วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี หัวข้อ “ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร” วงเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”

 


สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี หัวข้อ “ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร” วงเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนอิสระและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ กล่าวในหัวข้อ “ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร” ว่า กองทัพรับใบอนุญาตครอบครองคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ โครงข่ายทีวีดิจิทัล และโทรคมนาคม ทั้งสิ้น 200 ใบ มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่โฆษณางานของรัฐและประกาศข่าวทางราชการ 2 เท่า เริ่มต้นจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือ ททบ. 5 ครอบครองคลื่นโทรทัศน์ 1 คลื่น เป็นสถานีโทรทัศน์ “สาธารณะประเภท 2” เพื่อความมั่นคง และได้ใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย 2 โครงข่ายคือ MUX 2,5


สุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า สถานี ททบ. ไม่ตอบโจทย์ทางด้านความมั่นคง เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริง ๆ เพียง 8 % ไม่นับรายการข่าว เพราะก็เป็นข่าวสารทั่วไปเหมือนกับสถานีอื่น ๆ เนื้อหาด้านบันเทิงและกีฬาก็คล้าย ๆ กับทีวีทั่วไปเช่นกัน ส่วนเรตติ้งของช่อง 5 ก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ในอันดับ 19 ผู้ชมเฉลี่ย 8,915 เข้าถึงผู้ชมทั้งหมด 7.1 ล้านคน

 

ผลประกอบการในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาขาดทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ทราบว่า ขาดทุนจากการดำเนินงานทีวีหรือส่วนอื่นใด เพราะ ททบ.5 ไม่ยอมเปิดเผย บัญชีงบดุล แต่มีรายได้ที่สามารถประเมินได้จากค่าเช่าโครงข่ายของทีวีดิจิตอล 11 สถานี รวมทั้ง ททบ. 5 เอง คิดเป็นเงินประมาณ 882 ล้านบาทต่อปี”


ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ ความผิดปกติและปัญหาเงื่อนงำใน ททบ.5 ที่ผู้แทนทั้งจากสถานีและกองทัพบกชี้แจงอย่างไรก็ไม่กระจ่าง คือ 1.สถานะทางกฎหมาย ททบ.5 ไม่ชัดเจนนัก โดยแจ้งว่า เป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพบก แต่ไม่รวมงบประมาณเข้ามาอยู่ในบัญชีกองทัพบก


2.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 ระหว่างที่อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนกำลังเฟื่องฟู ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไม่นานมีการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โดยกองทัพบกถือหุ้น 100 % เพื่อทำธุรกิจสถานี ททบ.5 รายงานผู้สอบบัญชี ปี 2543, 2544 แจ้งว่า บริษัทนี้มีรายได้จากค่าโฆษณาและเช่าช่วงเวลาสถานี ททบ.5 บริษัทนี้ มีหนี้สินกับสถานี ททบ.5 จำนวน 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อนายทหารยศนายพลถือหุ้นในนามกองทัพบก และ นายทหารหลายคนเป็นผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือร่วมกับพลเรือนจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 ปรากฏชื่อบริษัท RTA Entertainment จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


3.ครม.มีมติเมื่อปี 2547 ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพบความผิดปกติหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทและททบ.5 เช่น สถานีให้บริษัท RTA Entertainment เช่าเวลาและทำการตลาดนานถึง 30 ปีได้อย่างไร, ทำไมจึงมีการโอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยให้บริษัทที่จดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิน และอาจจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้บริหารสถานีกับผู้บริหารบริษัทเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

 

กรรมการฯ ในช่วงนั้นเสนอให้ ครม.ส่งเรื่องให้ ปปช. ปรากฏว่า ปปช. นั่งทับอยู่นานถึง 19 ปี เพิ่งจะมีมติตีตกเมื่อปี 2566 เพราะเหตุที่ไม่พบว่า ผบ.ทบ.ในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความผิดปกติทั้งหมด แต่มีข้อสังเกตว่า บริษัท ททบ.5 ควรมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ”

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินระหว่างบริษัทกับ ททบ.5 ที่เริ่มจากปี 2541 ที่บริษัท ททบ.5 กู้เงินจาก สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จำนวน 1,446.7 ล้านบาทไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย 114 ล้านหุ้น เพื่อช่วยพยุงฐานะธนาคารช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมหลายหน่วยถือหุ้นธนาคารแห่งนี้ ต่อมาสถานี ททบ.5 ให้บริษัทททบ.5 กู้เงินจากธนาคารทหารไทย 1,615 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการโทรทัศน์ดาวเทียมตามกระแสความนิยมในวงการสื่อสมัยนั้น

 

ผลการสอบของคณะกรรมการชุดที่ครม.ตั้งเมื่อปี 2547 ระบุว่า 2547 RTA Entertainment เป็นหนี้สถานีททบ.5 จำนวน 1,320 ล้านบาท และ สถานี ททบ.5 เป็นหนี้ RTA Entertainment 1,536 ล้านบาท หากมีการหักกลบหนี้กัน สถานีจะต้องใช้เงินคืนให้บริษัท 216 ล้านบาท เรื่องนี้ไม่มีความกระจ่างเพราะ ปปช.ไม่สืบสาวเอาเรื่อง”

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อ RTA Enterprise ความจริงแล้วก็คือบริษัท RTA Entertainment เดิมนั่นเอง แต่บริษัทใหม่นี้มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจสอบพบว่า กรรมการบริษัททั้งหมดเป็นนายทหาร ที่สำคัญ คือ ในรายงานผู้สอบบัญชีพบว่า ปี 2565 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนเกินทุน 1,005.21 ล้านบาท ในปี 2565 เช่นกัน รายงานที่ประชุมผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงประเพณี กรรมการบริหารททบ. ต้องเป็นกรรมการและประธานกรรมการบริษัท เพราะคนที่เพิ่งหมดวาระในปีนั้น


สื่อมวลชนอิสระ กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ปี 2565 รายงานการสอบบัญชีระบุว่า ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการประกอบการของ ททบ.5 ที่ยืนยันจะสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทต่อไป แต่เมื่อปี 2566 หมายเหตุผู้สอบบัญชีระบุว่า สถานีไม่ยืนยันที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทอีกต่อไปแล้ว แต่ในปี 2566 นั้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 49 % ยังคงเป็นกองทัพบก


ขอเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.คนใหม่ทำความกระจ่างเกี่ยวกับความเคลือบแคลงทางกฎหมายและธุรกิจดังต่อไปนี้ 1.กองทัพบกจัดตั้งบริษัท ททบ. 5 และต่อมา คือ RTA Enterprise ในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเชิงพาณิชย์หรือร่วมกับเอกชนทำธุรกิจ 2.นายพลทั้งหลายเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท RTA Enterprise ได้อย่างไร ในเมื่อคำสั่งคณะปฏิรูปแผ่นดินที่ 38/2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการหรือผู้จัดการบริษัท 3.จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้แทนสถานี ททบ.5 ปฏิเสธความสัมพันธ์และไม่ยืนยันความเกี่ยวข้อง ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทอีกต่อไป และ 4.ผู้แทนสถานี ททบ.5 ยอมรับว่า บริษัทมีฐานะเป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดการบังคับชำระหนี้ และหนี้นี้อาจจะเป็น “หนี้เสีย ที่สงสัยว่าจะกลายเป็นหนี้สูญ”


นอกจากยังพบว่า วิทยุทหารมี 196 สถานีทั่วประเทศ ทั้งระบบ AF/FM อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 จาก 40 สถานีเป็นของกองทัพ ซึ่งรายได้จากสถานีวิทยุลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 10 ปี อีกทั้งสถานีวิทยุจำนวนไม่น้อยไม่มีรายได้หรือขาดทุน และพบว่าระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐาน มีรายจ่ายที่น่าเคลือบแคลงมากมาย การดำเนินการส่วนหนึ่งให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ


ที่น่าตกใจที่สุด คือ ค่าใบอนุญาตรายปีที่จ่ายให้ กสทช.เพียง 3,631.51 บาทต่อปี เมื่อหารด้วย 14 สถานีก็จะตกใบอนุญาตละ 259.40 บาทเท่านั้น”


ส่วนกองทัพเรือมี 21 คลื่น ก็มีสภาพไม่ต่างกันเท่าใดนัก มีคลื่นในครอบครองเป็น FM 14 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 12 คลื่น AM 7 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 2 คลื่น ส่วนกองทัพอากาศมี 36 สถานีเจอปัญหาเหมือนกัน คือ ขาดทุน

 

สุภลักษณ์มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ในแง่ของความจำเป็นที่จะธำรงสภาพสถานี-วิทยุโทรทัศน์ทหารคงไม่มากนัก เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ 2.ความมีประสิทธิภาพ ททบ. 5 นั้นเรตติ้งต่ำมาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งผลการดำเนินงานก็ขาดทุน 3.การดำเนินงานของสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ทหารส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส เช่น ททบ.5 และกองทัพบกไม่เคยแสดงบัญชีให้ กมธ. ดูเลย และ 4.ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยทหารด้วยกันระหว่างหน่วยที่ครอบครองคลื่นกับหน่วยที่ไม่ได้ครอบครอง ไม่เป็นธรรมกับหน่วยราชการอื่นที่ไม่ได้มีคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

 

อยากจะเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ รัฐบาล รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.เหล่าทัพทุกท่าน ได้แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด เพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล เพื่อความเจริญก้าวหน้าวัฒนาถาวรของกองทัพและประเทศชาติสืบไป” สุภลักษณ์ กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกองทัพ #ธุรกิจกองทัพ