วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

พรรคประชาชนขนทีม สส.-ส.ก.แถลงสะท้อนปัญหาฝุ่นใน กทม. “ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตฝุ่น PM2.5 คือวิกฤตภาวะผู้นำ หลายมาตรการ รัฐบาล-กทม. ล่าช้า-ทำไม่พอ เปิดเวทีกรรมาธิการเชิญนายกฯ และผู้ว่าฯ ถก 13 ก.พ.นี้

 


พรรคประชาชนขนทีม สส.-ส.ก.แถลงสะท้อนปัญหาฝุ่นใน กทม. “ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตฝุ่น PM2.5 คือวิกฤตภาวะผู้นำ หลายมาตรการ รัฐบาล-กทม. ล่าช้า-ทำไม่พอ เปิดเวทีกรรมาธิการเชิญนายกฯ และผู้ว่าฯ ถก 13 ก.พ.นี้


วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย สส. และ ส.ก. พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวกรณีปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในกรุงเทพมหานครและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและกรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหา


โดยณัฐพงษ์ระบุว่าสถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีคือ 1 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นช่วงเวลาที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องอยู่กับค่า pm 2.5 ที่เกินมาตรฐานถึง 31 จาก 36 วัน ซึ่งหากเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับ 36 วันที่ผ่านมาของปี 2567 ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในปีนี้มีความหนักเพิ่มขึ้นถึง 20%


ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในเวลานี้ และการใช้มาตรการต่าง ๆ ผ่านกระทู้และเวทีกรรมาธิการ ส่วนในระดับท้องถิ่น ส.ก.พรรคประชาชน เคยผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตและข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มปอดให้ชาวกรุงเทพมหานคร


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 นั้นเกิดขึ้นจากช่องว่างในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ปัญหาฝุ่นนอกจากทำร้ายสุขภาพแล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลกับกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างของการบริหารงานท้องถิ่น


จากนั้น ณัฐพงษ์ได้เชิญชวนผู้แทนกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาชน ให้ร่วมบอกเล่าปัญหาจริงจากหน้างาน ไม่ว่าจะเป็น ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ ที่สะท้อนปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้เปราะบาง โดยระบุว่าผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ราว 1.2 ล้านราย ที่เปราะบางอยู่แล้ว วันนี้ยังต้องมาเผชิญฝุ่นพิษเพิ่มอีก โดยเฉพาะในเขตบางแคมีผู้สูงอายุสูงถึง 40,000 คน และมีสถานที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งบ้านบางแค 1 ที่อยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบ้านบางแค 2 ที่ดูแลโดยกรุงเทพมหานครเอง แต่มาตรการป้องกันและช่วยเหลือของทั้งสองแห่งก็ไม่เพียงพอกับสภาพปัญหา ไม่ต้องพูดถึงแผนกอายุรกรรมที่เป็นห้องเปิด ยังหาทางออกหรือมาตรการเยียวยาช่วยเหลือไม่ได้


ในส่วนของภัสริน รามวงศ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 7 ได้สะท้อนปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในเด็ก โดยระบุว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีรถยนต์ ห้องแอร์ หรือเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศได้ ฝุ่น pm 2.5 ไม่ใช่ภัยเงียบแต่เป็นหายนะที่กำลังจะพาทุกคนย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะแม่ที่กำลังอุ้มท้องอุุ้มอนาคตของประเทศนี้ เพราะฝุ่นสามารถซึมสู่สายทารก เพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดหรือกระทั่งยุติการตั้งครรภ์ ฝุ่น pm 2.5 ยังทำร้ายการพัฒนาสมองเด็กวัย 0-5 ขวบ และเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคปอดอักเสบที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายใน 1 ปี แต่ทั้งเด็กและแม่ทำได้เพียงใช้ต้นทุนของตัวเองรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากผู้นำท้องถิ่นและผู้นำประเทศ


ในส่วนของ ฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา พรรคประชาชน ระบุว่าที่ผ่านมามาตรการการจัดการฝุ่นของกรุงเทพมหานคร หลายส่วนเบาเกินไป น้อยเกินไป และช้าเกินไป ที่ผ่านมา ส.ก.พรรคประชาชนผลักดันข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว ที่ผู้ขอต่อเติมซ่อมแซมอาคารจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของตัวเอง และข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตที่ผ่านสภา กทม.แล้ว แต่ฝ่ายบริหารชี้แจงว่าทำต่อไม่ได้ เพราะกฤษฎีกาตีความว่ากรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจ แต่ตนเห็นว่ากรุงเทพมหานครสามารถพูดคุยกับกรมการขนส่งทางบกต่อได้ แต่เพราะไม่ทำอะไรจึงเสียเวลาไปถึงสองปี


ในส่วนของภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน ย้ำว่าหลายเรื่องที่กรุงเทพมหานครมีอำนาจเต็มกลับไม่ใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ เช่นมาตรการเขตลดฝุ่นที่กรุงเทพมหานครสามารถห้ามรถบรรทุกเกิน 6 ล้อที่ไม่ได้ลงทะเบียนเป็นรถมลพิษต่ำเข้าในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมากลับมีการประกาศห้ามแค่พื้นที่ชั้นในเท่านั้น ทั้งที่ค่าฝุ่นเป็นสีแดงทั้งหมด 50 เขตของกรุงเทพมหานครในวันที่ประกาศ โดยรถบรรทุกที่เข้ากรุงเทพมหานครมีทั้งหมดประมาณ 1 แสนคัน แต่ในพื้นที่ชั้นในที่ใช้มาตรการนี้มีราว 3 พันคันต่อวันเท่านั้น หมายความว่ารถบรรทุกส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นนอก หากใช้มาตรการนี้กับทั้งกรุงเทพมหานคร พร้อมขยายกรอบเวลาจาก 22 วันเป็น 1 สัปดาห์ น่าจะลดฝุ่นได้อีกหลายเท่าตัว


ภัทราภรณ์กล่าวต่อไปถึงมาตรการให้ทำงานที่บ้าน หรือ WFH เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกือบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครมีค่า pm 2.5 เป็นส้มติดต่อกันมา 4-5 วัน แต่ก็ยังไม่มีการประกาศมาตรการนี้ และยังไม่ได้ใช้กับข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างครอบคลุม ลูกจ้างกรุงเทพมหานครในระดับปฏิบัติการจำนวนมากยังคงทำงานอยู่กลางแจ้ง ทั้งที่ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานกลางแจ้งได้เลย นอกจากนี้ เกณฑ์ค่าทึบแสงของการตรวจควันจาก 30% เหลือ 10% ที่ผู้ว่าฯ เสนอก็สามารถเริ่มต้นทำได้กับรถของกรุงเทพมหานครเองที่มีกว่า 1 หมื่นคัน


ขณะที่ ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 21 กล่าวถึงกรณีเตาเผาขยะติดเชื้อในเขตอ่อนนุช ภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครเอง ที่ยังคงสร้างมลพิษปริมาณสูง แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครควรทำงานเชิงรุกเรื่องการติดเครื่องดักฝุ่นควันเพื่อวัดค่ามลพิษ รวมถึงพัฒนาการระบบห้องปลอดฝุ่นให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ให้เป็นอีกทางเลือกในการจัดการพื้นที่


ในส่วนของ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 ระบุว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 จนถึงมกราคม 2567 รัฐบาลไม่ได้ตามแก้ปัญหาของ ขสมก. ที่ไม่มีบอร์ดจึงไม่สามรถอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างหารถเมล์อีวีได้ เพิ่งทำหลังจากพรรคประชาชนกระทุ้งในสภา แต่ก็ยังไม่มีทีโออาร์ในการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ แม้ว่าจะเคยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ระหว่างรัฐบาลกับ กทม. แต่ก็มีการประชุมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่มีมาตรการใดออกมาเป็นรูปธรรม ทั้งที่มีหลายอย่างที่ควรทำ เช่น การสนับสนุนให้นำรถเก่ามาเปลี่ยนเป็นรถใหม่ จูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่อง การพัฒนาพื้นที่จอดและจร พัฒนาที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟ การเพิ่มเส้นทางรถเมล์ การปรับค่าธรรมเนียมค่าต่อภาษีรถยนต์ให้สะท้อนค่ามลพิษ


สุดท้ายหัวหน้าพรรคประชาชนได้กล่าวสรุปว่า ข้อเสนอของพรรคประชาชนที่ว่ามาแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สิ่งที่ทำแล้ว แต่ยังไม่พอ คือ มาตรการเขตลดฝุ่นที่กรุงเทพมหานครยังดำเนินการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีปัญหา จำนวนวันบังคับใช้น้อยเกินไป จำนวนรถที่เข้าร่วมไม่มากพอ รวมถึงการตรวจโรงงานอุตสาหกรรม และการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องปลอดฝุ่นในสถานศึกษาและสถานพยาบาลต่างๆ


2) สิ่งที่ควรทำ แต่ยังไม่ทำ ได้แก่ ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตที่พรรคประชาชนได้ผลักดัน รวมทั้งมาตรการปรับมาตรฐานและโครงสร้างภาษีรถยนต์ให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงมาตรการสำหรับเรือโดยสาร มาตรการควบคุมมลพิษ ซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล


3) สิ่งที่ควรเตรียมเพื่ออนาคต แต่ยังไม่ได้เริ่ม เช่น การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ที่จะช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า มาตรการสำคัญ ๆ จำนวนมากไม่เกิดขึ้นเพราะผู้บริหารระดับประเทศคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่ร่วมมือกับผู้บริหารระดับท้องถิ่น พรรคประชาชนจึงขอทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชิญชวนนายกฯ และผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่น มาถกปัญหาและกำหนดมาตรการร่วมกัน ผ่านเวทีของคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เพราะการประสานงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการปัญหา PM2.5 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #PM25 #กมธที่ดินแบะทรัพยากร #รัฐบาลเพื่อไทย