่วมกันสร้างไว้ จากนี้ไป ดิฉันอยากให้พรรคเพื่อไทยเป็นมากกว่าพรรคที่ให้โอกาส แต่สามารถขจัดความเสี่ยงในชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ด้วย เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้ปลดล็อกศักยภาพของเขาได้เต็มที่ มีสิทธิมีเสียงที่จะพัฒนาประเทศนี้ไปด้วยกัน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวย้ำ

 

นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า เราจะไม่ทิ้ง DNA เดิมของพรรคเพื่อไทย นั่นก็คือการทำนโยบายที่เราสัญญาไว้กับประชาชนให้เป็นจริงได้ เราจะทำความฝัน ให้เป็นความจริง เราจะทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เราจะลบทุกคําสบประมาท ด้วยผลงานที่ปฏิเสธไม่ได้

 

DNA นี้จะยังคงอยู่กับพรรคเพื่อไทยต่อไปและพัฒนาตามยุคตามสมัย จะมี 4 ข้อที่สำคัญที่คณะทีมผู้บริหารทีมใหม่ จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคอย่างชัดเจน 1. คือ เราจะทำ Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ นำข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในระบบดิจิทัล เพื่อที่ว่าไม่ว่าคณะเข้ามาทำงานอย่างไร ก็จะได้มีการต่อยอดและพัฒนาได้อย่างง่ายขึ้น ข้อมูลสมบูรณ์แบบมากขึ้น

 

2. เราจะสร้างองค์กรแนวราบ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกๆ คน ทำให้พรรคได้เกิดประสบการณ์ มีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

3. เราจะทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ Learning Organization ที่จะมีศูนย์ข้อมูล ศูนย์วิจัย เพื่อที่จะพัฒนานโยบายของเรา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้ตามยุคสมัยให้ทันท่วงที และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเท่าทัน เราจะมีการฝึกอบรมศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นยุวสมาชิกหรือสมาชิกทั่วไป แบ่งพื้นที่ให้คนทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์ไอเดียซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

 

และ 4. ข้อสุดท้ายนี้เป็นข้อที่สำคัญ เราจะสร้างเครือข่าย ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ ให้แข็งแรงและมีในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทย เพื่อที่เราจะได้รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนมา ของตัวเองและของครอบครัวได้อย่างชัดเจน ให้มาถึงพรรคเพื่อไทยได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

สุดท้ายนี้ จะเป็นสิ่งที่ดิฉันจะบอกกับตัวเองและทุกๆ ท่านของพรรคเรา ว่าเราตายังคงดูดาว เท้ายังคงติดดิน ยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนอย่างเข้มแข็ง มั่นคง เพราะพรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แพทองธาร #เพื่อไทย

คนแห่ฟังแน่น “พิธา” เยือนถิ่นเก่า “ฮาร์วาร์ด” บรรยายชั้นเรียนศูนย์เอเชียศึกษา ชี้ปัญหาประชาธิปไตยถดถอยกำลังเป็นทั่วโลก “เสรีนิยมใหม่-ความเหลื่อมล้ำ” ทำคนตั้งคำถามประชาธิปไตยหนัก

 


คนแห่ฟังแน่น “พิธา” เยือนถิ่นเก่า “ฮาร์วาร์ด” บรรยายชั้นเรียนศูนย์เอเชียศึกษา ชี้ปัญหาประชาธิปไตยถดถอยกำลังเป็นทั่วโลก “เสรีนิยมใหม่-ความเหลื่อมล้ำ” ทำคนตั้งคำถามประชาธิปไตยหนัก

 

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ได้รับเชิญจากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Moving Forward : Thailand, ASEAN & Beyond” (ก้าวไปข้างหน้า : ประเทศไทย อาเซียน และโลก) ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

 

พิธา เริ่มการบรรยายโดยระบุว่าในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตนเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเหมือนทุกคน และสิ่งที่ตนได้รับการศึกษาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง ฯลฯ คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตน จากการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในตำราให้เป็นความจริง ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้นที่ตนเคยเป็นเพียงแค่ผู้นำอ่อนหัดของพรรคการเมืองที่มีอายุเพียง 3 ปี ในเกมที่ออกแบบมาเพื่อให้เราแพ้ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิศดาร กติกาในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นคุณกับเรา แต่เราก็ชนะมาได้

