วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

“พริษฐ์” อัดรัฐบาล “แก้รัฐธรรมนูญเดินอ้อม-สถานบันเทิงครบวงจรเต็มสปีด” สะท้อนชัดนายกฯ - พรรคแกนนำรัฐบาล มีเจตจำนงไม่เท่ากันในการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้สำเร็จ ท่ามกลางความเห็นต่างของพรรคร่วมรัฐบาล ห่วงมีเกมต่อรองหลังเวที


พริษฐ์” อัดรัฐบาล “แก้รัฐธรรมนูญเดินอ้อม-สถานบันเทิงครบวงจรเต็มสปีด” สะท้อนชัดนายกฯ - พรรคแกนนำรัฐบาล มีเจตจำนงไม่เท่ากันในการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้สำเร็จ ท่ามกลางความเห็นต่างของพรรคร่วมรัฐบาล ห่วงมีเกมต่อรองหลังเวที


วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ 2 นโยบายของรัฐบาลที่บรรจุในคำแถลงนโยบายที่นายกแถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน 2567 ซึ่งประชาชนย่อมคาดหวังให้ทุกพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลร่วมผลักดันอย่างเป็นเอกภาพและสุดความสามารถ โดยนายกฯ มอบหมาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบคำถามแทน


พริษฐ์กล่าวว่ามีอย่างน้อย 2 นโยบายของรัฐบาลที่ดูจะมีความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในลักษณะคล้ายๆ กันแต่กลับมีชะตากรรมและผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันครับ นั่นคือนโยบาย “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” กับนโยบาย “สถานบันเทิงครบวงจร (กาสิโน)” ที่พรรคเพื่อไทยดันสุดตัวแม้ไม่ได้หาเสียงไว้


สำหรับนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่าการที่รัฐบาลใช้คำว่า “เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เพราะรัฐบาลทราบดีว่ายิ่งเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปนานเท่าไร ปัญหาเดิมๆ หลายอย่างก็จะยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลไกการปราบโกงที่อ่อนแอจนทำให้คะแนนความโปร่งใสของไทยแย่สุดในรอบ 12 ปี หรือระบบการเมืองที่ขาดเสถียรภาพและหลักนิติรัฐนิติธรรม ซึ่งสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ


เมื่อสิ้นปี 2567 ทุกอย่างดูจะไปได้เร็วขึ้น หลังจากตนรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อร่วมนำเสนอต่อคณะกรรมการของประธานรัฐสภาจนประธานรัฐสภาเห็นตรงกันว่าเราสามารถลดจำนวนประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จาก 3 เหลือ 2 ครั้ง และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 ก.พ. แต่แม้รัฐบาลทราบเรื่องนี้มาหลายเดือน รัฐบาลกลับไม่ได้พยายามมากพอในการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้เสนอร่างของ ครม. หรือจะแค่พูดคุยกันในที่ประชุม ครม. ตนเข้าใจว่ารัฐบาลก็ยังไม่ทำ และพอถึงคิวต้องพิจารณา สส. รัฐบาลก็ต่างร่วมกันทำให้การประชุมดังกล่าวล่มลง


พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยพยายามอธิบายกับสังคมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง และ สว. ที่เขาว่ากันว่าหัวใจเดียวกัน มีข้อกังวลทางกฎหมายว่าสิ่งที่เราดำเนินการกันอยู่ จะไปขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้อง “เดินอ้อม” โดยการให้รัฐสภาส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน แม้ตนยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเคยส่งเรื่องในลักษณะทำนองเดียวกันไปที่ศาลฯ มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ตนก็เคารพว่าเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่จะเสนอให้รัฐสภาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 ได้


คำถามสำคัญคือรัฐบาลยืนยันใช่หรือไม่ ว่าเหตุผลที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลและ สว. ที่ว่ากันว่าหัวใจเดียวกัน ยังไม่พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพราะ “ข้อกังวลทางกฎหมาย” ที่เชื่อว่าจะเคลียร์ได้ด้วยการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเพราะ “จุดยืนทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ลึกๆ แล้วไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นปัญหานี้จะเคลียร์ได้ ต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำของนายกฯ


ในคำถามนี้ตนมีคำถามย่อย 3 ข้อ

(1) หากสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลและ สว. ต้องการ เพื่อเดินหน้าต่อคือความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเหตุใดสัปดาห์ที่แล้ว สส. พรรคภูมิใจไทยเกือบ 70 คนและ สว. หัวใจเดียวกันอีกกว่าร้อยคน ถึงไม่มาลงมติสนับสนุนเพื่อเร่งส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ

