วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568

สส.พรรคประชาชน ยื่นหนังสือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอการดูแลเยียวยาแรงงานจากเหตุการณ์ตึกถล่ม

 


สส.พรรคประชาชน ยื่นหนังสือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอการดูแลเยียวยาแรงงานจากเหตุการณ์ตึกถล่ม


วันนี้ (9 เม.ย. 68) เวลา 8.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, เซีย จำปาทอง, สหัสวัต คุ้มคง และ วรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคประชาชน ยื่นหนังสือเรื่องข้อเสนอการดูแลเยียวยาแรงงานจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีรายละเอียดดังนี่


จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งแรงสะเทือนถึงหลายจังหวัดของประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบริเวณเขตจตุจักรพังถล่ม มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหายติดอยู่ใต้ซากตึกถล่มจำนวนมาก ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน ผู้สูญหายอยู่ระหว่างค้นหา จำนวน 83 คน แบ่งเป็น แรงงานไทย 55 คน แรงงานข้ามชาติ 28 คน ประกอบด้วย เมียนมา 24 คน กัมพูชา 3 คน และ ลาว 1 คน


โดยพบว่าผู้รับเหมาในการก่อสร้างตึกดังกล่าวคือ


กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีการจ้างงานในรูปแบบเหมาช่วง (Subcontractor) อีกกว่า 20 บริษัท ส่งผลให้การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานเพื่อประเมินความเสียหายทำได้ไม่สมบูรณ์ เช่น รายชื่อของลูกจ้างทั้งหมดกับรายชื่อลูกจ้างที่มีการนำส่งประกันสังคม


จากกรณีดังกล่าว พรรคประชาชนมีข้อกังวลในประเด็นแรงงานดังนี้


1. การชดเชยเยียวยาลูกจ้างทั้งหมดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ผู้รับเหมาในการก่อสร้าง

และรัฐบาล ไม่ให้เกิดการปฏิเสธความรับผิดชอบ


2. การตรวจสอบตัวตนและทายาทของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน หากไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว จะทำให้การพิสูจน์ตัวตนทำได้ยากขึ้น


3. การเข้าถึงสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยการหยุดงานของผู้บาดเจ็บ ต้องตรวจสอบเพื่อนำสืบสิทธิตามกฎหมาย


4. การเข้าถึงการชดเชย เยียวยา ของแรงงานที่นายจ้างไม่ได้นำเข้าระบบประกันสังคม


5. การเข้าถึงการชดเชย เยียวยา ของแรงงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการทางเอกสาร และรอสิทธิประกันสังคม


6. การเข้าถึงข้อมูลและความช่วยเหลือของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ มักเผชิญปัญหาด้านการติดต่อและการสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ


7. เอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่สูญหายและไม่สามารถดำเนินการต่ออายุได้ในระหว่างที่มีกระบวนการต่ออายุเอกสาร


จากข้อกังวลข้างต้น พรรคประชาชนโดย ข้าพเจ้า นายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคประชาชน สัดส่วนเครือข่ายแรงงาน ในฐานะผู้ติดตามภารกิจการเยียวยาจากภาครัฐจากเหตุการณ์ตึกถล่ม และ นายสหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต จังหวัดชลบุรี จึงมีข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อให้ดำเนินการดูแลเยียวยาแรงงานโดยไม่ล่าช้า ดังนี้


1. ขอความร่วมมือให้บริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง ส่งรายชื่อผู้รับเหมาช่วงและลูกจ้างทั้งหมด พร้อมหลักฐานการนำส่งสำนักงานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาต่อไป


2. พิจารณากำหนดมาตรการให้สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พิจารณานำเงินในกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมาใช้ในการชดเชยเยียวยาให้ลูกจ้างและทายาททั้งหมด โดยไม่มีการแยกลูกจ้างในกองทุนหรือนอกกองทุน และให้ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างที่ไม่นำส่งประกันสังคมต่อไป


3. กำหนดมาตรการการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในการเยียวยาและให้ความรับผิดชอบ ในการชดเชย โดยให้นายจ้างชั้นต้น (บริษัทที่รับเหมาหลัก) ร่วมรับผิดชอบในค่าชดเชยร่วมกับผู้รับเหมารายย่อย


4. อำนวยความสะดวกในการพิสูจน์ตัวตนและทายาทในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยให้มีจุดประสานงานที่ชัดเจน เพื่อทำงานตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างครอบคลุม


5. ประสานงานตั้งจุดประชาสัมพันธ์และตั้งเบอร์โทรกลาง ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์ตัวตนทายาทอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทายาทของทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด รวมถึงจัดหาล่ามและจัดทำเอกสารข้อมูลที่เป็นภาษาของแรงงาน ระบุขั้นตอนที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ประสานงานกับสถานทูตของประเทศต้นทางอย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ


6. มีมาตรการผ่อนผันด้านเอกสารแรงงานในระหว่างที่มีการดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนสำหรับลูกจ้างในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างตึกดังกล่าว เพื่อจัดเก็บข้อมูลและอนุญาตให้นายจ้างสามารถส่งเงินสมทบประกันสังคมย้อนหลังเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิในการเยียวยา อาจจะเปิดขึ้นทะเบียนในสถานการณ์ภัยพิบัติ จากการประกาศเขตภัยพิบัติ งดเว้นค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจให้นายจ้างนำแรงงานมาขึ้นทะเบียน ต้องตั้งเป้าเยียวยาทุกคนเป็นหลัก เรื่องการจ้างแรงงานผิดกฎหมายเป็นเรื่องหลังจากนี้


7. มีกระบวนการตรวจสอบการจ่ายค่าจ้างที่ลูกจ้างได้ทำงานมาแล้ว เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสไม่

จ่ายค่าจ้าง


8. ประสานงานและตรวจสอบลักษณะการจ้างงานของลูกจ้างในบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเยียวยาแรงงาน


9. พิจารณานำเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องมาช่วยเยียวยาครอบครัวและแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเร่งด่วน


10. กำหนดแนวทางตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และพิจารณาออกแนวทางในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานในกิจการก่อสร้าง


พรรคประชาชนขอร่วมส่งกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เราพร้อมสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ และหวังว่ารัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจะพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้ ทำให้พี่น้องแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบ เข้าถึงสิทธิและการเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการจะขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

(นายเซีย จำปาทอง)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และ

รองเลขาธิการพรรคประชาชน สัดส่วนเครือข่ายแรงงาน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #กระทรวงแรงงาน #ตึกถล่ม