“วิโรจน์” คนแรกเข้ารับทราบข้อหา ป.ป.ช. จากคดี 44 สส.เสนอแก้
ม.112 หวัง ป.ป.ช.เปิดให้ดูพยานหลักฐานก่อนตามสิทธิ
ตั้งข้อสังเกตออกหนังสือเชิญไม่เป็นตามระเบียบ ย้ำไม่กังวล ทำหน้าที่สส.ตามรัฐธรรมนูญถูกต้อง
เปิดเผยโปร่งใส ไม่มี “คลิปลับ” เหมือนคนบางคน
วันที่
21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. จากกรณีที่ ป.ป.ช.
แจ้งข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงต่อ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล
จากกรณีร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าว
โดยวิโรจน์ระบุว่าจากหนังสือเชิญของ
ป.ป.ช. มีเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกต เพราะตามระเบียบ ป.ป.ช.
ก็ระบุเองว่าการออกหนังสือเรียกต้องคำนึงถึงระยะใกล้ไกล
ถิ่นพำนักของผู้ถูกกล่าวหาด้วย แต่คนที่อยู่ห่างไกลบางคนถูกเรียกมาก่อน
บางคนอยู่ใกล้ถูกเรียกมาทีหลัง ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือการเรียกบางคนมาในวันพุธและวันพฤหัสบดี
ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่รู้หรือว่ามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและยังอยู่ในสมัยประชุม
การดำเนินการในเรื่องจริยธรรมกับผู้อื่น
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ดำเนินการก็ควรจะต้องมีจริยธรรมเช่นเดียวกัน
ซึ่งจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดคือการทำตามระเบียบที่ตัวเองตราขึ้นมาอย่างเคร่งครัดและอธิบายกับสังคมได้
สำหรับตนเมื่อได้จดหมายเชิญมาในครั้งนี้
ก็ได้พยายาามเคลียร์นัดหมายต่างๆ
พร้อมทำหนังสือขอตรวจพยานหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหาตนมาด้วย
ในเมื่อทำหนังสือล่วงหน้ามาแล้วและมาตามนัดก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับอนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน
อีกทั้งเมื่อ ป.ป.ช.
พยายามทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีจริยธรรมถูกกระทำเหมือนผู้ถูกกล่าวหาก่อคดีอาญา
ก็เข้าใจว่ากระบวนการต่างๆ ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน ในเมื่อจะทำเช่นนั้นก็ควรเอาหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ด้วย
โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจพยานหลักฐาน
ซึ่งควรจะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆ
ที่ใช้ในการกล่าวหา
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่าที่สำคัญความเป็นธรรมพื้นฐานที่สุดคือเรื่องของระยะเวลา
ป.ป.ช. เองก็ยังใช้เวลาในการไต่สวนข้อมูลต่างๆ เป็นปี
การมาเร่งรัดให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการภายใน 15 วัน
ก็อาจถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความเป็นธรรมได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าเกี่ยวข้องกับการที่
สส.พรรคประชาชนไปยื่นประกันตัวให้ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่
วิโรจน์กล่าวว่าตนยืนยันว่าการเป็น สส.
แล้วไปร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีแตกต่างกันในประเทศนี้เป็นหน้าที่
ทำโดยเปิดเผยสุจริต ตนจึงไม่มีความกังวลอะไร
การประกันตัวเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป
ทุกคนต้องถูกตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
เพียงแต่ สส.
เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
ตนต้องขอดูพยานหลักฐานที่ใช้กล่าวหาก่อน
เพราะยังไม่ทราบว่าพยานหลักฐานมาจากเหตุการณ์อะไรบ้าง แต่ถ้า ป.ป.ช.
ไม่ยอมให้ดูพยานหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหา ประชาชนก็สามารถตั้งข้อสังเกตได้
แล้วเราจะชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไร ที่ผ่านมาทั้งตนและเพื่อน สส. ทั้ง 43 คนทำทุกอย่างอย่างเปิดเผยโปร่งใส
สะท้อนถึงความสุจริตและมีคำอธิบายต่อสังคมมาโดยตลอด
ไม่มีคลิปลับแบบที่ปรากฏในข่าวก่อนหน้านี้ มันก็สะท้อนว่าพวกตนทำอะไรเปิดเผย
โปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรมอยู่แล้ว เป็นไปตามสโลแกน ป.ป.ช. ดังนั้นหลักฐานก็หาง่าย
เราก็ชี้แจงตามข้อเท็จจริงไป ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องลับอยู่แล้ว
“เปิดรัฐธรรมนูญดู เปิดหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดู
ผมคิดว่าการที่เราได้รับอำนาจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง
จะให้เราไม่ทำงานยึดโยงกับประชาชนหรือ
จะไม่ให้เราใส่ใจกับความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนหรือ
เราจะไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของเราโดยชอบที่ได้รับจากประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญจริงๆ
หรือ การยื่นแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ก็เป็นหน้าที่ที่ สส. พึงกระทำได้อยู่แล้ว
ไม่มีอะไรเลยที่เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม” วิโรจน์กล่าว
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #มาตรา12 #ปปช