ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชนเสนอรัฐบาลรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ
ทิ้งไพ่ทีละใบ คิดถึงผู้เสียประโยชน์ ระวังสินค้าจีนทะลักรอบใหม่
วันที่
3 เมษายน 2568 ที่อาคารรัฐสภา
ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคประชาชนนำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรค
ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่อกรณีนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา
ศิริกัญญากล่าวถึงนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ
ที่ประกาศล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ว่าจะตอบโต้ไทยด้วยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากไทยอีก
36% เป้าประสงค์ในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนหน้าที่เพียงต้องการลดการขาดดุล
แต่ครั้งนี้ต้องการรายได้เข้ารัฐเพื่อทดแทนภาษีเงินได้ที่กำลังจะประกาศลด
และต้องการให้นักลงทุนย้ายฐานกลับสหรัฐอเมริกา
สำหรับผลกระทบต่อจีดีพีไทยในปี
2568 ศิริกัญญาเห็นว่า ขึ้นอยู่กับผลของการเจรจา
จึงขอให้รัฐบาลใช้การเจรจาอย่างเร่งด่วนและรัดกุม
เพราะหากไม่ทำอะไรเลยหรือการเจรจาไม่เป็นผล จะกระทบกับมูลค่าส่งออกรวมมากกว่า 1%
ทำให้จีดีพีอาจหดตัวมากกว่า 1% จนต่ำกว่าเป้า 2%
ได้
หากสามารถเจรจาลดภาษีลงมาได้เหลือ
25% จีดีพีจะลดลง 0.8% แต่ถ้าสามารถเจรจาลดภาษีลงมาได้ที่ขั้นต่ำสุดที่ทรัมป์ประกาศ
10% จีดีพีจะลดลงราว 0.3% สำหรับกลุ่มสินค้าคาดว่า
สินค้าที่จะได้รับผลกระทบหนักคืออุปกรณ์สื่อสาร ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยางล้อ
เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี มิใช่เพียงภาคส่งออกเท่านั้น
แต่การลงทุนของบริษัทต่างๆ ก็จะหยุดชะงักด้วย
เพื่อรอให้ฝุ่นหายตลบถึงจะตัดสินใจลงทุนกันครั้งใหม่
ศิริกัญญาเสนอต่อไปยังรัฐบาล
และคณะทำงานผู้ทำหน้าที่เจรจาที่เพิ่งตั้งขึ้นว่า ต้องเรียกร้องให้มีการทบทวน
โดยนำตัวเลขอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ยังไม่นำมาคำนวณ เช่น ดุลบริการ ที่สหรัฐฯ
ได้ดุลกับไทยอยู่แล้ว
ด้านวีระยุทธ
กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน เสนอให้แยกผลกระทบออกเป็น 2 ส่วน
คือ ผลทางตรง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก คือ คอมพิวเตอร์
อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ กลุ่มนี้จะได้รับผลรุนแรงรวดเร็ว
เพราะเราส่งออกไปสหรัฐฯ รวมแล้ว 55,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 19%
ของการส่งออกทั้งหมด และเกินดุลกับสหรัฐฯ ถึง 45,600 ล้านเหรียญ แม้การขยายตัวของการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปีนี้ค่อนข้างดี
เพราะบริษัทส่วนใหญ่เร่งส่งออกสินค้าไปสต็อกไว้ที่สหรัฐฯ ก่อน
หนีความไม่แน่นอนของนโยบายกำแพงภาษี ของจริงจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป
ผลกระทบอีกด้านที่วีระยุทธเห็นว่าอย่าละเลย
คือ ผลกระทบทางอ้อม 3
ชั้น ที่ไม่ควรมองข้าม ชั้นที่ 1 สินค้าที่ส่งไปยังประเทศที่ถูกสหรัฐฯ
ขึ้นภาษี เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปเม็กซิโก เพื่อประกอบส่งเข้าสหรัฐฯ
อีกทีก็มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ชั้นที่สอง
การแข่งขันรุนแรงขึ้นในตลาดประเทศอื่นๆ จากการที่ผู้ส่งออกหนีจากตลาดสหรัฐฯ เช่น
ในตลาดประเทศออสเตรเลีย ก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เข้ามาชิงส่วนแบ่งของไทย
ชั้นที่สาม คือ สินค้าขั้นกลางอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก
ที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อเข้าตลาดสหรัฐฯ ยอดตรงนี้ก็จะตกลงไปด้วย
วีระยุทธ
เสนอแนวทางการรับมือเฉพาะหน้าว่าไทยต้องเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ “อย่าให้ทีเดียวหมด