 

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนกำลังศึกษาอยู่ที่นี่ สามารถกลายเป็นความจริงได้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์ทางการเมืองของทุกคนในอนาคตได้ โจทย์ต่าง ๆ ที่ทุกคนได้รับจากชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทั้งการเตรียมพาวเวอร์พอยนต์นำเสนอ การประชุมกลุ่ม ฯลฯ ล้วนแต่มีความหมายจริงๆ และวันหนึ่งอาจนำพาให้ทุกคนได้มาเป็นผู้บรรยายที่นี่เหมือนกับตนก็เป็นได้

 

พิธากล่าวต่อไป ว่าและเป็นเพราะสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากที่ฮาร์วาร์ดนี่เอง ที่ร่วมก่อรูปความคิดและนโยบายการรณรงค์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ นโยบายเหล่านี้คือที่มาของชัยชนะของตนและพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ตน ที่เป็นผู้ชนะจากการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยความเห็นชอบของคน 14.1 ล้านเสียง หรือ 36% ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลด้านเทคนิค

 

นี่คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองของผู้ได้รับการเลือกตั้งและผู้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศไทยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร 250 คน ทุกคนคำนวณได้ว่าเราต้องการ 376 เสียง แต่เราได้เพียง 324 เสียง ทั้งที่เราสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองที่สะท้อนเจตจำนงการปฏิรูปและความหวังของประเทศได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังแพ้ด้วยตัวเลขจาก สว. แต่งตั้ง องค์ประชุมวันนั้นจึงเอาชนะแคนดิเดตนายกที่มาจากการเลือกของประชาชนได้

 

พิธาบรรยายต่อไป ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะ แต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุมคาม และสันติภาพของโลกกำลังเปราะบาง ในปีแรกที่ตนมาถึงที่นี่ในปี 2006 Freedom House เคยออกผลสำรวจพบว่าประชากร 48% ของโลกอยู่ในสังคมเสรี แต่ตัวเลขวันนี้ตกมาอยู่ที่ 20% แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นที่สุดแล้ว ก็กำลังเผชิญกับการลดน้อยถอยลงเช่นกัน

 

เหตุใดประชาธิปไตยจึงถดถอยทั่วโลก? สำหรับตนแล้วต้นตอของเรื่องนนี้ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่เป็นการรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนหมู่น้อย ในเวลาที่ตนเกิดมาความห่างระหว่างผู้มั่งคั่ง 1% บนสุดของโลกกับที่เหลือ ห่างกัน 8 เท่า วันนี้ความห่างนั้นถ่างไปถึง 16 เท่าแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ 1% ของผู้ที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทย กำลังครอบครองความมั่งคั่ง 60% ของทั้งประเทศอยู่

 

พิธาระบุว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และต่อมากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือหลังวิกฤติโควิด

 

ดังนั้น โจทย์สำคัญจากนี้ คือเราจำทะอย่างไรเพื่อรักษาโครงสร้างสังคม ที่ทั้งสามารถจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม และจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมไปพร้อม ๆ กันได้ ให้การเติบโตกระจายดอกผลไปอย่างทั่วถึง ประเทศต้องไม่จดจ้องอยู่ที่แค่การทำกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายที่ดิน การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนทำงานของเรา หรือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สังคมประชาธิปไตย” ซึ่งหลายท่านในที่นี้อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ตนเสนอ คือมันถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องกลับมาคิดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในการก้าวไปข้างหน้า

 

พิธาบรรยายต่อไป ว่าสิ่งที่ตนคิดมาตลอดในการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา คือเมื่อใดก็ตามที่ตนและพรรคก้าวไกลสามารถจัดการปัญหาในประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ เมื่อนั้นเราจะยังเหลือการเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านนโยบายต่างประเทศ

 

นั่นคือการออกไปบอกกับทั่วโลกว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว และเราจริงจัง เราเป็นอำนาจกลาง เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศอาเซียน แม้จะไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ถ้าเรารวมกันได้ นั่นคือตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และประชากร 670 ล้านคน ประเทศใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ก็ไม่อาจปฏิเสธเราได้

 

พิธากล่าวต่อไป ว่าแต่ตราบใดที่เราที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาในประเทศของเราเองได้ ไทยจะมีความน่าเชื่อถืออะไรไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ในการทำให้อาเซียนมีความหมายขึ้นมา เราต้องเข้าไปมีบทบาทต่อโลกและมีความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะต่อปัญหาเมียนมา, รัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นห่างออกไปจากประเทศไทยแต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งสิ้น

 

เราต้องมองออกไปข้างนอก เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างแท้จริง และด้วยความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน เราสามารถบอกกับโลกได้ว่าความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม บอกกับโลกได้ว่าเรากำลังจะกลับมาเป็นอำนาจกลาง ที่จะมีส่วนฟื้นระเบียบโลก ประเทศไทยกลับมาแล้ว เราเอาจริง และเราจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของเราอีกครั้ง หลังจากที่เราหายไปจากเวทีโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกองทัพ

 

พิธาบรรยายต่อไป ว่าเราต้องการสร้างสมดุลให้โลกอีกครั้ง และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้าง แต่คือการยืนหยัดในหลักการ เราต้องวิจารณ์เพื่อนเราได้ และก็ต้องงพูดคุยกับคู่แข่งของเราได้ด้วย ในฐานะอำนาจกลาง เราสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้ มากกว่าแค่เรื่องของการค้าการลงทุนและพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ให้มีเรื่องของสิ่งแดล้อม สภาวะโลกร้อน การควบคุมอาวุธปืน แบ่งปันทุกข์ เรียนรู้ร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันได้

 

นี่คือสิ่งที่เราทำร่วมกันได้เพื่อบรรลุสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นความมั่งคั่ง เปลี่ยนคุณค่าให้เป็นชัยชนะร่วมกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งหมด ถ้าทุกคนทำร่วมกันโดยที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะหายไปจากการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ นี่คือบทบาทที่เราทำร่วมกันได้ ในการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ โดยที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมยังคงยังคงคาดหวังที่จะได้เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับผู้คน สภากับสภา ภาครัฐกับภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยกัน” พิธากล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ฮาร์วาร์ด #สหรัฐอเมริกา




ตามคาด! "อุ๊งอิ๊ง" นั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมทีม กก.บห.ชุดใหม่



ตามคาด! "อุ๊งอิ๊ง" นั่งหัวหน้า #เพื่อไทย พร้อมทีม กก.บห.ชุดใหม่

 

วันนี้ (27 ตุลาคม 2566) ที่พรรคเพื่อไทย จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 1/2566 มีวาระสำคัญคือการเลือกกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ ซึ่งบรรยากาศที่พรรคเป็นไปอย่างคึกคัก บรรดาแกนนำ สมาชิกพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต่างเดินทางเข้ามาที่พรรคตั้งแต่ช่วงเช้า ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ้งอิ้ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางมาถึงพรรคเวลา 09.09 น. โดยมีแฟนคลับพรรคคอยให้การต้อนรับ

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ในที่ประชุมมีมติโหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยมีรองหัวหน้าพรรค อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ และรมช.คลัง, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม, น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด, นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย สส.ชัยภูมิ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง

 

ขณะที่ นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค โดยมีรองเลขาพรรค ได้แก่ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย, ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ และน.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ

 

ด้านกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม., นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เป็นเหรัญญิกพรรค, นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ที่ปรึกษารมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นนายทะเบียนพรรค และนายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นโฆษกพรรค

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หัวหน้าพรรคเพื่อไทย #แพทองธาร




“ภูมิธรรม” หนุน “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝากถึง “ก้าวไกล” ใจเย็นลงและรับฟังให้มาก เพื่อการทำงานร่วมกันของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อยากเห็นการเมืองใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมือทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ทัพเรือเบี้ยวชี้แจง กมธ.ทหารกรณีเรือดำน้ำ อ้างอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ด้าน กมธ.จ่อเรียก รมว.กลาโหม-ทัพเรือชี้แจงอีกครั้งสัปดาห์หน้า

