วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

จม.จากแดน 4 “อานนท์” เขียน “พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน ไม่พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน ”

 


จม.จากแดน 4 “อานนท์” เขียน “พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน ไม่พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน ”


วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เพจ “อานนท์ นำภา” โพสต์จดหมายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และข้อความในจดหมายระบุว่า จดหมายฉบับลงวันที่ 10 ก.พ. 2568


“จังหวะเวลาที่เหมาะสม” อาจมีได้ 2 แบบ แบบแรก คือจังหวะเวลาที่เหมาะสมอันอาจประมาณได้ เช่น ชั่วเวลาต้มน้ำให้เดือด ต้มไข่ให้สุก หมักสุราให้เลิศรส การผลิดอกออกผลของพืชพรรณธัญญาหาร การตั้งครรภ์ของสิ่งมีชีวิต


แบบที่สอง คือ จังหวะเวลาที่เหมาะสมซึ่งไม่อาจคาดประมาณได้ เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมาถึง สิ่งนั้นปรากฎขึ้น เป็น “จังหวะเวลาที่เหมาะสม” จังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างหลังจึงยากกว่าทั้งในการจัดการและในการ ”หยั่งรู้“ หรือ “ประเมิน” ได้ว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่


การเตรียมพร้อมจึงสำคัญสำหรับจัดการเมื่อถึงจังหวะ เวลาที่เหมาะสม ซึ่งไม่อาจคาดประมาณว่าจะมาถึงปรากฏขึ้นเมื่อใด สำคัญคือ การประเมินว่าช่วงไหน เวลาไหน คือช่วงเวลาหรือจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ


พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน

ไม่พลาด ก็ล้มทั้งกระดาน


ปรัชญา หรือ ภูมิปัญญาเช่นนี้ มีทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก แฝงเร้นให้อาจมองเห็นได้ทั้ง ในหนัง ในละคร ในหนังสือ กระทั่งในชีวิตจริง อะไรหรือช่วงเวลาใดคือจังหวะเวลาที่เหมาะสม จึงมีใครครุ่นคิดตั้งแต่เรื่องต้มน้ำชงกาแฟ ต้มไข่ให้สุก กระทั่งการยื่นประกันตัว หรือการให้ประกันตัว รวมทั้งอีกหลายเรื่องในช่วงชีวิตนี้


10 กุมภาพันธ์ 2568

อานนท์ นำภา


สำหรับ อานนท์ นำภา ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63

.

จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564


โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ทำให้รวม 4 คดี อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 20 วัน เมื่อรวมกับสองคดีในข้อหามาตรา 112 ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคดีละ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 และ 17 ม.ค. 2567


โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นี้ อานนท์ นำภา มีนัดฟังคำสั่งที่ศาลอาญา รัชดา คดีเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยศาลอาญาพิพากษาจำเลยผิดตาม #มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ลงโทษจำคุก 3 ปี มีเหตุลดโทษตามมาตรา 78 ลดโทษ 1/3 คงจำคุก 2 ปี นับโทษต่อจากคดีอื่น ทำให้รวมโทษจำคุกอานนท์เป็น 16 ปี 2 เดือน 20 วัน ใน 5 คดี


และวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำสั่ง ม.112 นับเป็นคดีที่ 6 #แฮรี่พอร์ตเตอร์1 โดยมีคำพิพากษา“ จำคุก 4 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 8 เดือน ตามความผิดในข้อหา ม.112 ม.116 แต่ยกฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้โทษจำคุกรวมล่าสุด 18 ปี 10 เดือน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา #มาตรา112