“ชลธิชา” แนะ อว. เป็นตัวกลางประสานมหาวิทยาลัย - เรือนจำ “ก้อง-อุกฤษฏ์” ต้องได้สอบ หนุนผลักดันทุกมหาลัยรับรองสิทธิการศึกษาคนทุกกลุ่ม
วันนี้ (5 ก.พ. 68) ชลธิชา แจ้งเร็ว โพสข้อความว่า เกด และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน พิจารณาประเด็น "ก้องต้องได้สอบ" เรื่องแนวนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการศึกษาและสิทธิในการสอบของผู้ต้องขังระหว่างอยู่ในเรือนจำ ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กรมราชทัณฑ์ และประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เมื่อวานนี้ (1 วันก่อนประชุม) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงต่อ กมธ.การกฎหมายฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเรียบร้อยของงานพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทางกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆแล้ว ม.รามคำแห่งยังสามารถส่งผู้แทนมาชี้แจงต่อ กมธ.ได้
เกดขอชื่นชมกรมราชทัณฑ์ที่ยืนยันเรื่องสิทธิการศึกษาของผู้ต้องขังทุกๆกลุ่ม และแม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรในการควบคุมดูแลผู้ต้องขังระหว่างคดีออกไปสอบนอกเรือนจำ แต่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดสอบภายในเรือนจำให้กับผู้ต้องขังระหว่างคดี และได้เสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการอนุญาตให้ผู้ต้องขังระหว่างคดีได้สอบในเรือนจำ เช่น การเสนอให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ โดยจัดส่งข้อสอบกลับไปให้มหาวิทยาลัยฯ หรือการให้มหาวิทยาลัยฯเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเองภายในเรือนจำ รวมถึงการเสนอให้มีการจัดสอบผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้มีการจัดสอบทางไปรษณีย์และทางออนไลน์ให้กับนักศึกษามาแล้ว
และอีกบทบาทหนึ่งที่เกดคิดว่ามีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในกรณี "ก้องต้องได้สอบ" คือ บทบาทของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่จะต้องตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่สามารถจัดการสอบในเรือนจำได้ และจะต้องเป็นคนกลาง ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงและเรือนจำ ให้การสอบในเรือนจำของคุณก้อง เป็นไปด้วยความสะดวก เรียบร้อย
นอกจากนั้น เกดยังได้ตั้งข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่จะต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ในการผลักดันให้ทุกๆมหาวิทยาลัยรับรองและส่งเสริมสิทธิการศึกษาแก่ทุกกลุ่มคน รวมไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำให้มากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไม่เพียงแค่กรณีของคุณก้องเท่านั้น เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ถูกจำกัดทางเลือกทางการศึกษาไว้เพียงแค่ไม่กี่มหาวิทยาลัยฯ อย่างเช่นในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
โดยในการประชุมกรรมาธิการฯครั้งถัดไป จะเชิญมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้ามาชี้แจงเหตุผลอีกครั้งค่ะ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธการกฎหมาย #ก้องต้องได้สอบ