เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องพิจารณาสิทธิการประกันตัว ผู้ต้องขังคดี ม.112 อย่างเป็นธรรมและเร่งด่วน
เพื่อรักษาหลักการความยุติธรรมของระบบตุลาการ โดย 24 มี.ค.
จะไปยื่นกรมราชทัณฑ์ต่อไป
เมื่อวันที่
21 มีนาคม 2568 เวลา 10.30 น.
ที่หน้าสำนักงานประธานศาลฎีกา กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ สหภาพคนทำงาน กลุ่มแอคยังคลับ ร่วมยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา
เพื่อ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความทางการเมือง โดยมีตัวแทนสำนักงานประธานศาลฎีกา
เป็นผู้รับเรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากิจกรรมดังกล่าว
ผู้เข้าร่วมประมาณ 15
คน ได้จัดการปราศรัยและถือป้ายข้อความเรียกร้องสิทธิการประกันตัว
รวมถึงนักกิจกรรมรายหนึ่งได้นำโซ่ตรวนมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย
ด้านเข็มหมุด
นักกิจกรรมกลุ่ม 24
มิถุนา ประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ว่า
สืบเนื่องจากความขัดแย้งในการเมืองไทยที่ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษจนนำมาสู่การฟ้องร้องกันกลายเป็นคดีความทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งมีการตั้งข้อกล่าวหาด้วยลักษณะที่ละเอียดอ่อนและมีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ
ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาทางการเมือง
ซึ่งจำเลยจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี
ส่งผลให้เกิดการสูญเสียเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการประกันตัว
เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยยึดหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ซึ่งถูกระบุไว้ใน ข้อที่ 11
ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UDHR), ข้อที่ 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(ICCPR), มาตรา 107 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
และมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
แต่กับจำเลยคดีความทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีมาตรา 112
กลับถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวอย่างต่อเนื่องและถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด
ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยร่วมเป็นภาคีอยู่
และขัดต่อหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่บังคับใช้ในรัฐไทยเสียเอง
มาตรา
112 กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการและระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีลักษณะของตัวบทกฎหมายที่กว้างขวางเกินไปและคลุมเครือ
ขาดการนิยามที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่เกินขอบเขต
และมักถูกใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ประเด็นดังกล่าวได้รับการยืนยันผ่านรายงานและข้อเสนอแนะจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากลหลายองค์กร
อาทิ องค์กร Amnesty
International องค์กร Human Rights Watch สหประชาชาติ
และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้กฎหมายลักษณะนี้ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลและเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย
ในขณะนี้
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และ อาย กันต์ฤทัย ผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 กำลังอดอาหารเพื่อประท้วง
เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว
หลังไม่ได้สิทธิในการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ถึงแม้จะมีเหตุผลยืนยันว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและจะปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตามที่ศาลเห็นสมควรอย่างเคร่งครัด
สถานการณ์ของพวกเขาแสดงถึงความเร่งด่วนในการพิจารณาให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังคดีการเมือง
และยังเป็นการรักษาหลักการความยุติธรรมของระบบตุลาการ
ด้วยเหตุนี้พวกเราเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
จึงอยากนำเรียนประธานศาลฎีกา ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว
โปรดพิจารณาใช้ดุลพินิจตามหลักการของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ออกคำสั่งให้สิทธิในการประกันตัวแก่จำเลยในคดีทางการเมือง
รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างเป็นธรรมและเร่งด่วน
โดยยึดหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงโทษล่วงหน้าก่อนที่จะมีการพิพากษาถึงที่สุด
อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
เพราะหนึ่งวันที่ยังไม่ดำเนินการ คือหนึ่งวันที่พวกเขาเสียสิทธิเสรีภาพ
ต่อมานายสมยศ
พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น.
ทางกลุ่มนักกิจกรรมจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์
เพื่อสอบถามถึงประเด็นการย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองไปเรือนจำกลางบางขวาง
และจากนั้นจะไปยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อไป
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน