“เชตวัน-พริษฐ์” สังเกตการณ์เกณฑ์ทหารปทุมธานี ย้ำจุดยืนพรรคประชาชนยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ไม่กระทบความมั่นคงประเทศ-เยาวชนมีเสรีภาพเลือกอาชีพ ยื่นกฎหมายแล้ว ลุ้นคิวพิจารณาสมัยประชุมหน้า
วันที่ 5 เมษายน 2568 เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ร่วมสังเกตการณ์การตรวจคัดเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ ปี 2568 ที่สำนักงานเทศบาลตำบลลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
เชตวัน กล่าวว่า ภาพรวมทั้งประเทศปีนี้ กระทรวงกลาโหมรับคนเข้าเป็นกำลังพลทั้งสิ้นกว่า 80,000 อัตรา ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมมีโครงการพลทหารออนไลน์ มีคนสมัครใจเข้ามากว่า 15,000 อัตรา ถือว่าสูงขึ้นทุกปี เมื่อรวมกับผู้ที่ร้องขอในวันตรวจคัดเลือกแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 25,000 คน จะทำให้ยอดกำลังพลที่กองทัพต้องการ ที่จะต้องมีการจับใบดำใบแดง ปีนี้เหลือประมาณ 44,000 คน
วันนี้เป็นการตรวจคัดเลือกของประชาชนใน ต.คูคต และ ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา กำลังพลที่กองทัพต้องการคือ 71 คน มีผู้สมัครเข้าไปแล้วกว่า 40 คน ถือว่าค่อนข้างสูง เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการเพิ่มสวัสดิการของกำลังพลให้ดีขึ้น การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในค่าย วันปล่อย-วันกลับ อาหารที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้มีคนสมัครใจเข้ามาเป็นทหารมากขึ้นและอนาคตของการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจะเกิดขึ้นได้จริง โดยวันนี้ตนได้พบผู้อำนวยการที่ดูแลการตรวจคัดเลือก ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดเลือก เช่น กำลังพลแบบไหนที่ต้องการ การใช้ทหารทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่ง กมธ.ทหาร จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณากันต่อ
ด้าน พริษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ของพรรคประชาชน จุดยืนของพรรคประชาชนย้อนไปตั้งแต่พรรคก้าวไกล เราเห็นว่าควรยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยกเลิกกองทัพ เรายังเห็นความจำเป็นของการมีอยู่ของกองทัพ แต่มองว่ากองทัพควรจะประกอบไปด้วยคนที่สมัครใจเข้ามาทำหน้าที่ทหารเท่านั้น โดยเฉพาะในยามที่ไม่ได้มีภัยสงคราม และข้อเสนอยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารไม่ได้บีบให้เราต้องเลือกระหว่างเสรีภาพของเยาวชนในการประกอบอาชีพกับความมั่นคงของประเทศ เพราะการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจะสามารถคืนเสรีภาพแก่เยาวชนและรักษาความมั่นคงของประเทศควบคู่กันไปได้
เหตุผลหลักที่เสนอให้ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารมี 3 ข้อ (1) ตราบใดที่ยังมีคนถูกบังคับไปเป็นทหารทั้งที่ไม่ได้อยากเป็นนั้น จะมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ที่ต้องใช้เวลาไปทำอาชีพที่ตัวเองไม่ได้สนใจ บางครั้งรายได้น้อยกว่าที่เคยได้ ต้องอยู่ห่างครอบครัว ส่วนราคาที่ต้องจ่ายในระดับประเทศ พอประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้สัดส่วนคนวัยทำงานลดลง การดึงทรัพยากรวัยทำงานออกไปทำงานที่อาจไม่ได้อยากทำ เป็นการดึงมูลค่าทางเศรษฐกิจบางส่วนออกจากระบบด้วยเช่นกัน
(2) เรามองว่าสามารถยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารได้โดยไม่กระทบความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องทำ 2 อย่าง หนึ่งคือทบทวนยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปี มีส่วนไหนที่ปรับลดได้หรือไม่ เช่น การมีพลทหารรับใช้ ที่ความจริงแล้วผิดระเบียบ ถ้ากำจัดตรงนี้ได้ จะทำให้ยอดที่กองทัพขอลดลงมา แต่อีกอย่างที่สำคัญเช่นกันคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของพลทหารเพื่อเพิ่มยอดสมัคร ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย ความก้าวหน้าทางอาชีพ สวัสดิการ และ (3) ถ้ายกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารได้ ทำให้กองทัพมีแต่คนที่สมัครใจเข้ามา จะเป็นแรงกระตุ้นให้กองทัพต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้นกับปัญหาความรุนแรงในค่าย เพราะกองทัพจะรู้ดีว่าถ้าไม่เอาจริงเอาจัง ยอดสมัครอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่ต้องการ
ข้อเสนอเหล่านี้เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย คนที่อยากเป็นทหารก็ได้เข้ามาเป็นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดีขึ้น คนที่ไม่อยากเป็นทหารก็สามารถเลือกเดินตามความฝันของตัวเองได้ กองทัพก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการได้กำลังพลที่เต็มใจเข้ามาปฎิบัติหน้าที่
พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า พรรคประชาชนไม่ได้แค่พูดข้อเสนอเท่านั้น แต่เสนอร่างกฎหมายแล้วด้วย เรายื่นฉบับแรกตั้งแต่สัปดาห์แรกที่สภาฯ เปิดคือเดือนสิงหาคม 2566 แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยเป็นร่างการเงิน นายกฯ เศรษฐา ทวีสินในเวลานั้น ปฏิเสธไม่ให้ร่างดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ เราจึงปรับปรุงเป็นร่างที่ไม่ใช่ร่างการเงินยื่นเข้าไปอีกรอบเมื่อต้นปี 2567 ตอนนี้อยู่ในคิวระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ต้องรอลุ้นว่าสมัยประชุมหน้าจะถึงคิวหรือไม่ และถ้ามีร่างของคณะมนตรีเข้ามาประกบ ทุกอย่างจะไปได้เร็วขึ้น