พรรคประชาชนแถลงผิดหวัง หลังสภาลงมติ คว่ำรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม ปชน.ชี้ไม่นิรโทษ 112 ก็ยุติความขัดแย้งทางการเมือง-ปกป้องสถาบันฯ ไม่ได้ แนะนิรโทษกรรม 112 อย่างมีเงื่อนไข
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะสั่งปิดประชุมไปก่อนลงมติ โดยทั้งกรรมาธิการและ สส. ต่างได้ใช้โอกาสในการชี้แจงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะมีการลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ด้วยคะแนนไม่เห็นด้วย 270 เสียง เห็นด้วย 152 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการระบุว่า แม้คณะกรรมาธิการฯ จะมาจากต่างพรรคการเมือง แต่สิ่งที่เห็นตรงกัน คือ การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นเร่งด่วนและควรเกิดขึ้นในยุคนี้ ที่พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ต่างกันสุดขั้วกลับมาจับมือปรองดองกันได้ แล้วทำไมการนิรโทษกรรมประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่สิ่งที่มีความเห็นต่างกันมาก คือ ควรรวมคดีมาตรา 112 ไว้หรือไม่ ซึ่งตนยืนยันทุกครั้งที่มีการประชุมว่า ต้องนิรโทษกรรมประชาชนคดีการเมืองทุกคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น
ตนที่เป็นทั้ง สส. และทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาก่อน ทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการฯ โดยแบกความหวังและความเชื่อของประชาชน ลูกความ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ี่จำนวนมาก หลายคนลี้ภัย หลายคนถูกอุ้มหาย และหลายคนยังอยู่ในเรือนจำ มีอีกหลายชีวิตที่กำลังเดินเข้าเรือนจำ การนิรโทษกรรม คือ ความหวังของพวกเขา
ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งหนึ่ง มีการเชิญแกนนำทุกฝ่ายจากทุกบริบทการเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามาร่วมพูดคุยในห้องกรรมาธิการ โดยมีคำถามหนึ่ง คือ ทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าจะมีการรวมคดีมาตรา 112 เข้าไปด้วย ซึ่งแกนนำทุกคนต่างเห็นด้วย นอกจากนี้การนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่การแก้หรือยกเลิกกฎหมายแต่คือ การรีเซ็ตให้ประชาชนได้กลับไปเริ่มใหม่และใช้ชีวิตปกติในประเทศไทย
“ดิฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมพอเป็นประชาชน จึงติดขัดปัญหาไปหมด ทำไมเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน โดยไม่ทิ้งกลุ่มไหนไว้ข้างหลัง ไม่ยกเว้น ไม่กำหนดเงื่อนไข พวกเขาไม่ได้จับอาวุธไม่ได้เข่นฆ่ากัน” ศศินันท์ กล่าว
ศศินันท์ ยังระบุต่อไปว่า จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า พฤติการณ์ในคดีความผิดมาตรา 110 กับ 112 เป็นอย่างไร ตนเป็นทนายความในหลายคดี พฤติการณ์ไม่ได้มีอะไรเลย หลายคดีเป็นคดีการเมือง ถ้าจะนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 ตนไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะนิรโทษกรรม เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะยุติความขัดแย้งตั้งแต่แรก คดีที่ตนว่าความส่วนใหญ่เกือบ 90% คือ คดีมาตรา 112 ตนได้มีโอกาสเอาแฟ้มคดีมาอธิบายให้กรรมาธิการหลายท่านฟังจนเข้าใจ แต่หลายท่านก็ไม่อาจขัดมติพรรค ส่วนคนที่มีจุดยืนไม่รวมมาตรา 112 ในห้องนี้มีกี่คนที่เคยเปิดแฟ้มคดีดูว่า เนื้อหาพฤติการณ์ในคดีจริงเป็นอย่างไร เขาเป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรา
“อยากให้ทุกคนเปิดใจ ให้โอกาสประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง โดยไม่ต้องทิ้งกลุ่มไหนไว้ข้างหลัง” ศศินันท์ กล่าว
