เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 ช่วงเย็น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเหตุการณ์การประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง สส. และ สว. ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่ม ระบุว่า
ทางออกในการแก้ปัญหาความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่อยู่ที่ “ภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี”
วันนี้ที่ประชุมรัฐสภามี 2 เหตุการณ์สำคัญที่สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจลงมติหรือดำเนินการแตกต่างกัน
1. การตัดสินใจว่ารัฐสภาควรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ (ของพรรคประชาชน และของพรรคเพื่อไทย) ที่จะเปิดทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พรรคประชาชนเราไม่เห็นด้วยกับการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วย 3 เหตุผลหลัก:
1. เราเห็นว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 อยู่แล้ว เพราะหากรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่ได้นำไปสู่การมี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่จะต้องมีการทำประชามติ 1 ครั้ง ก่อน (เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบกับการให้มี สสร. มาจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ตามที่รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่) และอีก 1 ครั้ง หลัง (เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบกับร่าง รธน. ฉบับใหม่ ที่ สสร. จัดทำหรือไม่) รวมกันเป็น 2 ครั้ง อยู่แล้ว
2. เราตั้งคำถามว่าการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือการ “เดินอ้อม” แบบนี้ จะ “ไปถึงเป้าหมาย” หรือได้รับคำตอบที่แตกต่างจากเดิมหรือไม่-อย่างไร เนื่องจากรัฐสภาเคยยื่นเรื่องในลักษณะคล้ายกันไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 2 ครั้ง
- ครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งนำมาสู่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564
- ครั้งที่สองในปี 2567 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าได้วินิจฉัยไปชัดเจนแล้วในปี 2564
3. เราตั้งคำถามว่าแทนที่จะใช้วิธีการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ทางนายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเพื่อไทย (ซึ่งเป็นพรรคที่เคยแสดงจุดยืนว่าการทำประชามติ 2 ครั้งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และได้เสนอร่างเข้ามาในรอบนี้ด้วย) ได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง ในการพูดคุยเพื่อบริหารและคลายข้อกังวลของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยยังให้สัมภาษณ์เมื่อวานอยู่เลยว่า “ยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล.. และไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี”
ในความจริง วันนี้ผมได้รวบรวมข้อมูลที่ผมเคยใช้ในการนำเสนอต่อคณะกรรมการประธานรัฐสภา (เช่น คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) จนนำไปสู่การที่ประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อมาเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาและพยายามคลายข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภา แต่ผมไม่ได้มีโอกาสอภิปรายเหตุผลดังกล่าวเนื่องจากที่ประชุมได้ปิดลงไปก่อน
2. การตัดสินใจว่าในเมื่อยังไม่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาควรเดินหน้าประชุมต่อเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ (ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย) หรือไม่
พรรคประชาชนเราเห็นด้วยกับการเดินหน้าต่อ และไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการตัดจบการประชุมโดยการวอล์คเอาท์หรือการไม่แสดงตนเพราะ 2 เหตุผลหลัก:
1. การเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันเต็มที่ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาใน 2 ด้าน
- 1. เป็นประโยชน์ในการอธิบายกับสังคมถึงหลักการและเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไมเรามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา และคุณภาพชีวิตประชาชนจะดีขึ้นอย่างไรหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการฟังคำตอบ / หากเรามีคำตอบที่ชัดเจนให้กับสังคมได้ ผมเชื่อว่าการสนับสนุนจากสังคมนอกสภาฯ จะเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อการโน้มน้าวสมาชิกในรัฐสภา
- 2. เป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยละเอียด เพื่อร่วมกันอธิบายและคลายข้อกังวลเชิงกฎหมายที่บางฝ่ายอาจมีเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
2. การเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการลงมติทันทีทันใด - หากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันครบถ้วนแล้ว แต่ยังมีบางฝ่ายที่ยังคงมีความกังวลในการลงมติ รัฐสภาก็สามารถหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้ในขั้นตอนดังกล่าว ก่อนที่จะมีการลงมติ
ถอยมามองภาพรวม : ปัญหาความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จะแก้ได้โดยใคร?
แต่หากถอยมามองภาพรวม เหตุการณ์ในรัฐสภาวันนี้ตอกย้ำชัดเจนแล้ว ว่าแม้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา แต่สมาชิกรัฐสภาฝั่งรัฐบาลกลับมีความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย (ในเบื้องหน้า) หรือความเห็นที่อาจแตกต่างกันเกี่ยวกับจุดยืนหรือเจตจำนงทางการเมือง (ในเบื้องลึก)
ผมเห็นว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จ (ไม่ว่าจะนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายด้านอื่นๆ) คำตอบไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี
ผมย้ำอีกรอบว่านายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ หรือเรื่องของพรรคการเมือง ไม่ได้เพราะ:
1. ในเชิงหลักการ ประเทศเราไม่ได้อยู่ในระบบประธานาธิบดีที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแยกขาดจากกันและต่างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ประเทศเราอยู่ในระบบรัฐสภา ที่นายกรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกของสภาฯ อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจจากสภาฯ และต้องรับผิดชอบต่องานในสภาฯของ สส. รัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
2. ในเชิงการผลักดันนโยบายให้ประสบความสำเร็จและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากเราเชื่อว่าโจทย์เรื่องการโน้มน้าวสมาชิกวุฒิสภา เป็นโจทย์เดียวกันกับการโน้มน้าวพรรคร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีคือบุคคลที่จะต้องมี "บทบาท" และ “ความรับผิดชอบ” หลักในการบริหารและฝ่าฟันความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ในฐานะหัวหน้าของรัฐบาลผสม ณ เวลานี้
อย่างน้อยที่สุด ผมหวังว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงพรุ่งนี้เช้า นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างเต็มที่ในการกำชับให้สมาชิกรัฐสภาฝั่งรัฐบาลเข้าร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อเดินหน้าใช้เวทีรัฐสภาในหาทางออกเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ #สภาล่ม