วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ปชน.ผิดหวังสภาล่มแก้ รธน.ชะงัก สะท้อนปัญหารัฐบาลขาดเจตจำนงการเมือง-ประเทศขาดนิติรัฐ-ความเคารพเสียงประชาชน ชี้ข้อกังวลทางกฎหมายเป็นแค่ข้ออ้าง เหตุแท้จริงคือความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล หากเคลียร์ไม่ได้ควรยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

 


ปชน.ผิดหวังสภาล่มแก้ รธน.ชะงัก สะท้อนปัญหารัฐบาลขาดเจตจำนงการเมือง-ประเทศขาดนิติรัฐ-ความเคารพเสียงประชาชน ชี้ข้อกังวลทางกฎหมายเป็นแค่ข้ออ้าง เหตุแท้จริงคือความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล หากเคลียร์ไม่ได้ควรยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อาคารรัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวหลังที่ประชุมร่วมของรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้ หลังองค์ประชุมไม่ครบตลอดทั้งสองวันที่ผ่านมา


ณัฐพงษ์ระบุว่าพรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แทบจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะพอทำให้มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนเชื่อว่ามีกระบวนการที่เดินอย่างตรงไปตรงมาได้ และไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่จะสามารถนำไปสู่ปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้


ระหว่างการพักการประชุมเมื่อเช้าวิปทั้งสองฝ่ายได้มาหารือกัน แต่ปรากฏว่าหลังการหารือวิปร่วมกันก็พบว่าฝั่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้มีการนับองค์ประชุมต่อจนนำมาสู่การที่สภาล่ม แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะพยายามเดินอ้อมอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทางออกคือการเดินหน้าตรงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาด 3 เรื่องหลัก ที่ต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาต่อประชาชน คือ


1) การขาดเจตจำนงทางการเมือง ถ้าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจังและเต็มที่ ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอเข้ามาก็ควรจะต้องถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี แต่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง 


สอดคล้องกับสิ่งที่เมื่อคืนที่ผ่านมาที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมถาษณ์กับสื่อมวลชนว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีแทบจะไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทยในการผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้มีความจริงใจในการผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และการที่บอกว่าต้องเดินอ้อมเพื่อทำให้สภาล่ม ให้ญัตตินี้ยังคงค้างอยู่ในสภา ตนเชื่อว่าประชาชนเห็นแล้วว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น


2) ความเป็นนิติรัฐ สมาชิกรัฐสภาหลายส่วนมีข้อกังวลว่าจะมีการยื่นคำร้องจนมีผลพัวพันทางกฎหมายตามมาทีหลัง และตลอดการประชุมรัฐสภาวันนี้ก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการหารือ ทั้งที่เวทีการประชุมรัฐสภาควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยขาดความเป็นนิติรัฐ ไม่ได้ถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่กำลังอยู่ภายใต้การปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ สมาชิกรัฐสภาแทนที่จะยึดถือรัฐธรรมนูญและตีความใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายจะทำอะไรก็ต้องวิ่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน ยิ่งชี้ให้เห็นว่าระบบนิติรัฐของประเทศไทยมีปัญหา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้


3) การไม่เคารพเสียงของประชาชน ทั้งที่นโยบายหาเสียงของแทบทุกพรรคการเมืองตอนช่วงเลือกตั้งมีข้อเสนอแบบเดียวกันว่าจะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ถ้านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลมีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา สามารถเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลและแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภาเพื่อคืนสิทธิให้ประชาชนได้


ในส่วนของพริษฐ์ ระบุว่าการบอกว่าพรรคไหนจริงใจกว่ากันในการแก้รัฐธรรมนูญนั้นประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจได้ พรรคประชาชนยืนยันว่าต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อให้มีระบบการเมืองที่ดีขึ้นและให้ผู้แทนราษฎรสามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วขึ้น


ตนเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้นั้นมีบทบัญญัติที่เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอทั้งจาก สส. และ 1 ใน 3 ของ สว. พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลความกังวลใจว่าหากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แล้วมีการลงมติ ก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากพรรคภูมิใจไทยและ สว. โดยให้เหตุผลว่าที่พรรคภูมิใจไทยและ สว. มีแนวโน้มไม่ลงมติเห็นชอบเพราะข้อกังวลทางกฎหมาย แต่ตนอยากชวนประชาชนตั้งคำถามว่าอุปสรรคนี้เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริงๆ หรือเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 


หากเป็นข้อกังวลทางกฎหมาย พรรคประชาชนยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และหากวันนี้ สส.พรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะได้ร่วมชี้แจงกับสังคมและสมาชิกรัฐสภาโดยที่ยังไม่ถึงขั้นต้องลงมติและเสี่ยงจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป นอกจากนี้พรรคประชาชนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหากมีการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญจริง ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าฝ่ายที่ส่งไปจะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เพราะเคยมีการส่งเรื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันไปแล้วถึงสองครั้ง ในปี 2564 และปี 2567 โดยในปี 2567 ได้คำตอบกลับมาว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้วินิจฉัยเพราะได้วินิจฉัยในปี 2564 ไว้ชัดเจนไปแล้ว


พริษฐ์เห็นว่า สาเหตุที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทยและ สว. ไม่น่าจะเป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายหรือความต้องการความชัดเจนเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบกับการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นที่ประจักษ์ว่าต้นตอและสาเหตุคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นไม่ใช่แค่ในเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกลาโหม รายงานนิรโทษกรรม เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กัญชา ค่าแรง แม้กระทั่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์


พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าเพราะฉะนั้นทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจึงไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฐบาลผสม ที่ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและผลักดันนโยบายต่างๆของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จให้ได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อบริหารพรรคร่วมรัฐบาลและบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ตนก็เห็นสอดคล้องกับผู้นำฝ่ายค้านว่าสมควรพิจารณาการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน