วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : จะหาทางออกให้ประเทศ หรือจะดันทุรังให้เกิดความรุนแรง!

 


เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 63 เวลา 13.20 น. อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์ที่แฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และยูทูปไลฟ์ ช่อง UDD news Thailand ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากรัฐสภาที่มีการเลื่อนไม่ลงมติ ทั้ง ๆ ที่พรรครัฐบาลก็ได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านก็ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สรุปแล้วเป็นการเลื่อน อันนี้เป็นการโหวตตามวิถีทางรัฐสภา ซึ่งฟังดูเหมือนกับก็แค่เลื่อนไป 1 เดือน


แต่จากคำอภิปรายในรัฐสภาวันนั้นของ ส.ว. และผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่เลื่อนไป 1 เดือน มันทำให้มองได้ว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าคำพูดของ ส.ว. ทั้งหลายในการอภิปรายวันนั้นล้วนบ่งบอกให้เห็นว่าไม่มีความเชื่อมั่นที่จะใช้วิถีทาง สสร. เหมือนที่บอกว่าคุณจะไปตีเช็คเปล่าให้เขายังไง? ในขณะเดียวกันก็มีคนถามว่าแล้วคุณจะเขียนเช็คเองหรือเปล่า? นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น


คำอภิปรายทั้งหมดมันบ่งชี้ถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มสุดโต่ง พวกอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว ที่ยังไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน ไม่มีความแน่ใจ แล้วก็โยนมาถึงเป็นความชั่วร้ายกระทั่งม็อบ ในเวทีรัฐสภาอาจจะไม่ได้โจมตี ส.ส. กันมาก อาจจะไม่ได้โจมตีพรรคการเมืองมาก แต่โน่น...ไปกลัวว่าอนาคตจะอยู่ในมือคนที่เชื่อถือไม่ได้ ต้องมีแต่ ส.ว. และกลุ่มตัวแทนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเท่านั้นถึงจะมีความชอบธรรม


ดังที่ดิฉันเคยบอกว่า กว่าที่เขาจะทำรัฐประหารหนึ่ง กว่าที่เขาจะเขียนรัฐธรรมนูญหนึ่ง กว่าเขาจะลงมติหนึ่ง มาจนถึงขั้นนี้เขาต้องลงทุนมากมาย ดังนั้นมันยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเปลี่ยนแปลง คืนอำนาจให้กับประชาชน


ในบางส่วนซึ่งเขาคิดว่าเขาอาจจะอนุโลมให้ได้ ก็มีบางส่วนอาจจะออกมาพูด ก็คือไม่ให้ สสร. แก้ไข แต่พวกเขาจะแก้บางประเด็น อันนี้ดูจากที่ ส.ว. อภิปรายประมาณนั้น หมายความว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเอาไว้แทบไม่ให้แก้เลย แก้ยากมาก นั่นแปลว่า ส.ว. ต้องร่วมมือด้วย


ดังนั้นสามารถตอบได้เลยว่า วิถีทางรัฐสภาดูจะเป็นไปไม่ได้เลยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


เรามาดูข้อเสนอของเยาวชน ประชาชนปลดแอก และพี่น้องประชาชน 3 ข้อ ก็คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ, หยุดคุกคามประชาชน และยุบสภา แล้วก็แถมด้วย “ประยุทธ์” ออกไป 4 ข้อนี้ดูมันเป็นไปไม่ได้สักข้อ


หยุดคุกคามประชาชนไหม? ไม่หยุดเลย

แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไหม? แก้ไขไม่ได้เลย

เรื่อง “ยุบสภา” เหรอ ถ้ายุบแล้วเชื่อมั่นว่าจะได้กลับมา ก็อาจจะเป็นไปได้

นั่นก็แปลว่าคุณต้องยุบสภาอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้


นั่นก็คือ วิถีทางรัฐสภาไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศเลย เพราะว่าดิฉันตั้งประเด็นว่า “จะหาทางออกให้ประเทศหรือจะดันทุรังให้เกิดความรุนแรง”


“รัฐสภา” เป็นวิถีทางออกที่ง่ายสุด ที่เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดี ไม่ต้องเกิดความรุนแรง ถ้าฝ่ายที่แย่งอำนาจมาจากประชาชน ทำรัฐประหารและอยู่มาแล้วตั้ง 6 ปี แล้วขณะนี้มาเป็นรัฐบาล แล้วก็ใช้กลวิธีที่แย่มากในการที่ตัวเองมาตั้งรัฐบาลจนได้ (ดึงเสียงมาให้อยู่ในมือ) แสดงออกให้เห็นว่าเมื่อไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน ก็แสดงออกโดยวิถีทางรัฐสภา ก็คือ ถ้ารัฐบาลสั่งการ หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมตัวเอ้ ๆ ที่มีบทบาทสูง (เอาง่าย ๆ ตอนนี้ก็ 3ป) ถ้าสั่งการบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม สสร. เพราะนี่มันเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผู้มีอำนาจ จารีตนิยม ตกลงกันว่าจะหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ให้เกิดความรุนแรง คุณก็ต้องใช้วิถีทางรัฐสภาในการหาทางออกให้กับประเทศ

 

แต่ว่าการเลื่อน คุณอาจจะบอกว่าก็แค่เลื่อน แต่ในการแค่เลื่อนมันมีผลตามมามากมาย ในนี้เราเห็นถางทางไปแล้วว่ามันไปไม่ได้ เพราะว่าในคำอภิปรายและความพยายามในการที่จะคว่ำ สุดท้ายก็ใช้วิธีเลื่อน เหตุผลเพราะว่าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง จะเป็นประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ไม่แฮปปี้ในการที่ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะทั้งประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยดูประมาณว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ พปชร. ซึ่งยังไม่เหมือนกับของฝ่ายค้าน ไม่เหมือนกับของประชาชนที่เสนอโดย iLaw


มันเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า เขาไม่เลือกใช้วิถีทางรัฐสภา ดังนั้นก็เหลือทางเดียวก็คือคุณจะดันทุรังว่าไม่ต้องมีทางออก เพราะดิฉันดูสัญญาจากนายกรัฐมนตรีที่พูด ดิฉันเรียนตรง ๆ ว่าเป็นการพูดที่เปลือยความคิดที่น่าเกลียดมาก แต่ประเทศนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว เหมือนที่ดิฉันพูดถึงค่านิยม 12 ประการของ สมช. หน่วยงานความมั่นคง คือฝั่งอำนาจนิยม จารีตนิยม “ไม่อาย” ที่จะปล่อยความคิดและคำพูดของตัวเองออกมา เพราะคิดว่ามันดีงาม ถูกต้อง ชอบธรรม


คำพูดของนายกฯ เป็นการแสดงถึงก้นบึ้งของหัวใจและจะบอกให้รู้ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร เขาบอกว่า “บิ๊กตู่” ชี้ ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ม็อบ เผยถ้าคนเหล่านี้ชนะประเทศอยู่ไม่ได้


ใครคือคนเหล่านี้? คนเหล่านี้คือใคร? คุณหมายถึงเยาวชนหรือ? คุณหมายความว่านี่เป็นการต่อสุ้เพื่อแพ้ชนะ หรือเป็นการต่อสู้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ถ้าคุณคิดให้ถูก คุณจะไปคิดอะไรว่าคุณกำลังสู้กับเด็ก คุณต้องคิดเสียใหม่ว่าเรากำลังจะหาทางออกให้ประเทศ เราจะทำยังไง? ที่เด็กเสนอมามันฟังได้ไหม? 3 ข้อนี้ หยุดคุกคามเขา แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา ฟังได้ไหม? (ยังไม่ต้องไปพูด 10 ข้อ) เอาเฉพาะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหยุดคุกคามเขา คุณก็ไม่ทำ


ไม่ต้องมาแก้ตัว เพราะว่าคือหนึ่งคุณคิดผิด คุณกำลังต่อสู้กับเด็กหรือ? แล้วจริง ๆคนเหล่านี้หมายความว่าไง? เพราะเขาขอคืนอำนาจให้กับประชาชน เขาต้องการประชาธิปไตยที่เขาชู 3 นิ้ว ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเท่าเทียม มีภราดรภาพ มันผิดตรงไหน? แล้วนี่มันไม่ใช่เรื่องของการแพ้ชนะ แปลว่าอย่างไรก็ตามคุณไม่ต้องการให้สิทธิเสรีภาพ คุณไม่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียม แล้วคุณไม่ต้องการให้เกิดภราดรภาพในประเทศนี้นั้นหรือ


คำว่า “แล้วมีปัญญาจะบริหารมั้ย” คุณเก่งแต่เฉพาะคุณคนเดียว คุณลองไปดูเด็ก ๆ 15 ปีซิ เวลาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) หรือพูดภาษาไทย เขาพูดปร๋อ แล้วเขาพูดแนวความคิดวิธีแก้ คุณทำได้เหมือนเขาไหมล่ะ?