(2) แม้ 2 วันก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สส. พร้อมเปลี่ยนใจมาร่วมโหวตและสนับสนุนการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ หากสิ้นข้อสงสัยเรื่องกฎหมาย แต่ตราบใดที่ สว. หัวใจเดียวกันไม่เปลี่ยนใจมาร่วมโหวตสนับสนุนญัตติดังกล่าว อะไรจะเป็นหลักประกันว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำตอบกลับมาว่าเดินหน้าต่อได้ สว. กลุ่มนี้จะไม่ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลอื่น เพราะแม้คน 2 กลุ่มนี้อาจมี “หัวใจเดียวกัน” แต่ก็อาจตั้งใจ “แสดงออกไม่เหมือนกัน”

(3) เราจะเชื่อคำพูดจากใครได้บ้าง ในเมื่อสัปดาห์ที่แล้วขณะที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีตอนบ่ายว่าได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกลับให้สัมภาษณ์ตอนเย็นว่านายกฯ “ไม่เคยมาคุย” หรือหารือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเลย พูดขัดแย้งกันต่อหน้าประชาชนจนทำให้สังคมเถียงกันมาตลอดสัปดาห์ว่าใครกันแน่ที่พูดไม่จริง


ด้านประเสริฐตอบคำถามแรก ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังมีเป้าหมายร่วมกัน และยืนยันว่าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในเรื่องนี้ แต่อาจมีความเห็นต่างกันบ้างเกี่ยวกับกระบวนการ ตนมองว่าความเห็นที่แตกต่างกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตย และการแสดงความเห็นของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภามีความประสงค์อยากเห็นรัฐธรรมนูญออกมาเป็นฉบับที่ดีที่สุด แต่หลายคนยังมีข้อกังวลเรื่องการตีความว่าถ้าพิจารณาต่อไปจะถูกต้องหรือไม่ในเรื่องการทำประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง


จากนั้นพริษฐ์กล่าวว่า ที่รองนายกฯ บอกว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เกรงว่าคงไม่ใช่ เพราะสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้เร่งส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยไม่มาร่วมสนับสนุนญัตติดังกล่าว ความขัดแย้งจึงเป็นที่ประจักษ์ แต่สิ่งที่สังคมสงสัยคือนายกฯ ได้พยายามก่อนหน้านั้นในการคลี่คลายความขัดแย้งแล้วหรือไม่ และคำพูดที่ต่างกันระหว่างนายกฯ กับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านรองนายกฯ ก็ยังไม่ได้ตอบว่าใครพูดจริงพูดเท็จ


ถ้าจะบอกว่านายกฯ ยังไม่ได้พยายามมากพอในการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้หันมาสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ความเป็นธรรมว่าข้อวิจารณ์นี้ใช้ไม่ได้กับอีกนโยบายที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยดันสุดตัว นั่นคือ “สถานบันเทิงครบวงจร” อันมีกาสิโนเป็นองค์ประกอบที่ขาดหายไม่ได้


ความพยายามของพรรคเพื่อไทยเริ่มต้นอย่างจริงจังหลังจากที่สภาฯ มีมติรับทราบรายงานผลการศึกษาและร่าง พ.ร.บ. แนบท้ายของ กมธ. วิสามัญเมื่อ มี.ค. 2567 พอขยับมาที่ 13 ส.ค. 2567 พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายกาสิโนใน 4 ประเด็น


แต่พอผ่านไปเพียง 6 เดือน เมื่อตอนต้นปี 2568 หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกลับให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีปัญหา” กับร่างกฎหมายกาสิโน จนที่ประชุม ครม. ได้ร่วมกันอนุมัติหลักการและมอบหมายให้กฤษฎีกาเร่งตรวจทานให้เสร็จภายใน 50 วันเพื่อเสนอเข้าสู่สภาฯ ในนาม ครม.