ส่วนชัยธวัช ตุลาธน กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาชน ระบุว่าตนได้พยายามรวมความเห็นจากสมาชิกที่เห็นว่า ไม่ควรพิจารณานิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เห็นว่า คดีมาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องความมั่นคงหรือบางท่านที่เข้าใจผิดว่า คดีมาตรา 112 ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมมาก่อน ซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้วว่า เคยมีการนิรโทษกรรมมาก่อนในคดี 6 ตุลาฯ 2519 บางคนเห็นว่า ถ้านิรโทษกรรมทุกคดีบ้านเมืองจะไร้ขื่อแป หลายคนเห็นว่า การนิรโทษกรรมต้องบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ไม่สร้างความแตกแยก หลายคนให้เหตุผลถึงความจงรักภักดีและความต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับคนที่เห็นว่า คดีมาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในรายงานของอนุกรรมาธิการฯ ก็สรุปให้เห็นแล้วว่า โดยพฤติการณ์และจำนวนสัดส่วนคดีที่อ้างอิงตามเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งสุดท้าย คดีมาตรา 112 มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า หลายคนเห็นว่า ถ้ามีการนิรโทษกรรมไปแล้วจะกลายเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนบางกลุ่มไปทำผิดกฎหมายอีกหรือไม่ เป็นที่ชัดเจนว่า การนิรโทษไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายหรือฐานความผิด และมีเป้าหมายเพื่อการให้อภัยกันในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นคดีหรือฐานความผิดเรื่องอะไร และไม่ใช่การรับรองว่า ผู้ถูกดำเนินคดีกระทำผิดหรือไม่ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมีเป้าหมายทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา ถ้ามองว่า การนิรโทษกรรมจะส่งเริมคนกระทำผิด ก็ไม่ควรพิจารณานิรโทษกรรมฐานความผิดไหนเลย และควรต้องทบทวนการอภัยโทษด้วยซ้ำ ถ้าเชื่อในตรรกะแบบนี้
สำหรับคนที่มีความจงรักภักดีและต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนอยากชวนให้คิดในมุมกลับว่า ถ้ามีการนิรโทษกรรมเกือบทุกข้อหายกเว้นมาตรา 112 เราปรารถนาจะให้สังคมจำนวหนึ่งคิดเห็นอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือต่อความผิดตามมาตรา 112 ตนคิดว่า เราต้องระมัดระวังประเด็นแบบนี้ให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดความรู้สึกที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า การนิรโทษกรรมมาตรา 112 มีข้อดี ไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายท่านกังวลว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่หรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อีกครั้ง แต่ตนก็อยากให้ลองพิจารณาอีกมุมว่า ถ้าไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 ด้วย เราจะบรรลุเป้าหมายในการยุติความขัดแย้ง สร้างความความปรองดองได้จริงหรือไม่
ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีการเมืองที่เป็นความขัดแย้ง มีการโต้เถียงกัน มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ที่คดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น ปรากฏการณ์ที่ถกเถียงในสภาหลายครั้งสะท้อนชัดเจนว่า คดีมาตรา 112 เป็นความขัดแย้งที่มีนัยสำคัญอย่างแหลมคมทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ถ้าไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 ด้วยแล้วจะคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างไร
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า นี่จึงเป็นที่มาข้อเสนออีกทางเลือกหนึ่งที่เข้าใจทั้งฝ่ายที่เห็นว่า ควรนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้มีพื้นที่ตรงกลางที่พอจะยอมรับร่วมกันได้ คือ การพิจารณานิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไข หมายความว่า ให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมในการตั้งกระบวนการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการในการพิจารณาเป็นรายคดีว่า แต่ละคดีมีรายละเอียดอย่างไร จะให้สิทธิในการพิจารณานิรโทษกรรมหรือไม่ ให้ผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดได้มีโอกาสแถลงข้อเท็จจริงว่า เหตุอะไรที่ทำให้มีพฤติกรรมเช่นนั้น อะไรเป็นแรงจูงใจ ความเชื่อ และเหตุที่ทำให้เชื่อแบบนั้น เพื่อเป็นโอกาสรับฟังผู้ถูกกล่าวหา ปรับความเข้าใจ ลดช่องว่างความไม่เข้าใจให้มากที่สุด กระบวนการนี้จะสามารถนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขได้ว่า ถ้ายอมเข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรมจะต้องงดการกระทำแบบไหนบ้าง ระหว่างนั้นพักการดำเนินคดีและพักโทษไปก่อน