เก็บไพ่ในมือไว้ปล่อยทีละใบ” ตัวอย่างไพ่ใบสำคัญที่ไทยอาจนำมาเป็นกลยุทธ์ต่อรองได้
คือ
มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
(Non-Tariff
Barriers) ที่ไทยมีอยู่ 166 มาตรการ
ต้องเอามาจัดลำดับความสำคัญ ว่าแต่ละตัวหากเปิดให้สหรัฐฯ
แล้วจะส่งผลต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคไทยอย่างไร
เลือกทำเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ก่อน เช่น เพิ่มสิทธิแรงงาน
จากนั้นเปิดรับการนำเข้าแบบ “มียุทธศาสตร์” คือ เลือกสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลาย
ทั้งนี้
วีระยุทธย้ำว่า รัฐบาลต้องเปิดข้อมูลผู้ได้ผู้เสียจากของที่จะเอาไปต่อรอง
อย่ามุบมิบเจรจา
อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการเปิดเสรีกับจีนที่ผู้เสียประโยชน์ไม่รู้ตัวและไม่ได้รับความช่วยเหลือให้เตรียมพร้อมรับมือ
และเหนืออื่นใด คือต้องเริ่มจินตนาการถึง “โลกที่ไม่มีอเมริกาและจีน”
ว่าไทยจะปรับซัพพลายเชนแต่ละสินค้าอย่างไร
เพื่อรับมือภาวะสงครามการค้าที่จะหนักขึ้นเรื่อยๆ
ด้านสิทธิพล
วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ
แนะนำให้พร้อมรับมือการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่จะรุนแรงขึ้นอีก
หลายเรื่องรัฐบาลพูดมานานอยู่ในแผนที่จะทำ แต่ยังไม่มีกำหนดเสร็จชัดเจน เช่น
การกำกับแพลตฟอร์ม การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนรับผิดชอบหากปล่อยให้มีการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์ม
การเพิ่มจำนวนมาตรฐานบังคับเพื่อขยายความคุ้มครองประเภทสินค้าให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและเจ้าหน้าที่สามารถยึดอายัดได้
สิทธิพลกล่าวว่า เรื่องเหล่านี้รัฐบาลพูดมาตั้งแต่กันยายนปี 2567 แต่ยังไม่มีการออกมาตรการมาบังคับใช้
เช่น เรื่องการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามคือเรื่องนี้เมื่อไหร่จะเสร็จ ตราบใดที่ยังไม่เสร็จ รัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับควบคุมมาตรฐาน
คุณภาพสินค้า การตรวจสอบภาษี ตลอดจนการลงโทษหากผู้ประกอบการต่างชาติกระทำผิด
เรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้า
วันนี้มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการจำนวนมาก ว่าถูกสินค้าจากต่างชาติทุ่มตลาด
หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด กระทั่งได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นธรรม
ซึ่งภายใต้กระบวนการปัจจุบัน ภาคเอกชน
ผู้ประกอบการประสบความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐาน
เพื่อดำเนินการเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง รัฐจะสามารถช่วยเหลือ
อำนวยความสะดวกมากกว่านี้ได้อย่างไร เช่นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน
ในเรื่องมาตรฐานบังคับ
ผ่านมาครึ่งปี ที่อยู่ในลิสต์ว่าจะออกมาตรฐานก็มีจำนวนเท่าเดิม
จำนวนที่เพิ่มและมีผลบังคับใช้แล้วมีเพียง 1-2 มาตรฐาน ความเร็วในอัตรานี้
ไม่เพียงพอต่อการกำกับสินค้าต่างชาติ นอกจากนี้ยังควรเร่งรัด
คือการตรวจจับที่ด่านศุลกากรให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
เพราะเป็นด่านแรกของการที่สินค้าเหล่านี้เข้ามาในประเทศ
แม้รัฐบาลจะบอกว่าปัจจุบันตรวจสอบหรือสกรีนเพิ่มขึ้นแล้ว บางช่องทางถึงขนาดบอกสกรีน
100% แต่การที่สินค้าเหล่านี้ยังรอด
แสดงให้เห็นว่าการตรวจยังมีช่องโหว่
ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชนปิดท้ายว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
พร้อมเสนอญัตติด่วนเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหา
รวมถึงใช้กลไกกรรมาธิการและการสื่อสารสาธารณะในการเสนอแนะรัฐบาล
เพราะสงครามการค้ามีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต