วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐสภาต้องแสดงความจริงใจ หยุดอ้างคำวินิจฉัย “ถ่วงเวลา” รีบเดินหน้าลงมติแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

 


เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐสภาต้องแสดงความจริงใจ หยุดอ้างคำวินิจฉัย “ถ่วงเวลา” รีบเดินหน้าลงมติแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่


วันนี้ (13 ก.พ. 68) 18.10 น. เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐสภาต้องแสดงความจริงใจ หยุดอ้างคำวินิจฉัย “ถ่วงเวลา” รีบเดินหน้าลงมติแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีใจความว่า


เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกผู้มีอำนาจการเมือง “เตะถ่วง” หลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2563-2564 ที่ สว. แต่งตั้ง จับมือกับ สส. พรรคพลังประชารัฐ ส่งเรื่องไปยัง ยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถามว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่าต้องทำประชามติ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นเหตุให้ สว. อ้างโหวตคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญหลังผลัดเปลี่ยนรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยัง “พายเรืออยู่ในอ่าง” ติดกับดัก สว. แต่งตั้ง วางโรดแมปประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็น แต่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็เริ่มจะมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 มีร่างแก้รัฐธรรมนูญสองฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มีสาระสำคัญตรงกัน คือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน จากการเลือกตั้ง มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560


อย่างไรก็ดี วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เสียงข้างมากในรัฐสภาสร้างความ “น่าผิดหวัง” อีกครั้งหนึ่ง เพราะ สส. พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่แสดงตนก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ “สภาล่ม” ยังไม่ได้เริ่มถกเถียงสู่เนื้อหาว่าจะเห็นด้วยให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ยังมีนัดพิจารณาต่อ พวกเราเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นและข้อเสนอต่อสมาชิกรัฐสภา ดังนี้

 

1. สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และ สส. พรรคภูมิใจไทย ต้อง “หยุดอ้าง” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่4/2564 เพื่อ “เตะถ่วง” การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่


คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนแล้วว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติตลอดกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำแค่สองครั้ง คือ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญ และหลัง สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว


ไม่มีกฎหมายที่บังคับให้รัฐสภาต้องทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติแล้ว เมื่อต้นปี 2567 สส. ได้ส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลตอบกลับมาว่า วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจรัฐสภา ทำได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ


2. สส. และ สว. ต้อง “แสดงความจริงใจ” ว่าพร้อมผลักดันให้ก้าวแรกของกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ด้วยการเข้าประชุมรัฐสภา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568


พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นผู้เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภา ต้องเจรจาและรวบรวม สส. พรรคร่วมรัฐบาล ให้เข้าประชุมพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญอย่างพร้อมเพรียง ให้องค์ประชุมครบและไม่เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้คำสัญญาของพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ขยับไปข้างหน้า


3. สส. และ สว. ควรใช้อำนาจในฐานะ “ผู้แทนปวงชน” ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็น “เรื่องกล้วยๆ” แค่ฟังเสียงประชาชน “รับหลักการ” ร่างแก้รัฐธรรมนูญทุกข้อเสนอ เปิดทางให้มีองค์กรมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้


การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเพียง “ก้าวแรก” ของกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ประเด็นที่มีข้อถกเถียง เห็นต่าง สามารถถกเถียงกันต่อไปได้ในชั้นกรรมาธิการ แต่หากรัฐสภาไม่รับหลักการแต่แรก ก้าวแรกนี้อาจไม่ได้เริ่มเลย


สว. เป็นตัวแปรสำคัญว่าก้าวแรกนี้จะเริ่มขึ้นได้หรือไม่ได้ เราหวังว่า สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จะคำนึงถึงประชาชน และหวังว่าจะได้ยินเสียง สว. ขานว่า “รับหลักการ” เกินกว่า 67 คน


ในวันแห่งความรักปีนี้ เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจะยังคงจับตาประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดที่หน้ารัฐสภาเวลา 10.00 น. หากรัฐสภา ยังเล่นเกมยื้อเวลาไม่เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนจะไปส่งเสียงกันต่อ ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพมหานคร ตอน 17.00 น.


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อยากเลือกตั้งสสร #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่