วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ศิริกัญญา” จี้ความชัดเจนระบบชำระเงินดิจิทัลวอลเล็ต เสร็จทันกรอบเวลาตามที่โฆษณาหรือไม่ พร้อมขอเหตุผลทำไมร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ได้รับอภิสิทธิ์ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนร้านรายย่อย

 


“ศิริกัญญา” จี้ความชัดเจนระบบชำระเงินดิจิทัลวอลเล็ต เสร็จทันกรอบเวลาตามที่โฆษณาหรือไม่ พร้อมขอเหตุผลทำไมร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ได้รับอภิสิทธิ์ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนร้านรายย่อย


วันที่ 13 มีนาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีระบบการชำระเงิน (Payment Platform) ของดิจิทัลวอลเล็ต โดยนายกฯ มอบหมาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกฯ มอบหมาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบคำถามแทน


ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือเจ้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เจ้าของระบบการชำระเงิน และคนที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ นั่นคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย รมว.ดิจิทัลฯ พูดเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะไม่ได้พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ แต่ใช้แอปฯ “ทางรัฐ” ในการรองรับการบริการประชาชน แต่เมื่อไม่นานมานี้ นายกฯ กลับสื่อสารผ่าน X ว่าการใช้จ่ายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องใช้ผ่านแอปฯ ทางรัฐเพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้า เท่ากับว่าถ้าใช้ผ่านแอปฯ นี้อย่างเดียว จะสามารถใช้ระบบที่เรียกว่า close loop ได้เลย ไม่เป็น open loop ที่ต้องปวดหัวจนถึงทุกวันนี้ 


อย่างไรก็ตาม ตนยังมั่นใจว่าเราไม่ได้ใช้แอปฯ ทางรัฐในการใช้จ่ายอย่างแน่นอน เพราะตามที่ศึกษามา จะใช้แอปฯ ทางรัฐเพียงแค่การลงทะเบียนรับสิทธิ์ หลังจากนั้นจะใช้แอปฯ ของธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่เข้าร่วมโครงการในการชำระเงิน ตนจึงทักท้วงนายกฯ ว่าระบบการชำระเงินที่กำลังพัฒนาอยู่ จะไม่ได้ชำระผ่านแอปฯ ทางรัฐ เพราะถ้านายกฯ บอกว่าใช้แอปฯ ทางรัฐแอปเดียว เท่ากับว่าต้องมีระบบใหม่ที่เป็นคู่ขนานเพื่อใช้กับคนกลุ่มแรกคือกลุ่มอายุ 16-20 ปี ต่อมา รมช.จุลพันธ์ บอกว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดของตน แต่จากที่ตนตรวจสอบกับทุกหน่วยงาน ทุกคนยังยืนยันตามที่ตกลงตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ใช้แอปฯ ทางรัฐในการชำระเงิน


จึงเป็นเหตุผลที่วันนี้ตนต้องการให้ รมว.ดีอี มาชี้แจงให้ชัดว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร จะมีการพัฒนาแอปฯ ทางรัฐให้สามารถชำระเงินได้หรือไม่ เพราะขอบเขตของงานการพัฒนาระบบการชำระเงินไม่ได้ระบุให้มีการพัฒนาแอปฯ ทางรัฐ แต่จะเป็นระบบแกนกลาง (core banking) คือเอาระบบของธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารต่างๆ มาเชื่อมต่อ เพื่อสามารถเปิดแอปฯ ของธนาคารและเข้าไปที่ดิจิทัลวอลเล็ตและยิง QR Code จ่ายเงินได้เลย


อีกคำถามคือเมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) สส. คนหนึ่งที่เป็นทีมโฆษกของพรรคเพื่อไทยออกมาสื่อสารที่ทำเอามึนงงไปทั้งวงการ คือบอกว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาระบบให้แอปฯ ทางรัฐสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจนสามารถรู้ได้ว่าสินค้าที่ประชาชนจะซื้อเป็นประเภทไหนบ้าง ตรงนี้ผู้พัฒนาระบบ (developer) รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารต้องงงตาแตก ว่าสรุปแล้วกำลังจะมีการออก API blueprint เวอร์ชัน 1.3 หรือไม่เพราะ API blueprint ที่เคยให้กับธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ไม่มีการเก็บข้อมูลสินค้าแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดรายการสินค้าต้องห้าม (negative list) ออกไปทั้งหมด แล้วไปจำกัดที่ร้านค้าแทนเพราะตัว API ตรวจสอบประเภทสินค้าไม่ได้


ดังนั้นขอให้ชี้แจงว่าตกลงแล้วแอปฯ ทางรัฐยังใช้ชำระเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลง API blueprint เป็นรอบที่สี่เพื่อเก็บข้อมูลประเภทสินค้าในอนาคตอีกหรือไม่ ตนเป็นกังวลแทนคนที่กำลังพยายามทำระบบนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. เพราะถ้าเพิ่มแอปฯ ทางรัฐให้สามารถชำระเงินได้ หรือถ้าเปลี่ยน API ให้ระบุประเภทสินค้าได้ อาจจะเสร็จไม่ทันและทดสอบระบบกันไม่เสร็จภายในไตรมาสสองหรือต้นไตรมาสสามของปีนี้ ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้


ด้านจุลพันธ์ตอบคำถามแรกว่า ยืนยันทางรัฐไม่ใช่ระบบชำระเงิน แต่ที่ใช้คำว่าทางรัฐนั้นเป็นเหมือนหน้ากากที่ประชาชนจะต้องใช้ ส่วนแอปจริงๆ ในการดำเนินงานอยู่เบื้องหลัง ผู้ใช้อาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นแอปฯ อะไร แต่กลไกในการดำเนินการชำระเงิน เมื่อมีการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไปยังประชาชน สามารถทำได้ 2 ช่องทาง (1) แอปฯ ทางรัฐ ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ และเชื่อมั่นว่าสามารถดำเนินการได้ครบถ้วน เพราะในอนาคตแอปฯ ทางรัฐ รวมถึงระบบชำระเงินทั้งหมด จะเป็นระบบการชำระเงินกลางของรัฐซึ่งประชาชนสามารถใช้ได้ เราต้องโยกย้ายสวัสดิการประเภทต่างๆ มารวมศูนย์ในจุดเดียว เช่นแอปฯ Life SG ของสิงคโปร์ (2) การเชื่อมต่อกับธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งประชาชนมีความคุ้นเคยในการใช้งานอยู่แล้ว จะทำให้เกิดความสะดวก


ดังนั้นแม้จะใช้แอปฯ ของธนาคารในการชำระเงิน ประชาชนก็ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐอยู่ดีเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันในการชำระเงิน เชื่อว่าประชาชนที่ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐไปหมดแล้ว ขณะนี้มีผู้ใช้งานรวม 34 ล้านคน เป็นแอปฯ ของรัฐที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด


ส่วนเรื่องการตรวจสอบประเภทสินค้า เนื่องจากกลไกในการกำกับดูแลค่อนข้างยาก เราเปิดโอกาสให้ร้านโชห่วยเข้ามาร่วมโครงการในฐานะร้านค้า ร้านค้ากลุ่มนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Point of Sale หรือเครื่องในการออกบิลที่ยืนยันว่าผู้ซื้อซื้ออะไรบ้างในร้านค้านั้น สิ่งที่อาจเกิดตามมาหากเราไปกำกับเรื่องสินค้า คืออาจมีการใช้ผิดประเภทเยอะมาก และเกิดคดีความกับร้านค้าขนาดเล็กเหล่านั้นเต็มไปหมด จึงมีข้อเสนอจากหน่วยงานให้ปรับเปลี่ยนเอารายการสินค้าต้องห้ามออก แล้วไปล็อกเรื่องร้านค้าแทน ซึ่งเราได้ปรับเปลี่ยนเพื่อดึงดูดร้านค้าขนาดเล็กเข้ามาร่วมโครงการให้มากที่สุด และทำให้เกิดความปลอดภัยป้องกันจากการนำไปใช้ผิดประเภทจนเกิดคดีความ 


รัฐบาลมองเป้าหมายว่าต้องการให้ประเทศไทยมีความคุ้นชินกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (digital adoption) เชื่อว่าในอนาคตร้านค้าจะพัฒนาแอปพลิเคชันในลักษณะนั้นมาใช้เอง เพราะจะช่วยในการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นประโยชน์กับร้านค้า ในที่สุดวันหนึ่งตนเชื่อว่ารัฐจะได้ข้อมูลเรื่องประเภทของสินค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าวันนี้รัฐบาลต้องไปพัฒนาแอปฯ เพื่อดึงเอาข้อมูลว่าประชาชนแต่ละคนซื้ออะไร ในขณะนี้ไม่เกิดขึ้น แต่ ณ ปัจจุบัน เรื่อง API นั้นไม่มีเวอร์ชันใหม่เพราะได้ส่งมอบให้ธนาคารและกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารเรียบร้อยแล้ว ยืนยันข้อมูลเดิม คาดว่ากระบวนการพัฒนาดำเนินการอยู่ เตรียมมาเชื่อมต่อกับแอปฯ ทางรัฐ 