นายกฯ กล่าวว่า “เรื่องยอมก็คงไม่ยอม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย เราไม่ยอมเขาก็ไม่ยอม เราห้ามเขาก็ฝ่าฝืน ถ้าตนสั่งให้เต็มที่ไปเลยจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่”


อ.ธิดากล่าวว่า ท่านบอกว่าเขาไม่เคารพกฎหมาย ดิฉันอยากจะถามว่ากฎหมายของใคร กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือ? กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพคนหรือ? กฎหมายเขียนโดยใครก็เพื่อรับใช้ชนชั้นนั้นนั่นแหละ เขียนโดยคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญเขียนโดยคณะรัฐประหาร คสช. กฎหมายที่เขียนโดยท่านมันไม่ใช่กฎหมายของคนที่เท่าเทียมกัน มันไม่ใช่กฎหมายในระบอบประชาธิปไตย แต่มันเป็นกฎหมายที่เป็นของจารีตนิยม อำนาจนิยม ของระบอบที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมจารีตนิยม พูดให้มันชัด ๆ ไปเลย


ถามว่าแล้วเขาอยากจะอยู่ใต้กฎหมายแบบนี้ไหม? นี่จึงเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำรัฐประหารถูก คุณเชื่อว่าคุณสืบทอดอำนาจถูก กฎหมายที่คุณเขียนนั้นถูกทั้งหมด คุณเป็นคนที่จงรักภักดี คุณรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พวกที่มาประท้วงไม่ให้คุณอยู่ต่อเป็นรัฐบาลล้วนเป็นพวกชังชาติ ล้วนเป็นพวกไม่จงรักภักดี ถ้าคุณถือดีอย่างนี้ ดิฉันคิดว่ามันไม่ใช่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศนะ แต่นี่เป็นการดันทุรังให้เกิดความรุนแรง


เด็กไม่ได้ดันทุรัง แต่ผู้ใหญ่คนแก่ที่ดันทุรังมันจะทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง น่ากลัวมาก แล้วดิฉันอยากจะพูดคำหนึ่งก็คือว่า คุณว่าเขาชังชาติ ตรงกันข้าม เขารักชาติ แต่ชาติของเขามันไม่ใช่มีแค่แผ่นดิน มันไม่ใช่มีแค่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ชาติของเขามีประชาชนเป็นสำคัญ ลำพังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีประชาชนในชาติอยู่สักคนหรือมีอยู่ไม่กี่คน ถามว่าจะเป็นชาติได้ไหม? เพราะฉะนั้นเขาก็รักชาติ แต่เป็นรักชาติในฐานะที่องค์ประกอบของชาตินั้นมีประชาชนเป็นด้านหลัก


เขารักสถาบันไหม? เขาก็รักสภาบัน แต่เขารักแบบคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่รักแบบคนรุ่นโบราณ คุณคิดว่าเพียงแค่การหมอบกราบและการที่ไม่มีการโต้แย้งใด ๆ แปลว่าจงรักภักดีหรือ? เขารักชาติแบบสมัยใหม่ซึ่งเป็นการรักตามแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ ตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ให้สถาบันมั่นคงและอยู่กันนาน ๆ คือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดิฉันมองอย่างคนที่นั่งเฝ้าดูจากการผ่านประสบการณ์มานาน แล้วคนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่ใครจะมาจูงจมูกได้ ไม่ใช่เป็นคนของพรรคการเมือง


มีพรรคการเมืองบางพรรคออกมาบอกว่า คล้าย ๆ กับว่ากลุ่มคนที่มามันบังเอิญมีประชาชน มีคนเสื้อแดงอยู่เป็นจำนวนมาก ถามว่าแล้วคนเสื้อแดงมีแกนนำไปสั่งให้เขาออกมาไหม? ไม่มี!!! หรือมีพรรคการเมืองบอกให้ประชาชนออกมาไหม? ไม่มี!!! เขามาของเขาเอง เพราะเขารู้ว่าเขาควรมาหรือเขาต้องมา เขาตัดสินใจของเขาเอง คุณเห็นแกนนำของพรรคการเมืองกับนปช.หรือคนเสื้อแดงไปชักชวนให้เขามามั้ย หรือไปปรากฏบนเวทีมั้ย ไม่มีใครปรากฏ ทุกคนก็คือมวลชนธรรมดา มันเป็นเรื่องของเขาเอง และนี่เป็นเรื่องที่เขาได้เปรียบทั้งวัย ทั้งในฐานะการนำ เพราะว่าเขาไม่ต้องใช้อาวุธนำ เขาไม่ต้องใช้ตำแหน่งหน้าที่นำ เอาความชอบธรรม และวัยก็เป็นของเขาเพราะเขาคืออนาคตของประเทศ


ดิฉันอยากจะบอกว่าเขารักชาติ เขารักศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามวิถีทางของคนรุ่นใหม่ พวกคุณเพิ่งฉลองธงชาติมา 100 ปี ความเป็นรัฐจารีต สิ่งทีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคง คำขวัญชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้วธงชาติก็มีมาจนครบ 100 ปี ถามว่าคุณจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือใน 100 ปี เพราะคุณไม่ยอมเปลี่ยน เพราะถ้าคุณเป็นคนแก่ที่ดันทุรัง นี่คือการทำลายประเทศ กับเด็กเยาวชนที่กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น อาจจะเป็นเหมือนลูกวัวไม่กลัวเสือก็ได้ เพราะไม่เคยเห็นเสือ ก็แล้วแต่


แต่อย่างไรก็ตามดิฉันมองว่าอนาคตต้องเป็นของเขา คุณมีปัญญาคุณก็ชี้แจงไปซิ คุณอย่าเอากฎหมายที่คุณเขียนไปบังคับเขา คุณอย่าเอาความคิดของคุณไปบังคับเขา ต้องอยู่ด้วยเหตุผล เขาตื่นขึ้นมาไม่ใช่เพราะมีใครสั่ง แต่เพราะเขาคิดของเขาเอง


ดังนั้น ดิฉันก็คิดว่าเวลานี้ไม่ใช่เป็นเวลาที่คนแก่จะดันทุรัง เพราะการดันทุรังของคนแก่คือการชังชาติ แล้วถ้าคุณจะบอกว่าสิ้นชาติก็สิ้นชาติเพราะความดันทุรัง หาทางออกให้กับประเทศ ให้วิถีทางรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเสนอ ดิฉันคิดว่ามันจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แล้วก็ควรปรับความคิดของคุณเอง อ่านหนังสือเหมือนที่เด็กอ่านบ้าง บางทีความดันทุรังของคุณจะลดลง! อ.ธิดากล่าวในที่สุด

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

เครือข่ายคนรุ่นใหม่แจ้งความสื่อลงข่าวบิดเบือนโยงไล่ยิงไทยภักดี

 


เครือข่ายคนรุ่นใหม่แจ้งความสื่อลงข่าวบิดเบือนโยงไล่ยิงไทยภักดี


กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีเดือด! ถูกสื่อลงข่าวบิดเบือน โยงไล่ยิงทำร้าย กลุ่มไทยภักดี รุดแจ้งความกลับสื่อดังหมิ่นประมาททำให้ทางกลุ่มเสียชื่อและสังคมเข้าใจผิด ด้านตำรวจชี้แจงยังไม่ทันรับแจ้งความ ม.112 จากกลุ่มไทยภักดีแค่ลงบันทึกประจำวัน

 

เวลา 11.00 น.วันที่ 28 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี จำนวน 15 คน นำโดย นางปัญญารัตน์ นันทภูตานนท์ แกนนำคณะก้าวหน้า นนทบุรี นายชินวัตร หรือไบร์ท จันทร์กระจ่าง และนายเวสารัช ชาติยิ่งเจริญ พร้อมสมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่ นนทบุรี เดินทางมาถามความจริงกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ หลังสื่อ "ทีนิวส์" นำภาพกลุ่มพวกตนไปลงข่าวออกข่าวว่าไล่ทำร้ายกลุ่มไทยภักดีมีหมายจับ ซึ่งทางสื่อดังกล่าว ได้ใช้ภาพของนายไมค์ ระยอง ไบร์ท ชินวัตร และนายเวสารัช โยงประเด็น พาดพิง ชี้นำ กล่าวหาว่ามีหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มใช้อาวุธปืนประกบไล่ยิงกลุ่มไทยภักดี ที่เดินทางมาสถานีตำรวจเมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เวลา 14.40 น. ที่ผ่านมา ตามที่สื่อดังกล่าวได้พาดพิงและมีการไลฟ์สดกล่าวหาถึง จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด มองทางกลุ่มว่าเป็นพวกอันธพาลและใช้ความรุนแรง จนทางกลุ่มเสียหาย 


ซึ่งเรื่องจริงหลังทราบข่าวภายหลังพบว่าเป็นการขับรถเฉี่ยวชนกัน มีการด่าทอและมีการนำอาวุธปืนขึ้นมาขู่ด้วย เป็นเรื่องส่วนตัว เหตุเกิดที่บริเวณช่วงใต้สะพานกลับรถต่างระดับ สาลีโข ก่อนเข้าสภ.ชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี โดยผู้ก่อเหตุทราบชื่อต่อมาคือ ว่าที่ ร.ต.กัมปนาท ดิษฐ์สว่าง อายุ 54 ปี ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า สกูตเตอร์ ADV 150 CC. สีดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับขบวนรถกระบะของทางกลุ่มไทยภักดี ที่กำลังเดินทางเข้าไปยังสภ.ชัยพฤกษ์ เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินกับนายอานนท์ นำภา และวอยซ์ทีวี ที่เผยแพร่ไลฟ์สด การปราศรัยของนายอานนท์ฯที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ในมาตรา 112 ในช่วงเวลานั้น


โดยต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลนนทบุรี ได้อนุมัติออกหมายจับ เลขที่ 470/2563 ลงวันที่ 26 ก.ย. 63 ทางผู้ก่อเหตุในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจด้วยการขู่เข็ญ ซึ่งทางว่าที่ ร.ต.กัมปนาท ผู้ก่อเหตุ หลังเกิดเรื่องขึ้น ได้เดินทางเข้ามอบตัวและได้ประกันตัวออกไปจาก สภ.ชัยพฤกษ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนคดีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่ และในส่วนผู้ก่อเหตุจะเกี่ยวข้องกับทางกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี ด้วยหรือไม่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหาข้อมูลหลักฐานในการเชื่อมโยง ไม่ใช้เป็นการด่วนสรุปตัดสินของสื่อ ทีนิวส์ ว่าทางกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี จะเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังในเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย

 


นายชินวัตรหรือไบร์ทเปิดเผยว่า วันนี้ในนามแกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี ได้เดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ ในเรื่องที่มีสื่อสำนักข่าวออนไลน์ ทีนิวส์ ลงเสนอข่าวไปว่าศาลอนุมัติหมายจับชู 3 นิ้ว และมีหรือใช้ภาพปรากฏเป็นผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมการไปยื่นหนังสือที่ สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งได้เป็นเหตุการณ์ บังเอิญตรงกับวันที่เกิดเหตุขึ้นกับทางกลุ่มไทยภักดีได้ถูกชายขับรถไล่และถูกขู่ด้วยอาวุธปืนก่อนถึงทางเข้าสภ.ชัยพฤกษ์พอดี 


และวันนี้ก็ได้รับทราบข้อมูลถึงความชัดเจนจากพนักงานสอบสวนแล้วว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนขึ้นมาข่มขู่ดังกล่าวไปแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับทางกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี แต่อย่างใด พร้อมได้กล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ มาตลอดว่าทางกลุ่มของเราชุมนุมโดยอหิงสาและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด เป็นการยืนยันได้ว่าทางกลุ่มเราไม่มีการใช้อาวุธใด ๆ หรือใช้กำลังกระทำการใด ๆ ตามที่ถูกสื่อ ทีนิวส์ กล่าวหา ชี้นำ ชี้แนะ บิดเบือน ทำให้ทางสังคมเข้าใจผิด ว่าเป็นฝีมือของทางกลุ่มเราตามที่นำเสนอภาพเผยแพร่ลงข่าวออนไลน์ออกไป มันไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงได้เดินทางมาลงแจ้งความดำเนินคดี หมิ่นประมาททำให้เสียชื่อกับทางสำนักสื่อทีนิวส์ และจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และในเวลา 13.30 น. ก็จะเดินทางไปแจ้งความ เอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับทางสื่อทีนิวส์ ที่ให้ข้อมูลผิดบิดเบือนในกรณีลงข่าวทางออนไลน์ไป ทำให้ทางกลุ่มถูกเข้าใจผิดทางสังคมเสียชื่อและเสียหายดังกล่าวด้วย พร้อมทวงถามความจริงกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ว่าการที่ได้รับเรื่องแจ้งความ นายอานนท์ นำภาและดำเนินคดีกับสื่อวอยซ์ทีวี ตามที่กลุ่มไทยภักดีกล่าวอ้างว่า ขึ้นปราศรัยที่บริเวณสนามหลวงและมีการถ่ายทอดไลฟ์สด เป็นการทำตามหน้าที่สื่อมวลชน ของวอยซ์ทีวี เข้าข่ายการละเมิด ม.112 เป็นความจริงอย่างไร

 

ต่อมา พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี พร้อมพนักงานสอบสวน ได้ชี้แจงเปิดเผยถึงกรณีการรับบันทึกลงประจำวันของทางกลุ่มไทยภักดีที่ยืมใช้สถานที่ของสภ.บางศรีเมือง ในกรณี ม.112 ดังกล่าวว่า ยังไม่ได้รับแจ้งความ ในข้อกล่าวหา ม.112 ดังกล่าวเพียงแต่ว่า เขามาให้การและรายละเอียดว่า น่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ทำไมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงไม่ดำเนินการ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบปากคำ รวบรวมข้อมูลหลักฐาน โดยจะผิดหรือเข้าข่ายด้วยหรือไม่ ยังไม่ทราบ โดยข้อหาดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจตัดสินใจ อยู่ที่ทางคณะกรรมการ เรามีหน้าที่เพียงแค่เสนอข้อมูลเรื่องขึ้นไป ตามลำดับชั้น กองบังคับการ ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณา ต้องรอคำสั่งลงมาว่าจะเข้าข่ายหรือจะดำเนินคดีกับใครอย่างไรต่อไป  แต่การที่ทางกลุ่มไทยภักดีเขามาแจ้งกล่าวหา ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำหน้าที่หรือไม่รับแจ้งเรื่อง อันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่า โดยยืนยันว่ายังไม่ได้แจ้งความ ม.112 ซึ่งก็เหมือนกันที่ตอนนี้ทางกลุ่มได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา เอาผิด พ.ร.บ.คอมกับทางผู้เผยแพร่ภาพของสื่อทีนิวส์ เราก็ต้องรับแจ้งลงบันทึกประจำวันเอาไว้ตามหน้าที่ เหมือนกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือมีสองมาตรฐานแต่อย่างใด เราทำตามหน้าที่ รักษากฎหมายและเป็นกลาง โดยไม่เลือกข้างหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด


วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย วางหรีด-ยื่นจดหมายเปิดผนึกหน้ากรมศิลป์ หลังแจ้งความ แกนนำฝังหมุดคณะราษฎร2 ณ สนามหลวง แต่ไม่ติดตามการหายไปของ หมุดคณะราษฎร-อนุสาวรีย์ปราบกบฎ


ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย วางหรีด-ยื่นจดหมายเปิดผนึกหน้ากรมศิลป์ หลังแจ้งความ แกนนำฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ณ สนามหลวง แต่ไม่ติดตามการหายไปของ หมุดคณะราษฎร 2475 - อนุสาวรีย์ปราบกบฎ

วันนี้ (28 ก.ย. 63) เวลา 10.00 น. ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) จัดกิจกรรม "ฉันมาทวงของฉันคืน" โดยนัดรวมพลกันที่ ลานอ.ศิลป์ พีระศรี 

ทั้งนี้นักศึกษาโบราณคดี 2 ราย ในนามตัวแทนกลุ่ม ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) ได้เดินทางมาถึงจุดรวมพลพร้อมด้วยหรีดดอกไม้ที่ผูกด้วยโบว์สีขาว เขียนข้อความว่า "กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย" แต่เนื่องจากมีฝนตกจึงทำให้กิจกรรมต้องหยุดรอเวลา 

จนในเวลา 10.20 น. ฝนเริ่มหยุด มีตัวแทนกลุ่มเพิ่มมาอีก 1 ราย ทั้ง 3 รายได้ยืนชี้แจงรายละเอียดกิจกรรมต่อสื่อมวลชน จากนั้นเดินเท้าออกจากลาน อ.ศิลป์ พีระศรี ออกประตูมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เลี้ยวซ้ายไปหน้ากรมศิลปากร จากนั้นรอเวลาตัวแทนจากกรมศิลปากรออกมารับหนังสือ 

กระทั่งเวลา 10.35 นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากกลุ่มกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย ถึงอธิบดีกรมศิลปากร

จากนั้นตัวแทนกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยอ่านจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้กรมศิลปากรตามหาหมุดคณะราษฎร 2475 และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) ต่อมานายสถาพรรับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่ม แต่ปฏิเสธที่จะรับพวงหรีด ให้เหตุผลว่าไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการ นักศึกษาตัวแทนกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย จึงวางหรีดไว้ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้ากรมศิลปากร

ด้านนายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กล่าวว่าตนจะนำหนังสือนี้ มอบให้อธิบดีกรมศิลปากรต่อไป และทั้งนี้จะดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากรเท่านั้น ด้วยว่าหมุดคณะราษฏร 2475 ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ส่วนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กรมศิลปากรได้ทำเรื่องไปยังเขตเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในการนี้ นักศึกษาตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมาในนามกลุ่มกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) มิอาจกล่าวรวมถึงชาวศิลปากรทั้งหมดว่ามีแนวเดียวกันกับพวกตน แต่ในฐานะที่ตนเป็นนักศึกษาโบราณคดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม จึงขอแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้กรมศิลปากรทำงานอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่อย่างหนึ่งทำงานรวดเร็ว อย่างหนึ่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน จึงขอนำพวงหรีดมาแสดงความไว้อาลัย ให้กับการทำงานที่เป็นสองมาตรฐานด้วยว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่เรารู้สึกไม่สบายใจ เพราะในฐานะชาวศิลปากร กรมศิลปากรจึงมีความสำคัญ เราจึงขอแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในฐานะนักศึกษาที่มองเห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

และกล่าวต่อไปว่า ขอให้หนังสือนี้ถึงอธิบดีกรมศิลปากร ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้ติดตามสมบัติที่เป็นสาธารณะประโยชน์ที่สำคัญของชาติกลับมาสู่สังคม วันนี้แม้ไม่รับพวงหรีดไม่เป็นไร ก็จะวางไว้ตรงนี้เพื่อแสดงความไว้อาลัยให้กับระบบการทำงานของกรมศิลปากร และภายใน 14 วัน หากยังไม่ได้รับความคืบหน้าในกรณีการสูญหายดังกล่าว ทางกลุ่มจะยื่นเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการต่อไป 

#UDDnews #ร่วมกันชำระความจริง

#ฉันมาทวงของฉันคืน #ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย

ประมวลภาพ












วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563

"อ.ธิดา" แนะ!!!ต้องต่อสู้กับวิธีคิดจารีตนิยมที่ไม่ถูกต้องไปพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมือง


"อ.ธิดา" ชี้ "จากปรากฏการณ์สู่ธาตุแท้" เราควรจะเข้าใจธาตุแท้ของมันและควรรู้ผลึกของปัญหา แม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยังไม่ได้รับชัยชนะแต่เป็นการต่อสู้อย่างเข้าใจ ด้วยเหตุและผล แนะ!!!ต้องต่อสู้กับวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องไปพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมือง 

วานนี้ (25 ก.ย. 63) ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เครือข่าย ศาลายาเนี่ยน , สามัญชน , ภาคีนักศึกษาศาลายา และ We Fair  ร่วมจัดกิจกรรม "Salaya Democracy Fest"

โดยมีวงเสวนาต่าง ๆ อาทิ “ชุมชนชาวศาลายาในยุค COVID -19” วงเสวนา “การคุกคามโดยรัฐ และความอยุติธรรม” วงเสวนา “เหตุจำเป็นในการแก้รัฐธรรมนูญ รูปแบบ สสร. และการทำประชามติ” วงเสวนา “เปลี่ยนรัฐเผด็จการเป็นรัฐสวัสดิการ” และวงเสวนา “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 

ทั้งนี้ภายในกิจกรรม "สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล" ได้มีการจัดนิทรรศการเชิดชู "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" ผู้บุกเบิกและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และกลุ่ม"พิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of the Commonners ) ได้จัดนิทรรศการชื่อว่า "Up rising 2020" ที่รวบรวมป้ายผ้าที่เขียนข้อความ เสื้อข้อความการต่อสู้เรียกร้อง ผ้าโพกหัว สคริปการปราศรัย และสารพัดสิ่งของการเมืองภาคประชาชน ที่นำมาใช้ในกิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ ได้ส่งมารวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

และเวลา 17.15 น. เริ่มวงเสวนา “การคุกคามโดยรัฐ และความอยุติธรรม” โดยในส่วนของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ  เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง "จากปรากฏการณ์สู่ธาตุแท้" โดยการต่อสู้ที่ผ่านมา การศึกษาบทเรียนการต่อสู้ของประชาชนไทยมาเป็นลำดับ เราต้องทำให้เป็นผลึกทางความคิด "จากปรากฏการณ์ เพื่อนำไปสู่ว่าธาตุแท้ของปัญหาคืออะไร" เพราะมิเช่นนั้นปรากฏการณ์ก็จะเกิดซ้ำ ๆ แล้วก็มีคนสูญเสีย คนล้มตาย บาดเจ็บ เราควรจะเข้าใจธาตุแท้ของมันและควรรู้ผลึกของปัญหา แม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยังไม่ได้รับชัยชนะแต่เป็นการต่อสู้อย่างเข้าใจ ด้วยเหตุและผล

- ทำไมรัฐต้องคุกคาม 
- ทำไมความ"อยุติธรรม"จึลเกิดขึ้น
- ทำไมเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงไม่เกิดผล

อ.ธิดากล่าวว่า เพราะความยุติธรรมไม่ใช่"สิ่งสัมบูรณ์" จึงขึ้นอยู่กับระบอบว่ารัฐนั้นเป็นรัฐอะไร การเมืองการปกครองอะไร ถ้ารัฐที่เป็นการเมืองราชาธิปไตย รัฐที่เป็นเผด็จการ รัฐที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้จะมีโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง อุดมการณ์รวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันหมด ท่ามกลางสังคมไทย เป็นเศรษฐกิจทุนนิยมลักษณะเฉพาะ การเมืองการปกครองของเรา รวมทั้งโครงสร้างชั้นบนจึงเป็นจารีตนิยมเต็มที่

อ.ธิดา ได้กล่าวถึงจากการเปิดนโยบายของ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ด้วยบทบาทสำคัญในการคุกคามประชาชน จะแบ่งโดยนโยบายเป็นสองส่วน นโยบายหลักและนโยบายทั่วไป ซึ่งจะมีค่านิยม 12 ประการที่นำไปสู่นโยบายหลักของ สมช. อ่านแล้วไม่แปลกใจ ทั้ง 12 ข้อเป็นการวางนโยบายเกี่ยวข้องกับการคุกคามประชาชนทั้งสิ้น 


ค่านิยม 12 ประการ ที่นำไปสู่นโยบายหลักของ สมช.

การคุกคามประชาชนโดืยรัฐ จึงขึ้นอยู่กับรัฐนั้นเป็นรัฐอะไร เขาต้องการอยู่ในอำนาจนั้น จำเป็นต้องปรามปราม โดยวิธีไหนก็ได้ เพราะว่าสำคัญที่เป้าหมายก็คือให้อำนาจรัฐดำรงอยู่ เขาต้องคุกคามอำนาจส่วนที่จะทำให้รัฐนั้นกระทบกระเทือนเพราะฉะนั้นความยุติธรรม จึงไม่มี

เมื่อคนไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมก็เหมือนกฎหมายสมัยหิน กฏหมายชนเผ่า หรือรัฐธรรมนูญในปัจุบัน ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มไหนมีอำนาจ และใช้กฏหมาย

ไม่มีความยุติธรรม และความเท่าเทียมตราบใดที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า การต่อสู้ทางการเมืองคือการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในทัศนะส่วนตัว  เพราะว่าถ้าถามหาความยุติธรรม ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองไม่บรรลุ ก็ไม่มีทางที่จะได้สิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมของประชาชน

ถ้าอยากจะต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ปัญหากดขี่ทางชนชาติ การกดขี่ทุก ๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองทั้งสิ้น จึงต้องสามัคคีกันในการต่อสู้เพื่อใหัอำนาจเป็นของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันการช่วงชิงอำนาจระหว่างประชาชนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังไม่จบ (เกิดรัฐประหารเป็นระยะ ๆ) นับแต่ปี 2475 การเลือกตั้งแต่ละครั้งอย่าคิดว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่อมองไปทางใดการต่อสู้ในระบอบไม่ได้ผล การต่อสู้จึงยืดยาว เพราะมีชัยชนะชั่วคราว แต่ไม่ใช่ชัยชนะอย่างแท้จริง

อ.ธิดายังได้กล่าวถึงนโยบายหลักของสภาความมั่นคง (สมช.) บอกชัดเรื่องศาสนาพุทธจะอธิบายได้อย่างไรในเมื่อเมืองไทยมีหลากหลายศาสนา มีหลายชนชาติเต็มไปหมด ไม่มีคนไทยจริงในประเทศไทย ดังนั้นการขดขี่ทางชนชาติไม่สามารถตอบสนองได้ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยเป็นรัฐจารีต แล้วถ้ายังเป็นแบบนี้ การปราบปรามประชาชน การเข่นฆ่าประชาชนจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะว่าเขามีหลักคิดแบบนี้ ดังนั้นจึงต้องต่อสู้กับวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง การต่อสู้ต้องไม่ใช่แต่เพียงเรื่องรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับวิธีคิดจารีตนิยมที่ไม่ถูกต้อง ต้องทำไปพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมือง 

จากนั้นอ.ธิดา รับมอบของที่ระลึก และเดินชมบูธนิทรรศการต่าง ๆ ภายในงาน 

#UDDnews #หยุดคุกคามประชาชน #ภาคีนักศึกษาศาลายา

ประมวลภาพ




















ธิดา ถาวรเศรษฐ : การคุกคามโดยรัฐและความอยุติธรรม

 


การคุกคามโดยรัฐและความอยุติธรรม

1) รัฐ ประกอบด้วย กลุ่มผุ้ปกครอง และ กลุ่มผู้ถูกปกครองชนชั้นต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับว่า  ผู้ปกครองคือใคร? และ ปกครองด้วยระบอบอะไร? 

2) กติกาการปกครองจึงเป็นไปตามที่อำนาจสูงสุดต้องการ

    ถ้าเป็น    ราชาธิปไตย         กติกาก็เพื่อพระมหากษัตริย์

    ถ้าเป็น    ประชาธิปไตย       กติกาก็เพื่อประชาชน

    ถ้าเป็น    เผด็จการ             กติกาก็เพื่อผู้นำเผด็จการ

3) ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามระบอบปกครอง ว่า

    ความยุติธรรมของระบอบใด? และ ใครคือผู้มีอำนาจปกครอง?

ก็เขียนกติกาการปกครอง  เพื่อให้ "ผู้ปกครอง" ควบคุมปกครอง "ผู้ถูกปกครอง" ง่าย  ไม่กระด้างกระเดื่อง  ไม่ต่อต้าน  ไม่ลุกขึ้นทวงความยุติธรรม  ไม่ลุกขึ้นทวงอำนายทางสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม

นี่เป็นเหตุผลที่รัฐคุกคามประชาชนเพื่อไม่ให้ลุกขึ้นสู้ผู้ปกครองหรือทวงอำนาจการปกครอง 

ระบอบการปกครองแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบอบราชาธิปไตย, ระบอบประชาธิปไตย, ระบอบเผด็จการ หรือระบอบสังคมนิยม ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายแตกต่างกันไม่เหมือนกัน

ความยุติธรรมจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายและผู้ใช้บังคับว่าอยู่ในระบอบอะไร?



การคุกคามฝ่ายประชาธิปไตย

I  ปรากฏการณ์

ก.  กระบวนการสร้างและปล่อยข่าวเท็จ ให้ร้ายนักศึกษา ประชาชนรวมทั้งนักการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและหรือต่อต้านเผด็จการทหาร  ให้ประชาชนส่วนใหญ่เกลียดชัง อาทิ

    1) เป็นขบวนการล้มเจ้า ทำลายสถาบันชาติ ศาสนา พระมหา    

        กษัตริย์

    2) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนักการเมืองพรรคที่ชนะเลือก  

        ตั้งคอรัปชั่น โกงกิน

    3) ขบวนการประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นขบวนการ                  ไม่บริสุทธิ์

        3.1 เป็นของพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความจงรัก                         ภักดี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์        

        3.2 เป็นขบวนการที่เป็นของพรรคคอมมิวนิสต์

        3.3 เป็นขบวนการที่มีต่างชาติหนุนหลัง

    4) ขบวนการประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นขบวนการต่อสู้

        ด้วยอาวุธ ใช้ความรุนแรง ใช้ระเบิด ใช้ปืน ใช้การเผาอาคาร

        สถานที่

ข.  กระบวนการข่มขู่คุกคามด้วยการใช้เจ้าหน้าที่ติดตาม ข่มขู่ กระทั่งลอบทำร้าย  อุ้มหาย หรือฆ่าทิ้ง โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง (เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม)  สำหรับคนที่เขาพิจารณาว่าเป็นอันตราย  และการข่มขู่คุกคามโดยใช้กฎหมายและกำลังอาวุธ  การดำเนินคดีด้วยกฎหมายพิเศษครั้งแล้วครั้งเล่า

ค.  การสร้างกลุ่มมวลชนฝ่ายจารีต เพื่อปะทะกับมวลชนและแกนนำฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย

    1) เป็นมวลชนที่หน่วยงานความมั่นคงสร้างและควบคุมโดยเจ้า

       หน้าที่รัฐโดยตรง เช่น กลุ่มเสธ.อ้าย, ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิง

       แดง, นวพล ฯลฯ

    2) เป็นมวลชนที่มีแกนนำฝ่ายพลเรือนที่เสียประโยชน์จากการมี

        รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้รับชัยชนะท่วมท้น ตัวอย่างเช่น 

        กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่ม กปปส. ล่าสุด

        คือ กลุ่มไทยภักดี

ง.  การใช้องค์กรรัฐฝ่ายต่าง ๆ คุกคาม จากน้อยไปหามาก

    1) โรงเรียน  สถานศึกษา

    2) ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การ

        ปกครองส่วนท้องถิ่น ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

    3) ตำรวจ, อัยการ, ศาล การใช้กฎหมายจัดการ

    4) กองทัพจากส่วนกลางและกองทัพภาค

    5) องค์กรอิสระ, กกต., ปปช. ฯลฯ และศาลรัฐธรรมนูญ

จ.  การปราบปรามด้วยกองกำลังอาวุธ  ทหาร, ตำรวจ ประกาศกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร

ฉ.  การฟ้องร้องคดีความ  ทั้งก่อนและหลังการปราบปราม  คุกคามด้วยอาวุธและการคุกคามอื่น ๆ เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง  ตั้งแต่ตำรวจ  การฟ้องร้อง  การออกหมายจับ  หมายขัง  การฝากขัง  การข่มขู่ผู้ถูกกล่าวหาและพยาน  การเขียนสำนวนไปจนถึงอัยการสู่ศาล  ทั้งอาญา, แพ่ง และเปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้  ปัญหาการยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า  การให้อำนาจองค์กรอิสระที่มาจากปีกเผด็จการจารีตนิยมมีอำนาจยาวนาน  บางครั้งทำตัวดังเป็นศาลเอง  มีอำนาจส่งฟ้องศาลอาญานักการเมืองหรือไม่ก็ได้  หรือกระทำการคุกคามนักการเมืองปีกที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจอนุรักษ์นิยม  ซึ่งก็คือปีกที่ประชาชนสนับสนุนนั่นเอง

ดิฉันไม่ขอก้าวล่วงไปยังกระบวนการยุติธรรมส่วนปลายของศาลต่าง ๆ ที่ควรเป็นอิสระคานอำนาจกัน  และต้องมีอำนาจประชาชนฝ่ายอื่น ๆ มาคานอำนาจศาลได้  แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น  ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่ฝ่ายจารีตนิยมเกรงว่าเอาไม่อยู่  สถานการณ์ฝ่ายภาคประชาชนและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปไกล  เป็นอันตรายต่อฝั่งจารีตนิยม  ก็เกิดการทำรัฐประหาร แล้วมีการรับรองโดยศาลว่ามีอำนาจถูกต้องทุกครั้ง  นี่คือการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง  เป็นประชาธิปไตยจอมปลอมตลอดมา


