“ณัฐพงษ์” ตั้งกระทู้ถาม 4 ข้อพิรุธรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 3,600 เมกกะวัตต์ ไม่เปิดประมูล-ล็อกสเปคชัดเจน หวั่นฟอกเขียวให้นายทุนขายไฟแพง ด้าน “พีระพันธุ์” รับมีปัญหาจริง แจงจะทำให้ถูกต้อง ไม่ล็อกสเปก โยนกฟพ.ดำเนินการ
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้สดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกกะวัตต์ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ณัฐพงษ์ ระบุว่า ที่ตนตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรีก็เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีพิรุธว่า เป็นกระบวนการฟอกเขียวให้กลุ่มทุนแสวงหาค่าเช่าในระบบเศรษฐกิจที่เป็นการสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน เอาค่าไฟฟ้าที่แพงเกินจริงไปจ่ายเข้ากระเป๋าเจ้าสัวหรือไม่
โดยตนมี 4 ข้อพิรุธที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่อยากถามต่อรัฐมนตรี กล่าวคือ
1) กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ใช้กระบวนการเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้า 5,200 เมกกะวัตต์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีก็เคยอยู่ในคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในรัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมปฏิเสธการรับรู้รับทราบไม่ได้ว่า ไม่มีการประมูล ไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น
2) ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ล่วงหน้า ทั้งที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างปกติต้องมีการประกาศหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อนผู้ประมูลยื่นซองประมูล แต่รอบนี้ใช้วิธีการคัดเลือกแบบที่ไม่มีความโปร่งใส ให้เอกชนมายื่นซองก่อน เมื่อปิดรับซองในการสมัครแล้วค่อยประกาศหลักเกณฑ์ทีหลัง
กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ส่งผลให้การรับซื้อพลังงาน 5,200 เมกกะวัตต์ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนพลังงานบางกลุ่มที่กินรวบ ได้รับสัมปทานจากรัฐไปถึง 58% ของการรับซื้อในครั้งที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
3) มีการปิดกั้นการแข่งขัน โดยการประกาศรับซื้อ 3,600 เมกกะวัตต์ในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 2,000 เมกกะวัตต์ ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นโควต้าที่ล็อกให้ผู้ที่ยื่นซองในครั้งที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็มีการออกมติเป็นข้อสังเกตแล้วว่า การกำหนดหลักเกณฑ์แบบนี้เป็นการปิดกั้นการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ และโอกาสของประเทศที่จะได้ผู้เสนอราคาที่ดีกว่าหรือมีคุณภาพที่ดีกว่า แต่รัฐมนตรีกลับมีการเดินหน้าต่อ อยากถามว่า เรื่องนี้มีเหตุผลอะไร
4) การประกาศการรับซื้อโดยไม่จำเป็นโดยอ้างเรื่องพลังงานสะอาด คำถาม คือ จำเป็นต้องใช้วิธีการรับซื้อจริงหรือไม่ ในเมื่อมีนโยบาย Direct PPA ที่ให้เอกชนที่อยากลงทุนในประเทศ หากอยากใช้พลังงานสะอาดสามารถทำสัญญารับซื้อจากผู้ผลิตรายย่อยได้โดยตรงอยู่แล้ว ทำไมต้องใช้วิธีการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน แถมซื้อแพงกว่าความเป็นจริง
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อพิรุธทั้ง 4 ข้อ อยากให้รัฐมนตรีตอบว่า นี่คือกระบวนการเพื่อส่งผลให้เอกชนบางกลุ่มเข้าชนะการคัดเลือกหรือไม่ รัฐมนตรีรู้เห็นกระบวนการทั้งหมดนี้หรือไม่ มีความคิดที่จะหยุดยั้งกระบวนการการหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในระบบไฟฟ้าของประเทศนี้หรือไม่ หรือถ้าเห็นด้วยกับการมีกลุ่มทุนบางกลุ่มมารับขายพลังงานไฟ้าที่แพงเกินจริงแบบนี้ให้กับรัฐ ตนก็อยากให้รัฐมนตรีตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลนี้มีแนวนโยบายอย่างไรกับการจัดการปัญหาดังกล่าว
