15 ปี ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม” คปช.53 รำลึกเหตุการณ์ 10 เมษา 53 สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง “อ.ธิดา” ย้ำคนเสื้อแดงต่อสู้กับเผด็จการ ไม่ใช่สู้เพื่อใคร ลั่น "งานนี้เราไม่ร่วมกับการหมุนกงล้อทวนประวัติศาสตร์" พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชน-คณะก้าวหน้า องค์กรประชาธิปไตย -แนวร่วมเยาวชน ร่วมวางพวงหรีดคารวะ
วันที่ 10 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 19.15 น. บริเวณด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว มีกิจกรรมงานรำลึกวีรชนคนเสื้อแดง “รำลึก 15 ปี เมษา-พฤษภา 53” โดยคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 หรือ คปช. 53 นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ เพื่อเรียกร้องนิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย หลังครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ถูกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสี่แยกคอกวัว จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับความยุติธรรม
วันนี้เมื่อเวลา 12.00 น. ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีจัดแสดงนิทรรศการภาพประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุม 2553 และการขับเคลื่อนทวงความยุติธรรมของ คปช. 53 ภายในงานมีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม และบริเวณจำหน่ายหนังสือ
โดยประชาชน และมวลชนคนเสื้อแดง รวมถึงนักกิจกรรมร่วมทยอยเดินทางมาร่วมงาน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน, ชัยธวัช ตุลาธน กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน, เอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพ พรรคประชาชน, ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพ พรรคประชาชน, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพ พรรคประชาชน, พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน และ พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน และพรรณิการ์ วานิช หรือช่อ, ชัยธวัช ตุลาธน จากคณะก้าวหน้า เดินทางมาร่วมงาน
ต่อมาในเวลา 15.00 น. จึงเริ่มพิธีสงฆ์ และถวายสังฆทานพระสงฆ์ 4 รูป จากนั้นในเวลา 15.30 น. มีพิธีวางพวงหรีดและวางช่อดอกไม้ โดยมีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มาร่วมวางพวงหรีดรำลึก อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ, ธิดา ถาวรเศรษฐ์, ญาติวีรชนเมษา-พฤษภา 53, UDD News, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาชน, คณะก้าวหน้า, ศิลปินเพลงไพร่-ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร, คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.), แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มทะลุศาล, กลุ่มทะลุแก๊ส เป็นต้น
ต่อมามี “แป๊ะ บางสนาน” ศิลปินเพลงคนเสื้อแดง ร่วมแสดงดนตรีสด เพลงกราบหัวใจ ในเวลา 16.00 น. มีการกล่าวสาส์นและคำปราศรัยในวาระ 15 ปี เมษา-พฤษภา 2553 โดยตัวแทนจากพรรคการเมือง, คปช. 53, เยาวชน และองค์กรแนวร่วมกลุ่มต่าง ๆ กล่าวเรียกร้องขอคืนความยุติธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมา 15 ปีแล้ว อย่าให้คนผิดได้ลอยนวล
อ.ธิดา กล่าวตอนหนึ่งว่า สำหรับการจัดกิจกรรมปีนี้มีเกิดการแบ่งเป็น 2 เวที ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ของพวกเรา ซึ่งเจตนารมย์ของวีรชนในการต่อสู้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อใครคนเดียว แต่ต่อสู้กับเผด็จการทหารที่มาทำร้ายประชาชน ซึ่งเราเคารพหัวใจของทุกคนว่าทุกคนเป็นสหายร่วมศึก ซึ่งเวลานั้นบางคนอาจเป็นกองเชียร์พรรคการเมือง หรือบางคนอาจเป็นนักต่อสู้อิสระก็ตาม แต่การต่อสู้นั้นเป็นการต่อสู้กับเผด็จการที่ใช้อาวุธเพื่อทำร้ายประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย สำหรับคำนิยามของเราคือ‘นิรโทษกรรมคนเป็น และทวงความยุติธรรมให้คนตาย’ ทั้งนี้เราไม่ได้ทวงคืนให้เฉพาะคนปี 53 แต่เราทวงคืนให้กับทุกคน ฉะนั้นเราอยากสงสารไปยังพรรคเพื่อไทยเรายังถือพวกคุณมิตรสหายศึกในอดีต แต่ทุกครั้งที่คุณเป็นรัฐบาลสิ่งที่คุณต้องการคือเป็นรัฐบาลยาวนาน แต่กลับยังไม่เข้าใจสังคมไทยดีเพียงพอ และยังไม่เข้าใจว่าในประเทศไทย ความขัดแย้งหลัก คือ ความขัดแย้งกับระบอบเก่า จารีต อานาจนิยมอำนาจ ที่ขัดแย้งกับประชาชน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือนายทักษิณกับใคร ซึ่งต้องตีความตรงนี้ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้อุดมการณ์ของเราชัดเจน คือ เราจะไม่ร่วมกับคนหรือผู้ที่หมุนทวนกงล้อประวัติศาสตร์ คนที่หมุนทวนที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มจารีตอำนาจนิยมเพื่อต่ออำนาจให้เกิดวงจรอุบาทว์ เพื่อสามารถจัดการกับประเทศไทย จึงถือเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้ของประชาชน ดังนั้นเวทีนี้มีหลักการและมีนิยามตามที่ตนได้บอก นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่เราต้องทำในวันนี้ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติยศของวีรชนและคนเสื้อแดง ไม่ให้มีการบิดเบือนว่าคนเหล่านี้ทำเพื่อพรรคการเมือง หรือเพื่อคนๆ เดียว โดยเราจะปกป้องทุกเขาทุกการต่อสู้ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา 19 หรือ พฤษภา 35 เพื่อให้คนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่ เห็นเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ไม่ใช่ว่าเป็นยุคของคนเสื้อแดง หรือเป็นยุคของเป็นพลพรรคทางการเมือง
เวลา 18.00 น. ประชาชนร่วมกันจุดเทียนสีแดงและวางดอกไม้ อ่านรายชื่อวีรชนประชาธิปไตยที่เสียชีวิตลงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จากนั้นจึงอ่านบทกลอนรำลึก และเล่นดนตรีส่งท้ายกิจกรรมด้วย “หนวด ริมทาง” ร้องเพลงรำลึกถึงวีรชน ก่อนยุติกิจกรรมลงในเวลาประมาณ 19.15 น.