ธิดา ถาวรเศรษฐ : ความในใจของอดีตประธาน
นปช. (1 ธ.ค. 2553 – 15 มี.ค. 2557)
ใกล้วาระครบรอบ 15 ปี
เหตุการณ์เมษา-พฤษภา’53
เหตุการณ์หฤโหดที่สุดที่มีการใช้กำลังทหาร 67,000 นาย ตำรวจ 25,000 นาย กองทัพใช้งบประมาณกว่า
3,000 ล้านบาท กระสุนจริงเบิกมา 6 แสนนัด ใช้จริงไปเกือบ 2 แสนนัด ใช้พลซุ่มยิง ปืนซุ่มยิงดัดแปลงใช้
4,842 นัด กระสุนสไนเปอร์ 500 นัด ฝ่ายทหารเองเรียกเหตุการณ์นี้ว่า
“สงครามกลางเมือง” ไม่ใช่ “การจลาจล” แล้วตั้งข้อหาแกนนำที่มอบตัวเป็น
“ผู้ก่อการร้าย” (ยิ่งกว่าผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้) มีคนเสียชีวิตร่วม 100 ศพ
ทหารเสียชีวิต 10 นาย และบาดเจ็บพันกว่าคน ถูกจับพันกว่าคน
นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ประชาชนที่ร่วมยุคสมัยและทั้งปัจจุบันและอนาคตต้องจดจำในฐานะประวัติศาสตร์ของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย
ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหดยิ่งกว่ายุคสมัยใดใจกลางพระนคร
การกล่าวอ้างเรื่องชายชุดดำและการเผาบ้านเผาเมืองก็ถูกพิสูจน์แล้วจากศาลทุกคดีว่าไม่จริง
ไม่มีการยิงต่อสู้ ศพทุกศพล้วนมือเปล่า ไม่มีเขม่าดินปืน
ไม่มีการตอบโต้จากฝ่ายประชาชน แถมเอาอาวุธมาแอบใส่ในสระน้ำในวัด
ก็พิสูจน์ว่าเอามาใส่ทีหลัง ปืนที่นำมาให้ศาลพิสูจน์ก็ส่งปืนที่ไม่ใช่ของจริงที่ใช้
ทั้งหมดนี้ดิฉันไม่ได้กล่าวลอย ๆ มีทั้งคำพิพากษาศาล คำสั่งศาลในการไต่สวนการตาย
ระบุไว้ชัดแจ้ง
และที่ร้ายที่สุด
เมื่อคดีคืบหน้าไปจนมีการฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ศอฉ.
รวมเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากศาลจะให้คดีนักการเมืองไป ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช. ยกฟ้อง
อ้างว่าทำตามปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มันเกินกว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติในหน้าที่ไหมล่ะ?
อยากให้อ่านคำโต้แย้งจากอธิบดีศาลอาญาที่ไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองทั้งคู่จะถูกส่งคดีไป
ป.ป.ช. และศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า
พวกเขาทำเกินกว่าหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า, รองหัวหน้า
ศอฉ. ส่วนกรณีทหาร ดิฉันอยากให้อ่านเรื่อง “รุมยิงนกในกรง” ในหนังสืออนุสรณ์
พระราชทานเพลิงศพ “ฝากไว้...ให้ตราตรึง” ที่เขียนโดย พลเอกอดุล อุบล
ที่มีความละอายใจสุดซึ้งที่กองทัพปฏิบัติการเอาชีวิตประชาชนประหนึ่ง
“รุมยิงนกในกรง”
เราจึงต้องรำลึกและทวงความยุติธรรม
แม้เวลาจะผ่านมาถึง 15 ปี เหลืออายุความเพียง 5 ปี
แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การทำรัฐประหาร
2557
แม้จะมีเฟตุผลทางการเมืองที่ไม่ต้องการเสียอำนาจการปกครองของฝ่ายจารีตอำนาจนิยม
ไปให้กับนายทุน ทักษิณ ชินวัตร ศัตรูตัวฉกาจในเวลานั้นของฝั่งระบอบอำมาตยาธิปไตย
มาบัดนี้ ดิฉันค่อนข้างมีความเชื่อว่า ปัจจัยคดีความที่ลุกลามไปถึง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ศอฉ.