 


ทัพเรือเบี้ยวชี้แจง กมธ.ทหารกรณีเรือดำน้ำ อ้างอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ด้าน กมธ.จ่อเรียก รมว.กลาโหม-ทัพเรือชี้แจงอีกครั้งสัปดาห์หน้า


วันที่ 26 ตุลาคม 2566 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนจากกองทัพเรือเข้าชี้แจงผลการดำเนินการใน 2 กรณี คือความคืบหน้าการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง และผลการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T โดยในกรณีการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย กองทัพเรือได้จัดคณะผู้แทนเข้าชี้แจงและให้ข้อมูลต่อ กมธ. นำโดยพลเรือโท นเรศ วงศ์ตระกูล รองเสนาธิการทหารเรือ 


แต่ในกรณีโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T กองทัพเรือส่งหนังสือชี้แจงมายัง กมธ.ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมและจัดทําข้อมูลสรุปในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีรายละเอียดที่ชัดเจน ครบถ้วน และเพียงพอต่อการนําเสนอ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลกับ กมธ.ในการประชุมครั้งนี้ได้ แต่จะเร่งรัดดำเนินการจัดทำข้อมูลดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว


ในเมื่อยังไม่ได้รับคำชี้แจงจากกองทัพเรือ วิโรจน์จึงร่วมหารือในที่ประชุม กมธ.ถึงประเด็นข้อกังวลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเสนอการเปลี่ยนเรือดำน้ำ S26T เป็นเรือฟริเกต จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะกระทบต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือหรือไม่ อีกทั้งกองทัพเรือยังมีโครงการจัดหาเรือคู่แฝดให้กับเรือฟริเกตในกองเรืออยู่แล้ว หากเปลี่ยนการส่งมอบเรือดำน้ำ S26T เป็นเรือฟริเกตจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือไม่ โดย กมธ.ได้สรุปออกมาเป็นคำถาม 9 ข้อ และเตรียมส่งหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและตัวแทนจากกองทัพเรือให้เข้ามาตอบคำถามดังกล่าวอีกครั้งในสัปดาห์หน้า


ด้าน ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ (จตุจักร-หลักสี่) พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร เสนอให้มีการส่งหนังสือทวงถามการเปิดเผยสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำแบบ G2G หรือรัฐต่อรัฐไปยังกองทัพเรือ เพื่อพิจารณาค่าปรับและรายละเอียดต่าง ๆ ในสัญญาซื้อขาย รวมถึงหนังสือโต้ตอบคู่สัญญากรณีไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำตามสัญญาได้


ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุม กมธ.การทหาร เมื่อเวลา 12:40 น. ชยพลแถลงข่าวที่รัฐสภา โดยแสดงความกังวลต่อผลกระทบและความไว้วางใจของพี่น้องประชาชนที่มีต่อกองทัพเรือ พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายแบบ G2G ต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะปกปิดสัญญาดังกล่าวจากสาธารณชน โดยยืนยันว่าคณะกรรมาธิการการทหารไม่มีเจตนาเชิงลบต่อการทำงานของกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ แต่ต้องการตรวจสอบให้เกิดความถูกต้องและชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ 




‘ครูธัญ-ก้าวไกล’ หนุนนายกฯ ดันร่างสมรสเท่าเทียม เข้า ครม.สัปดาห์หน้า หวังไม่ซ้ำรอยดึงเวลารอร่างประกบเหมือนสภาชุดที่แล้ว แนะจัด Thailand World Pride แทน Bangkok World Pride มั่นใจศักยภาพหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้งานไพรด์ปีหน้าเป็นงานของทุกคน

 


