วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

“ดีอี” พร้อมเครือข่ายทำงานใกล้ชิด ตรวจสอบ “ข่าวปลอม” แจ้งเตือนประชาชนแล้วกว่า 570 ล้านครั้ง เล็งยกระดับใช้ AI เสริมทัพตรวจจับป้องกัน “โจรออนไลน์”

 


“ดีอี” พร้อมเครือข่ายทำงานใกล้ชิด ตรวจสอบ “ข่าวปลอม”  แจ้งเตือนประชาชนแล้วกว่า 570 ล้านครั้ง เล็งยกระดับใช้ AI เสริมทัพตรวจจับป้องกัน “โจรออนไลน์”


วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบสำหรับประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมและสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมทั้ง 5 กลุ่มข่าว และกลุ่มนิติกร พร้อมมอบโล่รางวัล ‘พันธมิตรยอดเยี่ยมแห่งปี 2024’  ให้แก่หน่วยงานร่วมบูรณาการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสารในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดีอี และผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายผู้ประสานงานฯ เข้าร่วม ณ โรงแรม เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์


นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake News Center: AFNC) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมีเป้าหมายหลักคือ แก้ไขและป้องกันปัญหาข่าวปลอมที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วทันท่วงที ก่อนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน บูรณาการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายผู้ประสานงานกว่า 300 หน่วยงาน ที่ทำการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสาร


ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้แบ่งข่าวสารที่ผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง เป็น 5 กลุ่มข่าว ได้แก่ 1. เรื่องนโยบายรัฐบาล ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงภายในประเทศ 2. เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย 3. เรื่องเศรษฐกิจ 4. เรื่องภัยพิบัติ และ 5. อาชญากรรมออนไลน์


โดยในปัจจุบันมีประชาชนติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ 1) Website : www.antifakenewscenter.com  จำนวน 27,898,089 ผู้รับชม2) Line Official Account : @antifakenewscenter  จำนวน 2,791,452 ผู้ติดตาม, 3) Facebook : Anti-Fake News Center Thailand  จำนวน 120,515 ผู้ติดตาม4) Twitter : @AFNCThailand  จำนวน 18,313 ผู้ติดตาม, 5) TikTok: @AFNC_Thailand จำนวน 1,874 ผู้ติดตาม, 6) Instagram: @AFNC_Thailand จำนวน 1,010 ผู้ติดตาม


นายประเสริฐ กล่าว ขณะเดียวกันกระทรวงดีอี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประชาชนเข้าถึงการแจ้งเตือนภัย ในปี 2566 จำนวนเฉลี่ย 22.25 ล้านครั้ง/เดือน และในปี 2567 จำนวนเฉลี่ย 23.50 ล้านครั้ง/เดือน รวมแล้วมีประชาชนเข้าถึงมากกว่า 570 ล้านครั้ง


นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่มีการทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน เช่น สมาคมธนาคารไทย 16 ธนาคาร เครือข่ายภาคสื่อมวลชนที่ช่วยเผยแพร่ข่าวปลอมที่เป็นกระแส มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ที่จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ


“กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจและประสานงานร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตร เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ประชาชน ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม โดยในอนาคตจะมีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน และข่าวจริง และเร่งผลักดันให้เกิด Impact สูงสุด ในการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรืออาชญากรรมออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน” รองนายกประเสริฐ กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #โจรออนไลน์ #ข่าวปลอม