ในส่วนของพีระพันธุ์ ได้ตอบคำถามว่า ปัญหาที่ณัฐพงษ์ถามมานั้น ถ้าวันนี้ตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทุกอย่างก็คงจะเดินหน้าไปหมดแล้ว แต่เพราะตนเป็นรัฐมนตรีก็เลยยังเดินหน้าไม่ได้ ปัญหานี้ต่อยอดมาจากการรับซื้อ 5,200 เมกกะวัตต์ เมื่อคราวที่แล้วที่มีปัญหา ซึ่งมีการดำเนินการไปตั้งแต่ก่อนตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยรัฐบาลเศรษฐา
ในส่วนของ 3,600 เมกกะวัตต์ วันนี้ยังเดินการประมูลไม่ได้ เพราะติดการฟ้องร้องมาจากรอบ 5,200 เมกกะวัตต์ จนเมื่อตนมารับตำแหน่งและกำลังจะมีการเดินหน้า ก็มีประเด็นมาถึงตนว่า จะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างที่ณัฐพงษ์ถามมา ซึ่งทั้งตนและปลัดกระทรวงพลังงานคิดว่า ไม่น่าถูกต้อง การกำหนดเช่นนี้ไม่เป็นการแข่งขันอย่างแท้จริงและอาจผิดกฎหมายด้วย ตนจึงไม่เห็นด้วย
พีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีการทบทวนมติของ กพช. กันมาตลอดว่า ในส่วนของ 3,600 เมกะวัตต์ไม่ควรกำหนดลักษณะอย่างนั้น จนมีการประชุม กบง. ว่า กรณีนี้ไม่ควรกำหนดลักษณะเช่นนี้ หลังจากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การทำงานมีการขาดตอนไปช่วงหนึ่ง จนเมื่อตนได้เข้ามาทำงานเป็นรัฐมนตรีเต็มรูปแบบก็มีการตรวจสอบพบว่า มีความผิดพลาดในเรื่องของมติ มีการกำหนดรายละเอียดให้ก้อน 2,100 เมกกะวัตต์ ให้คนที่พลาดในครั้งที่แล้วมาติด ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่ถูกต้อง
มตินี้เป็นเรื่องที่ต้องรายงานให้ กพช. รับทราบก่อนให้เดินหน้า แต่ในช่วงที่รัฐบาลขาดตอนการทำงาน ข้าราชการประจำเองก็เดินหน้าทำงานต่อไปแล้ว เลยกลายเป็นมีกระบวนการที่ดำเนินงานในบางส่วนไปแล้ว ตนจึงขอเรียนว่า เป็นอย่างที่ณัฐพงษ์พูดจริง แต่ตนเองก็ไม่เห็นด้วยและยังไม่เดินหน้าไปถึงขั้นดำเนินการ ตนจึงสั่งให้มีการทบทวนแล้วก่อนที่จะมีการตั้งกระทู้นี้
พีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องไฟฟ้านั้นการดำเนินการโดยปกติจะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) มีมติ กพช. ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีผู้กำกับดูแล คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) ในส่วนของการดำเนินการประมูลทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกพ. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นทั้งกระทรวงพลังงานหรือกพช.จึงไม่มีส่วนก้าวล่วงในการทำงานได้ แต่เมื่อมีอะไรที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมรัฐบาลก็จะท้วงติงเข้าไป ที่ณัฐพงษ์ถามมานั้นตนและกระทรวงพลังงานได้แจ้งไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วยและขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง โชคดีที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไร แต่เพื่อให้ถูกต้องชัดเจนต้องเอากลับเข้าที่ประชุม กบง. แล้วรายงาน กพช. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการเรียกประชุม
ส่วนที่ณัฐพงษ์กังวลว่า ค่าไฟส่วนนี้จะแพงขึ้น เท่าที่ตนได้สอบถามไปทาง กกพ. ราคาที่กำหนดจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์กับส่วนที่เป็นพลังงานลม ส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ราคาอยู่ที่ประมาณ 2.16 บาทต่อหน่วย ส่วนพลังงานลมเนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตแพงกว่า ค่าไฟรับซื้อจึงอยู่ที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่เกินจากต้นทุนปัจจุบันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพราะฉะนั้นไม่ได้ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าแพงขึ้น
พีระพันธุ์ยังตอบคำถามในเรื่องของการผลิตพลังงานทดแทนกับส่วนของ Direct PPA ว่า เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องของ Direct PPA เป็นเรื่องของผู้ผลิตกับผู้ซื้อตกลงกันเอง แต่ในส่วนของการรับซื้อครั้งนี้จะเป็นการนำเข้าสู่ระบบหลักของ กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เป็นพลังงานสะอาดหรือ UGT สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องใช้ใบรับรองในการขายสินค้าต่างประเทศ วัตถุประสงค์การผลิตไฟฟ้าในส่วนนี้จึงเป็นคนละเรื่องกัน
สุดท้าย ในส่วนของ 2,600 เมกกะวัตต์ พีระพันธ์ุยืนยันว่า ต้องมีการประมูล แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็ต้องแก่ไข โดนจะแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในในระยะ 1 เดือนข้างหน้า ส่วนตนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเห็นว่ามีข้อผิดพลาดก็จะมีการแก้ไข เปิดประมูลอย่างเป็นทางการให้ถูกต้อง และยืนยันว่า ไม่มีการล็อกสเปคเด็ดขาด
ณัฐพงษ์ ได้ถามกระทู้ต่อว่า ขอบคุณที่รัฐมนตรีเห็นด้วยกับการทำให้กระบวนการทุกส่วนโปร่งใสมากขึ้น แต่ก็อยากให้ข้อมูลรัฐมนตรีเช่นกัน ในส่วนค่าไฟที่บอกว่า ตนเข้าใจผิดว่า ราคาที่กำลังรับซื้อแพงเกินจริงหรือไม่ การรับซื้อครั้งนี้มีการออกกติกาที่กีดกันผู้เล่นรายหนึ่ง คือ กฟผ. ไม่ให้มาเป็นผู้ขายไฟฟ้าในครั้งนี้ได้ มีตัวอย่างที่เขื่อนสิรินธรทำโซลาร์ลอยน้ำ มีต้นทุนผลิตต่อหน่วยแต่ 1.50 บาทเท่านั้น อีกทั้งราคาที่ใช้ในการคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นกรณี 5,200 เมกกะวัตต์ หรือ 3,600 เมกกะวัตต์ ตนใช้ตัวเลขที่อ้างอิงกับบริษัทที่ทำการวิจัยมาอย่างรอบด้าน รวมถึงกรณีศึกษาจากต่างประเทศด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกเองก็รับซื้อในราคาที่ถูกกว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังรับซื้อ
ทั้งนี้เข้าใจดีว่า กรณีราคาของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือ UGT กับ Direct PPA ต่างกันอย่างไร แต่ตามกฎเกณฑ์ของหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ไม่ได้รับรอง UGT เนื่องจากพลังงานบ่างส่วนยังใช้เชื้อเพลิงอยู่ ต้องใช้ Direct PPA ถึงจะรังรองได้ว่า เป็นพลังงานสะอาดจริง 100% ตนจึงอยากถามรัฐมนตรีว่า มีความต้องการในภาคเอกชนมากางตัวเลขให้เห็นหรือไม่ว่า ส่วนใดต้องการใช้ Direct PPA หรือ UGT เพราะจากสิ่งที่จยได้ปรึกษามากับผู้ประกอบการหลายราย ส่วนใหญ่มีความต้องการอยากได้ Direct PPA มากกว่า
“พวกเราไม่ได้ปฏิเสธพลังงานสะอาด แต่กระบวนการในครั้งนี้ที่จะมีการเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ เราสงสัยจากข้อพิรุธทั้ง 4 ข้อว่า จะเป็นกระบวนการเอื้อให้กลุ่มทุนเข้ามาขายพลังงานไฟฟ้าที่แพงเกินจริงโดยอ้างพลังงานหมุนเวียน เป็นการฟอกเขียวที่จะจ่ายค่าเช่าทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มทุนเหล่านั้นหรือไม่” ณัฐพงษ์ กล่าว
ณัฐพงษ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในกรณีของ 5,200 เมกกะวัตต์ที่ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ทั้ง กพช. หรือ กบง. มีอำนาจในการทบทวนมติ ยุติ หรือชะลอในการลงนามสัญญาใ ตนอยากถามชัด ๆ รัฐบาลว่า จะดำเนินการอย่างไร จะยุติการลงนามสัญญารับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในส่วน 5,200 เมกกะวัตต์ที่เหลืออยู่กว่า 2,000 เมกกะวัตต์หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขของ กพช. ก็ระบุไว้ชัดว่า กพช. มีอำนาจเต็มในการทบทวนหรือยกเลิกการลงนามสัญญาตราบใดที่ยังไม่มีการลงนาม
ประการต่อมาตนอยากให้ตอบชัด ๆ ว่า ข้อพิรุธทั้ง 4 ข้อ นอกเหนือจากการประมูลที่รัฐมนตรียืนยันมาแล้วว่า อยากให้มี ในส่วนของการดำเนินการอื่น ๆ จะดำเนินการอย่างไรให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสต่อไป
ในส่วนของพีระพันธุ์ได้ตอบคำถามว่า ในส่วนของ 3,600 เมกกะวัตต์ จะต้องมีการเปิดประมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการแก้ไขแล้ว อยู่ระหว่างกำหนดการประชุม ส่วน 5,200 เมกกะวัตต์ในส่วนที่เหลือตนได้หารือกับ กกพ. ให้หาช่องทางดำเนินการ แต่ที่ได้รับคำตอบมา คือ ทาง กกพ. กลัวจะเกิดข้อผิดพลาดทางกฎหมาย แต่ตนก็ได้ท้วงติงไปแล้ว ถ้าณัฐพงษ์มีข้อเสนอว่า ทำตรงไหนอย่างไรได้บ้างก็ขอความกรุณาแจ้งมาด้วย
ส่วนเรื่อง Direct PPA กับ UGT นั้นเข้าใจความแตกต่างดี แต่ตนก็ขอเรียนว่า Direct PPA แบบปัจจุบันก็มีปัญหาแบบเดียวกัน เนื่องจากวันนี้ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย คนที่จะมาลงทุน Direct PPA ทำได้เพียงขายตรงแต่ยังต้องอาศัยสายส่งของ กฟผ. เป็นหลักอยู่ ทำให้ไม่ได้สะอาดจริง แต่โรงงานไหนที่จะขอตั้งแล้วสามารถลงทุนเดินสายส่งได้เองก็ไม่ได้มีปัญหาขัดข้องที่จะทำเป็น Direct PPA
ณัฐพงษ์ ถามต่อเป็นคำถามสุดท้ายว่า อยากยืนยันอีกครั้ง โดยอ้างอิงจากประกาศที่ออกโดย กกพ. ตอนรับซื้อ 5,200 เมกกะวัตต์ ข้อ 39 เขียนชัดเจนว่า กกพ. ขอสงวนสิทธิในการยกเลิกโครงการก่อนมีการลงนามในสัญญา ตอนนี้รัฐบาลจึงมีอำนาจเต็มในการทบทวนหรือยกเลิกทั้งในส่วน 5,200 เมกกะวัตต์และ 3,600 เมกกะวัตต์
สิ่งที่ตนอยากเน้นย้ำ คือ ถ้าดูรัฐบาลทุกยุค ตอนจะออกกติกาในการรับซื้อพลังงานต่าง ๆ ที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ไม่มีใครเกรงกลัวที่จะทำผิดกฎหมายเลย แต่เมื่อจะมีการแก้ไขกฎระเบียบกลับมีการเกรงกลัวว่า จะเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อรัฐโดยเอกชน นี่คือความบิดเบี้ยวของระบบอย่างชัดเจน
“เราต้องการเจตจำนงทางการเมือง วันนี้รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลอยู่ในอำนาจ เมื่อเห็นแล้วว่า กติกาในอดีตตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บิดเบี้ยวไม่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างไร วันนี้ท่านอยู่ในอำนาจ ประกาศระเบียบก็เอื้ออำนวยให้ดำเนินการเหล่านั้น ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินการต่อ ผมอยากสนับสนุนให้เดินหน้าต่อแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด” ณัฐพงษ์ กล่าว
ในส่วนของพีระพันธุ์ ได้ตอบคำถามสุดท้ายว่า ประกาศที่ณัฐพงษ์กล่าวถึงนั้น คือ ประกาศ กกพ. ไม่ใช่ของกระทรวงพลังงาน ตนจึงไม่มีอำนาจ แม้จะเห็นตรงกัน แต่ กกพ. ระบุว่า การใช้อำนาจตามแต่ละข้อต้องมีเหตุผลที่รับได้และถูกต้อง ไม่โดนโต้แย้ง ทั้งหมดจึงอยู่ที่จะตีความแล้วแต่ผู้มีอำนาจในส่วนของ กกพ. แต่อะไรที่ตนแก้ไขได้ภายใต้อำนาจของตนก็จะทำอย่างเต็มที่ ตนไม่มีกล่มทุน ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน พยายามทำอยู่แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่ตน เพราะไม่ได้เป็นคนประมูล กำหนดกติกา ไม่ได้เขียน และไม่ได้ตัดสินใจทุกเรื่อง เพราะองค์กรที่รับผิดชอบตรงนี้ คือ กกพ. ตนทำได้แค่เสนอแนะและหารือ ซึ่งตอนนี้ก็ยังหารืออยู่แลจะพยายามอย่างเต็มที่ต่อไป