“ผมเสนอให้ลองพิจาณาอีกมุมหนึ่ง เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่จะปกป้องหรือส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยได้ ผมไม่เชื่อว่า เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้ ด้วยการมองเห็นประชาชนในราชอาณาจักรเป็นศัตรูหรือภัยคุกความ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอย่างไร” ชัยธวัช กล่าว
หลังการลงมติ พรรคประชาชนได้แถลงความเห็นต่อการลงมติในวันนี้ โดยชัยธวัช ระบุว่า ผลการลงมติในวันนี้เป็นที่น่าผิดหวัง แม้จะเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความเป็นเอกภาพเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม แต่วันนี้ตั้งแต่เช้าก็ได้รับทราบมาว่า พรรคแกนนำรัฐบาลเหมือนจะมีมติให้เห็นชอบกับข้อสังเกตของรายงาน รวมทั้งในการอภิปราย โดยสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยต่างก็พยายามอธิบายว่า ไม่มีเหตุต้องลงมติรับหรือไม่รับรายงานแต่อย่างไร และดูเหมือนจะมีจุดยืนเห็นชอบรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการด้วย
แต่สุดท้ายเมื่อผลโหวตออกมาเสียงที่เห็นชอบกลับมาจากพรรคฝ่ายค้านเกือบทั้งหมด เท่ากับสภาจะไม่ส่งข้อสังเกตในรายงานนี้ไปยังรัฐบาล ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำรายงานที่มีอยู่หลายแนวทางไปพิจารณาเพื่อออกร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีเอง การให้รายงานกลับมาที่สภาเป็นระยะว่า ร่างกฎหมายเป็นอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาคดีทางการเมือง รวมถึงการให้ฝ่ายบริหารพิจารณาว่าระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม ฝ่ายบริหารสามารถใช้กลไกหรือมีนโยบายไปยังหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามกรอบกฎหมายเพื่อคลี่คลายปัญหาคดีการเมืองในอนาคตได้หรือไม่
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลในทางการเมือง มติวันนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรครัฐบาล และมีความไม่แน่นอนสูงว่า รัฐบาลนี้จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีเองหรือไม่ แม้แต่พรรคเพื่อไทยเอง ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่เสนอร่างมายังสภา ก็ไม่แน่ว่า พรรคเพื่อไทยที่เสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบจะมีร่างของตัวเองเสนอมายังสภาก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมหน้าหรือไม่ และก็อาจจะไม่มีมาตรการหรือนโยบายใด ๆ ที่จะแก้ปัญหาคดีทางการเมืองหรือคลี่คลายความรุนแรงของคดีทางการเมืองในปัจจุบันและอนาคต
ในฐานะกรรมาธิการและเพื่อน สส. จากพรรคประชาชนยังหวังจะได้เห็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสนอเข้าสู่สภาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลหรือพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจาณาในสภาอยู่แล้วในต้นสมัยประชุมหน้าอย่างน้อย 4 ฉบับ หากมีร่างที่มีเนื้อหาเพิ่มเติม แล้วมีการเลือกเอาแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่อยู่ในรายงานของกรรมาธิการไปใช้พิจารณา ก็จะเป็นประโยชน์ในการเป็นทางเลือกให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นทางเลือกที่รอบด้านที่สุด
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #นิรโทษกรรม #รวม112 #ประชุมสภา