วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2568

"นันทนา" ขอสมาชิกสว. ควรชะลอ "ลงมติเห็นชอบตุลาการศาล รธน." ออกไปก่อน จนกว่าปัญหา ที่มา"สว." จะสิ้นสงสัย หวั่นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นโมฆะ

 


"นันทนา" ขอสมาชิกสว. ควรชะลอ "ลงมติเห็นชอบตุลาการศาล รธน." ออกไปก่อน จนกว่าปัญหา ที่มา"สว." จะสิ้นสงสัย หวั่นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นโมฆะ


วันที่ 14 มีนาคม 2568 เวลา 10.55 น.ที่รัฐสภา นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิก วุฒิสภา และนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบทบาทของ สว.ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กำลังตรวจสอบควรเป็นอย่างไรนั้น


โดยนางสาวนันทนา กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่ว่างลง ซึ่งในกระบวนการที่จะลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบนั้น ยังเป็นที่กังขาของสาธารณชนโดยทั่วไป เพราะขณะนี้การตรวจสอบที่มาของ สว.ทั้งหมด อยู่ในมือของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ซึ่งประชาชนก็ยังสงสัยการได้มาซึ่ง สว. ทั้งหลาย


ดังนั้น หากจะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้น มีอายุ วาระ 7 ปี ถ้า สว.ที่ไปลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากบุคคลนั้นเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว เมื่อการตรวจสอบมีปัญหา ว่าไม่สุจริต ก็จะทำให้ผู้ที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติ และถ้าคนที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติแล้วไปลงมติเห็นชอบให้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น เป็นโมฆะ และจะเป็นผลกระทบระยะยาว


ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดชะลอการลงมติเห็นชอบองค์กรอิสระในวันที่ 18 มี.ค.นี้ไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตรวจสอบจนสิ้นสงสัย ว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว. นั้นสุจริตโปร่งใส แล้วค่อยมาทำหน้าที่ลงมติกันต่อ


ด้านนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ด้วยข้อห่วงใย 3 ประการ คือ 1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันพ้นจากวาระไปแล้ว 2 ท่าน ยังคงเหลืออยู่ 7 ท่าน ซึ่ง 7 ท่านนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน 2.สว. กลุ่มดังกล่าวจะอ้างว่าตนเองยังบริสุทธิ์อยู่ แต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้ไม่มีความสง่างาม 3.กลุ่ม สว.ได้แถลงข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง และแสดงตนว่าอยู่ขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล แปลว่าองค์กรอิสระที่ สว. คัดเลือกมา ก็อาจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริต หรือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือไม่


"ผมได้ไปยื่นเรื่องที่ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนกรณี สว. ใช้เวทีวุฒิสภาเอาผิดรมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 2 ท่านก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่หลังจากที่ สว. กลุ่มดังกล่าวไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิดรมว.ยุติธรรมและอธิบดีดีเอสไอ ต่อมาเพียงวันเดียว ป.ป.ช. ก็รับคำร้องไว้แล้ว"นายภัทรพงศ์ กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตุลาการศาลรธน #ทนายอั๋น #สวพันธ์ใหม่