น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ “สุเทพ” ก่อการกวนเมือง และ พล.อ.ประยุทธ์ กับคณะ
ก่อการรัฐประหาร 2557 เพื่อยับยั้งยุติการดำเนินคดีความ
ดังที่ได้กล่าวไว้กับอดีตอธิบดี DSI คุณธาริต เพ็งดิษฐ์
ให้ยุติการสอบสวนข้อหาของผู้ปราบปราม มิฉะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้น (รัฐประหาร)
อธิบดี DSI จะโดนจัดการก่อน แล้วก็โดนจริง ๆ
จนบัดนี้ยังติดคุกอยู่ หลังรัฐประหาร คดีความต่าง ๆ ในชั้นต้นที่ต้องมีการใช้มาตรา
150 วรรค 3 ในการไต่สวนสาเหตุการตายก็ยุติหมด
ผลตัดสินคดีความในบริเวณที่เกิดเหตุเดียวกัน เวลาเดียวกัน
หลังรัฐประหารผลคดีความก็กลายเป็นว่า จากที่เคยบอกว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่
ก็กลายเป็นไม่ทราบว่ามาจากไหน เป็นต้น และร้ายที่สุดคือ
คดีบางรายที่เดินไปถึงศาลอาญา ก็ถูกปัดไป ป.ป.ช. สำหรับ “อภิสิทธิ์-สุเทพ”
และฝ่ายทหารก็ให้ไปดำเนินคดีที่ศาลทหาร
หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว
ในปี 2565 ใกล้จะถึงเลือกตั้งรอบใหม่ในปี 2566
ดิฉันและคณะประชาชนพร้อมทนายความและญาติผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
ก็เดินหน้าตั้งคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53)
ไม่ได้ทำเพื่ออยากได้หน้าตาอันใด หรืออยากได้รับการปรบมือจากใคร แต่เราดำเนินการเพื่อให้การตายของคนเสื้อแดงไม่สูญเปล่า
ไม่ใช่ได้เงินคนละ 7 ล้านก็พอแล้ว
แต่เราจำเป็นต้องทำเพราะ
พรรคการเมืองและส่วนกองเชียร์ และแกนนำก็มีภารกิจหาเสียง
ดำเนินการการเมืองในวิถีทางรัฐสภาเป็นหลัก
ดิฉันจึงใช้โอกาสที่พวกเขาเตรียมหาเสียง
เพื่อดำเนินการทวงความยุติธรรม โดยมีข้อเรียกร้อง 8 ข้อ 3 ข้อเป็นเรื่องคนเสื้อแดง
อีก 5 ข้อเป็นเรื่องเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยสากล
และความยุติธรรมแก่คณะเยาวชนและคนต่อสู้รุ่นใหม่ด้วย
ดิฉันเคยเป็นประธานจัดงานรำลึกวีรชน
10 เมษา 19 พฤษภา มาตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงปีที่ผ่านมา บัดนี้ครบ 15 ปี
เรายังไม่มีความหวังจากพรรคการเมืองได้อย่างมั่นใจ
เพราะเขาก็ต้องการอยู่รอดทางการเมืองในวิถีทางรัฐสภา
มากกว่าจะมาต่อสู้กับเราเพื่อประชาชนแล้วเขาเสี่ยงทางการเมืองอีก
พรรคเพื่อไทยก็ข้ามขั้วไปจับมือกับฝั่งผู้กระทำการต่อประชาชน
ส่วนพรรคประชาชนที่ดูจะมีความหวังในการร่วมต่อสู้ เขาก็มีเรื่องของเขา
นโยบายของเขา การต่อสู้ของเขา เพื่อเหตุการณ์การต่อสู้รุ่นใหม่ 2563 เป็นต้นมา
และการอยู่รอดในสนามการเมืองเพื่อได้เป็นรัฐบาล
เราเข้าใจและเห็นใจ
แต่เราไม่ใช่พวกเล่นละครหลอกเจ้า หลอกนาย หลอกประชาชน เราจึงต้องเดินหน้าต่อมาที่คณะกรรมาธิการด้านกฎหมาย
การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และกรรมาธิการการทหาร เพื่อที่จะตามเรื่องที่ได้ยื่นไว้แล้ว
(ยื่นต่อพรรคการเมือง, ต่อรัฐบาล, ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,
ต่อกระทรวงยุติธรรม) หลายต่อหลายรอบ
ในชั้นกรรมาธิการก็เพิ่งได้ประชุมนัดเดียว
ก็มีคนพยายามมาแย่งซีน เอาข้อเสนอของตนเองมานำเสนอ ทั้งที่ไม่ใช่เวลาของเขา
ดิฉันจะบอกให้พรรคเพื่อไทยและอดีตแกนนำ
นปช. ที่พยายามจะทำเรื่องนี้ ในเวลาช่วงนี้ คุณก็ทำไป
ขอให้มันเป็นผลดีต่อการให้ความยุติธรรมต่อคดีปราบปรามประชาชนมือเปล่า แต่ไม่ต้องพยายามขัดขวางสิ่งที่เราได้ดำเนินงานมากว่า
3 ปีแล้ว และตัวดิฉันเองเป็นเจ้าภาพงานรำลึกมาตลอดจนบัดนี้
และดิฉันไม่ได้หวังเอาหน้า เอาเครดิตอะไร เพราะเราทำเพื่อคนที่ตายแล้วในอดีต
กำลังตายในปัจจุบัน และอาจจะตายแบบเดียวกันในอนาคต
เราไม่ได้ปรารถนาลาภ
ยศ สรรเสริญ ใด ๆ เราทำเพราะควรทำมาตั้งนานแล้ว
ไม่ใช่เพื่อหาเสียงหรือทำให้ตนเองและคณะดูดี คนเสื้อแดงที่มีอยู่เกิน 10 ล้านคน
มีจำนวนมาก ประชาชนเขาดูออกว่าใครทำเพื่ออะไร ไม่ต้องมาขัดขวาง
แต่ต้องช่วยกันทำจริง ไม่หลอกลวง เล่นละครไปวัน ๆ ดิฉันและคณะไม่ใช่คนของพรรคการเมือง
ที่ทำเพื่อรับผลประโยชน์ เอาหน้าให้ตน ให้พรรค ให้นาย
ลงท้ายก็คือ
เหตุการณ์เมษา-พฤษภา’53
เป็นวิกฤตการเมืองที่เรายังต้องต่อสู้ต่อไปอย่างจริงใจสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
ไม่ใช่เครื่องมือหาเสียง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #15ปีเมษาพฤษภา53 #คนเสื้อแดง #นปช #คปช53