“พรรคประชาชน” เตรียมเดินสายช่วงปิดสภา นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
รับฟังความเห็นวงการการศึกษา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมก่อนยื่นสภาฯ
ช่วงกลับมาเปิดสมัยประชุมปลายปีนี้
วันที่
30 ตุลาคม 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ
สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับพรรคประชาชน โดยระบุว่า
พรรคประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ในฐานะรากฐานของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การสร้างความเสมอภาคทางโอกาส และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในสังคม
แม้การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ต้องอาศัยหลายมาตรการนอกเหนือจาก
พ.ร.บ. การศึกษา แต่เราเห็นว่าการผลักดันกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่
จะเป็นเสมือนการจัดทำ “ธรรมนูญการศึกษา”
ที่วางหลักประกันเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศปัจจุบัน
และสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอนาคตการศึกษาไทย
โดยตลอด
1 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้พยายามผลักดัน พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ ผ่าน 2
ช่องทางอย่างคู่ขนาน (1) จัดทำร่าง พ.ร.บ.
การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน
ที่ได้ขึ้นโครงไว้ตอนจัดทำนโยบายด้านการศึกษาก่อนการเลือกตั้ง
และได้มีการกลั่นกรองภายในพรรคตลอดการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน และ (2)
แสวงหาความร่วมมือกับพรรคอื่น
โดยพยายามนำเสนอประเด็นจากร่างของพรรคก้าวไกล เพื่อบรรจุเข้าไปใน “ร่างฉบับกลาง”
ที่ถูกจัดทำผ่านกลไกคณะกรรมาธิการการศึกษา
และอนุกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ที่มี โสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ เขต 5
พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน และมี สส. พรรคประชาชน เช่น ปารมี
ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมด้วย
ปัจจุบันสำหรับช่องทางที่
2 ทาง กมธ. ได้จัดทำ “ร่างฉบับกลาง” เสร็จแล้ว
ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ทางพรรคผลักดันสำเร็จและหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกัน (เช่น
การสร้างการศึกษาให้ยืดหยุ่นเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การปรับรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมต่อการเทียบโอนผลการเรียน
การวางหลักการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ มากกว่าการท่องจำเนื้อหา)
รวมถึงประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างกัน (เช่น
ระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านการศึกษา
แนวทางและรายละเอียดในการประกันสิทธิ-สวัสดิภาพของผู้เรียน)
โดยเบื้องต้นนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายพรรคการเมืองได้นำเอาร่างดังกล่าวไปปรับปรุงตามจุดยืนของแต่ละพรรคเพื่อทยอยยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
สำหรับร่างของพรรคประชาชน ทางพรรคจะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมนี้ (31 ต.ค.
- 11 ธ.ค.) นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา
ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ไปเดินสายรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน
ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน วางหลักการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ก่อนจะยื่นอย่างเป็นทางการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อสภาฯ กลับมาเปิดสมัยประชุม
ตัวอย่างของหลักการสำคัญในร่าง
พ.ร.บ. การศึกษาฉบับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน
ที่เราจะทยอยขยายความและรณรงค์เพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ประกอบด้วย (1) รับประกันสิทธิผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการด้านการศึกษาที่ครอบคลุม
(2) คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกให้ผู้จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างเสมอภาค
(3) วางกลไกในการพัฒนาหลักสูตร-การประเมิน-การประกันคุณภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
(4) วางกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมและกลไกรับผิดรับชอบ
(5)
ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)
กระตุ้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (7) สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในสถานศึกษา ( ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย
(9) ออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาให้ทำงานได้อย่างบูรณาการและคล่องตัว
(10) สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา (11)
เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา (12)
ปฎิรูปการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน