วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ล้อมวงคุย “ความทรงจำสีแดง : The Red's Diaries” พิพิธภัณฑ์สามัญชน ชวนแป๊ะ บางสนาน ติ๋ม คนเสื้อแดงอุดร - ลัดดา คนเสื้อแดงกรุงเทพฯ หวนทบทวนเรื่องราวชีวิตบนถนนการต่อสู้ วาระ 15 ปี เมษา-พฤษภา 53 ในงาน นิทรรศการ “เสื้อตัวนี้สีแดง : Red’s objects dialogue”

 


ล้อมวงคุย “ความทรงจำสีแดง : The Red's Diaries” พิพิธภัณฑ์สามัญชน ชวนแป๊ะ บางสนาน ติ๋ม คนเสื้อแดงอุดร - ลัดดา คนเสื้อแดงกรุงเทพฯ หวนทบทวนเรื่องราวชีวิตบนถนนการต่อสู้ วาระ 15 ปี เมษา-พฤษภา 53 ในงาน นิทรรศการ “เสื้อตัวนี้สีแดง : Red’s objects dialogue” 


วันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ KINJAI CONTEMPORARY มีงานเปิดนิทรรศการ “เสื้อตัวนี้สีแดง : Red’s objects dialogue” แสดงของสะสมแวดล้อม "คนเสื้อแดง” ของพิพิธภัณฑ์สามัญชน ในวาระเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 จะเวียนมาครบ 15 ปี ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยในงานเปิดนิทรรศการวันนี้นำโดยวงสนทนา “ความทรงจำสีแดง” ที่จะพาย้อนความทรงจำของศิลปินและประชาชนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดง และกิจกรรม “ชิ้นนี้สีแดง” ทัวร์สิ่งของที่นำมาจัดแสดงในงาน 


โดยนิทรรศการนี้ มีคอนเซปท์ให้ผู้ชมนิทรรศการมาร่วมกันเติมเต็มเรื่องราว ผ่านคำบอกเล่าถึงวัตถุที่มานำจัดแสดงด้วย ‘การ์ดข้อมูลสิ่งของวัตถุ’ และ ‘การ์ดเรื่องเล่า’ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ความทรงจำ ความคิดเห็น หรือความรู้สึกต่อวัตถุชิ้นนั้น 


เวลา 18.00 น. เริ่มต้นด้วยวงสนทนาเรื่อง “ความทรงจำสีแดง : The Red's Diaries” พาทบทวนถึงเรื่องราวของคนเสื้อแดงในมิติต่าง ๆ โดยมีผู้ร่วมสนทนาโดย วาสนา เคนหล้า (อดีตคนเสื้อแดงอุดรธานี), พิทาน ทรงกัมพล หรือ “แป๊ะ บางสนาน” (ศิลปินเจ้าของบทเพลง 'รักคนเสื้อแดง') และ ‘ลัดดา ไม่โอเค' (อดีตคนเสื้อแดงกรุงเทพ) โดยมี อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน เป็นผู้ดำเนินรายการ วงสนทนาสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้


เริ่มจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดง โดยพิทานเล่าว่าตนเก็บสะสมความรู้สึกจากที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกร้องก่อนหน้า จนเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 ตนเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากเห็นว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญ จนมาแต่งเพลงควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหว


โดยก่อนที่ตนจะแต่งเพลง ‘รักคนเสื้อแดง’ ก็เริ่มจากฟังเพลงจากรุ่นพี่ ตนอยากแต่งเพลงให้ฉีกออกไป บ่งบอกความเป็นคนเสื้อแดงว่ามีตัวตนอย่างไร และทำให้มันสนุก เขาเปรียบว่าเพลงเป็นเหมือนน้ำซุป ส่วนคำปราศรัยเป็นเหมือนบะหมี่หรือลูกชิ้น การมีเพลงก็จะทำให้บรรยากาศการชุมนุมสนุกขึ้น 


พิทานใช้เวลาแต่งเพลงนี้ 3 วัน และเพลงนี้ถูกร้องครั้งแรกในการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 26 มีนาคม 2552 เวลาประมาณตีสองกว่า ๆ ผู้ชุมนุมลุกขึ้นมาเต้น ตนก็ดีใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน พี่น้องได้ผ่อนคลายหลังตากแดดกันมาทั้งวัน จนถึงวันนี้ เพลงรักคนเสื้อแดง ก็กลายเป็นเพลงประจำตัวของตนไปแล้ว 


ด้านวาสนา เล่าว่าก่อนหน้านี้ตนไปทำงานที่เกาหลีใต้มา 14 ปี โดยไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อน พอกลับมาก็ถูกพาเห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรก พอกลับบ้าน (อุดรธานี) ชาวบ้านก็พาไปรู้จักกลุ่มคนต่าง ๆ และสิ่งที่บ้านเกิดพัฒนาไปในช่วงที่ตนไม่อยู่ จากนั้นตนเริ่มเข้ามาประสานงานพาชาวบ้านลงมาชุมนุมที่กรุงเทพ ซึ่งที่จังหวัดอุดรธานีมีชมรมคนรักอุดรที่เข้มแข็งมาก และ ส.ส. ในพื้นที่ก็มาจากพรรคเพื่อไทยทั้งหมด จึงมีความรู้สึกผูกพันและศรัทธากัน 


