ศูนย์ทนายฯ เผย ศาลยกคำร้องขอประกัน ‘ขนุน’ สิรภพ เป็นครั้งที่ 16 ระบุเกรงหลบหนี-ราชทัณฑ์ดูแลรักษาได้ ด้านขนุนเข้ากระบวนการ Refeeding แล้ว เพื่อรักษาภาวะขาดสารอาหาร
วันนี้ 19 มี.ค. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อเสิทธิมนุษยชน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ อีกครั้ง หลังถูกคุมขังในคดี #มาตรา112 ระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 กรณีปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อปี 2563 ก่อนหน้านี้ ขนุนตัดสินใจอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2568 โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1. สร้างอิสรภาพที่ถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองโดยไร้เงื่อนไข 2. ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ในทางการเมือง
หลังทนายความยื่นประกันตัวขนุนเป็นครั้งที่ 16 ไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง ลงวันที่ 17 มี.ค. 2568 ระบุโดยสรุปว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วย กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เขาตัดสินใจเริ่มเข้ากระบวนการ Refeeding โดยเริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่ ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 มี.ค.) เพื่อรักษาภาวะขาดสารอาหาร ภาวะโพแทสเซียมที่ต่ำมาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงไปราว 9 กิโลกรัม
จนถึงวันนี้ (19 มี.ค.) “ขนุน” สิรภพ ถูกคุมขังมาแล้ว 360 วัน และปัจจุบันเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ จากการประท้วงอดอาหารที่ยาวนาน 24 วัน
ยื่นขอประกันคดี 112 “ขนุน” สิรภพ อีกครั้งหลังอดอาหารเกือบหนึ่งเดือน ศาลมีคำสั่งยกคำร้องอีกครั้ง
ระหว่างที่ขนุนอดอาหารประท้วง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวไปหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2568 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุ "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยในระหว่างอุทธรณ์ อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง
“ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"
ต่อมาหลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวดังกล่าวต่อศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดิม
ทนายความยื่นประกันตัวขนุนอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2568 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 16 แล้ว โดยคำร้องขอประกันตัว มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งศาลมีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้ว คดีของจำเลยมีประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
คดีของจำเลยยังไม่ถึงที่สุด จึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 จนถึงวันที่ยื่นคำร้องฉบับนี้ เป็นเวลากว่า 357 วันแล้ว
จำเลยประสงค์เรียกร้องเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมยึดมั่นในหลักนิติธรรม และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับจำเลยทุกคนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี จึงได้ทำการอดอาหารระหว่างที่ถูกคุงขังในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2568 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การแสดงเจตนารมณ์ของจำเลยส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างมาก จนทำให้ต้องถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการอดอาหารที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จำเลยยังคงอดอาหารอย่างต่อเนื่องจนร่างกายซูบผอมลง ผิวซีดขึ้น ใบหน้าตอบและมีสีเหลืองซีด บริเวณฝ่ามือมีเส้นเลือดสีดำเป็นกลุ่มใต้ฝ่ามือทั้งสองข้างอย่างชัดเจน บริเวณใต้เล็บทั้งสิบนิ้งเริ่มมีดวงสีม่วงคล้ำกระจายขึ้นมาจากโคนเล็บ บริเวณหน้าอกมีผื่นสีแดงขึ้น จนเมื่อ 14 มี.ค. 2568 จำเลยถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าจำเลยมีค่าโพแทสเซียมอยู่ที่ 3.1 ซึ่งถ้าหากมีค่าต่ำกว่าสาม จะอยู่ในเกณฑ์อันตราย
ผู้ร้องเชื่อว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะอดอาหารเพื่อเป็นเครื่องต่อรองหรือเพื่อประโยชน์อื่นใดในทางคดีของตนมากกว่าผู้ที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาคนอื่น ๆ แต่ทำไปเพื่อต้องการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของตนเองอย่างแรงกล้า เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี และการแสดงออกเช่นนี้มิใช่เรื่องใหม่ในสังคม ผู้ที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายในเรื่องสิทธิประกันตัวหลายราย ได้ใช้วิธีอดอาหาร เช่น ทานตะวัน, “ใบปอ” และรวมถึง “บุ้ง” เนติพร จนส่งผลต่อร่างกาย และกรณีของบุ้งยังเสียชีวิตในเรือนจำในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
อีกทั้งศาลนี้เคยมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างสอบสวนและชั้นพิจารณา ซึ่งจำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไข และไม่เคยถูกเพิกถอนการผล่อยชั่วคราวเลยสักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วจะไปก่อภยันตรายหรือจะหลบหนีแต่อย่างใด
หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นในการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามกฎหมาย จำเลยยินดีปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง ลงวันที่ 17 มี.ค. 2568 โดยระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
ขณะนี้ตัดสินใจเข้ารับการรักษา Refeeding รับอาหารเหลวอ่อน – ยุติการอดอาหาร
หลังจากทนายความเข้าเยี่ยมขนุนเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ทราบว่าหลังจากที่เขาถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เขาตัดสินใจเริ่มเข้ากระบวนการ Refeeding โดยเริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่ ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 มี.ค.) เพื่อรักษาภาวะขาดสารอาหาร ภาวะโพแทสเซียมที่ต่ำมาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงไปราว 9 กิโลกรัม ในส่วนของรายละเอียดอื่น ๆ จะรายงานให้ทราบต่อไป
จนถึงวันนี้ (19 มี.ค.) “ขนุน” สิรภพ ถูกคุมขังมาแล้ว 360 วัน และปัจจุบันเขายังคงเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ จากการประท้วงอดอาหารยาว 24 วัน