ครูธัญ-ก้าวไกล’ หนุนนายกฯ ดันร่างสมรสเท่าเทียม เข้า ครม.สัปดาห์หน้า หวังไม่ซ้ำรอยดึงเวลารอร่างประกบเหมือนสภาชุดที่แล้ว แนะจัด Thailand World Pride แทน Bangkok World Pride มั่นใจศักยภาพหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้งานไพรด์ปีหน้าเป็นงานของทุกคน

 

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า หลังเป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride และส่งเสริมงาน Pride Parade การขยายสิทธิบัตรทองเพื่อคนข้ามเพศ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าวันนี้

 

ธัญวัจน์ กล่าวว่า มีความยินดีมาก และสนับสนุนที่นายกฯ ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อนำร่างดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า เพราะร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างกฎหมายการรับรองเพศสภาพของพรรคก้าวไกล ก็ได้ยื่นเข้าสู่สภาและเสร็จสิ้นการรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรา 77 แล้ว จึงขอให้กำลังใจคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่้เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการ เพราะเป็นความเท่าเทียมที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรอมานาน ตนไม่อยากให้มีการดึงเวลาเลื่อนการพิจารณาด้วยเหตุผลว่าร่างกฏหมายที่จะร่วมประกบนั้นไม่พร้อม เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้ว

 

ธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride ว่าเห็นด้วยกับการจัดงาน แต่เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลาย สร้างชุมชนความหลากหลายทางเพศที่เข้มแข็ง ตนจึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี จัดเป็นงาน Thailand World Pride เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ เราสามารถกระจายรายได้สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนด้วย

 

เชื่อว่าจะมีการจัดงานเกิดขึ้นในหลายจังหวัด และอยากให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานการท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด ช่วยอำนวยการความสะดวกทั้งพื้นที่และงบประมาณการสนับสนุนทั่วประเทศ โดยตนมีโอกาสร่วมพูดคุยประเด็นการจัดงานกับภาคประชาสังคมและเอกชนที่พร้อมสนับสนุน จึงหวังว่างานไพร์ดปีหน้าจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของคนทุกคน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สมรสเท่าเทียม

"ศิริกัญญา" ชี้ ปรับเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนรัฐมีเงินจำกัด แนะรัฐบาลพูดตรง ๆ ติดปัญหาอะไร เตือนทบทวนจุดประสงค์ สุดท้ายไม่ต่าง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ไร้กระตุ้นเศรษฐกิจ แค่เยียวยาค่าครองชีพ

 


"ศิริกัญญา" ชี้ ปรับเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนรัฐมีเงินจำกัด แนะรัฐบาลพูดตรง ๆ ติดปัญหาอะไร เตือนทบทวนจุดประสงค์ สุดท้ายไม่ต่าง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ไร้กระตุ้นเศรษฐกิจ แค่เยียวยาค่าครองชีพ

 

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่มีการปรับลดเงื่อนไขว่า ปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องมีการปรับหลักเกณฑ์โดยการที่คัดกรองคนรวยออก ก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลน่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้กับนโยบายนี้แน่นอน จึงจำเป็นต้องทำจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ให้ลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงแล้วก็ยังมีคนที่จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย และมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาทภายใน 4 ปี ตนคิดว่าก็ยิ่งชัดเจนว่างบประมาณปี 2567 มีที่ว่างให้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

กรณีจำเป็นที่ต้องผูกพันไปถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่ไม่ได้เงินสดไปทันที และต้องรอแรกเป็นหลายรอบปีงบประมาณก็จะกระทบกับร้านค้า อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ถ้าหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเอง ก็อาจจะไม่เข้าร่วมโครงการด้วยซ้ำไป” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนพูด ตอกย้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถให้ธนาคารของรัฐ ธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่คือเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งตนคิดว่าการปรับเงื่อนไขครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจจำเป็นที่ต้องทบทวนวิธีการใหม่ทั้งหมด ทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมด

 

เมื่อถามว่า การปรับเงื่อนไขทำให้จำนวนผู้ได้รับลดลงมากน้อยอย่างไร และสะท้อนอะไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าลดไปได้นิดเดียวเองสำหรับคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท รวมถึงเงื่อนไขบัญชีเงินฝาก ลดไปได้ 13 ล้านคน

 

ถ้าเกิดเงินเดือนเกิน 50,000 บาท ยิ่งลดไปได้น้อยใหญ่เลย ลดไปได้แค่ 7 ล้านคน ดังนั้น เกณฑ์นี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรกันต่อ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ถ้าสุดท้าย รัฐบาลกลับไปทางเลือกที่ 3 ที่ให้เฉพาะคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตนมองว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นโครงการประคับประคองเยียวยาค่าของชีพคนที่มีรายได้น้อยหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน จะกลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นชัดเจน ย้ำว่าคำว่าทบทวนหมายถึงอาจจะให้เปลี่ยนวิธีการมากกว่ายกเลิกโครงการ ตนเข้าใจดีว่าสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนก็สำคัญ

 

ดิฉันเข้าใจว่าเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ก็สามารถที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาในเรื่องอะไรดิฉันคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่คืองบประมาณ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

เมื่อถามว่า สุดท้ายจะเหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ตอนนี้งบประมาณที่ไปทบทวนในแต่ละหน่วยงานของรัฐทำการเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณดังนั้น สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถที่จะตัดลดงบหรือไกล่เกลี่ยงบประมานปี 2567 ได้เท่าไหร่

 

ดังนั้น ถ้าไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปีทางออกทางเดียวก็คือให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปเป็นเพียงแค่เยียวยาค่าของชีพ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะยังรอให้มาติผลการประชุมกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาก่อน เรายังใจดีให้รัฐบาลกลับไปคิดทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอกับคณะรัฐมนตรี เราจะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไป หลายกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็รอที่จะพูดคุยอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดสมัยประชุม แต่หากเปิดสมัยประชุมเราก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน พร้อมย้ำสื่อมวลชนให้สอบถามร้านค้าว่าหากมีการทยอยจ่ายเงินสดไม่ได้ทันที ร้านค้าเข้าร่วมโครงการอยู่หรือไม่

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้แหล่งเงินจากธนาคารออมสินไม่สามารถใช้ได้แล้ว ถ้าจะใช้ธนาคารออมสินต้องแก้ไขกฎหมาย ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิดนั้น เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก. จะออกได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งต้องกลับไปถามสำนักบริหารหนี้สารธารณะว่าจะยอมหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ บอกว่าอาจเป็นการฆ่าตัวตายได้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เงินดิจิทัล #ศิริกัญญา

สภาเดือด 'ชัยธวัช' ข้องใจนายกฯ เลือกตอบกระทู้ถามสดแต่ ปชป.-รทสช. ไม่ตอบของ'ก้าวไกล' มอบ รมว.ยุติธรรมตอบแทน ยัน 'ทวี' ไม่สามรถแจงแทนได้ ท้วงไม่แจงเหตุจำเป็นตามข้อบังคับ

 


สภาเดือด 'ชัยธวัช' ข้องใจนายกฯ เลือกตอบกระทู้ถามสดแต่ ปชป.-รทสช. ไม่ตอบของ'ก้าวไกล' มอบ รมว.ยุติธรรมตอบแทน ยัน 'ทวี' ไม่สามรถแจงแทนได้ ท้วงไม่แจงเหตุจำเป็นตามข้อบังคับ

 

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งกระทู้ถามสดคณะรัฐมนตรี โดยเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางมาตอบคำถามด้วยตัวเอง ซึ่งหนึ่งในกระทู้ที่มีการถามนั้น เป็นกระทู้สดของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถามคำถามต่อนายกรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวาระการถามกระทู้สด รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในขณะนั้น คือ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่านายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทวี สอดส่อง เป็นผู้ตอบคำถามแทน

 

ทำให้ชัยธวัช ได้ลุกขึ้นหารือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าที่ผ่านมา ตนได้ทราบว่ามีสมาชิกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 1 คน พรรคร่วมรัฐฐาล 1 คน ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีเลือกที่จะตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกอีกสองท่าน แต่กลับมอบหมายให้รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการถาม เป็นเพราะอะไร?

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าเมื่อวานนี้มีความพยายามให้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลมาถามตนว่าจะถามกระทู้เรื่องอะไร จะเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ ตนก็ได้ให้ความสบายใจว่าไม่ใช่ เพราะมีคนถามเยอะแล้ว ตอนเย็นมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะตอบกระทู้ในสภาแน่นอน ตนก็สบายใจขึ้น เมื่อเช้าที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือเรียบร้อย

 

แต่ปรากฏว่าไม่กี่นาทีที่แล้ว มีการแจ้งว่านายกรัฐมนตรีไม่ประสงค์ตอบกระทู้ตน และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาตอบแทน ซึ่งในทั้ง 3 ประเด็นที่ตนจะถามนั้น ต้องการถามนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการตำรวจ (กตร.) ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ว่ามีนโยบายเรื่องคดีการเมืองอย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่มีความเหมาะสมที่จะตอบ ดังนั้น ตนจึงจะยังไม่ถามกระทู้ แต่จะนั่งรอนายกรัฐมนตรีมาตอบอีกสองกระทู้ก่อน

 

จากนั้น ทวีจึงได้ขอโอกาสแสดงความเห็น โดยระบุว่ารัฐมนตรีทุกคนมีหน้าที่บริหารแผ่นดินร่วมกัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อนายกรัฐมนตรีมอบให้ตนมาเป็นผู้ตอบคำถาม แม้จะยังไม่รู้คำถาม แต่ในฐานะคณะรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ก็จะชี้แจงตามความเป็นจริงเพื่อให้สมาชิกได้รับรู้ร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอหารือโดยระบุว่าตามข้อบังคับข้อที่ 151 นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งคำถามจะต้องเข้าสภาเพื่อตอบกระทู้นั้น นอกจากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จะต้องชี้แจงเหตุจำเป็นนั้นเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

 

แต่เหตุใด ในเมื่อนายกรัฐมนตรีอยู่ที่นี่ เดินทางมาด้วยตัวเองแล้ว ก็ควรตอบกระทู้ให้ชัดเจน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็ช่วยร่างหนังสือตอนนี้ อ่านเหตุผลที่ไม่อาจตอบคำถามนี้ต่อที่ประชุมสภา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็มามอบหมายฉับพลันอย่างนี้ จึงขอถามว่านายกรัฐมนตรีได้แจ้งเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าระเบียบวาระกระทู้ถามแล้วหรือไม่ ถ้าใช่ช่วยอ่านหนังสือชี้แจงให้ชัดเจนด้วย

 

จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งให้ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมอบหมายมาแล้ว ว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ตอบกระทู้ของชัยธวัชแทน เมื่อเช้าเวลา 8.30 ผู้ที่จะถามกระทู้สดมีการประชุมร่วมกันที่ชั้น 10 เพื่อพิจารณาว่ากระทู้ถามทั้ง 3 กระทู้เข้าเกณฑ์เป็นกระทู้สดหรือไม่ โดยทีแรกกำหนดให้กระทู้ของชัยธวัชเป็นกระทู้ที่ 3 ภายใต้ข้อพิจารณาว่าผู้ตอบกระทู้พร้อมหรือไม่ หรือผู้ถามพร้อมที่จะถามหรือไม่

 

พิเชษฐ์กล่าวต่อไป ว่าหลังจากทั้ง 2 ท่าน คือชัยธวัช และ ชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกจากห้องไปแล้ว อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนแรกจะถามเป็นคนแรก ยังอยู่ที่ราชบุรี กำลังรีบเดินทางจากราชบุรีอยู่และมาอาจจะล่าช้า การเรียงลำดับกระทู้จึงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะประสานผู้ถามผู้ตอบ ใครจะถามตอบก่อนหลัง จึงเป็นที่มาที่ทำให้กระทู้แรกเป็นของชัยธวัช

 

ดังนั้น ถ้าชัยธวัชจะไม่ถาม ตามข้อบังคับข้อที่ 155 กระทู้ถามของชัยธวัยก็จะตกไป เลื่อนกระทู้ที่ 2 ขึ้นมาแทน ถ้าถามตอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีมาถึงอาจมีเจ้าหน้าที่บันทึกไว้ และก็อาจจะตอบด้วยก็ได้