ส่วนลัดดา เล่าว่า สมัยพรรคไทยรักไทยมีการให้ธนาคารปล่อยกู้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ตอนนั้นตนทำธุรกิจ รู้สึกว่าเขาทำดี ให้โอกาสคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ทำไมถึงต้องถูกรัฐประหาร ตนเข้าร่วมเป็นผู้ชุมนุม และจะคอยช่วยเหลือเวลาที่เวทีชุมนุมต้องการสิ่งใด เช่น ถ้าขอหมวกกันน็อค ก็จะหามาให้ และนอกจากนั้นตนก็เคยไปการชุมนุมที่ต่างจังหวัดด้วย อย่างการชุมนุมที่เขาใหญ่ จำได้ว่าคนเสื้อแดงเยอะมากจนพื้นที่ไม่พอ เวทีปราศรัยก็มีทั้งดนตรีและร้องเพลง ทานข้าว กางเต็นท์นอนกัน


เมื่อผู้ดำเนินรายการถามเกี่ยวกับการชุมนุมที่ประทับใจ ลัดดาเล่าว่าเขาชอบการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ เพราะชอบความมุ่งมั่นของทุกคนที่ไม่ยอมแพ้ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งวาสนาประทับใจการชุมนุมนั้นเช่นกัน และเสริมว่าที่หนี่งเป็นการชุมนุมเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ไปตลาดไท เพราะประทับใจในความสามัคคี ตนมาจากต่างจังหวัด คนที่มากับตนก็มีคนอายุมาก แต่เราไปไหนเขาก็จะไปด้วย


ส่วนพิทาน ประทับใจที่ได้ร้องเพลงที่เวทีจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นคนเยอะมากและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ส่วนอีกที่หนึ่งคือเวทีที่ราชประสงค์ 


หากกล่าวถึงสิ่งของที่มีความผูกพัน วาสนานึกถึงปฏิทินปีใหม่ (ปรากฏรูปทักษิณและยิ่งลักษณ์) ทำให้ตนมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านทั้งเช้าบ่ายเย็น อีกอย่างหนึ่งคือขันสีแดง ต่างถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคง เป็นเหตุให้ขึ้นปฏิทินหน้าหนึ่งของสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนลัดดากล่าวถึงของสะสมที่เกี่ยวกับยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และเสื้อรูป ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ซึ่งไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ตนไม่อยากให้คนลืมท่าน 


และเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ผู้ดำเนินรายการชวนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยพิทานกล่าวว่า “นอกจากพี่น้องที่สูญเสีย ยังมีพี่น้องที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก เราอยากเห็นพี่น้องกลับมาอย่างสง่างามและปลอดภัย ส่วนพี่น้องที่เสียชีวิตไปก็อยากเรียงร้องความยุติธรรมให้กับพวกเขาด้วย”


ต่อมาวาสนากล่าวว่า “มันจุกในความรู้สึกว่าหลาย ๆ คนที่เคยร่วมเดินมาด้วยกัน อย่างไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือ “ดา” ดารุณี กฤตบุญญาลัย คนที่ตาย คนที่ติดคุกก็ยังไม่ได้ออกมา เหมือนเด็กในทุกวันนี้ที่ติดคุกเรื่องการเมือง ก็อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนที่ตายไปได้เห็นว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว”


และสุดท้าย ลัดดากล่าวว่า “อยากให้ประชาชนทุกคน เอาผลประโยชน์พวกเราเป็นที่ตั้ง แล้วอย่ามาแบ่งสีเสื้อกันเลย ถ้าคุณชอบพรรคไหนก็ไปตรวจสอบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” โดยอานนท์กล่าวทิ้งท้ายเชิญชวนให้มาร่วมงานนิทรรศการ และในวันที่ 10 เมษายน 2568 จะมีการจัดกิจกรรมรำลึก ในส่วนของรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป 


ต่อมาในเวลา 19.10 น. มีกิจกรรมนำทัวร์ “ชิ้นนี้สีแดง” โดย นภัสสร บุญรีย์ หรือ “ป้านก” ผู้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในผู้บริจาคข้าวของหลากหลายชิ้นให้กับพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้นำชมย้อนดูที่มาที่ไปของข้าวของที่นำมาแสดงในงานนี้ และเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้สิ่งของเหล่านี้ 


มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวเพื่อทำความรู้จักคนเสื้อแดง ผ่านนิทรรศการ “เสื้อตัวนี้สีแดง” 


ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม - 10 เมษายน 2568 

ที่ KINJAI CONTEMPORARY (mrt สิรินธร ทางออก 1)

เวลาเปิดทำการ วันอังคาร - วันอาทิตย์ 11.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนเสื้อแดง