วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568

"ทนายแจม" นำ กมธ.กฎหมายฯ ถกปม นศ. กลุ่มล้อการเมืองร้องถูกตำรวจติดตาม-ราชทัณฑ์ย้ายผู้ต้องขังการเมืองโดยไม่สมัครใจ จี้หน่วยงานแจงเพิ่ม ส่งหลักฐานตรงไปตรงมา

 


"ทนายแจม" นำ กมธ.กฎหมายฯ ถกปม นศ. กลุ่มล้อการเมืองร้องถูกตำรวจติดตาม-ราชทัณฑ์ย้ายผู้ต้องขังการเมืองโดยไม่สมัครใจ จี้หน่วยงานแจงเพิ่ม ส่งหลักฐานตรงไปตรงมา


วันนี้ (2 เมษายน 2568) นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หนึ่ง โพสข้อความระบุว่า แจมเป็นประธานในการประชุมกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยมีเรื่องในวาระการพิจารณา2เรื่อง คือ (1) เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐกับนักศึกษาในการดำเนินกิจกรรมขบวนล้อการเมือง และ (2) การตรวจสอบการย้ายเรือนจำของผู้ต้องขังโดยไม่สมัครใจและการใช้ความรุนแรงในเรือนจำ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง


เรื่องแรกตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มธรรมศาสคร์ล้อการเมือง ได้นำเสนอข้อร้องเรียนและเหตุการณ์ต่างๆที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค1และตำรวจสันติบาล ติดตามตั้งแต่งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร รวมทั้งในช่วงก่อน,ระหว่าง,และหลังงานฟุตบอลประเพณีฯ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ทำกิจกรรมของนักศึกษา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามนักศึกษาในกลุ่มจากการถ่ายรูป เดินตาม โทรศัพท์มาพูดคุยและไปยังสถานที่พักของนักศึกษา โดยอ้างว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวัง( watch list ) ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าถูกคุกคามและมีความหวั่นกลัวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


ซึ่งตัวแทนจากม.ธรรศาสตร์ได้ชี้แจงที่มาที่ไปของการติดกล้องวงจรปิดในช่วงเวลาพระราชพิธีซึ่งมีการอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และยืนยันว่าทางมหาวิทยาลัยเปิดกว้างและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา ในขณะที่ตัวแทนฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ชี้แจงในเรื่องการดำเนินการดังกล่าวว่าไม่ได้คุกคามนักศึกษาแต่อย่างใด


ทางกรรมาธิการเห็นว่าตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมประชุมไม่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วนจึงมีความเห็นให้ทำหนังสือชี้แจงกรรมาธิการภายใน15วัน ในประเด็นที่ยังเป็นคำถาม (1) กล้องวงจรปิดของNT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) เข้ามาติดตั้งเป็นคำร้องจากหน่วยงานใด ใช้งบประมาณส่วนใด ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกไปนำไปทำอะไรต่อบ้าง (2) เปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวัง (3) ชี้แจงเหตุผลในการติดตามนักศึกษาในที่พักและการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับบุคคลที่ภูมิลำเนาของนักศึกษา


เรื่องที่สอง การย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปยังเรือนจำบางขวาง โดยไม่สมัครใจและทำให้ผู้ต้องขังได้รับความบาดเจ็บ โดยทางเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงว่า เป็นนโยบายในการแยกผู้ต้องขังในคดีที่สิ้นสุดแล้วออกจากระหว่างพิจารณาคดี เพื่อลดความแออัดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ3,500 คน โดยย้ายไปเรือนจำคลองเปรม 400คน เรือนจำบางขวาง500คน


ตัวแทนญาติและทนายความชี้แจงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะกลุ่มผู้ต้องขังทางการเมืองแสดงอารยะขัดขืน เนื่องจากไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่ประสงค์ที่จะย้ายออกเพราะต้องแยกจากเพื่อนและทางรมว.ยุติธรรม เคยยืนยันว่าจะไม่มีการย้าย ทำให้เกิดความชุลมุน ซึ่งเข้าใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการแต่ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วน ซึ่งทำให้ทั้งผู้ต้องขังทางการเมืองรวมทั้งทนายและญาติรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย และประสบปัญหาความยุ่งยากในการเข้าเยี่ยมในช่วงย้ายเรือนจำเนื่องจากต้องทำเรื่องเอกสารใหม่ทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงทางเรือนจำเดิมมีข้อมูลอยู่แล้ว สามารถส่งต่อระหว่างเรือนจำโดยไม่ผลักภาระมาให้ผู้ต้องขังหรือทนายในการยื่นคำร้องเข้าเยี่ยมใหม่


ทางกรรมาธิการมีความเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ควรเปิดเผยกล้องวงจรปิดในช่วงเหตุการณ์ย้ายเรือนจำที่เป็นประเด็นอยู่เพื่อความโปร่งใสและข้อมูลเวชระเบียนของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่สำคัญ และให้ทำเอกสารชี้แจงเพื่อเป็นหลักฐานแก่กรรมาธิการดังนี้ (1) เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ถูกย้าย (2) ขั้นตอนการย้ายและเกณฑ์การพิจารณา (3) การเข้าเยี่ยมและการส่งต่อข้อมูลเอกสาร (4) ภาพจากกล้องวงจรปิดและเวชระเบียน


กลไกของกรรมาธิการในการนำเรื่องร้องเรียนมาพิจารณาจะแก้ไขและคลี่คลายปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ ต้องให้ความสำคัญ ในการส่งผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงเข้าร่วมประชุม แจมเชื่อว่าในทุกๆเรื่องราวที่เป็นข้อร้องเรียน การพูดคุย ชี้แจงและทำความเข้าใจในเหตุผลและหลักฐานจากทุกฝ่ายอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธการกฎหมาย #ล้อการเมือง #ผู้ต้องขังทางการเมือง