นพ.เหวง โตจิราการ : ประวัติศาสตร์บางส่วนของการเคลื่อนไหวปี
2552 ของคนเสื้อแดง
ขอบคุณ
“มติชนสุดสัปดาห์” ที่ได้ตีพิมพ์ “ยุทธการแดงเดือด” ในคอลัมน์ประจำ ของมติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 24-30 มกราคม 2568 เผยแพร่วันพุธที่ 29มกราคม 2568 ที่พาดหัวว่า “เมษา พฤษภา 2553 สลาย “แดง” 13-14 เมษายน 2552
รากฐานปลุก เมษา พฤษภา 2553
เป็นโอกาสที่ผมจะได้นำเสนอข้อมูลจากประสบการณ์ตรงจากการเคลื่อนไหวเมื่อปี
2552 มาประกอบ เพื่อจะได้ช่วยกันตรวจสอบและชำระประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงให้มากที่สุด
ด้วยในระยะนั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่จัดตั้งโดยกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจเมื่อ
19กันยายน 2549 ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีอำนาจมาก
สื่อในระยะนั้นจำนวนหนึ่งก็โน้มเอียงไปทางรัฐบาลอภิสิทธิ์
และนำเอาข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลอภิสิทธิ์มาขยายความเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป
ในสายตาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ย่อมถือว่า
คนเสื้อแดง หรือ นปช. นั้น เป็นฝ่ายทำผิดรัฐธรรมนูญทำผิดกฎหมาย
และต้องหากลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยลงไปให้ได้
ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์นำมาเผยแพร่ย่อมเป็นประโยชน์กับรัฐบาล และเป็นโทษกับฝั่งคนเสื้อแดง
เพื่อให้เข้าใจการเคลื่อนไหวของคนเสื้อโดยย่อ
ผมขอสรุปความสั้น ๆ ดังนี้
รากฐานเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร
19 กันยายน 2549 ทำให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารได้รวมกันอย่างหลวม
ๆ จัดตั้งกันเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น
“แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)”
กรณีปี
2552 เกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2549
นปช.
จึงได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ลาออก จึงเกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ
โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
คุ้มครองไว้
รัฐบาลอภิสิทธิ์และฝ่ายขวาโจมตีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหลายแสนคนอย่างรุนแรง
และพยายามกล่าวหาว่าสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง โดยใช้สื่อของรัฐและสื่อบางสำนักที่สนับสนุนกลุ่มทหารรัฐประหารและนายอภิสิทธิ์
ในสายตาของนายอภิสิทธิ์และสื่อบางสำนัก
คนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับ “โจรผู้ร้ายทำลายแผ่นดิน”
หนังสือบันทึกประเทศไทย
2552-2553
ของ สนพ.มติชน ได้เขียนเอาไว้ว่า
“คนเสื้อแดงดาวกระจายกำลังเคลื่อนไหวตอบโต้กลับหลายจุด เช่น บริเวณทางแยกสามเหลี่ยมดินแดงที่แยกไปถนนราชปรารถ
ซอยรางน้ำ ถนนข้ามแยกดินแดงไปอนุสาวรีย์
ถนนดินแดงฝั่งตรงข้ามโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เป็นต้น”
การดาวกระจายที่เกิดขึ้นนั้นกลุ่มผู้นำการชุมนุมไม่ได้ริเริ่มขึ้นและสั่งการ
อาจจะเป็นการกระทำของผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการสนับสนุนคนเสื้อแดงดำเนินการเอง
และอาจจะมีบางกลุ่มเป็นของพวกขวาที่จัดตั้งมวลชนบางส่วนรอบ
ๆ นั้นทำดาวกระจายและสร้างรุนแรงขึ้นเพื่อโยนบาปให้คนเสื้อแดง
ในช่วงระยะนั้น
พื้นที่โดยรอบจุดชุมนุมของ นปช. มีมวลชนเสื้อเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่เป็นจำนวนมาก
การไปพัทยานั้น
ไม่ใช่ไปเพื่อล้มการประชุมสุดยอดอาเซียน
ซึ่งผมมารับทราบหลังจากมีการเคลื่อนตัวไปแล้วว่า
เป็นการไปเพื่อยื่นหนังสืออธิบายให้ประมุขประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมประชุม ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เกิดจากการจัดตั้งในค่ายทหารของกลุ่มทหารที่รัฐประหารเมื่อ
2549 ไม่ใช่รัฐบาลในครรลองประชาธิปไตย
ในระยะที่เดินทางไปพัทยา
ฝ่ายรัฐก็จัดตั้งกลุ่ม “คนชุดน้ำเงิน” ขึ้น ยืนยันได้จากภาพข่าวจากสื่อหลายสำนัก ที่เห็นคนกลุ่มชุดน้ำเงินแสดงความเคารพแบบผู้ใต้บังคับบัญชาต่อผู้บังคับบัญชาในเหล่าตำรวจและทหารต่อนายทหาร
และนายตำรวจที่ไปสำรวจพื้นที่ที่พวกชุดน้ำเงินรวมตัวกันอยู่
โดยฝ่ายชุดน้ำเงินได้ทำร้ายคนเสื้อแดงจนบาดเจ็บนอนไอซียูในคราวเดินทางไป ภายหลังจากยื่นหนังสืออธิบายที่มาที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กับประมุขประเทศต่าง ๆ เรียบร้อย
ในขณะกำลังเดินทางกลับ
กลุ่มชุดน้ำเงินก็ใช้อาวุธต่าง ๆ รวมทั้งปืน รุมทำร้ายคนเสื้อแดงจนต้องหลบ (หนีตาย)
เข้าไปใน โรงแรมรอยัล คลิฟ บีซ พัทยา
แต่ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์หรือรัฐไทยในภายหลัง
ได้ดำเนินคดีใด ๆ กับ “คนชุดน้ำเงิน” เลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานปรากฏตามสื่อมากมาย
หลังจากนั้น
รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วทั้งกทม.
เหตุการณ์เผายางรถยนต์
เผารถเมล์ ดังที่บันทึกประเทศไทย 2552-2553 ได้กล่าวถึงนั้น
เกิดขึ้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและบริเวณแยกอุรุพงษ์ จากเอกสารของ อุชเชนทร์ เชียงแสน
ที่บันทึกประเทศไทยฯ ได้ระบุไว้
เมื่อมีการประกาศ
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธที่ควบคุมสถานการณ์ทั่วทั้งกทม. ย่อมสามารถที่จะห้ามปราม
หยุดยั้ง จับกุม กลุ่มคนร้ายที่ก่อการเผายางรถและเผารถเมล์ได้
แต่ปรากฏว่า
ไม่มีจุดไหนเลยที่เจ้าหน้ารัฐได้ลงมือกระทำการห้ามปราบ ยับยั้ง จับกุม
คนร้ายที่กระทำการเผายาง เผารถเมล์ดังกล่าว ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างสะดวกสบาย
นี่ย่อมเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า
เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ
ไม่เช่นนั้นก็เป็นการลงมือกระทำการเองของฝ่ายรัฐเพื่อโยนบาปให้คนเสื้อแดง
จะได้เป็นเหตุผลในการเข้าปราบปรามด้วยกำลังอาวุธของรัฐได้
เช่นเดียวกับที่บันทึกฯ
ได้กล่าวถึง การนำรถยูโรมาจอดขวางถนนสวรรคโลกและเตรียมจะเผา แต่ชาวบ้านเกือบ 200 คน
มารวมตัวขับไล่นั้น
ก็ควรที่เจ้าหน้าที่รัฐจะได้ดำเนินการหยุดยั้งตั้งแต่การนำรถยูโรเข้ามาในบริเวณนั้นแล้ว
แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำ กลับมีชาวบ้าน (ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ)
เกือบ 200
คน มารวมตัวขับไล่
การชุมนุมของคนเสื้อแดงต่างจังหวัดนั้น
ย่อมเป็นการยืนยันว่า ประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารนั้นมีอยู่เกือบทั่วทั้งประเทศ
กรณีรถแก๊สที่ดินแดงนั้น
มีสื่อหลายสำนัก
ได้ลงข่าวตรงกันว่า
รถแก๊สดังกล่าวได้เคลื่อนตัวไปจอดหลายสถานที่แต่ที่น่าสังเกตคือ
จุดเริ่มต้นตั้งต้นที่โรงแรมดังแห่งหนึ่งย่านซอยรางน้ำ ที่นักการเมืองดังฟากรัฐบาลอภิสิทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง
และภายหลังรถแก๊สดังกล่าวจึงเคลื่อนตัวมาจอดที่แฟลตดินแดง
ในภายหลังก็มีการตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงว่า
รถแก๊สดังกล่าวและคนขับเป็นของเอกชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับคนเสื้อแดง
ในเรื่องการยุติการเคลื่อนไหวในวันที่
14 เมษายน 2552 นั้น
เหตุการณ์ที่เป็นจริงคือ
เช้ามืดวันที่
14 เมษายน 2552 อาสาสมัครโรงครัวของคนเสื้อแดง
ได้แจ้งให้ อ.ธิดา ทราบว่า
ทหารและพวกนอกเครื่องแบบพร้อมอาวุธสงครามจำนวนมากได้ห้ามไม่ให้อาสาสมัครโรงครัวนำวัตถุดิบเพื่อเตรียมอาหารไ
ม่ว่าจะเป็นผักผลไม้เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงต่าง ๆ เข้าไปในพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมที่จะเข้าไปทำการปราบปรามไม่ต่างกับกรณี
6ตุลา19
อ.ธิดา
ติดต่อผมได้ในเวลาประมาณ 05.00 น. วันที่ 14 เมษายน 2552 และมีความเห็นว่าต้องยุติการชุมนุมเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้
ผมจึงนำเรื่องไปปรึกษาคุณวีระ
มุสิกพงศ์ เมื่อคุณวีระ มุสิกพงศ์ เห็นด้วยแล้ว
ผมแจ้งให้อ.ธิดาทราบ
อ.ธิดา
ได้ประสานงานกับฝ่ายตำรวจ พ.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เพื่อรองรับการยุติการชุมนุม และขอให้นำรถบัสขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อลำเลียงประชาชนให้กลับภูมิลำเนาเดิมของตนเอง
ผมปราศรัยเพื่อชี้แจงให้ประชาชนยอมรับยอมเข้าใจในการยุติการชุมนุม
และขอส่งประชาชนขึ้นรถจนคนสุดท้ายประมาณ 11.00 น. แล้วจึงเดินทางไปมอบตัวที่
กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ดังนั้น
ผม (นพ.เหวง โตจิราการ) จึงไม่ได้ “ถูก” นำตัวมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาลดังที่เขียนไว้ในหนังสือบันทึกประเทศไทย
2552-2553
ในตอนท้ายของบทความฯ
เขียนความต่อเนื่องระหว่างเหตุการณ์ปี 2552 กับเหตุการณ์ 2553 เอาไว้ว่า
“ผลเฉพาะหน้าทั้งที่พัทยาและทั้งที่กรุงเทพมหานคร สามารถยุติสลายการชุมนุม ยุติการเคลื่อนไหวลงได้
แต่ถามต่อไปว่า “จบ” หรือไม่ คำตอบเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอีกครั้งในเดือนเมษายน ต่อเนื่องไปยังเดือนพฤษภาคม
2553 คำตอบจาก “ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”
ต้องเรียนว่า
“คนเสื้อแดง” ต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่อำนาจเป็นของประชาชนแบบอารยประเทศ ปรากฏเป็นจริงในสังคมไทย
แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์
เกิดจากการจัดตั้งในค่ายทหารของกลุ่มพวกยึดอำนาจรัฐประหาร 2549 เมื่อนายอภิสิทธิ์ยังไม่ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
จึงต้องผลักดันให้ประชาธิปไตยแท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้
นปช.
จึงยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องในปี 2553 เพื่อให้นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ “ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” ตามครรลองประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและตามสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมได้โดยสงบและปราศจากการใช้อาวุธ”
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หมอเหวง #คนเสื้อแดง #สงกรานต์เลือด #คนเสื้อแดงปี2552