วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกฯประชุม ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว จี้ปัญหา SMS แจ้งเตือนล่าช้า กำชับเตรียมแผนรับมือ แก้ปัญหาการจราจร ด้านกรมทรัพยากรธรณีแจง ยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า รายงานสถานการณ์เกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 100 ครั้ง จากนี้กระทบไทยน้อย

 


นายกฯประชุม ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว จี้ปัญหา SMS แจ้งเตือนล่าช้า  กำชับเตรียมแผนรับมือ แก้ปัญหาการจราจร ด้านกรมทรัพยากรธรณีแจง ยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า รายงานสถานการณ์เกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 100 ครั้ง จากนี้กระทบไทยน้อย


วันนี้ (29 มีนาคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยมี นายภูมิธรรม   เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ  จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย รวมทั้งผู้ราชการจังหวัด 76 จังหวัด 


นายกฯ กล่าวว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 13.20  น. สิ่งแรกที่ประชาชนควรได้รับรู้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนประชาชน ทางนายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่าทางกรมมีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา  จะรายงานเรื่องแผ่นดินไหวมาที่ ปภ. และทาง ปภ.แจ้ง กสทช. เพื่อส่งเอสเอ็มเอสแจ้งประชาชน 4 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 14.42 น. เนื่องจากสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ปภ. จึงส่งในลักษณะการแจ้งให้ประชาชนเข้าไปเก็บของในอาคารได้  


ขณะที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า กสทช.ได้ส่งเซลบอร์ดแคส  หรือการส่งข้อความแชทจำนวนมาก ในเวลา 14.44 น. ซึ่งส่งได้ทีละ 2 แสนเลขหมาย ปัจจุบันส่งแล้วกว่า 10 ล้านเลขหมาย  ปัญหาที่ช้าคือต้องรันหมายเลข ระยะทางที่ส่งรอบแรกครอบคลุม 4 จังหวัด ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนการส่งรอบที่ 2 ครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยข้อความเป็นไปตามที่ ปภ. ส่งมา ซึ่งระบุว่าให้แจ้งประชาชนสามารถเข้าไปในอาคารกรณีที่จำเป็น และประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับเรื่องอาฟเตอร์ซ๊อค 


และในครั้งที่ 2 และ 3 เวลา 16.07 น.และ 16.09  น. แจ้งในเรื่องข้อปฏิบัติตน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และครั้งสุดท้ายเวลา 16.44 น. แจ้งให้ประชาชนกลับเข้าอาคารได้


นายกฯ ระบุว่าปัญหาคือ ส่งเอสเอ็มเอสเตือนประชาชนช้าและไม่ทั่วถึง ข้อความไม่ได้มีประโยชน์มาก เบื้องต้นทราบว่าระบบเซลล์บอร์ดแคส จะเปิดเต็มรูปแบบในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ที่จะสามารถส่งข้อความหนึ่งครั้งและกระจายไปได้ครอบคลุมทั้งหมด การขอความร่วมมือกับเครือข่ายระบบสื่อสาร จะขอความร่วมมือได้อย่างไร จะทำให้การส่งข้อความจาก 200,000 ต่อหนึ่งครั้งเป็น 1,000,000 คนได้อย่างไร และชาวต่างชาติที่ซื้อซิมไทยจะได้รับข่อความเตือนภัยหรือไม่ ขอให้ กสทช.และ ปภ.ประสานงานกัน เพราะตนจะต้องตอบคำถามประชาชน เนื่องจากตนสั่งไปตั้งแต่ 14.00 น. แต่ระบบไม่มีการส่ง 


นายกฯ ยังได้กล่าวขอบคุณรายการโทรทัศน์ทั้งหมด ที่ออกรายการเฉพาะกิจ ที่สามารถทำได้ภายในไม่ถึง 5 นาที หลังจากที่ได้สั่งการ 


พร้อมกันนี้นายกฯ กำชับทุกคนให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องแผ่นดินไหว กับประชาชนให้มากขึ้น ว่าต้องทำตัวอย่างไร


ส่วนเรื่องระบบขนส่งสาธารณะหยุดบริการ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รายงานว่า ทันทีที่เกิดเหตุนายสุริยะได้แจ้งให้ตั้งศูนย์สั่งการของกระทรวงทันที หลังจากนั้นสั่งการให้ระบบขนส่งมวลชนหยุดบริการชั่วคราว เพื่อ  ตรวจสอบสถานการณ์โดยทั่วไป ทั้ง ทางอากาศ  ราง  และน้ำ โดยมุ่งเน้น โครงสร้างยกระดับ อุโมงค์ใต้ดิน ให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ  


และในส่วนทางอากาศสั่งปิดทันทีตั้งแต่บ่ายโมงกว่า เช็คโครงสร้างอาคารและรันเวย์ ก่อนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนโครงสร้างถนนทุกหน่วยได้ตรวจสอบทันที โดยเฉพาะเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงคือ สะพานข้ามแม่น้ำ ทางยกระดับของการทางพิเศษฯ พบว่ามีปัญหาจุดเดียวคือบริเวณ ทางขึ้น-ลงเชื่อมระหว่างทางด่วนกับถนนวิภาวดีรังสิต-ดินแดง ที่มีเครนจากบนอาคารเอกชนพังลงมาทับ


นายกฯ ได้กล่าวเสริมว่า หากมีเหตุการฉุกเฉินอีก รวมทั้งอุบัติเหตุ ขอให้วางแผนเตรียมไว้ เพื่อแจ้งประชาชนว่าเส้นทางไหนปิดหรือมีปัญหา ควรส่งเอสเอ็มเอสบอกข้อมูลแจ้งประชาชนได้


จากนั้นปลัดกระทรวงคมนาคมยังรายงานว่า ในส่วนทางราง ทางยกระดับและใต้ดินที่ปิดเมื่อวานก็เปิดให้บริการหมดแล้วเช้านี้  ยกเว้นสายสีชมพูกับสายสีเหลืองปิดอีก 1 วัน เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง  ขณะที่ถนนเปิดทั้งหมดแล้ว ยกเว้นทางขึ้นทางด่วนวิภาวดีที่เครนพังลงมา หากพร้อมจะเปิดในบ่ายวันนนี้


ในช่วงท้าย นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จากที่ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงปัจจุบันพบว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง และทุกครั้งที่เกิดจะมีความรุนแรงน้อยลง แนวโน้มการเกิดอาฟเตอร์ช๊อค จะเลื่อนไปทางทิศเหนือทางเทือกเขาหิมาลัยและประเทศจีน  แปลกว่าจะเกิดห่างจากไทยมากขึ้นกว่าเดิม ยืนยันว่าผลกระทบกับประเทศไทยน้อยลง และหากเกิดแรงสั่นสะเทือนเพียงระดับ 5 เราก็จะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน 

  

นอกจากนี้ยังได้ติดตามพฤติกรรมของรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีปฏิกิริยาว่าจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย พร้อมย้ำว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือไม่จากนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถบอกได้ล่วงหน้า


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกฯแพทองธาร #แผ่นดินไหว #SMS #ปภ #กสทช