 

จากนั้น วิโรจน์ จึงได้หารือโดยอ้างถึงข้อบังคับข้อที่ 151 อีกครั้ง โดยระบุว่าตามข้อบังคับดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องแจ้งเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อประธานสภา แต่จากหนังสือที่มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น มีแค่คำบัญชา ไม่เห็นว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อะไร และตราบที่ไม่มีการชี้แจงเหตุผลใด ๆ นายกรัฐมนตรีกำลังทำผิดข้อบังคับข้อที่ 151 ประธานจะปล่อยให้นายกรัฐมนตรีทำผิดข้อบังคับเช่นนี้ไม่ได้

 

หรือหากจะอ้างวรรคที่ 3 ของข้อบังคับ ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้ถามเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดิน ก็ต้องชี้แจงว่าเรื่องอะไรที่ยังไม่ควรเปิดเผย หรือเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดินอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม พิเชษฐ์ ได้ตอบวิโรจน์โดยระบุว่าทุกอย่างเป็นไปตามวรรค 2 ของข้อบังคับข้อที่ 151 มีการทำหนังสือมาถูกต้องทุกอย่างแล้ว และวินิจฉัยให้ชัยธวัชเลือก ว่าจะถามกระทู้หรือไม่

 

จากนั้น พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้หารือว่าข้อบังคับข้อที่ 151 ในวรรค 1 เขียนไว้ชัดว่านายกรัฐมนตรีอาจไม่มาตอบ ถ้ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องแจ้งเหตุผลเป็นหนังสือ แต่ตนก็ยังไม่เห็นว่ามีการแจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวอยู๋ในตัวจดหมายที่แจ้ง จึงเกรงว่าคำวินิจฉัยของประธานอาจไม่สอดคล้องกับข้อบังคับข้อที่ 151 และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสภาในอนาคต

 

ระหว่างการหารือดังกล่าว ได้มีการประท้วงสลับกันไปมาระหว่าง สส. ฝ่ายรัฐบาลกับ สส.พรรคก้าวไกล เป็นระยะ ซึ่งสุดท้ายประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ยืนยันในคำวินิจฉัยของตนเอง ว่านายกรัฐมนตรีทำถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับแล้ว และขอให้ชัยธวัชยืนยันว่าจะถามกระทู้ต่อหรือไม่

 

ด้านชัยธวัช ได้ยืนยันว่าประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะเป็นการผิดกฎหมายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สุดท้ายจึงขอแจ้งประธานว่าจะไม่ถามกระทู้สดในวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถามสดที่ 2 และ 3 ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี ได้เข้าตอบคำถามด้วยตัวเองทั้งสองกระทู้จนจบวาระกระทู้ถามสด โดยตลอดการตอบกระทู้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เอ่ยถึงเหตุผลที่ตนเลือกที่จะไม่ตอบกระทู้ของชัยธวัชด้วยตนเองแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ ชัยธวัช ได้โพสต์ข้อความผ่าน X กล่าวถึงกรณีนี้ว่า วันนี้เป็นที่ชัดเจนว่านายกฯ เจตนาไม่ตอบกระทู้ถามสดของพรรคก้าวไกล ต้องการจะตอบกระทู้ถามสดเฉพาะที่ตนเองเตรียมมาตอบหรือชงให้โฆษณารัฐบาลเท่านั้น จริง ๆ ประเด็นสำคัญของปัญหาที่ตนต้องการถามนายกฯ จะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจที่มีลักษณะ ”ประยุทธ์คิด เศรษฐาทำ ไอ้โม่งสั่ง“ ด้วย

 

"น่าผิดหวังที่คุณเศรษฐา กล้าใช้อำนาจในลักษณะที่อาจผิดกฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แต่ไม่กล้าเผชิญหน้าการตรวจสอบจากฝ่ายค้านในสภา ตั้งใจไม่มาตอบกระทู้ถามสดของก้าวไกล แล้วเข้ามาตอบกระทู้ถามอื่นได้ในเวลาติดกัน" ชัยธวัชระบุ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา