‘1 ปีนิรโทษกรรมประชาชน’ ไปถึงไหนแล้ว? Thumb Rights ชวนภาคประชาชน-นักการเมืองมาพูดคุยความคืบหน้าและทางเลือกนิรโทษกรรม ‘เท้ง-ณัฐพงษ์’ ร่วมวง ใครคือผู้กำหนด การนิรโทษกรรมประชาชน
วันที่ 21 ก.พ. 2568 เวลา 17.00 - 20.00 น. ที่ห้อง 102 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Thumb Rights จัดกิจกรรม “EXCLUSIVE TALK 1 ปีนิรโทษกรรมประชาชน” ระบุหลังจากผ่านไปกว่า 1 ปี กับการยื่นเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาคดีการเมือง นั้นมีสิ่งใดน่าสนใจ สิ่งใดเปลี่ยนไป สิ่งใดเป็นความหวัง หรือทางเลือกสำหรับการนิรโทษกรรม
โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นรูปแบบ Exclusive Talk มีผู้คนจากหลากหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ และ ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ธี ถิรนัย และ มายด์ ชัยพร นักเคลื่อนไหวแนวร่วมอาชีวะฟันเฟืองประชาธิปไตย และอดีตผู้ต้องขังทางการเมือง, ณธกร นิธิศจรูญเดช จาก Amnesty International Thailand, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาชน และนัสรี พุ่มเกื้อ จาก ThumbRights
พูนสุข พูนสุขเจริญ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ในฐานะที่เป็นรายชื่อแรกสำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในปีที่ผ่านมา ตอนหนึ่งเธอกล่าวว่าเราเสียเวลาไปหนึ่งปี ปีที่แล้วเป็นปีที่มียอดผู้ต้องขังสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อย 11 ราย และ “บุ้ง” เนติพร ได้เสียชีวิตขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
“นิรโทษกรรมอยู่ในวงจรของความขัดแย้ง แต่ถ้ามีการนิรโทษกรรมแล้ว เป็นการลบล้างการกระทำของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 จะยังดำรงอยู่ต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง”
ถึงแม้ว่าวันนี้ขนุนจะประกาศอดอาหาร ธนพรจะป่วยในเรือนจำ แต่เราได้เห็นว่าการซัพพอร์ตจากประชาชนว่ายังไม่ได้หายไปไหน เราจะยังคงสู้ต่อไป
ต่อมาในหัวข้อ ‘สถานการณ์คดีการเมือง’ โดย ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่าแม้จเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลพลเรือนเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีการดำนเินคดีมาตรา 112 อยู่ ซึ่งความที่น่ากังวลในปีที่แล้ว มีการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว มีการดำเนินคดีทางไกลในมาตรา 112-116 ซึ่งเกิดจากการแจ้งความจากกลุ่มปกป้องสถาบันแล้วไม่น้อยกว่า 32 คดี
อีกประเด็นคือคดีมาตรา 112 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้มีความผิด มีแนวโน้มว่าในศาลสูงจะพิพากษายืน และไม่ได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา รวมถึงตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานในการสั่งประกันตัว
“ทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งที่สามารถทำได้เลย คือคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังออกมาต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง และพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อย่างเร่งด่วน” ณัฐฐากล่าว
ต่อมาในหัวข้อ ‘นิรโทษกรรมกับชีวิตของผู้ดำเนินคดีทางการเมือง’ ตอนหนึ่งชัยพรกล่าวขอบคุณทุกกำลังใจ สภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตข้างใน ถ้าขาดกำลังใจจากข้างนอกจะแย่มาก ๆ
“ช่วยเป็นกำลังใจกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในเรือนจำ สิ่งที่ทำให้อยู่ได้จริง ๆ คือกำลังใจจากทุกคน ทำให้ทุกคนมีแรงที่จะสู้ต่อ จนกว่าจะถึงวันที่ไม่มีใครต้องถูกขังในเรือนจำอีก” มายด์กล่าว
“ผมเป็นการ์ด ผมเป็นอาชีวะ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เราเป็นคนไทยและประเทศเป็นของเรา ผมเรียนอาชีวะ แต่ทุกวันนี้ผมมาอ่านหนังสือรัฐศาสตร์แล้วนะครับ” ถิรนัยกล่าวเสริม
‘ความหวังผ่านจดหมาย’ ในหัวข้อนี้ ณธกร นิธิศจรูญเดช มาบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจและพลังสำคัญที่จะทำให้พวกเขามีหวังจนกว่าจะมีอิสรภาพอย่างแท้จริง
“จดหมายเป็นเพียงทรัพย์สินเดียวที่จะทำให้เขามีชีวิตในเรือนจำต่อไปได้..เขาถูกคุมขังเพราะพวกเขากล้าตั้งคำถาม กล้าลุกขึ้นมาพูด ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ มันดีกว่านี้ได้ เพียงแค่คำเล็ก ๆ นั้นสร้างกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้ต้องขังได้
“ปัจจุบันเราได้รับจดหมายมากกว่า 1 หมื่นฉบับ และนอกจากนี้เรากำลังจะทำเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษให้เพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำได้รับจดหมายมากขึ้น” ณธกรกล่าว
ในหัวข้อ ‘ฝ่ายค้านและคดีการเมือง’ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กล่าวว่าในวันนี้ตนมาตัวแทนของภาคการเมือง
ตอนหนึ่งเขากล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่า “หลายพรรคบอกว่าไม่ควรถูกนับรวมเพราะเป็นสถาบันที่สำคัญ แต่เห็นได้ว่าคดี 112 พุ่งสูงขึ้นในการชุมนุมปี 63 เป็นต้นมา หลังพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีประกาศใช้กฎหมายทุกหมวดทุกมาตรา ซึ่งคดีที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจึงเกี่ยวกับการใช้นโยบายของรัฐ”
ส.ส. ไม่กล้าที่จะอภิปรายเพราะกลัวจะโดนคดี นักการเมืองส่วนใหญ่กลัวที่จะใช้อำนาจของตนเอง เพราะกลัวที่จะถูกดำเนินคดีตามมา และสุดท้ายใครเป็นผู้กำหนดอนาคตการนิรโทษกรรมนั้น ตนคิดว่าร่างที่เสนอเข้าไปที่มีคดี 112 อาจจะยากลำบาก แต่สุดท้ายก็เป็นประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชน
และสุดท้าย ในหัวข้อ ‘ทางเลือกอื่น ๆ นอกจากการนิรโทษกรรม ?’ นัสรี พุ่มเกื้อ ได้กล่าวว่าเราเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล (ชูศักดิ์) ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการตอบกลับมา นัสรีจึงชี้แนวทางอื่น ๆ ให้เห็นนอกจากการนิรโทษกรรม นั่นคืออัยการสามารถใช้อำนาจในการไม่สั่งฟ้องคดี หรือศาลใช้ดุลพินิจในการยกฟ้อง การกำหนดนโยบายของรัฐบาลเพื่อการนิรโทษกรรม หรือตรากฎหมายเป็นพระราชกำหนด
สิ่งเหล่าทำให้แก้ไขปัญหาคดีการเมืองได้ โดยยังคงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในสมัยตุลา 2519 แทบจะมีการนิรโทษกรรมทันที แต่ปัจจุบันล่วงเลยมาจะ 20 ปีแล้วที่ยังไม่มีการนิรโทษกรรม ถ้าเราปล่อยปัญหาไว้นานขึ้น ก็จะยากขึ้นในการแก้ปัญหา “เวลาของเราไม่เท่ากัน สำหรับคนที่อยู่ด้านนอกก็ไหลผ่านไป แต่คนที่อยู่ข้างในเขาไม่สามารถเลือกได้เลย” นัสรีกล่าว
นอกจากนี้ บรรยากาศภายในงานยังประกอบไปด้วยบูธกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, iLaw, Freedom Bridge, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิพิธภัณฑ์สามัญชน และ Amnesty International Thailand โดยประชาชนที่มาร่วมงานร่วมเล่นกิจกรรมร่วมฟังการเสวนาจากวิทยากรทั้งเจ็ดคน และรับของรางวัลจากผู้จัดงาน ก่อนที่กิจกรรมจะยุติในเวลา 20.00 น.
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประะชาชน