“วิโรจน์” ประเดิมโรยเกลือหลังศึกซักฟอกรัฐบาล
บุกสรรพากรยื่นหนังสือจี้วินิจฉัยกรณี “ตั๋ว PN” นายกฯเป็นลายลักษณ์อักษร
หวั่นสร้างบรรทัดฐานใช้เครื่องมือการเงินเลี่ยงภาษี
บุกต่อกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน “เทมส์วัลเลย์”
วันที่
28 มีนาคม 2568 ที่กรมสรรพากร วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสรรพากรให้วินิจฉัยการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในการซื้อหุ้น จากกรณีที่ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ว่าได้ใช้ตั๋ว PN เข้าข่ายการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่
วิโรจน์ระบุว่ากรณีการซื้อหุ้นของนายกรัฐมนตรีต้องมีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษร
ว่าเข้าข่ายการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่
เจตนาที่แท้จริงคือการรับให้หุ้นจากบุคคลในครอบครัว
แต่ใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อทำนิติกรรมอำพราง เปลี่ยนเจตนาที่แท้จริงคือการรับให้
เป็นการซื้อขายเพียงแค่รูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ 5% ใช่หรือไม่
ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะแพทองธารไม่ใช่บุคคลธรรมดา
แต่เป็นผู้นำประเทศที่ถืออำนาจรัฐ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ประมุขฝ่ายบริหาร
และประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐโดยตำแหน่งด้วย
ซึ่งถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะในเรื่องวินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน
ส่วนกรณีที่
ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร
ออกมาชี้แจงก็เป็นการชี้แจงในลักษณะที่เป็นการปักใจเชื่อไปแล้วว่านี่เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายกันจริงๆ
แต่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยเลยว่าเป็นนิติกรรมอำพราง
อธิบดีชี้แจงในลักษณะที่ว่าถ้ามีการชำระเงินตามตั๋ว PN ทางผู้ขายซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว
หากมีกำไรจากการขายหุ้น ก็ต้องไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภงด.90/91 มาตรา 40 (4 ช)
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่าแต่นั่นไม่ได้เป็นประเด็นข้อสงสัยของสาธารณะ
ที่สาธารณะสงสัยคือนี่ไม่ใช่การซื้อขายกันจริงๆ ใช่หรือไม่
เป็นเพียงการทำธุรกรรมซื้อขายเพียงแค่รูปแบบเพื่อบดบังเจตนาที่แท้จริง
คือการรับให้หุ้นจากครอบครัว หรือได้หุ้นมาจากการให้ของพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้
และแม่ โดยหากเป็นการรับให้ ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทจากแม่ก็ต้องเสียภาษี 5%
ส่วนที่เกิน 10 ล้านจากบาทพี่สาว พี่ชาย ลุง
ป้าสะใภ้ ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 5%
ดังนั้น
การวินิจฉัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นทางการจึงมีความสำคัญอย่างมาก
เพราะประชาชนโดยทั่วไปก็มีความสงสัยว่าถ้าเกิดประชาชนทำตามนายกรัฐมนตรีเหมือนกันบ้าง
เช่น เจ้าของกิจการกำลังจะโอนหุ้นให้ลูกมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท
ถ้าเกิดแต่เดิมเคยตัดสินใจว่าจะโอนให้เลย เปลี่ยนใจไม่โอนหุ้นให้ลูกแล้ว
