วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567

แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

 


แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน


เรียกร้องให้นิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกฝ่าย ทุกมาตรา

                                                                                                    

เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2567


ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้รายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยมีมติเสียงส่วนใหญ่ #ไม่เห็นด้วย กับ ‘ข้อสังเกต’ ของรายงานผลการศึกษาในวันนี้ และรับทราบในส่วนเนื้อหารายงานการศึกษาฯ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอชี้แจงประเด็นการนิรโทษกรรมที่สังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังต่อไปนี้


1. การนิรโทษกรรมระลอกนี้เป็นการนิรโทษกรรมระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะรวมความขัดแย้งทางการเมืองของทุกสี ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา หนึ่งในข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น คดีทางการเมืองที่ตามมา คือ คดีมาตรา 112 ซึ่งมีการดำเนินคดีเกือบ 300 คดี นับว่าเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดกาล ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อย่างน้อยถึง 25 รายจากผู้ต้องขังการเมืองทั้งหมดทั่วประเทศที่มีอย่างน้อย 37 ราย คดีมาตรา 112 จึงนับเป็นประเภทคดีที่มีผู้ถูกคุมขัง ‘สูงที่สุด’ เมื่อเทียบกับการดำเนินคดีในมาตราอื่น ๆ 


2. การนิรโทษกรรม ‘ไม่ใช่’ การแก้ไขกฎหมายและไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย การนิรโทษกรรม คือ ‘การยกเว้นโทษ’ ให้กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ผ่านมาแล้ว แม้จะมีการนิรโทษกรรม แต่กฎหมายมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ยังคงดำรงอยู่ โดยมิได้เป็นการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย และไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะในทางกฎหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งและทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้


3. หากมีการนิรโทษกรรมคดีซึ่งเกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจะสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมที่เคารพและคุ้มครองสิทธิ นอกจากนั้น การยกเลิกการดำเนินคดียังสอดคล้องกับบทบาทการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council - UNHRC) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลในระบบสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


4. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนทราบดีว่าคดีมาตรา 112 เป็นความขัดแย้งซึ่งยังไม่มีข้อยุติในสังคมไทย แต่การนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกของการให้โอกาสใหม่กับทุกคน เพื่อปลดล็อกให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ โดยสังคมยังมีโอกาสในการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงต่อไปในอนาคต


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมเพื่อคลี่คลายทุกความขัดแย้งในสังคม เพราะแม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับทราบรายงานคณะกรรมาธิการฯ แล้ว แต่กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมยังไม่เกิดขึ้น เครือข่ายนิรโทษกรรมจึงขอเรียกร้องให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันผลักดันการนิรโทษกรรมต่อไป โดยเร่งนำร่างกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรและรับหลักการของทุกร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมีโอกาสใช้พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะและหาทางออกร่วมกันต่อไป

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน