วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2568

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” เรียกร้องให้คงเป็นวาระ “เร่งด่วน” พิจารณาทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุมหน้า 3 กรกฎาคมนี้

 


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” เรียกร้องให้คงเป็นวาระ “เร่งด่วน” พิจารณาทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุมหน้า 3 กรกฎาคมนี้


วันที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา ฝั่งทางเข้า-ออก ประตูสส. มีการจัดงาน “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน หลังสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งสี่ฉบับ ซึ่งรวมไปถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอด้วยภาคประชาชน กลุ่มเครือข่ายนิรโทษกรรมและประชาชนร่วมจับตาสถานการณ์และผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม พร้อมจัดกิจกรรมเสวนา


แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (9 เมษายน 2568) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอญัตติด่วนเพื่อถกเถียงเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวม 10 ญัตติ จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าที่ประชุมสภาจะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับภายในวาระการประชุมสมัยนี้หรือไม่ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้แถลงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกฉบับหนึ่ง เพื่อพิจารณาประกบกับร่างของพรรคการเมืองและภาคประชาชน และให้สภาคงวาระกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นวาระ “เร่งด่วน” พิจารณาทันทีหลังเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568


สำหรับบรรยากาศกิจกรรมที่บริเวณฝั่งลานประชาชนมีนักกิจกรรม ประชาชน สื่อมวลชน ทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรมในช่วงเย็นของวันนี้โดยมีบูธกิจกรรมจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ ต่อมาในเวลาประมาณ 16.15 น. มีตัวแทนจากเครือข่ายนิรโทษกรรม ประกอบด้วย พูนสุข พูนสุขเจริญ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, เบนจา อะปัญ และธนพัฒน์ หรือปูน ร่วมอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ในรัฐสภาว่าวาระการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมจะไม่ถูกนำมาพิจารณาในวันนี้ ย้ำว่าเวลาของคนที่อยู่ในเรือนจำที่สูญเสียอิสรภาพไปนั้นมีค่ามาก และทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาในเดือนกรกฎาคมยังจะต้องเป็นเรื่องด่วนเช่นเดิม จึงขอนัดประชาชนไว้ล่วงหน้าให้มาร่วมส่งกำลังใจและผลักดันกฎหมาย


ต่อมามีการอธิบายภาพรวมสถานการณ์จากแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนสู่การพิจารณากฎหมายในสภา โดยมี เฝาซี ล่าเต๊ะ ตัวแทนจาก Amnesty International Thailand กล่าวโดยสรุปว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนทำกิจกรรมแคมเปญรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อที่จะสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเรียกร้องให้ทุกคดีที่เกิดจากการแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมควรรวมถึงคดีมาตรา 112 ได้รับนิรโทษกรรม ขอเรียกร้องให้สภารับฟังเสียงประชาชนและอย่าเมินเฉยข้อเรียกร้อง “นิรโทษกรรมประชาชน สะสางอดีต คลี่คลายปัจจุบัน รับประกันอนาคตเสรีภาพ” เฝาซีกล่าว


ในวงเสวนาแรกในเรื่อง “ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 3 คน คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน, ถิรนัย หรือ ธี และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ โดยมีผู้ดำเนินรายการคืออชิรญา บุญตา หรือจุ๊บจิ๊บ โดยได้ชวนผู้ร่วมเสวนาพูดคุยถึงแรงจูงใจในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ชีวิตหลังออกมาเคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดีในช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่จตุภัทร์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในช่วงปี 2557 จากการแชร์โพสต์ข่าว BBC จนถึงทานตะวันและถิรนัยที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563 


อีกทั้งยังมีการพูดคุยถึงการใช้ชีวิตในเรือนจำที่พวกเขาเคยถูกคุมขัง ด้านทานตะวันชวนประชาชนร่วมติดตามเรื่องราวของเพื่อนในเรือนจำทุกคนที่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก และมีการพูดคุยถึงชีวิตและความฝันของผู้ร่วมเสวนา รวมถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวในอนาคตของแต่ละคน  


ต่อด้วยวงเสวนาเรื่อง “ชีวิตของผู้ต้องขัง” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 3 คน คือ ภราดร เกตุเผือก หรือลุงดร สื่ออิสระบน Youtube ธีรภพ เต็งประวัติ หรือไม้โมก ตัวแทนจากกลุ่ม Thumb Rights และตัวแทนจาก Freedom Bridge โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ อานนท์ ชวาลาวัลย์ มาพูดคุยถึงเรื่องราวของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้งในด้านของสื่ออิสระที่เข้ามามีบทบาทนำเสนอเรื่องราว รวมไปถึงการเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ หรือด้านธีรภพที่เป็นผู้ส่งจดหมายพูดคุยกับเหล่าผู้ต้องขังทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา


ส่วนตัวแทนจาก Freedom Bridge ได้เล่าถึงการทำงานที่ปัจจุบันมีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้ามาให้ความดูแลผู้ต้องขัง รวมถึงครอบครัวของผู้ต้องขัง 48 คน และร่วมส่งเสียงแทนผู้ต้องขังถึงความหวังที่จะได้ประกันตัวและเรียกร้อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน


และกิจกรรม “ฟังเสียงคนที่อยากให้เกิดนิรโทษกรรม” จากคนหลากหลายกลุ่มที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาร่วมพูดเรื่องเกี่ยวข้องกับนิรโทษกรรมประชาชน โดยเริ่มต้นจาก อัครชัย ชัยมณีการเกษ มาชวนคุยว่าสังคมโลกมองอย่างไรต่อประเด็นการนิรโทษกรรมประชาชนและสถานการณ์ด้านสิทธิในประเทศไทย 


ต่อด้วยสุรพศ ทวีศักดิ์ หรือนักปรัชญาชายขอบ มาพูดถึงประเด็นการพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของอานนท์ นำภา และชวนถกคิดข้อดีและข้อเสียจากการนิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์คือสถาบันกษัตริย์, รัฐสภา, พรรคการเมือง, สถาบันตุลาการ ส่วนสิ่งที่จะสูญเสียไปคือโซ่ตรวนความเป็นเผด็จการล้าหลัง กลายเป็นประเทศอารยะ 


จากนั้นมี ธนพร วิจันทร์ หรือไหม พูดยืนยันว่าประชาชนยังต้องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองรวมคดีมาตรา 112 ด้วย และถามไปถึงทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าเคยแสดงความจริงใจใดถึงการนิรโทษกรรมประชาชนบ้าง และคดีชุมนุมในปี 2564 เพิ่งถูกนำมาฟ้องนั้นเรียกว่าเป็นการนิรโทษกรรมอย่างไร และถ้ารัฐสภาไม่ทำหน้าที่กฎหมายของประชาชนแล้วจะไปทำหน้าที่ใด ทำไมถึงไม่นำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าวาระแรกของสภา


ตัวแทนกลุ่มไฟรามทุ่ง กล่าวย้ำว่าผู้ต้องขัง 48 คนไม่ใช่จำนวนที่น้อยและพวกเขาต้องได้ออกจากเรือนจำ และทวงการนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ใช้เสรีภาพอย่างสุจริต ด้านสมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าว่าตนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่อีกสองคดี ซึ่งถ้าหากมีการตัดสินคดีแล้วก็อาจต้องเข้าเรือนจำในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ ด้านพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงว่าจะขอความเมตตาต่อศาลให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน วันนี้นิรโทษกรรมประชาชนยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปได้ ซึ่งเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ทำในสิ่งที่เคยพูดไว้ ย้ำว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 


ยังมีตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พูดว่าสถานการณ์ที่ผ่านมามีคนถูกดำเนินคดีมากมาย และปัจจุบันยังมีคนถูกดำเนินคดีอยู่ กลุ่มล้อการเมืองก็ยังถูกคุกคามแม้จะเป็นการทำงานศิลปะ อยากให้สังคมช่วยสื่อสารให้มีนิรโทษกรรมประชาชน คืนเสรีภาพทางความคิด ปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ ส่งเสียงถึงพรรคเพื่อไทยจริงจังในการปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นจริง เริ่มด้วยจากการนิรโทษกรรมประชาชน


โชคดี ร่วมพฤกษ์ หรืออาเล็ก เล่าว่าตนไปร่วมชุมนุมทุกที่เพื่อเป็นหนึ่งในจำนวนนับ และเรื่องนิรโทษกรรมเป็นความหวังที่ริบหรี่ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ ตนฝากชีวิตไว้กับประชาชน ฝากติดตามช่อง Youtube ซึ่งได้แต่งไว้หลายร้อยเพลง มีทุกสถานการณ์ และเพลงสุดท้ายที่ทำไว้คือเพลงนิรโทษกรรมต้องรวม 112


หลังจากนั้นมี สส.พรรคประชาชน โดยมี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม, พุธิตา ชัยอนันต์ ​ และ พนิดา มงคลสวัสดิ์ ร่วมพูดคุยกับประชาชนถึงสถานการณ์ในรัฐสภา และให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะผลักดันอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าวันนี้ยังไม่สำเร็จ แต่วันต่อไปจะผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างคดีมาตรา 112 ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยังจำได้ถึงเจตนาในการเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร จึงให้ประชาชนมั่นใจว่าจะสู้เต็มที่ 


สุดท้ายเครือข่ายนิรโทษกรรมร่วมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องส่งเสียงถึงรัฐสภา และเชิญชวนประชาชนไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการผูกริบบิ้นสีขาวที่บริเวณประตูฝั่ง สส. จากนั้นปิดท้ายกิจกรรมด้วยการแสดงดนตรีจากวงสามัญชน และยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 20.00 น. 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน