วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

“ภัทรพงษ์” เรียกร้องรัฐบาลเร่งประกาศภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติฝุ่นพิษ แก้หลักเกณฑ์การใช้งบกลางเขตภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนกำลังคน-เทคโนโลยี เคลียร์อุปสรรคกฎเกณฑ์-งบประมาณ ย้ำต้องทำเร็ว อย่าให้ประชาชนเผชิญภัยเพียงลำพัง

 


“ภัทรพงษ์” เรียกร้องรัฐบาลเร่งประกาศภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติฝุ่นพิษ แก้หลักเกณฑ์การใช้งบกลางเขตภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนกำลังคน-เทคโนโลยี เคลียร์อุปสรรคกฎเกณฑ์-งบประมาณ ย้ำต้องทำเร็ว อย่าให้ประชาชนเผชิญภัยเพียงลำพัง


วันที่ 30 มีนาคม 2568 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ รองโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ว่า ขณะที่หลายจังหวัดในประเทศไทยเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ประชาชนในภาคเหนือก็กำลังเผชิญภัยพิบัติฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างรุนแรงอยู่เช่นกัน สถานการณ์ตอนนี้ความรุนแรงสูงมากทุกจังหวัด โดยพื้นที่ที่ค่าฝุ่นพิษสูงขั้นร้ายแรงอยู่ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่า PM2.5 รายชั่วโมงเพิ่งทะลุ 842 AQI และ 1577 AQI ​ตามลำดับ​ แม้ว่าค่า PM2.5 สูงขนาดนี้ ในพื้นที่วิกฤตทั้งสองนี้กลับไม่มีห้องปลอดฝุ่น หรือมุ้งสู้ฝุ่นแม้แต่ชุดเดียว และที่หนักกว่านั้นเรายังไม่เห็นหน้ากากอนามัยที่แจกโดยภาครัฐแม้แต่ชิ้นเดียวด้วยซ้ำ ไม่มีการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนใดๆ จากภาครัฐเลย


เราจะปล่อยให้ประชาชนเผชิญภัยพิบัติฝุ่นพิษอย่างรุนแรงแบบนี้เพียงลำพังไปถึงเมื่อไหร่ ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนในเรื่องการประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฝุ่นพิษ PM2.5 ดังนี้

(1) แก้ไขเกณฑ์จากเดิมที่รัฐบาลตั้งไว้ คือค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 5 วัน เป็นค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 3 วัน

(2) เร่งออกประกาศเงื่อนไขการใช้งบกลางภัยพิบัติ (เงินทดรองราชการ) ให้สอดคล้องกับภัยพิบัติฝุ่นพิษ PM2.5 โดยด่วน เพราะมาถึงวันนี้กรมบัญชีกลาง “ยังทำไม่เสร็จ”

(3) กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ใช้เงินป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติโดยทันที (แต่ละจังหวัดจะมีเงินก้อนนี้อยู่ 10 ล้านบาท)

(4) ให้ทุกจังหวัดเมื่อประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว สามารถใช้งบกลาง 20 ล้านบาทต่อจังหวัด ได้อย่างครอบคลุมตามสภาพปัญหา พร้อมแผนการขยายวงเงินของจังหวัดที่ประสบฝุ่นพิษอย่างรุนแรงด้วย

(5) หลักเกณฑ์การใช้เงินต้องครอบคลุมทุกส่วน นอกจากการจัดการปัญหาที่ต้นตอแล้ว ยังต้องครอบคลุมถึงผลกระทบต่อประชาชนในด้านสุขภาพด้วย เช่น การจัดทำห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น รวมถึง การจัดซื้อหน้ากากอนามัย N95 ให้กับประชาชน หากกังวลข้อติดขัดเรื่องหลักเกณฑ์ตามระเบียบ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ที่มีงบก้อนนี้ ออกหนังสือแจ้งรายการที่จำเป็นต้องใช้เงินนอกเหนือระเบียบ ไปยังกระทรวงการคลังโดยด่วน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้งบกลางช่วยเหลือประชาชนได้โดยไม่ต้องกังวลในภายหลัง

(6) กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัด ให้จัดซื้อหน้ากากอนามัย มุ้งสู้ฝุ่น จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้ประชาชนในพื้นที่ตามศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนเทศบาลที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีนายกเทศมนตรี ให้กำชับไปยังปลัดท้องถิ่นให้ดำเนินการได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน ในการดำเนินการโดยทันที


ภัทรพงษ์กล่าวว่า ต้นตอของฝุ่นพิษ PM2.5 ในภาคเหนือ ส่วนใหญ่มาจากไฟป่า จึงขอเรียกร้องรัฐบาลจัด กำลังคน เพื่อช่วยสลับสับเปลี่ยนการทำงานของทีมที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ไม่ให้เกิดความล้าสะสมเพื่อความปลอดภัย และจัดอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์วิบากช่วยขนส่งเจ้าหน้าที่ เสบียง และอุปกรณ์ดับไฟไปยังจุดไฟป่า โดรนตรวจจับความร้อนให้การหาพิกัดหัวไฟและหางไฟให้กับเจ้าหน้าที่ และใช้ในการลาดตระเวนกลางดึกในพื้นที่ป่า ทั้งหมดจะช่วยให้การดับไฟมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 


รองโฆษกพรรคประชาชนย้ำว่า ปัญหาภัยพิบัตินั้น จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ฝ่ายบริหารต้องทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้ เคลียร์อุปสรรค เปิดช่องทางทางกฎหมาย กำลังคนและงบประมาณ ให้กับฝ่ายปฏิบัติได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ตนได้เสนอแนะไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงปัจจุบันกลับไม่ได้รับการแก้ไขเตรียมการ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังทำไม่เสร็จ”


“อย่าให้ประชาชนต้องเผชิญภัยพิบัติเพียงลำพัง ถ้ายังเห็นคุณค่าของลมหายใจของประชาชน รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโดยทันที ช้ามามากพอแล้ว อย่าปล่อยให้ปัญหาจบก่อนแล้วจึงแก้ไขเหมือนทุกครั้ง” ภัทรพงษ์ทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ภัยพิบัติ #ฝุ่นพิษ