วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สหภาพรัฐสภานานาชาติ” ผิดหวังกรณี 'ยุบก้าวไกล-ตัดสิทธิ์ กก.บห.' กังขาพรรคการเมืองที่มี สส.มากที่สุดในสภา ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ กังวล 44 สส.ถูก ป.ป.ช.ฟัน เรียกร้องไทยทบทวนกฎหมายให้สอดคล้องทัดเทียมอารยประเทศ


สหภาพรัฐสภานานาชาติ” ผิดหวังกรณี 'ยุบก้าวไกล-ตัดสิทธิ์ กก.บห.' กังขาพรรคการเมืองที่มี สส.มากที่สุดในสภา ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ กังวล 44 สส.ถูก ป.ป.ช.ฟัน เรียกร้องไทยทบทวนกฎหมายให้สอดคล้องทัดเทียมอารยประเทศ


สหภาพรัฐสภานานาชาติ (Inter-Parliamentary Union หรือ IPU เป็นองค์กรนานาชาติของรัฐสภาจาก 180 ประเทศทั่วโลก) ได้ออกคำตัดสินของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสมาชิกรัฐสภา (Committee on Human Rights for Parliamentarians) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค


แถลงการณ์คำตัดสินของคณะกรรมาธิการฯ ได้แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ อีกทั้งกรรมการบริหารพรรคที่เป็น สส. ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุต่อไปว่า ไม่อาจเข้าใจได้ว่าการยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามกระบวนการนิติบัญญัติของพรรคก้าวไกล จะสามารถนำไปสู่ข้อสรุปของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นฐานในการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อย่างไร และกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าอดีต สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล อาจถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต จากคดีที่อยู่ในกระบวนพิจารณาของ ป.ป.ช.


คณะกรรมาธิการฯ ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตย อันได้แก่ การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก การละเมิดเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม การเพิกถอนหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงมีความบกพร่องปรากฏในกระบวนพิจารณาคดี นอกจากนั้น ยังได้แสดงความผิดหวังที่คำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญยังคงถูกใช้ในการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้เมื่อปี 2560


คณะกรรมาธิการฯ เห็นพ้องกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ว่ามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบันนั้น ขัดกับหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งเป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดยห้ามมิให้มีการจำคุกบุคคลจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมเสนอให้ใช้ความเห็นจากความเชี่ยวชาญของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในการทบทวนกฎหมาย


นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐสภาไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทบทวนกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งหมด และปรับปรุงกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (2560), ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก โดยคณะกรรมาธิการฯจะดำเนินการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ และรายงานความคืบหน้าต่อคณะมนตรีบริหารแห่งสหภาพรัฐสภานานาชาติต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ #รัฐสภานานาชาติ