ตอนแรกตนเข้าใจว่าท่าทีที่เปลี่ยนไปของพรรคภูมิใจไทยคงเป็นเพราะร่างของ ครม. ได้มีการแก้ไขจนสามารถคลาย 4 ข้อกังวลของพรรคภูมิใจไทยได้เรียบร้อยแล้ว แต่พอเปิดดูร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร โดยเฉพาะฉบับที่ ครม. รับหลักการเมื่อ 13 ม.ค. และฉบับที่ทางกฤษฎีกาเปิดรับฟังความเห็นเมื่อ 15 ก.พ. เรากลับเห็นว่าทั้ง 4 ข้อกังวลของพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้ถูกแก้ไขแม้แต่เรื่องเดียว


(1) พรรคภูมิใจไทยเคยทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร เมื่อปีที่แล้วไม่ได้แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย แต่ร่างที่ ครม. รับหลักการ กลับละเลยปัญหาการพนันผิดกฎหมายยิ่งกว่าเดิม “กองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการพนัน” ที่เคยมีอยู่ในร่างของ กมธ. เพื่อช่วยแก้ปัญหาคนที่ติดพนัน ทางร่าง ครม. ก็ตัดออก มาตรการหลายอย่างในร่างของ ครม. โดยเฉพาะการเปิดช่องเรื่องการให้ “วงเงิน” หรือ “สินเชื่อ” แก่ผู้เล่น ก็มีความเสี่ยงที่จะเปิดช่องให้คนที่ไม่มีกำลังไหลเข้ามาติดการพนันได้ง่ายขึ้น และความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าพอมีสถานบันเทิงครบวงจรแล้วจะทำให้คนไทยที่ปัจจุบันเล่นพนันใต้ดินหันมาเล่นพนันในกาสิโนในเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ก็ถูกตอกฝาโลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยกฤษฎีกาที่ไปกำหนดกำแพงไว้สูงมากว่าคนไทยที่จะเข้ามาเล่นได้ต้องมีเงินฝากในบัญชีไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อเนื่อง 6 เดือน ซึ่งตนเชื่อว่ามีคนไทยไม่กี่คนเท่านั้นที่บรรลุเงื่อนไขนี้


(2) พรรคภูมิใจไทยเคยทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร เมื่อปีที่แล้วไม่ได้รับประกันผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้จากกาสิโนอย่าง “มาก” และ “ชัดเจน” เพียงพอ แต่ร่างที่ ครม. รับหลักการมา กลับรับประกันผลประโยชน์น้อยลง หากพูดถึงประโยชน์ในเชิงรายได้เข้ารัฐ ร่างของ กมธ. เคยเปิดกว้างว่ารัฐจะคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสูงเท่าไหร่ก็ได้ตามกลไกตลาด แต่ร่างของ ครม. กลับไปกำหนดเพดานในกฎหมายว่ารัฐจะคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ไม่เกินกี่บาท ร่างของ กมธ. เคยกำหนดว่าใบอนุญาตจะมีอายุ 20 ปี ต่ออายุได้ครั้งละ 5 ปี แต่ร่างที่ ครม. รับหลักการ กลับขยายอายุใบอนุญาตเป็น 30 ปี ต่อได้ครั้งละ 10 ปี ร่างของ กมธ. พูดชัดว่าจะต้องมีการ “เปิดประมูล” เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ร่างของ ครม. กลับตัดเรื่องการประมูลออกไปเลย หรือหากจะพูดถึงประโยชน์สำหรับประชาชนในพื้นที่ ตอนนี้ไม่ต้องหวังจะไปพิสูจน์กับผ่านการทำประชามติในพื้นที่ เพราะแม้ร่างของ กมธ. เคยระบุเพียงแค่ให้รับฟังความเห็นของ “ประชาชนที่อยู่อาศัยในท้องที่ใกล้เคียง” แต่ร่างของ ครม. กลับไปทำให้การรับฟังความเห็นให้แคบลงไปอีก โดยรวมถึงแค่ “ผู้มีส่วนได้เสีย” และ “ผู้มีสิทธิหรือสิทธิครอบครองในที่ดินข้างเคียง”


(3) พรรคภูมิใจไทยยังเคยทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร เมื่อปีที่แล้ว ไม่ตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการกระจายนักท่องเที่ยวไปตามเมืองรองทั่วประเทศ แต่ร่างที่ ครม. รับหลักการ ก็ไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจนเรื่องนี้มากกว่าเดิม ทั้งเรื่อง “จำนวน” และ “จังหวัด” ที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจรก็ยังไม่มี “หลักประกัน” ในตัวกฎหมาย แต่ไปขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของฝ่ายบริหาร และพรรค


(4) พรรคภูมิใจไทยเคยทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร เมื่อปีที่แล้ว ไม่มีมาตราไหนที่ระบุเรื่อง “การช่วยเหลือหรือดูแลแรงงานไทยในการจ้างงาน” แต่ร่างที่ ครม. รับหลักการ ก็ไม่ได้มีอะไรเรื่องการ “รับประกัน” การจ้างงานคนไทยที่ชัดเจนขึ้น มีเพียง 1 มาตรา ที่มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายไปกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนไทย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับมาตราที่เคยมีอยู่ในร่างของ กมธ. เมื่อปีที่แล้ว


เรายังไม่ต้องพูดถึงข้อกังวลและเสียงทักท้วงจากสังคมในด้านอื่นๆ (เช่น มาตรการป้องกันการฟอกเงิน การรับประกันความโปร่งใสในการแข่งขัน การคาดการณ์ตัวเลขผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) เฉพาะแค่ 4 ข้อกังวลที่พรรคภูมิใจไทยเคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงทักท้วง เราจะเห็นว่าร่างที่ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันรับหลักการเมื่อ ม.ค. 2568 ยังไม่ได้แก้ไขในประเด็นเหล่านี้เลย รวมถึงทำให้บางประเด็นแย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ


ดังนั้นอยากถามตรง ๆ ว่านายกฯ หรือรัฐบาลไปทำอะไรมาที่สามารถโน้มน้าวพรรคภูมิใจไทยยอมเปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนนโยบายและร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ของ ครม. ในวันนี้ ตนขอให้ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะรัฐบาลไปพยายามตกลงกันหลังห้องว่าจะตั้งกาสิโนที่จังหวัดหรือพื้นที่ไหน? ขอให้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างการทำกาสิโนบนดินกับการทำกาสิโนออนไลน์ และขอให้ยืนยันว่าไม่ได้เอานโยบายบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การกำกับดูแลเรื่องกัญชา ไปแลกกับกาสิโน


ด้านประเสริฐตอบคำถามที่สอง ยืนยันว่าความเห็นต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เสนอโดยสมาชิกของ 2 พรรคการเมือง การจะให้รัฐบาลเข้าไปแสดงบทบาทหรือเข้าไปรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ส่วนเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร แม้จะผ่านความเห็นชอบของ ครม. แต่ยังมีกระบวนการอีกหลายอย่าง และที่บอกว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย 4 ประเด็น เมื่อคุยกันแล้วก็เกิดความเข้าใจและเห็นด้วย นายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง คุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ตลอดเวลา หลายเรื่องไม่เข้าใจกันก็สร้างความเข้าใจกันได้ ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องอะไร ทุกคนมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับ


จากนั้นพริษฐ์ถามคำถามสุดท้ายว่า ตนไม่ติดใจที่นายกฯ ใช้ภาวะผู้นำในการคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ตนพยายามชี้ให้เห็นคือความแตกต่างระหว่างเจตจำนงของนายกฯ ใน 2 นโยบายดังกล่าว


ในขณะที่การผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่านายกฯ ไม่เคยไปคุยด้วยเลย แต่พอเป็นนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร รองนายกฯ ประเสริฐบอกว่านายกฯ ใช้วิธีการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจกัน นี่คือความแตกต่างที่เห็นชัด ว่าแม้สองนโยบายนี้จะอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลทั้งคู่ แต่นโยบายหนึ่งนายกฯ และพรรคแกนนำรัฐบาล ยอมเดินอ้อม ยอมปล่อยเกียร์ว่าง ทั้งที่หาเสียงกับประชาชน แต่อีกนโยบายหนึ่ง นายกฯ และพรรคแกนนำรัฐบาลพร้อมชนทุกอย่าง พร้อมคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เร่งสปีดเต็มที่เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ไม่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน


ตนเชื่อว่าหลังจากนี้คงมีอีกหลายนโยบายที่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จึงอยากจะถามว่าในบรรดานโยบายต่อไปนี้ที่อาจมีความเห็นต่างกับพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ และพรรคแกนนำพรรครัฐบาล จะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ระหว่าง (1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2) สถานบันเทิงครบวงจร (3) การกำกับดูแลเรื่องกัญชา (4) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ถึงเป้าหมาย 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 (5) การเลือกตั้งผู้ว่าฯในจังหวัดนำร่อง (6) การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร และ (7) การนิรโทษกรรมคดีการเมือง


ด้านประเสริฐตอบว่า ทั้ง 2 นโยบายที่ยกมานั้น รัฐบาลมีความตั้งใจ เวลาเขาคุยกันท่านอาจไม่ทราบ ยืนยันเราไม่มีเดินอ้อม เรื่องรัฐธรรมนูญเราต้องการให้ดำเนินการต่อ ส่วนนโยบายอื่น ๆ ที่ถามมา รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งสิ้น การจัดลำดับความสำคัญขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาส การเรียงลำดับความสำคัญจึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน บางเรื่องทำได้เร็วก็ทำก่อน บางเรื่องต้องใช้เวลา ก็เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่