II  สาเหตุ

ก.  มาจากปัญหาการยอมรับอำนาจในเชิงระบอบการเมืองการปกครองว่ายอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบสากล หรือระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ (คณาธิปไตย, อำมาตยาธิปไตย, อัตตาธิปไตย) 

เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำเพื่อระบอบที่ตนเองได้ประโยชน์  คือโครงสร้างอำนาจแบบโบราณ  กับประชาชนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  มีสิทธิ, เสรีภาพ และความเสมอภาค ตามระบอบประชาธิปไตยกติกาสากล

ข.  องค์กรรัฐที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนทั้งหลาย  ยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบจารีตนิยม  กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำจารีตนิยมที่ใช้ปกครองปราบปรามประชาชน  ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พลเรือน ทหาร องค์กรอิสระ และอำนาจตุลาการที่ขึ้นต่อรัฐจารีตนิยม  ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสรีของประชาชน

ค.  มีกลุ่มทุนและปัญญาชน ขุนนาง กระทั่งกรรมกรรัฐวิสาหกิจขุนนางที่ได้ผลประโยชน์จากอำนาจรัฐจารีตนิยม และรัฐบาลเผด็จการทหารก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้อำนาจรัฐจารีตและรัฐเผด็จการสามารถดำรงอยู่ได้ในเวลานานขึ้น

ง.  ความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งหลายครั้งติด ๆ กัน  ทำให้ฝ่ายจารีตนิยมไม่อาจยอมรับกติกาและการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยได้

จ.  ดังนั้น กติกาสากลในระบอบประชาธิปไตยและผลการเลือกตั้งเสรีทั่วไปจึงถูกปฏิเสธจากฝ่ายจารีตนิยม  นั่นคือระบบรัฐสภาล้มเหลว  ไม่อาจใช้เป็นเวทีแก้ปัญหาของแต่ละฝ่าย  เมื่อมีการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชน  การปราบปรามประชาชนเพื่อยึดอำนาจโดยการใช้กำลังทหารก็เป็นทางออกของฝ่ายชนชั้นนำจารีตนิยม

สุดท้ายความไม่สามารถของฝ่ายจารีตนิยมในการปรับตัวสู่ยุคสมัยทุนนิยมเสรีและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย  ทำให้ต้องมีการปราบปรามกดขี่ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงอำนาจประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีเพียงป้ายชื่อเท่านั้น

พรรคการเมืองจารีตนิยม  ชนชั้นนำจารีตนิยม  ข้าราชการ  ทหาร  พลเรือนกระทั่งทุนจารีตนิยม  กลายเป็นเครือข่ายที่ร่วมด้วยช่วยกันในการจัดการกับผู้เรียกร้องทวงคืนอำนาจประชาชนอย่างเข้มข้น  ทั้งในยุคสงครามเย็นต่อสู้คอมมิวนิสต์  และมาบัดนี้เป็นยุคที่ต่อสู้กับนายทุนรุ่นใหม่และมวลชนที่ตื่นตัวเพื่อระบอบประชาธิปไตย

องคาพยพของรัฐที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนจึงกลายเป็นเครือข่ายคุกคามเข่นฆ่าประชาชนได้อย่างโหดเหี้ยมไม่เลือกหน้า  ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านจน ๆ  คนแก่ ผู้หญิง  หรือเด็ก  ทั้งหมดนี้เพื่อพิทักษ์อำนาจการปกครองให้อยู่ในมือตนเองและเป็นการทำที่เหวี่ยงแห ไม่มีข้อมูลข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้การปราบปรามเข่นฆ่าจึงป่าเถื่อนนองเลือด


III  การแก้ไข 

ก.  ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในกติกาสากลเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปทุกชนชั้น

ข.  ทำให้วิถีทางรัฐสภาเป็นทางออกในการแย่งชิงอำนาจการเมืองการปกครอง

ค.  ถ้าทำไม่ได้ทั้ง 2 ข้อ  การต่อสู้นอกเวทีรัฐสภาโดยประชาชนต้องกลายเป็นหนทางหลักในการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

การต่อสู้นอกเวทีรัฐสภานั้น  ทั้งสองปีกได้ทำมาแล้ว  แต่ฝ่ายชนชั้นนำมีเครื่องมือรัฐจารีตนิยม  โครงสร้างอำนาจอื่นที่ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ  ถูกนำมาใช้ปราบปรามประชาชน  ทั้งทางกฎหมายและการปราบปรามอุ้มฆ่าประชาชน  แต่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมีแต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเท่านั้นเป็นด้านหลัก  ส่วนอำนาจกลไกรัฐเป็นของฝ่ายจารีตนิยมทั้งสิ้น

การเรียกร้องของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยและการลุกขึ้นสู้ได้อย่างมีคุณภาพและปริมาณ จึงต้องมี

1)  กระบวนการที่มีคุณภาพด้านข้อมูลและสื่อ  เพื่อส่งถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และเป็นเรื่องจริงที่มีการกดขี่ปราบปรามประชาชน

2)  ข้อเรียกร้องและการนำต้องเป็นเอกภาพ  มีพลังของเหตุผลและความชอบธรรมที่ประชาชนเห็นชอบได้กว้างขวางที่สุด  โดยมีเป้าหมายเฉพาะหน้าและระยะยาว

3)  เปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกระทำมาเป็นฝ่ายกระทำอย่างมีจังหวะก้าว และแสวงหาแนวร่วมขบวนการในหมู่ประชาชนทุกภาคส่วน ในทุกวงการ ที่ต้องการเติบโตในอนาคต  ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายพรรคการเมืองเท่านั้น

ธิดา ถาวรเศรษฐ

25 ก.ย. 63

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

ความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ยื้อเวลาต่อไป เมื่อ "สุดโต่ง" มาเจอกับ "สุดโต่ง" รัฐบาลต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องเป็นผู้เสนอเอง!


ความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ยื้อเวลาต่อไป เมื่อ "สุดโต่ง" มาเจอกับ "สุดโต่ง" รัฐบาลต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องเป็นผู้เสนอเอง!


ยูดีดีนิวส์ : 25 ก.ย. 63 วันนี้ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่สอง สุดท้ายมีการเสนอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1 เดือนนั้น โดย อ.ธิดา ให้ความเห็นว่า


สิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าแปลกใจ เพราะว่ามันเป็นดังที่อาจารย์เคยบอกไว้แล้วว่า ในสังคมไทยนั้นความพยายามที่ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนยังดำรงอยู่ ความคิดของคนในสองส่วนนี้มันยังอยู่ แล้ววุฒิสมาชิกเป็นตัวแทนของความคิดที่ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนชัดเจน


เขาไม่ได้คำนึงว่าเขามาจากไหน? เขาอ้างความชอบธรรมว่ามาตามรัฐธรรมนูญ 


รัฐธรรมนูญมาจากไหน? มาจากการทำรัฐประหาร เขาก็ว่าชอบ


ดังที่เราได้พูดไปเมื่อวานแล้วว่าอ้างการทำประชามติ ซึ่งเป็นประชามติที่มีอำนาจปืน อำนาจรัฐ ควบคุมคนอยู่ แล้วคนก็อยากได้เลือกตั้งอย่างรวดเร็ว มันเป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งที่ยืนยันว่าสภาพสังคมไทยยังดำรงอยู่อยางนี้ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็ยังชมเชยเยาวชนว่า ก็ไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น แล้วก็อนุญาตให้ออกมาได้ ไม่มีการปิดกั้น อันนี้ก็สบายใจอย่างหนึ่งว่าเด็ก ๆ เขาก็มีความคิด มีวุฒิภาวะ แน่นอนผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นห่วง นักต่อสู้รุ่นเก่าก็เป็นห่วง แต่สิ่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ว่าข้อเรียกร้องเขาจะถูกใจ ไม่ถูกใจ จะมากเกินไปในความคิดของแต่ละคนก็ตาม มันก็ยังมีเวลาที่แต่ละฝ่ายกลับไปคิดแล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไร ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี


วุฒิสมาชิกเป็นเหมือนคนที่เข้ามาอยู่ในสภานิติบัญญัติที่เป็นความคิดจารีตนิยมอำนาจนิยมสุดโต่ง ในทัศนะอาจารย์ คุณจะเห็นการพูดที่ชัดเจน จึงอยากจะให้สังคมมาช่วยกันคิดว่า สุดโต่ง กับ สุดโต่ง ถ้าเจอกันปัญหามันต้องเกิดขึ้นแน่นอน ทำอย่างไรคนที่ไม่สุดโต่งจะหาทางออกให้กับประเทศให้ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ  รัฐบาลควรจะเป็นผู้เสนอเองทั้งหมด


กรณีซีกรัฐบาลพยายามเล่นเกมยื้อเวลา เท่าที่อาจารย์ดูนะ แน่นอนความไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง ไม่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กว่าเขาจะทำรัฐธรรมนูญนี้ได้ ทำรัฐประหารแล้วก็ลำบากมากว่างั้นเถอะ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้กับวุฒิสมาชิกที่จะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญง่าย ๆ นะ เป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์เมื่อวานก็เป็นทริกที่มันเกิดขึ้น


แน่นอน...เขาคิดว่าเขายื้อเวลาได้ส่วนหนึ่ง อาจจะมองด้านบวกของฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม แต่ขณะเดียวกันมันได้บ่มเพาะความรู้ ความคิดของประชาชนมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ


ในทัศนะอาจารย์ 14 ต.ค. 63 จะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 14 ต.ค. 16 แน่นอน ถ้าเหตุการณ์มันยังเป็นเช่นนี้ เพราะมันมีทั้งคนรุ่นเก่า มีทั้งคนรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นในอนาคตเข้าไปด้วย


ประชาชนที่จะมาในวันที่ 14 ต.ค. (ตามที่เขานัดกันนะ) อาจารย์คิดว่ามีเวลาเตรียมตัวและปักใจแน่นอน อย่างเมื่อวานนี้เขานัดแป๊ปเดียว คนยังมาเยอะเลย 


นับจากวันนี้ไปก็เตรียมคิดได้แล้วว่าเมื่อเวทีสภาไม่ได้ผล ปรากฏการณ์ท้องถนนมันก็จะรุนแรงเกิดขึ้น ว่ากันอีกที 14 ต.ค. ปีนี้คงยิ่งใหญ่พอควร เผลอ ๆ ก็น้อง ๆ หรือทัดเทียมกับ 14 ต.ค. 16 ก็เตรียมรับกันก็แล้วกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญท้ายที่สุดเดินไปถึงทางตัน ควรมีกลไกไหนจะพาเดินไปถึงเป้าหมาย


อ.ธิดา กล่าวว่า ถ้าเขาทำให้เวทีสภาไม่ได้ผล นั่นก็คือตีตก เขาคุยกัน 1 เดือนโดยที่ฝ่ายค้านไม่มี แล้วก็ตีตก ทั้งร่างประชาชน ทั้งร่างของพรรคการเมือง เมื่อเป็นอย่างนั้นก็แปลว่าเวทีรัฐสภาจบ สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็จะเห็นเวทีบนท้องถนนนอกรัฐสภา และอาจจะมีเวทีนอกรัฐสภาอีกแบบหนึ่ง หลายคนก็อาจจะมองว่าถ้าควบคุมไม่ได้ ก็กลับไปสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเก่า คือรัฐประหารอีกก็ได้


คำถามว่าสังคมไทยจะหาทางออกในเวทีรัฐสภาได้หรือไม่?  ถ้าบนเวทีรัฐสภา รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบ ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ซึ่งยังไม่มีอะไรเลย สสร. ก็แฟร์ซิ คุณอยากจะเข้ามาคุณก็สมัคร ประชาชนเขาก็เลือกได้เหมือน สสร.ใ นอดีต มันไม่ใช่ว่าใครจะวางตัวเอาไว้ได้ว่าคนนี้เป็นคนร่าง 


ถ้าแฟร์ เปิดให้เลือก สสร. ทั่วประเทศ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม คุณเสรี, คุณวันชัย ลงไปสมัครเลย อาจารย์เชื่อว่าเขาอาจจะได้ เพราะว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งก็เลือกเขา แล้วไปใช้เวที สสร. ในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพแล้วเปลี่ยนมาตรา 256 ให้ได้ ประเทศชาติยังมีอนาคตว่ามันจะก้าวไปได้ตามลำดับ แต่ถ้ามันไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่นี้นะ แล้วแนวโน้มมันก็ต้องลงไปสู่เวทีประชาชนนอกรัฐสภา แล้วก็อาจจะมีการไม่ยอมอีก เพราะฉะนั้นวงจรอุบาทว์ก็จะเกิดขึ้น ดูแล้วความหวังดี ๆ ไม่ค่อยมีเลยค่ะ


จากนั้น นพ.เหวง โตจิราการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมประเมินว่าเป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง คือแทนที่จะช่วยกันถอนฟืนออกจากไฟ แทนที่จะช่วยกันให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบลง เมื่อวานนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองให้สูงขึ้นอีก ถ้าใครติดตามการอภิปรายก็จะเห็นชัดเจนว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และถ้าให้มีการโหวตเมื่อวานนี้ผมเชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะโหวตคว่ำ ไม่มีทางที่จะมี 84 เสียงที่มาสนับสนุน เมื่อเป็นอย่างนี้คุณก็โหวตไปเลยซิครับ


คือถ้าเมื่อวานนี้โหวตคว่ำทั้งหมด การประชุมสภาสมัยหน้าฝ่ายค้านก็มีโอกาสที่จะเสนอญัตติใหม่  หรือไม่ก็นำเอาญัตติของ iLaw เข้ามาสู่การพิจารณา แต่การที่คุณบอกว่าตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษา 1 เดือน มันไม่สามารถทำให้พวกคุณเปลี่ยนใจได้หรอก เพราะเป็นการยืนยันแล้วว่าพวกคุณไม่เอาด้วย เมื่อวานนี้เป็นการเล่นกลยุทธ์ทางการเมือง ถ้าพูดกันตรง ๆ คนไทยทุกคนมีสติปัญญาและมีสมอง เมื่อวานที่เห็นชัดก็คือความไม่จริงใจของ ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะจริง ๆ แล้ว ส.ว. เขาเหลือบมอง ถ้าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณอะไรบางประการ ผมว่า ส.ว. เขาก็คงสนองตอบต่อความต้องการของนายกฯ เพราะว่า ส.ว. มาจากการลากตั้งของหัวหน้า คสช. เมื่อวานนี้แสดงความไม่จริงใจอย่างชัดเจน


สำหรับผมก็มีคำพูดอันหนึ่งในสภา ดูเหมือนจะเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล เขาพูดแล้วว่า “เป็นการหลอกต้มประชาชนกลางสภา” คำถามที่จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น ผมคิดว่าอยากจะเตือนรัฐบาลและ ส.ว. ช่วยกรุณารั้งบังเหียนม้าริมชะโงกเหว คือว่าถ้าเป็นไปได้ในการเปิดสภาสมัยหน้าให้พวกคุณโหวตรับรองให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน เพราะว่าในนั้นเขาเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าถ้ารับรองในการแก้ 256 ต้องไปผ่านประชามติเสียก่อน


เพราะฉะนั้นคุณเรียกร้องให้มีการทำประชามติ นี่เป็นหนทางเดียว แต่ผมดูแล้วมันริบหรี่ หรือแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้


ผมเป็นห่วงมากว่าอนาคตของการเมืองไทยเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้ง เดินหน้าไปสู่วิกฤตที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้ง ส.ว. ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นครับ นพ.เหวง กล่าวในที่สุด.

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

"หมอเหวง" เชื่อยกร่างรธน.โดยสสร. เป็นทิศทางที่ถูกต้อง / "อ.ธิดา" เตือน ส.ส. - ส.ว. ให้เข้าใจว่าวิถีทางรัฐสภาเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติไม่มีปัญหารุนแรง หากเวทีรัฐสภาหาทางออกไม่ได้ ประชาชนจะตัดสินเอง


"หมอเหวง" เชื่อว่าการยกร่างรธน.โดยสสร. เป็นทิศทางที่ถูกต้องและทำให้ประเทศรอดพ้นวิกฤต / "อ.ธิดา" เตือน ส.ส. - ส.ว. ให้เข้าใจว่าวิถีทางรัฐสภาเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติไม่มีปัญหารุนแรง หากเวทีรัฐสภาหาทางออกไม่ได้ ประชาชนจะตัดสินเอง
.
ยูดีดีนิวส์ : 24 ก.ย. 63 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้เดินทางมาพร้อมกับ นพ.เหวง โตจิราการ ซึ่งมาตามนัดหมายสืบพยานคดีการชุมนุมทางการเมืองในปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดี นพ.เหวง ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีสุขภาพของคุณหมอ
.
โดย นพ.เหวง ได้กล่าวว่าสัปดาห์หน้าคุณหมอได้นัดผ่าตัดไส้เลื่อน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการทำฟันพร้อมกับจะไปตรวจเส้นเลือดในสมองด้วย 
.
สำหรับความเห็นต่อการอภิปรายการประชุมร่วมรัฐสภาวานนี้ นพ.เหวง กล่าวว่าไม่ได้ติดตามทุกคนที่อภิปราย แต่เท่าที่ติดตาม ส.ส. ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้ดีในการชี้แจงถึงความจำเป็นในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 256 คือให้มีการเลือก สสร. โดยตรงจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 
.
ส่วน ส.ว. ที่อภิปรายนั้น เนื้อหาสำคัญมักจะอ้างถึงประชามติ ซึ่งตนมองว่าพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว นพ.เหวง กล่าวต่อว่าส่วนตัวเห็นว่าประชามติครั้งนั้นเป็นประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน มีอำนาจเผด็จการของคสช.กดทับอย่างเต็มที่ ห้ามคนที่มีความเห็นต่างแสดงความคิดเห็น ตนเชื่อว่าทิศทางใหญ่คือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร. เป็นทิศทางที่ถูกต้องและจะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้
.
ผู้สื่อข่าวถาม อ.ธิดา กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาวานนี้ อ.ธิดากล่าวว่ามันเป็นการแสดงออกถึงการที่สังคมไทยแบ่งแยกเป็น 2 ปีกอย่างชัดเจน ปีกหนึ่งมี ส.ว. เป็นตัวแทน พยายามปกป้องความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจ สิ่งที่ ส.ว. แสดงออกเป็นการแสดงถึงการที่ไม่รู้สึกว่าขายหน้าอะไร รู้สึกว่าภูมิใจในฐานะที่เป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนโหวต  ในขณะที่ประชาชนอีกปีกหนึ่งไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร และมองว่าที่มาและอำนาจของส.ว.เป็นการสืบทอดอำนาจที่ไม่ถูกต้อง
.
อ.ธิดากล่าวว่า ดิฉันดูแล้วว่าสังคมไทยก็ยังมีการแบ่งแยก ต่างฝ่ายต่างยังมีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะดิฉันมองว่าคนรุ่นใหม่และประชาชนจำนวนมาก อย่างน้อยก็ 10 กว่าล้านที่โหวตประชามติไม่เห็นด้วย แต่ 16 ล้านที่ ส.ว. กล่าวอ้างนั้นมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งโหวตรับเพราะอยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และดิฉันเชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน แล้วผลการเลือกตั้ง (รวมคะแนนเสียงทุกพรรค) ก็เห็นแล้วว่าฝ่ายค้านได้รับการเลือกตั้งมากกว่า 
.
อ.ธิดากล่าวต่อว่า หาก ส.ว. ยังดื้อ ยังมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองชอบธรรมที่จะอยู่ตรงนั้น และไม่เห็นด้วยกับการการรัฐธรรมนูญ ดิฉันคิดว่าน่าเป็นห่วงว่าประชาชนและเยาวชนซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีจะรับไม่ได้
.
นอกจากนี้ อ.ธิดา เตือนมายัง ส.ว. และ ส.ส. ว่า ขอให้เข้าใจว่าวิถีทางรัฐสภาเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติไม่มีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น ถ้าอยากให้เดินทางไปราบรื่น ให้เวทีรัฐสภาเป็นทางออกของความคิดเห็นต่าง แต่หากเวทีรัฐสภาหาทางออกไม่ได้ เมื่อนั้นประชาชนจะตัดสิน
.
อ.ธิดา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการชุมนุมของเยาวชนเย็นนี้ที่หน้ารัฐสภา อ.ธิดา กล่าวว่า ดิฉันคิดว่าวุฒิภาวะเขายังดีอยู่ คิดว่าเขาคงรู้ว่าควรทำเพียงไร สังเกตดูทางรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นห่วง ตัวดิฉันเองก็ไม่เป็นห่วง คิดว่าเขาคงเพียงแต่มาแสดงตัวให้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร และอยากให้ ส.ส. และ ส.ว. ที่รับฟังประชาชนนั้นได้รู้ว่ามีประชาชนหนุนอยู่ ดิฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรรุนแรง แต่ว่าหลังจากนี้ถ้าเวทีรัฐสภาแก้ปัญหาไม่ได้ ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น
.
"ดิฉันจะเตือนฝ่ายรัฐบาลแและรัฐสภามากกว่าที่จะเตือนเยาวชน เพราะดิฉันคิดว่าเยาวชนมีวุฒิภาวะมากกว่า ส.ว. ที่อยู่สภา" อ.ธิดา กล่าวในที่สุด

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

‘จตุพร’ โต้ ‘ธนาพล’ กรณีคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสา เหตุยังไม่ติดคุกเพราะอยู่สำนวนสอง

 


จตุพร โต้ ธนาพล กรณีคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสา  เหตุยังไม่ติดคุกเพราะอยู่สำนวนสอง / ยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชน-ประชาชนปลดแอก


ยูดีดีนิวส์ : 23 ก.ย. 63 จากกรณี PPTV Online ได้โพสต์คำให้สัมภาษณ์เมื่อนายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางไปขึ้นศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ในคดีการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์


ต่อมานายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฟ้าเดียวกัน ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “นี่เป็นเหตุผลที่จตุพร ไม่ติดคุก ทั้ง ๆ ที่ณัฐวุฒิ ยังติดคุกอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไปบุกบ้านเปรมเหมือนกัน” พร้อมทั้งแปะลิ้งค์ข่าว “จตุพร” ไม่เห็นด้วย 10 ข้อเรียกร้อง ชี้ละเอียดอ่อน


ข้อความโพสต์ของนายธนาพลดังกล่าว ทำให้นายจตุพรถึงกับออกมาโต้ผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ peace talk เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) โดยนายจตุพรกล่าวว่าตนยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องมาเป็นเดือนแล้ว เพราะเห็นว่าการให้เลิกคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา มีความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว และเป็นเสรีภาพของตนที่จะสนับสนุนอะไร แนวทางไหน ตามความเชื่อของตัวเอง


ในส่วนของคดีการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์นั้น นายจตุพรกล่าวว่า ในสมัยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งขณะนั้นเป็น ผบ.ตร. ได้ส่งฟ้องผู้ต้องหา 15 คน ต่อมาอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาล ตำรวจทำความเห็นแย้งไป และนายชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดขณะนั้น มีความเห็นสั่งฟ้อง

ต่อมาอัยการได้มีการแยกฟ้องเป็น 2 สำนวน สำนวนแรกฟ้อง 7 คน และสำนวนแรกคดีถึงที่สุดแล้ว มีการจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4-7 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายจตุพรถูกฟ้องอยู่ในสำนวนที่สอง ศาลจะเริ่มพิจารณาหลังจากพิจารณาสำนวนแรกเสร็จเสียก่อน ซึ่งขณะก็อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล


นายจตุพรย้ำว่า ตนสนับสนุนแนวทางข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 2 จุดยืน 1 ความฝันของกลุ่มเยาวชน – ประชาชนปลดแอก อย่างไรก็ตามตนยังมีความปรารถนาดีกับคนหนุ่มสาวไม่เปลี่ยนแปลง พยายามส่งเสียงให้ภาครัฐใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ การออกหมายจับคดีร้ายแรงเท่ากับรัฐปลุกคนขึ้นมาชุมนุมเรียกร้อง ดังนั้นเห็นกันชัดแล้วว่าหลักกฎหมายนำมาแก้ปัญหาการชุมนุมไม่ได้


การเดินบนเส้นทางต่อสู้นั้น ตนซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ประชาชน และพี่น้องร่วมเป็นร่วมตาย มีจุดยืนชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่ได้มองกลุ่มเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นศัตรู  แต่กลับห่วงใย  คอยเตือนอย่าให้ใครมาทำอะไรเขา  เยาวชนเหล่านั้นต้องได้รับความคุ้มครองและต้องปลอดภัย  แม้เราจะเห็นแตกต่างพวกเขาก็ตาม  ซึ่งนั่นเป็นหลักการที่สวยงามตามระบอบประชาธิปไตย นายจตุพร กล่าว.