แต่ให้ลูกออกตั๋ว PN หรือการทำสัญญาเงินกู้อื่นใดแลกกลับมาโดยไม่มีกำหนดว่าจะจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นกันเมื่อไหร่และไม่มีอัตราดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกับแพทองธารบ้างจะทำได้หรือไม่
กรมสรรพากรจะไม่เลือกปฏิบัติกับเขาใช่หรือไม่
จะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บภาษีการรับให้กับประชาชนรายนั้นใช่หรือไม่
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณะ
ถ้าแพทองธารทำได้ประชาชนทั่วไปก็ต้องทำได้ ไม่ใช่แค่การโอนหุ้นอย่างเดียว
ทรัพย์สินอื่นใดโดยเฉพาะที่มีการจดทะเบียนอย่างเช่นที่ดิน ถ้าโอนให้ลูก หากเกิน 20 ล้านบาท
นอกจากค่าโอนแล้วลูกก็อาจต้องจ่ายภาษีการรับให้ด้วย
แต่ถ้าทำแบบคุณแพทองธารก็ไม่ต้องไปชำระภาษีการรับให้แล้ว ก็เอาตั๋ว PN หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่มีกำหนดชำระเงิน
ไม่มีอัตราดอกเบี้ยมาแลกกับคุณพ่อ
ก็จะเปลี่ยนจากการรับให้เป็นการซื้อขายที่ดินกันไปแล้วโดยใช้ตั๋ว PN ใช่หรือไม่
วันนี้ตนจึงมาทำหนังสือเพื่อขอให้อธิบดีกรมสรรพากรดำเนินการตาม
มาตรา 13 สัตต (3) ของประมวลรัษฎากร
ขอความเห็นไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
วินิจฉัยกรณีของแพทองธารออกมาอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อจะได้เป็นแนวปฏิบัติของประชาชนทั่วไปต่อไป
“ผมตั้งคำถามกลับว่าถ้าเราคิดว่ากรณีของคุณแพทองธารทำได้ถูกต้องแล้ว
ทุกคนทั้งประเทศที่มีความมั่งมีทำแบบคุณแพทองธารทั้งหมด สาธารณะได้ประโยชน์อะไร
สังคมได้ประโยชน์อะไร รัฐได้ประโยชน์อะไร
สุดท้ายมันจะเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังกล่าวต่อไปว่าตั๋ว
PN โดยตัวมันเองเป็นเครื่องมือทางการเงินในการให้เครดิตกันระยะสั้น
ไม่ได้ผิดอะไร
ปัญหาหรือประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือกรณีนี้เจตนาที่แท้จริงเป็นการซื้อขายจริงหรือไม่
หรือเป็นการซื้อขายเพียงรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องตั๋ว PN แต่คือพฤติกรรมการดำเนินการในกรณีนี้ของนายกรัฐมนตรี
ถ้าเจตนาที่แท้จริงเป็นการซื้อขายและทำธุรกรรมการซื้อขายกันจริงๆ ก็ไม่ผิด
แต่หากเจตนาที่แท้จริงคือการจงใจทำนิติกรรมอำพราง สร้างรูปแบบการซื้อขายขึ้นมา
ทั้งที่เจตนาที่แท้จริงคือการรับให้หุ้น ถ้าเจตนาเป็นนิติกรรมอำพรางตนยืนยันว่าผิด
ดังนั้น
คนที่จะสืบสวนในเรื่องนี้และมีคำวินิจฉัยออกมาว่าเงื่อนไขและองค์ประกอบแห่งพฤติการณ์อะไรที่เข้าข่ายการทำนิติกรรมอำพรางที่สร้างการซื้อขายเพียงรูปแบบเพื่อเปลี่ยนจากการให้เป็นการซื้อขาย
ก็คือคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กรณีนี้จะดูแค่ปลายทางไม่ได้ ต้องดูถึงพฤติกรรมและอาจต้องย้อนดูไปถึงการยักย้ายถ่ายเทหุ้นของแพทองธารกับบุคคลอื่นๆ
ด้วย จะได้ดูว่าพฤติการณ์ในลักษณะนี้เป็นการซื้อขายกันจริงๆ หรือไม่
จากนั้น
วิโรจน์ พร้อมด้วย ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน และ เลาฟั้ง บัณฑิต
เทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เดินทางต่อไปยังกรมที่ดิน
เพื่อยื่นหนังสือขอให้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม
เทมส์วัลเลย์ เขาใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธีรัจชัย
ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจกล่าวหานายกรัฐมนตรีว่ามีการประกอบกิจการโรงแรมโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายบนพื้นที่ต้นน้ำหรือไม่
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ตั๋วPN