จากนั้นศิริกัญญากล่าวต่อว่า วันนี้เป็นความรู้ใหม่ว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อพัฒนาแอปฯ ทางรัฐวอลเล็ต อยากทราบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่าเท่าไหร่ และปัญหาอีกเรื่อง คือผู้ที่เข้ามาร่วมให้บริการอย่างธนาคารและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร เขายอมจ่ายเงินของตัวเองเพื่อพัฒนาระบบเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงิน เพื่อหาลูกค้าที่จะมาใช้วอลเล็ตของตัวเองเพิ่ม แต่รัฐบาลกลับทำวอลเล็ตมาแข่งแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือไม่ 


ตอนนี้พอมาดูหน้างานของกระทรวงดีอีในฐานะเจ้าของโครงการ ตนต้องการสอบถามความคืบหน้าของ 6 ระบบย่อยต่อไปนี้ (1) ระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จของโครงการนี้ ว่าระบบการชำระเงิน โอนแล้วเงินไม่หล่นไม่รั่ว ข้อมูลไม่หลุด ตอนนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ถึงไหนแล้ว (2) บล็อกเชน ที่เคยพูดว่าจะถูกใช้ในการยืนยันการใช้จ่ายทุกธุรกรรม ตอนนี้หดเป็นติ่งเล็กๆ เพียงเพื่อตรวจสอบการบันทึกรายการธุรกรรมนั้น ตามกำหนดการเดิมคาดว่าจะเริ่มทำบล็อกเชนตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้คืบหน้าแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ติดตั้งแล้วกี่โหนด (Node) จากทั้งหมด 21 โหนดซึ่งอยู่ในหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้บล็อกเชนไม่เป็นไปตามหลักการเรื่องความโปร่งใส


(3) เรื่องการทดสอบการเชื่อมต่อระบบ (connectivity test) ตามกำหนดการต้องเริ่มทดสอบกันแล้ว แต่เท่าที่ตนสอบถามในกรรมาธิการดีอี ปรากฏว่ามีแค่รายเดียวที่เข้าร่วมทดสอบ และไม่ใช่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จึงสงสัยว่าถ้าเรามีทางรัฐวอลเล็ตแล้ว ทำไมจึงไม่นำมาทำทดสอบการเชื่อมต่อ ตอนนี้เรื่องนี้คืบหน้าไปแล้วเท่าไหร่ เร็วหรือช้ากว่าแผนอย่างไร และต้องใช้เวลาเท่าไหร่เพื่อทำให้ระบบเสถียร (4) ระบบการตรวจสอบทุจริต (fraud detection) ซึ่งสำคัญมาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยให้ข้อสังเกตว่าจำเป็นต้องตั้งคณะขึ้นมาตรวจสอบการทุจริต นายกฯ ก็เคยพูดว่าเรื่องนี้น่ากังวล คำถามคือทำแล้วหรือยัง คืบหน้าอย่างไร และจะอยู่กับหน่วยงานไหนในกระทรวงดีอี


(5) ระบบคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอีที่ต้องตอบคำถามประชาชนหากการโอนไม่สำเร็จ อยากถามว่าตอนนี้ตั้งหรือยัง ความคืบหน้าเป็นอย่างไร อยู่กับหน่วยงานไหน และมีบุคลากรกี่คน และ (6) หลังจากมีการทำระบบการชำระเงิน ระบบลงทะเบียนร้านค้า มีหลายหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันข้ามกระทรวง จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีคนมองเห็นภาพรวมทั้งระบบเพื่อขับเคลื่อนให้ระบบเสร็จทันตามที่โฆษณาไว้ จึงอยากทราบว่าตอนนี้ใครเป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)


ด้านจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนคำถามที่ถามมา ตนไม่สามารถตอบได้ว่าแต่ละระบบพัฒนาไปถึงไหนแล้วและจะจบเมื่อไหร่ แต่ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของโครงการ เรารับทราบจากที่ทุกหน่วยงานรายงานมา โดยเร็วๆ นี้จะมีการทดสอบระบบการใช้ทั้งหมด (End to End testing) ทั้งหมดเป็นกระบวนการภายในที่ภาครัฐดำเนินการ ยืนยันกรอบเวลาเดิม 


สำหรับเรื่องคอลเซ็นเตอร์ จะใช้เลขหมายหลักของรัฐคือ 1111 และผู้จัดการโครงการ หรือ Project Manager คือกระทรวงการคลัง บริหารจัดการทั้งหมด ทั้งนี้ตนยังเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเรียบร้อยภายในไตรมาสสองของปีนี้แน่นอน


จากนั้น ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า คำตอบของรัฐมนตรีย้อนแย้งกันเอง เพราะคำถามที่ตนไล่ไปทีละระบบนั้น ผู้จัดการโครงการต้องเป็นคนที่รู้ดีที่สุด ถ้ากระทรวงการคลังเป็นผู้จัดการโครงการแต่ตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ปลายไตรมาสสองคงต้องมาลุ้นกัน 


สำหรับคำถามสุดท้ายคือการลงทะเบียนร้านค้า ตอนนี้มีการเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าโดยรวบรวมจาก 4 แหล่งหลัก คือ (1) สมาคมค้าปลีก ซึ่งชัดๆ เลยว่าคือร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ที่มีสาขามากกว่า 100,000 ราย (2) สมาคมธนาคารไทย (3) ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ และ (4) กระทรวงพาณิชย์ จะได้สิทธิ์ในการเข้ามาลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น 


ส่วนร้านค้านอกเหนือจากนี้ เช่นร้านค้ารายย่อย แผงลอย กลับต้องรอลงทะเบียนในภายหลังประมาณเดือนเมษายน และยังต้องไปตรวจสอบคุณสมบัติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าอยู่ในอำเภอนั้นๆ จริงหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีปัญหาในภายหลังแน่นอน คำถามคือทำไมต้องให้มีร้านค้าที่ได้อภิสิทธิ์เหนือร้านอื่นในการได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และไหนๆ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการนี้อยู่แล้ว ทำไมยังต้องกันไม่ให้ร้านค้ารายย่อยที่ได้รับเงินในรอบแรก ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้อยู่อีก ทำไมต้องจำกัดสิทธิ์ร้านค้าที่ให้บริการ เช่นสถานีบริการน้ำมัน เข้าร่วมโครงการไม่ได้�


จุลพันธ์ตอบว่า ตนไม่ใช่ผู้จัดการโครงการ กระทรวงการคลังต้องดูภาพรวมของทั้งโครงการ แต่ตนเป็นผู้บริหาร จึงอาจไม่ได้ลงรายละเอียดทั้งหมด อย่างไรก็ดียืนยันมีคนที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้วทั้งกระทรวงดีอีและกระทรวงการคลัง ยืนยันในกรอบเวลาว่าแอปฯ ทั้งหมดพัฒนาทัน ดังนั้นโครงการนี้ต้องเสร็จตามกรอบเวลา เงินถึงมือประชาชน


เรื่องระบบลงทะเบียนร้านค้านั้น ที่ผ่านมาร้านค้าอย่างร้านแผงลอย รถเข็น รถขายหมูปิ้ง เหล่านี้ไม่เคยลงทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ จึงต้องมีกลไกในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ส่วนที่ห้ามร้านค้าให้บริการในการเข้าร่วมโครงการนั้น ตนเคยตอบแล้วว่าสิ่งที่เราทำในโครงการนี้คือการเติมเงินผ่านแอปฯ ที่เรียกว่าดิจิทัลวอลเล็ต วัตถุประสงค์คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เพราะวันนี้เศรษฐกิจยังมีปัญหา สภาพคล่องในตลาดน้อยเกินไป เราจึงเติมเงินต้องการให้เกิดการหมุนเวียน การลงทุน การผลิต ซึ่งภาคบริการไม่ได้เกิดการผลิตโดยตรง 


ส่วนกระบวนการขึ้นเงิน วันนี้เราปลดล็อกแล้ว เพราะหลายคนเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่องของร้านค้าโดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก วันนี้เราปรับเปลี่ยนว่าไม่ต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษีก็ได้ แต่เป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นในเรื่องการมีตัวตนและการใช้จ่ายให้ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ


ส่วนคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดจึงมีร้านค้าที่ได้สิทธิพิเศษได้ลงทะเบียนก่อนร้านค้ารายย่อย นายจุลพันธ์ไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ดิจิทัลวอลเล็ต