“ณัฐพงษ์” ชี้รัฐสภาไม่ยอมเดินหน้าแก้ รธน.-ส่งศาลตีความไม่ใช่เหตุผลข้อกฎหมายแต่เป็นเหตุผลทางการเมืองจากพรรคร่วมไม่ลงรอย-เอาต้นทุนส่วนตัวมาเหนือต้นทุนประเทศ เสียดายโอกาสประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย
วันที่ 17 มีนาคม 2568 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งมีการพิจารณาญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) จากกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนการประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อครั้งก่อนไม่ได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และมีการเสนอญัตติดังกล่าวขึ้น
โดยหลังจากที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากสมาชิกทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคประชาชน โดยระบุว่าวันนี้ตนต้องถามสมาชิกถึงเหตุและผลที่ต้องมาเถียงกันในวันนี้ ถามจริงว่าที่เราเห็นต่างในวันนี้เป็นเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางข้อกฎหมายกันแน่
เพราะถ้าเป็นเหตุทางการเมืองแต่ใช้ข้ออ้างทางข้อกฎหมายมาบังหน้า อย่างไรเราก็จะไม่ได้คำตอบ วันนี้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลจะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ ว่าที่ยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไม่ได้เพราะเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องการเมืองที่สมาชิกบางส่วนไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองให้แก้ แก้แล้วจะเสียอำนาจลงไปหรือไม่ นี่ต่างหากที่เป็นเหตุขัดข้องให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไม่ได้
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าถ้าวันนี้รัฐสภามุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรมนูญให้ประชาชน ลงมติไม่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันนี้ให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทันที ต่อให้ในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยออกมาว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก็แค่รีเซ็ตกระบวนการทำประชามติใหม่ ไม่มีอะไรช้าไปกว่าเดิม ไม่มีอะไรเสีย เว้นแต่ต้นทุนที่ท่านจะยอมแลกไม่ใช่ต้นทุนของประเทศ แต่เป็นต้นทุนของตัวเอง สมาชิกหลายส่วนกลัวว่าถ้ากระบวนการล้มไปจะมีใครไปฟ้องร้องว่าสมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจโดยมิชอบ นี่คือการตัดสินใจที่ไม่ได้เอาต้นทุนของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาต้นทุนของตัวเองเป็นตัวตั้ง
วันนี้เป็นสัปดาห์ท้ายของสมัยประชุมนี้ ที่ผ่านมาเมื่อปี 2567 ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาราว 1 เดือนก่อนที่จะวินิจฉัยว่าไม่รับพิจารณา กรณีที่ดีที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร็วหรือไม่รับวินิจฉัย ก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งไม่ทันปิดสมัยประชุมนี้แน่นอน การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 อย่างน้อยต้องรออีก 4 เดือน เท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือต้นทุนของประเทศที่จะเสียไป
“ผมจึงขอตั้งคำถามว่าเหตุผลเบื้องหลังคือเหตุผลการเมืองหรือเหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้เอามาบังหน้า และต้นทุนที่ท่านใช้พิจารณาในการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ท่านพิจารณาบนต้นทุนของประชาชน ประเทศ หรือต้นทุนของตัวเองเป็นตัวตั้ง ท่านอาจบอกว่าต้องการคลี่คลายสถานการณ์ปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่าง แต่ท่านคิดจริงหรือว่าถ้าท่านปลดล็อกเงื่อนไขนี้แล้วเขาจะไม่มีเงื่อนไขต่อไปมาอ้างขัดขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ทั้งที่มาของ สส. สว. องค์กรอิสระ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้มีความสมดุล ขจัดปัญหากระบวนการนิติสงคราม การรับรองสิทธิต่างๆ ให้ประชาชน รวมถึงการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ มรดก คสช. ที่แช่แข็งประเทศไทยอยู่ทุกวันนี้
ตั้งแต่ความขัดแย้งในการรัฐประหาร 2549 เกือบ 20 ปีที่ประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง สูญเสียความภาคภูมิใจในชาติไปทีละเล็กทีละน้อย สมัยหนึ่งเราเคยรู้สึกว่าประเทศนี้มีเศรษฐกิจดี เป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ดูดีในสายตาชาวโลกและนักลงทุน แต่ทุกวันนี้เรายังหลงเหลือความภาคภูมิใจในชาติเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ที่ผ่านมาเราค่อยๆ ถูกความขัดแย้งทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกัดกร่อนความภาคภูมิใจไปทีละเล็กละน้อย สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้ววันนี้เราจะยอมสูญเสียต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ต่อไปอีกหรือ
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่าสำหรับตน ประเทศไทยที่จะมีความภาคภูมิใจในชาติต้องคือประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คุ้มครองแรงงาน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่สะอาด มีต้นทุนมนุษย์สูง มีการกระจายอำนาจ มีการพัฒนาเมือง นี่คือความภาคภูมิใจในชาติใหม่ของตนในยุคเปลี่ยนผ่านประเทศนี้ แต่นี่คือต้นทุนที่เราต้องเสียไปจากการหยุดเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้กับประเทศ ที่คอยรับประกันสิทธิหลายอย่าง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศ
“ขอให้วันนี้สมาชิกทุกท่านถอยกลับมาที่เหตุผล ถ้าเป็นเหตุผลทางการเมืองก็รบกวนไปคุยกันให้จบ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงบทบาทผู้นำในการควบคุมเสียงรัฐบาลให้ได้ แล้วเราจะสามารถเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้” ณัฐพงษ์กล่าว