แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี
ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา
วันนี้
(วันที่ 3 เมษายน 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ระบุว่า
รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ
ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก
ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง
ๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์
มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง
ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายในงาน
Liberation
Day เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 04.00 น. (เวลาไทย)
ได้ประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำร้อยละ 10
ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ
ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff
Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บ
โดยแต่ละประเทศจะถูกปรับในอัตราที่แตกต่างกันในอัตราหารครึ่งจากอัตราที่สหรัฐฯ
คำนวณว่าสินค้าของสหรัฐฯ ถูกจัดเก็บจากประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ
กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ร้อยละ 36 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน
2568 เป็นต้นไป
การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ
ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ
ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว
ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว
ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้
และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ
เป็นตลาดหลัก
รัฐบาลขอเรียนว่า
ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก
เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด
โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6
มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ
อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม
“ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ
มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน
ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน
และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้
ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะสร้างเสถียรภาพและสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ
ในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุน (Friend Shoring) ที่ทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเอื้อซึ่งกันและกัน
เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก อาทิ ในภาคเกษตร-อาหาร ที่สหรัฐฯ
มีสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ไทยสามารถนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปตลาดโลก
และในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk
Drive ที่สำคัญของโลก
และอุปกรณ์ดังกล่าวก็จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Data Center และ AI ของสหรัฐฯ
สุดท้ายนี้
รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์
จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว
ประเทศไทยยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตรและมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตลาดโลก
ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อท้ายที่สุด
จะช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ
ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกฯแพทองธาร #สหรัฐอเมริกา #ภาษีนำเข้า